xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก 'โรคชอบจุดไฟ' ผู้ป่วยจิตเวชขาดความยับยั้งชั่งใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรณีเพลิงไหม้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่า 200 ครั้ง บ้านหลังหนึ่งใน จ.พัทลุง ตกเป็นข่าวใหญ่ประเด็นร้อน ขณะที่ความจริงค่อยๆ ทยอยปรากฏสู่สาธารณะ ทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุแพร่สพัดบนโลกออนไลน์ ส่งผลให้ประชาชนเห็นพ้องไปกับข้อมูลและหลักฐานที่นักวิชาการและสื่อมวลชนนำเสนอ ต่างฟันธงว่ามูลเหตุของเพลิงไหม้นั้นเกิดจากฝีมือคนในบ้าน ทว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรยังคงต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป

ประเด็นดังกล่าวมีการวิพากษ์กันไปต่างๆ นานา แง่มุมหนึ่งผู้ต้องสงสัยถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีความผิดปกติทางจิตหรือไม่ เพราะเข้าเค้าอาการทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคชอบจุดไฟ (Pyromania) ทั้งนี้ นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา (www.facebook.com/D2JED) ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ความว่า

“โรคชอบจุดไฟ (Pyromania)
จากประเด็นข่าวในโลกโซเชียลวันสองวันที่ผ่านมานี้ หลายคนคงกำลังตามข่าวกรณีไฟไหม้บ้านนับร้อยครั้ง (ที่เดินทางมาถึงจุดที่ได้ตัวผู้ต้องสงสัย) จนทำให้มีหลายท่านสงหลังไมค์มาถามหมอว่า ผู้ต้องสงสัยในกรณีจุดไฟนี้น่าจะมีความผิดปกติทางจิตไหม?

บางท่านระบุตรงๆมาเลยว่า ใช่ Pyromaniaหรือไม่?

ก็ต้องขอบอกทุกท่านว่า หมอเองคงไม่สามารถบอกและตัดสินได้อย่างแน่ชัดครับ (และคงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะทำแบบนั้นด้วย) สิ่งที่หมอพอจะทำได้ก็เพียงการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับจิตเวชเพื่อให้ทุกท่านได้ลองพิจารณากันดูเอาเองครับ

เราลองมาทำความรู้จักกับโรคที่น่าสนใจโรคหนึ่ง ซึ่งหมอเชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วลองพิจารณากันดูนะครับว่า "น่าจะใช่โรคนี้หรือไม่" smile emoticon

โรคชอบจุดไฟ (Pyromania) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders)

ลักษณะที่สำคัญของโรคนี้ คือ
1. คนไข้จะคลั่งไคล้และชอบเล่นไฟ โดยจะรู้สึกเป็นสุขและผ่อนคลายเมื่อได้จุดไฟ
2. ไม่สามารถต่อต้านไม่ให้จุดไฟได้ และทำไปทั้งๆที่ไม่ได้มีความตั้งใจหรือวางแผนว่าจะทำ
3. ก่อนจะลงมือจุดไฟ คนไข้จะเกิดความตึงเครียดภายในจิตใจ มีความตื่นตัวกระวนกระวายเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อได้จุดไฟแล้ว ความเครียดก็จะบรรเทา เกิดเป็นความสุข รู้สึกผ่อนคลาย และพึงพอใจ (แต่ในไม่ช้าอาจมีความรู้สึกผิด และละอายตามมา)

**การจุดไฟนี้ทำไปโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่แน่ชัด (ไม่ได้ต้องการเงินประกัน ไม่ได้ต้องการให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ต้องการให้มีคนมาสนใจ ฯลฯ) "แค่ทำเพราะอยากทำ"

** ที่มาของการจุดไฟต้องไม่ได้มาจากความคิดหลงผิด (Delusion) หรือ ประสาทหลอน (Hallucination)
หลักการรักษากลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ

จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด จัดการสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ยาทางจิตเวชเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความวู่วามของพฤติกรรมและจิตใจ

ผลการรักษาในภาพรวม
โดยรวมแล้วหลายรายดีขึ้นได้ สามารถต้านทานแรงขับที่อยากจะจุดไฟได้ หลายรายกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หลายรายก็อาจมีการกลับเป็นซ้ำๆได้เป็นพักๆ และมีอีกหลายรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรังหรือกลายเป็นความผิดปกติทางจิตกลุ่มอื่นๆ”

นพ.เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมว่า โรคชอบจุดไฟ อยู่ในกลุ่มอาการโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders) ลักษณะร่วมที่สำคัญของโรคในกลุ่มนี้ คือ คนไข้จะมีกิจกรรมที่ทำซ้ำๆบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถต่อต้านไม่ให้ทำได้ และทำไปทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความตั้งใจหรือวางแผนว่าจะทำกิจกรรมนั้น
….............
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น