ค่านิยมเด็กนักเรียนมัธยมขี่รถมอเตอร์ไซค์สไตล์สปอร์ต 'บิ๊กไบค์' ยานพาหนะคันโตเครื่องแรงราคาแพงไปโรงเรียน กำลังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงโดยเฉพาะในประเด็นพ่อแม่รังแกฉัน กลายๆ ว่าเป็นการส่งเสริม 'ความพิการ - ความตาย' ให้บุตรหลานที่ท่านรัก
ขณะที่สังคมกำลังตั้งคำถามว่า โรงเรียนไม่มีมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักซิ่งวัยเรียนเหรอ เหตุใดปล่อยให้พวกเขามีชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะความคึกคะนองด้อยวุฒิภาวะของเด็กวัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสีย
เฮ้ย! แบบนี้มันเท่ชัดๆ
ความรู้สึกของบรรดาขาซิ่งหัวเกรียนหลังอานบิ๊กไบค์คันโก้ เปี่ยมล้นไปด้วยความเท่ เพราะขับขี่พาหนะราคาแพงโอ้อวดสายตาใครต่อใคร ปลุกกระแสให้เด็กหัดเดินขึ้นควบมอเตอร์ไซค์คันโตด้วยความคึกคะนอง ดังที่ปรากฏในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'มัธยมขี่Bigbike' (www.facebook.com/highschoolracing) รวบรวมภาพและกิจกรรมของวัยเรียนขาซิ่งทั่วเมืองไทย
เด็กนักเรียนมัธยมจำนวนไม่น้อยสวมใสเครื่องแบบเสื้อนักเรียนกางเกงขาสั้น ควบมอเตอร์ไซค์สปอร์ตคันใหญ่ถ่ายภาพแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ปลุกกระแสบิ๊กไบค์ของเล่นลูกคนรวย ขับขี่ไปโรงเรียน ไปเที่ยวเล่น ทว่า เบื้องลึกพวกเขาเพียง 'ขับได้' หรือ 'ขับเป็น' ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ อย่างไรก็ตาม การขาดทักษะในการขับขี่รวมทั้งความ 'อวดดีอวดเก่ง' อาจส่งผลให้เกิดความสูญต่อตัวพวกเขาเอง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน
Astv ผู้จัดการ Live สอบถาม อาจารย์โฮ้ ชาติชาย แซ่ลิ้ม ผู้คร่ำหวอดในวงการบิ๊กไบค์ อดีตนักแข่งชื่อดังและผู้ก่อตั้ง Ho Racing School ถึงประเด็นความนิยมในรถมเตอร์ไซค์แนวสปอร์ต คันใหญ่ เครื่องแรง หรือที่เรียกแบบเหมารวมว่า 'บิ๊กไบค์' ของเด็กวัยรุ่น
“5 ปีนี้ บิ๊กไบค์มันเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าขับบิ๊กไบค์แล้วเท่คนก็เลยหันมาขับบิ๊กไบค์กันใหญ่ พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดผิดซื้อให้ลูกมาเจ็บหรือตายมากกว่า เพราะเด็กมัธยมวัยวุฒิคุณวุฒิยังไม่ถึงใช่มั้ยครับ? พอมีขี่รถกลายเป็นความคะนอง ยิ่งมาได้รถที่ค่อนข้างแรง”
ที่ผ่านมาเกิดความสูญเสียจากกรณีเด็กวัยรุ่นขับบิ๊กไบค์ไม่น้อย โดยเฉลี่ยอายุของกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมต้น-ปลายที่ปรากฏในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'มัธยมขี่Bigbike' เฉลี่ย 14 - 18 ปี ทั้งนี้ แม้จะมีกฎหมายกำหนดอายุผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ โดยระบุชัดว่า15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปถึงจะสามารถขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราว และต้องใช้รถที่มีกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 CC (ตามธรรมเนียมผู้ขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) แต่ความที่เจ้าหน้าที่ฯ ไม่กวดขันแค่มีใบขับขี่ก็ปล่อยไป กลายเป็นว่าเด็กอายุระหว่าง 15 ปี - 17ปี สามารถขับขี่มอเตอร์ไซค์คันใหญ่เครื่องแรง หรือ บิ๊กไบค์ ออกถนนด้วยความคะนอง ตรงนี้ก็เป็นการสนับสนุนให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ขับขี่อ่อนเยาว์เอง
ลูกคนมีตังค์ที่โดนพ่อแม่รังแก
“กรณีที่ไม่ใช่บิ๊กไบค์มันก็อันตรายอยู่แล้วมันก็ส่งผลให้เยาวชนไทยประสบอุบัติเหตุพิการสูงอยู่แล้ว และก็เด็กไม่มีวุฒิภาวะที่จะใช้มอเตอร์ไซค์อย่างมีสติ ใช้งานมอเตอร์ไซค์ที่เป็นคุณกับตัวเอง เด็กส่วนใหญ่ที่มีมอเตอร์ไซค์เขาก็ใช้มอเตอร์ไซค์ไปในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปเรียนหนังสืออย่างปลอดภัย อันนี้เป็นปัญหาที่สังคมไทยยังแก้ไม่ตกไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเลย” ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะทำงานด้านจราจร กล่าวพร้อมอธิบายเพิ่มเติม
“เรื่องบิ๊กไบค์ ความแรง ความเร็วมันสูงกว่า รถมอเตอร์ไซค์ปกติ ฉะนั้น ความรุนแรงสูงตามขึ้นไปด้วย ตรงนี้จะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น แล้วโมเดลของการขี่รถบิ๊กไบค์ที่ผู้ใหญ่ขี่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ทางกฎหมายเองปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่ขับขี่บิ๊กไบค์กลายเป็นอภิสิทธิ์ในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์อยู่ พอยานพาหนะพวกนี้มันตกมาถึงมือเยาวชนมันก็จะกลายเป็นโมเดลที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ตรงนี้ต้องเร่งดำเนินการระงับยับยั้งไม่ให้เยาวชนใช้ไม่ถูกต้อง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ให้ข้อมูลกับพ่อแม่ว่าผลที่มันเกิดขึ้นกระทบในเชิงลบมันมากกว่าเชิงบวก”
ประเด็นนี้ ตรงตามสำนวนไทยที่ว่า 'พ่อแม่รังแกฉัน' กลายๆ ว่าการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกหลานวัยเรียนนั้นเป็นเร่งความตายให้คนที่คุณรักนั่นเอง
ผศ.ดร.ปนัดดา วิพากษ์การตัดสินใจผิดพลาดของผู้ปกครองที่ตัดสินใจมอบรถมอเตอร์ไซค์ให้บุตรหลานวัยเรียน “เป็นความไม่ใส่ใจในผลกระทบที่จะตามมาในการขี่รถ คือมองข้ามความปลอดภัยที่ลูกจะได้รับ เพราะถ้าเขาใส่ใจให้ความสำคัญกับอุบัติเหตที่จะเกิดขึ้นกับลูก การที่พ่อแม่ตัดสินใจซื้อรถบิ๊กไบค์ให้รู้คือการไม่ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ละเลยมองข้ามความผลอดภัยของลูก และมองข้ามความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งตอนนี้ประชาชนคนไทยทุกคนต้องรู้เลยว่าการขี่รถบิ๊กไบค์ในกลุ่มผู้ใหญ่เองก็เสี่ยงมาก”
ในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน มอเตอร์ไซค์สไตล์สปอร์ตคันโต ขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 250 CC กลายเป็นไอเทมแสดงความเก๋า กำลังเป็นเทรนด์ที่อาจพรากชีวิตไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
“มันจะกลายเป็นกระแส แฟชั่นมาแทนการขี่รถในรูปแบบเดิมๆ จากเดิมเป็นรูปแบบมอไซค์คันเล็ก บิ๊กไบค์มันกลายเป็นฮีโร่ มันกลายเป็นไอดอลของเด็กวัยรุ่น เพราะฉะนั้น ถ้าใครขี่มันจะกลายเป็นมีอัตลักษณ์ฮีโร่ในทันที”
อย่างไรก็ตาม ภาพเด็กนักเรียนขับขี่บิ๊กไบค์ที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องน่าชื่มยินดี การที่มองเป็นเรื่องสนุกสนานเป็นเทรนด์วัยรุ่นที่ยอมรับได้ นั้นเป็นการสร้างแรงเสริมทางบวกส่งผลให้ผู้คนละเลยประเด็นความปลอดภัย ก่อปัญหาเรื่องวินัยจราจร ขและขาดสำนึกในการใช้พื้นที่ถนนสาธารณะ “ยิ่งปล่อยให้เด็กขี่บิ๊กไบค์ปลุกกระแสแบบนี้ มันจะกลายเป็นการหล่อหลอมการไม่มีวินัยในเรื่องอื่นๆ ด้วย ต้องหันกลับมาสร้างกระแสสังคมใหม่ และยับยั้งทัศนคติที่ผิดไป”
เรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ต้องปราม
แก๊งค์นักซิ่งกางเกงขาสั้น อาจมองว่าเป็นเรื่องของพวกเขาผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใหญ่วิจารณ์ประเด็นเด็กมัธยมขับบิ๊กไบค์ไม่ได้หมายความว่าพวก 'โลกสวย' ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เพียงแต่ประสบการณ์ที่มีมากกว่านั้นทำให้เขาอ่านเกมขาดว่า ความคึกคะนองและด้อยวุฒิภาวะของวัยรุ่นช่วงวัยนี้ เป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิต
อาจารย์โฮ้ วิพากษ์กรณีการตัดสินใจของผู้ปกครองที่ส่งเสริมบุตรหลานในทางที่ไม่สมควร “พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกไปตายมากกว่า ส่งเสริมในสิ่งที่ผิดมากกว่า เด็กพวกนี้วัยวุฒิคุณวุฒิไม่ถึง คนที่เขามีกำลังซื้อบิ๊กไบค์ได้ต้องเป็นวัยกลาง ค่อนข้างมีตังค์ มีความพร้อมมีการงานทำ”
กลายๆ ว่าบิ๊กไบค์กลายเป็นของเล่นของลูกคนรวยที่โดนพ่อแม่รังแกทางอ้อม กลุ่มนักเรียนขับบิ๊กไบค์ต่างจากเด็กแว้นตรงที่อาจจะมีเงินมากกว่าที่สามารถซื้อรถราคาแพงกว่า ผศ.ดร.ปนัดดา อธิบายพฤติกรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ของวัยรุ่นวัยเรียน “เขาทำความความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นแน่นอน เพราะต้องมาระวังให้มากขึ้น”
ในเชิงสังคมศาสตร์คนที่เป็นเด็กแว้นมันเป็นเรื่องของการเหลื่อมล้ำความพัฒนาของสังคม ทำให้เด็กที่ไม่มีโอกาสไม่ได้รับการพัฒนา กลายเป็นเด็กชายขอบที่หาพื้นที่สร้างอัตลักษณ์สร้างตัวตน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า 'เท่' ผศ.ดร.ปนัดดา ตั้งคำถามว่า กลุ่มคนที่มีฐานะพอสมควรมีกำลังซื้อบิ๊กไบค์ได้สมควรจะมาทำอย่างนี้บนถนนสาธารณะหรือไม่?
เด็กในวัยเรียนกลุ่มมัธยมไม่เหมาะที่จะขับขี่บิ๊กไบค์ เพราะมีความเสี่ยงมาก พ่อแม่ไม่ควรซื้อให้ ถ้ารักลูก ต่อให้มีหมวกก็ไม่ได้การันตีว่าลูกคุณจะไม่พิการหรือไม่ตาย
“ปรากฏการณ์นี้ต้องรีบยับยั้ง กรมการขนส่งฯ ที่มีหน้าที่ออใบขับขี่ต้องเข้มงวดจับมือร่วมกับตำรวจ และโรงเรียนต้องควบคุมลูกศิษย์ตัวเองได้ ตอนนี้ผู้ใหญ่ต้องรีบแล้ว เราช้ากว่าเยาวชนไปแล้ว ภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับขี่รถที่เสี่ยงของวัยรุ่นต้องกลับมาเร่ง และการตลาดต้องมีสำนึกกว่ามากนี้ ต้องระงับยับยั้ง อย่าไปใช้กลไกการตลาดใดๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้เยาวชนสนใจ
“เราปล่อยให้เยาวชนไทยกลายเป็นเด็กที่ไร้ราก เอาแต่ความสบายเอาแต่ความสะดวกเอาแต่ความรวดเร็วและละเลยสำนึกถึงความเดือดร้อนของคนอื่น การคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น การใช้บิ๊กไบค์เป็นเครื่องมือและพฤติกรรมให้เด็กเป็นแบบนั้น ตอนนี้เยาวชนไทยสมควรได้รับการพัฒนาอย่างมาก เราปล่อยให้เยาวชนไร้การพัฒนาไร้รากมานานแล้ว”
ด้าน อาจารย์โฮ้ กล่าวทิ้งท้ายว่า พฤติกรรมการขับขี่ที่ไร้วุฒิภาวะของเด็กบางกลุ่ม อาจส่งผลลบต่อสังคมบิ๊กไบค์และถูกประชาชนมองแง่ลบเข้าไปอีก ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้ามากำราบจัดการ เพราะปล่อยไปอาจลุกลามเป็นปัญหาสังคม
…......................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Live
ภาพประกอบ : FB@มัธยมขี่ BigBike
….....
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754