xs
xsm
sm
md
lg

อย่าดูถูกประเทศ ด้วยคีย์เวิร์ด “ขายเซ็กซ์” ที่ทั่วโลกตั้งให้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“การค้าบริการทางเพศ” คือผลลัพธ์ที่ถูกค้นหาบนกูเกิลมากที่สุดเมื่อจับคู่กับคำว่า “ประเทศไทย” จากข้อมูลบนเว็บไซต์ชื่อดังตรงนี้เองที่ทำให้ผู้สร้างคอนเทนต์ในไทยหลายรายเอามาแปลและแชร์ต่อๆ กันไป ผู้อ่านชาวไทยเองก็ก้มหน้ายอมรับข้อมูลเหล่านี้ไปโดยปริยาย โดยลืมคิดถึงเรื่องความน่าเชื่อถือที่มากับระบบค้นหาข้อมูลผสมการค้าทุกวันนี้




เหมารวมประเทศ จาก “Search Engine”
“เกาหลีใต้” กับ “การศัลยกรรมจมูก”, “มาเลเซีย” กับ “การสัก” และ “ไทย” กับ “การค้าบริการทางเพศ” ฯลฯ

นี่คือผลการเสิร์ชบนกูเกิลที่ถูกค้นหามากที่สุดในแต่ละประเทศ ซึ่งเว็บไซต์ประมาณค่าใช้จ่ายชื่อดัง www.fixr.com หยิบเอามาใช้เป็นลูกเล่นในการโปรโมตเว็บด้วยการเอาผลการค้นหาเหล่านั้น มาแปลงเป็นแผนที่ของแต่ละประเทศ แล้วแทนถ้อยคำ “คีย์เวิร์ด” เข้าไปแทนชื่อประเทศ จนสะท้อนภาพออกมาให้เห็นชัดๆ ว่าแต่ละแห่งมีภาพจำจากสายตาคนทั่วโลกไปในทิศทางใดบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ประเทศไทย” ของเราที่ได้คำว่า “Prostitute” (การค้าบริการทางเพศ) ไปครอง

(เส้นประแดงๆ ที่เห็นคือประเทศไทย กับคำแทนที่เว็บไซต์ฝรั่งตั้งให้)

เว็บไซต์ www.businessinsider.com ได้นำเสนอเรื่องนี้ออกมาในรูปแบบของบทความ จากนั้นก็มีเว็บไซต์สัญชาติไทยอีกหลายรายแปลเนื้อหาเหล่านี้ออกมาและแชร์ต่อๆ กันไป จนสร้างอาการปลงตกในผู้อ่านชาวไทยด้วยกันเองได้พักใหญ่ๆ กระแสตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเห็นด้วยกับข้อมูลเหล่านั้น อย่างที่รู้ๆ กันว่ามันคือหนึ่งในเหตุผลข้อสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเดินทางมาเยี่ยมเยือนเมืองไทย ซึ่งถือเป็นความจริงส่วนหนึ่ง

ยังมีความจริงอีกส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืมคิดไปคือ รายละเอียดในบทความที่ระบุเอาไว้ว่า ผลลัพธ์จากการเสิร์ชนี้ยังห่างไกลจากการรวบรวมสถิติในเชิงวิทยาศาสตร์อยู่มาก เนื่องจากเป็นการรวบรวมข้อมูลจากประวัติการค้นหาบนกูเกิลด้วยระบบเติมคำอัตโนมัติ โดยอ้างอิงจากประวัติผู้ใช้, เวลาและสถานที่ในการค้นหา จึงอาจจะส่งผลให้คีย์เวิร์ดที่ออกมาไม่สู้จะแม่นยำนักตามหลักสถิติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของ รศ.ดร.วิสาสินี อดุลยานนท์ นักวิชาการด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม ที่อยากชวนมากระตุกต่อมคิดกันให้ดีก่อนจะเชื่อข้อมูลตัวเลขอะไรๆ บนโลกออนไลน์ทุกวันนี้

“ก่อนอื่น อยากให้ทำความเข้าใจก่อนค่ะว่าระบบ “Search Engine” ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเหล่านี้คือ การค้า เพราะฉะนั้น อะไรที่เจ้าของธุรกิจนั้นๆ ต้องการให้ปรากฏขึ้นมาจากคำค้นหาเป็นอันดับต้นๆ เขาก็สามารถจะจ่ายเงินเพื่อแลกตรงนั้นมาได้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้าน ICT ในบ้านเราอาจจะต้องเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้ผลการเสิร์ชต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาติดอันดับได้ง่ายๆ ว่าเป็นไปได้แค่ไหน

(เว็บไซต์เจ้าของข้อมูลต้นเหตุ ให้บริการการเสิร์ชหาราคาคร่าวๆ ของสิ่งต่างๆ จากทุกมุมโลกได้)

นอกเหนือไปจากนั้น คือการทำให้เห็นภาพของประเทศในมุมอื่นๆ การเข้ามาทำงานกับผู้หญิงในส่วนนี้เพื่อเปิดทางเลือกทางด้านอาชีพให้แก่พวกเขาได้มากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ก็คงมีทำอยู่ แต่ภาพเหล่านี้คงไม่ค่อยปรากฏใน Search Engine เท่าไหร่ค่ะ เลยทำให้ทั่วโลกเขาไม่ค่อยเห็น อย่างที่บอกว่าผลการเสิร์ชมันคือเรื่องการค้าการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เพราะฉะนั้น ข้อมูลแบบนี้อาจจะต้องฟังหูไว้หู แต่ถ้าเป็นข้อมูลเชิงวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่ออกมายืนยันได้อย่างน่าเชื่อถือ เราก็อาจจะต้องมองให้ถึงแก่นแท้ว่างานวิจัยเหล่านี้ทำขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้างานวิจัยระบุออกมาว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องเพศ ความรุนแรง หรือการขายบริการ ถึงตรงนั้นเราอาจจะต้องมานั่งมองข้อมูลตรงนั้นอย่างเข้าใจว่างานวิจัยถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อให้เราตระหนักถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ทุกคนหากลไกในการเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้ใช่หรือไม่

สรุปแล้วคือเมื่อเราได้ข้อมูลสถิติมา ไม่ว่าจะจากแหล่งไหน เราก็ต้องพิจารณาให้ดีค่ะ อย่าด่วนเอาตัวเลขเหล่านั้นมาเหมารวมภาพลักษณ์ของทั้งประเทศนั้นหรือเอามันมาใช้ผิดวัตถุประสงค์จะดีกว่า




อย่าหลงกล! “การตลาดออนไลน์”
ปฏิเสธไม่ลงว่าบ้านเมืองของเรา “ซื้อง่ายขายคล่อง” ในสายตาคนต่างชาติจนกลายเป็นภาพจำไปแล้ว แม้แต่เรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ "BEST OF หัวแจกัน" ของ ไตรรงค์ ประสิทธิผล ผู้เขียนยังบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอมากับตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เลยว่า

“คนขายกางเกงยีนส์ลีวายส์ร้านริมถนนในอเมริกาเคยถามผมว่า "ยูมาจากไหน?" พอผมบอกว่าเมืองไทย เขาทำท่าตื่นเต้นแล้วบอกว่า "โอ้ว! ประเทศยู ไอไปเที่ยวมาแล้ว ทะเลสวย อาหารอร่อย แถมผู้หญิงก็ราคาถูกมาก แค่ 4-5 เหรียญเท่านั้นเอง" ผมฟังแล้วก็ภูมิใจในประเทศตัวเองมาก หมอนั่นพูดต่อว่า "อยู่เมืองไทย I f-cked everyday" ผมจึงรู้ว่าสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงที่แท้จริงของไทยนั้นคืออะไร!!

นักวิชาการด้านการสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคมอย่าง รศ.ดร.วิสาสินี เล่าว่า เธอเองก็เคยเจอประสบการณ์ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งคงเป็นความรู้สึกเดียวกันที่คนไทยหลายคนต้องเคยเจอเมื่อเผชิญหน้ากับเพื่อนชาวต่างชาติ วิธีของเธอคือการมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจและเป็นจริงที่สุด

“ส่วนตัวก็เคยถูกเพื่อนฝรั่งถามเรื่องแบบนี้เหมือนกันค่ะ หรือแม้แต่เวลาไปต่างประเทศ พอแนะนำตัวว่ามาจากประเทศไทย เราจะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าสีหน้าของคนที่ถามเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การตั้งแง่แบ่งแยกคนอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น เราต้องอธิบายหรือแสดงให้เขาเห็นว่าผู้หญิงในสังคมบ้านเรามีความหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ต่างไปจากผู้หญิงในสังคมบ้านเขาหรอก ดังนั้น อย่าเหมารวมว่าภาพแบบนี้จะต้องเป็นของประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ เท่านั้น

(ความลักษณ์ลบๆ ของไทยในสายตาชาวต่างชาติแบบนี้ มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว)

ถามว่าจะสะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศไทยหรือผู้หญิงไทยในลักษณะลบๆ ไหม อันนี้ก็ต้องกลับไปสู่แนวความคิดที่ว่า เราคงไปกำกับเรื่องการใช้หรือการเสิร์ชข้อมูลแบบนี้ลำบากค่ะ สิ่งที่ทำได้คือการพยายามสื่อสารความหมายเกี่ยวกับ “ผู้หญิงไทย” ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อมูลความจริง ไม่ใช่การเสแสร้งแกล้งสร้างภาพขึ้นมา แต่เป็นการนำเสนอความจริงในอีกมุมหนึ่งในทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยในมิติที่ลึกขึ้น ให้มากไปกว่าข้อมูลเรื่องการขายเซ็กซ์ค่ะ คงต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำยังไงให้ประเทศของเรามีภาพเชิงบวกออกมาเผยแพร่ให้มากขึ้นด้วย

ภาพลักษณ์ของประเทศเราที่ถูกนำเสนอผ่านข้อมูลตรงนี้ เราคงไม่จำเป็นต้องมานั่งปฏิเสธว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแบบนั้นนะ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่เป็นสีดำแล้วต้องเป็นสีขาว มันยังมีมุมอื่นๆ อีกตั้งเยอะ ในความเป็นสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน เราไม่จำเป็นต้องผลักคนอีกกลุ่มหนึ่งออกไปจากประเทศไทย หรือไม่ไปตัดสินว่าคนกลุ่มขายบริการคือกลุ่มที่ทำให้เกิดภาพลบหรือคนกลุ่มน้อยในสังคมไทย แต่เราอาจจะแก้ไขด้วยการแสดงให้เห็นว่าถึงจะมีภาพแบบนี้ แต่ประเทศเราก็มีกลไกที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องศักยภาพของผู้หญิงไทยอยู่ และทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม


(ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ถูกเหมารวมด้วยคำว่า "Prostitute")
ที่สำคัญ เราคงต้องสร้างจุดที่จะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเราอาจจะสามารถช่วยกระตุกให้เพื่อนชาวต่างชาติเขาคิดด้วยการใส่ข้อมูลที่มีมิติมากขึ้นเพิ่มเข้าไป และเราคงต้องเข้าใจด้วยว่าข้อมูลที่เขาได้รับมาจากสื่ออินเทอร์เน็ตหรือ Search Engine เหล่านี้แหละที่ทำให้เขามองภาพเราแบบเหมารวมไปแบบนั้น ข้อมูลตรงนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล่อหลอกทางการตลาดที่ต้องพิจารณาดูดีๆ

แต่เราคงไม่สามารถจะตามไปควบคุมสื่อหรือตามแก้ไขข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ สิ่งที่ทำได้คงจะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ประการแรก ในฐานะคนสร้างข้อมูลต้องมีความรับผิดชอบในการนำเสนอ และคนใช้อินเทอร์เน็ตก็ต้องมีความรับผิดชอบในการที่จะเลือกรับ เลือกส่ง เลือกแชร์ เมื่อเรารับเนื้อหาต่างๆ เข้ามา เราจะมองมันด้วยสายตาที่เข้าใจยังไงได้บ้างโดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศ ถ้าพบว่าเนื้อหาไหนก็ตามทำให้คุณค่าของผู้หญิงถูกลดความเป็นมนุษย์ลงไป ถ้าเราใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณ เป็นพลเมืองของสังคมโลกที่ดีพอ มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในฐานะผู้ใช้สื่อมากพอ เราทุกคนก็จะช่วยกันได้”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น