xs
xsm
sm
md
lg

หลังความฉาว...ความงามจึงปรากฏ “แอลลี่ พิมบงกช” เธอเกิดมาเพื่อเป็นนางงาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภายหลังความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ในบางมุมมันถูกเรียกว่า “ฉาวโฉ่” จากเวทีประกวดนางงามมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่มงกุฎถูกสวมให้กับ “ฝ้าย - เวฬุรีย์” ก่อนถูกวิพากษ์รุนแรงพร้อมเรื่องฉาวจนสละตำแหน่ง ส่งต่อไปให้ “น้ำเพชร - สุณัณณิการ์” ก็เกิดกระแสต้านแรงถึงขั้นกองประกวดสั่งปลด สุดท้ายตำแหน่งจึงตกมาถึง “แอลลี่ - พิมบงกช จันทร์แก้ว”



“แอลลี่ฝันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากจะเป็นมิสยูนิเวิร์ส การทำได้สำเร็จมันทำให้แอลลี่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง” เธอเอ่ยถึงเมื่อครั้งได้ตำแหน่งในท้ายที่สุด

กระแสวิพากษ์ร้อนแรงจากเวทีดังกล่าวกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์อยู่หลายสัปดาห์ต่อเนื่อง ฝ้าย - เวฬุรีย์สละตำแหน่งจากเสียงทัดทานที่วิจารณ์ถึงรูปร่างและคำพูดที่เธอใช้ในโซเชียลมีเดีย น้ำเพชร - สุณัณณิการ์ถูกปลดจากผลงานภาพฉาวแรงในอดีต ท้ายที่สุดตำแหน่งตกมาถึง แอลลี่ - พิมบงกช สาวผู้ที่แฟนคลับนางงามต่างให้กำลังใจ ด้วยรูปร่างสูงสวยเป๊ะตามแบบฉบับนางงาม อีกทั้งความพยายามในการเข้าประกวดที่ไม่ธรรมดา

แต่เธอกลับมีภาพจูบกับแฟนหนุ่มหลุดออกมาให้สังคมวิพากษ์เช่นกัน แต่ท้ายที่สุดเรื่องราวก็จบลงที่เธอบินรัดฟ้าเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันมิสยูนิเวิร์สที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า ทว่าเธอก็ไม่ได้รับรางวัลอะไรกลับมาเลย
 
“ไม่เสียดายแอลลี่ทำดีที่สุดแล้ว ได้เดินตามความฝัน ได้ลงมือทำอย่างที่สุด มันเป็นสิ่งที่แอลลี่ได้เลือกแล้ว”
 
ภายหลังกระแสเวทีประกวดที่เบาบางลง เธอกลับจากงานประกวดใหญ่พร้อมความผิดหวังเล็กๆ ชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทางกับเมืองไทยและตำแหน่งนางงามที่เธอใฝ่ฝัน ทีมงาน m-lite นั่งลงพูดคุยกับเธอถึงช่วงเวลาแห่งการตามฝัน เบื้องหลังความสำเร็จที่ได้มา เธอผ่านอะไรมาบ้าง



 
เส้นทางนางงาม
 
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางมิสยูนิเวิร์สของเธอนั้นเกิดขึ้นที่บ้านของเธอที่อาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แม่กับยายชอบที่จะพูดถึง ปุ๋ย - ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางงามจักรวาลชาวไทยคนที่ 2 ของประเทศอยู่ตลอด พูดจาเป็นทีเล่นทีจริงให้เธอต้องประกวดนางงาม แต่ด้วยความสงสัยเพราะยังเด็ก เธอไม่รู้ว่านางงามจักรวาลคือใคร แม่จึงเปิดวิดีโอให้ดู ทำให้รู้ว่า ปุ๋ย - ภรณ์ทิพย์คือคนไทยที่อยู่ในลอสแองเจอลิสและกลับไปประเทศไทย คว้าตำแหน่งนางสาวไทยก่อนไปพิชิตตำแหน่งนางงามจักรวาลได้สำเร็จ
 

“แอลลี่ชื่นชอบเขามาก ก็คิดว่าอาจจะคล้ายๆ เรา คิดว่าเขาสามารถทำได้ทำไมแอลลี่จะทำไม่ได้ คิดแบบนี้ตลอด เพราะเราไม่รู้ว่าเราสามารถทำได้มั้ย ทุกคนสามารถทำได้ถ้าเราลองทำ”
 
 
จากนั้นครั้งหนึ่งในวัยเด็กเพียง 5 ขวบเธอจึงถูกแม่กับยายจับแต่งตัวไปประกวด เป็นการประกวดนางงามเล็กๆ ของเหล่าเด็กๆ ในหมู่คนไทยในแอลเล เช้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมา ใส่ชุดไทยแล้วก็ไปประกวดแทบจะทันที

“ตอนนั้นจำได้แค่ตื่นแต่เช้าแล้วยายจับใส่ชุดไทย แล้วแอลลี่ก็งงมากเพราะมันไม่ได้เหมือนชุดธรรมดา แล้วแอลลี่ก็ไม่รู้มาก่อนด้วย นั่นเป็นครั้งแรกแล้วก็ไม่ได้ตำแหน่งอะไรเลย”
 
 
หลังจากวัยเด็กที่ผิดหวังแบบไม่รู้ตัว เธอพาตัวเองเข้าชิมลางการประกวดที่จริงจังยิ่งขึ้นครั้งแรกตอนอายุ 16 ปี โดยเป็นการประกวดในย่านไทยทาวน์ที่วัดไทยซึ่งมีงานสงกรานต์จัดขึ้น เป็นการประกวดนางนพมาศนั่นเอง เธอยิ้มเขิมพร้อมเผยว่า แม้จะเป็นการประกวดแบบไทยแต่ก็ยังพูดภาษาไทยไม่ได้เลย
 
 
“อยู่ที่โน่นทุกคนต้องพูดภาษาอังกฤษก็เลยไม่เป็นไร แต่ตอนนั้นหนูก็อยากพูดภาษาไทย แต่ก็ไม่มีเวลาฝึกเลย ต้องไปทำงานไปเรียน ตอนนั้นเลยยังพูดไม่ได้สักคำ ได้แต่คำที่มันเบสิกมากๆ”
 
 
บรรยากาศที่ไทยทาวน์คนเยอะเป็นพิเศษ เธอไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน ท่ามกลางลูกครึ่งคนไทยที่เข้าร่วมประกวดในเวทีนั้น เธอใส่ชุดไทยอีกครั้งด้วยความรู้สึกที่ยังคงเต็มไปด้วยความแปลกใหม่
 
 
“Everything was new” เธอเผยถึงความรู้สึก “ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ทุกคนจะบอกว่า จริงๆ การประกวดในเมืองไทยจะต่างออกไป ตอนนั้นก็จะมีใส่ชุดไทยอย่างเดียวทั้งงาน ไม่มีชุดราตรี แล้วก็มีตอบคำถามซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ เขาจะถามเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยมาพร้อมกันเลย”
 
 
การประกวดครั้งแรกของเธอจบภายในวันเดียว เธอซักซ้อมมาเพียงนิดหน่อยสำหรับการเดินแบบเท่านั้น วันจริงก็ใส่ชุดไทยทำผมมาเข้าร่วม กรรมการให้คะแนนสำหรับการตอบคำถามอย่างเวทีนางงามทั่วไป ท้ายสุดของวันก็เป็นการประกาศผล ตำแหน่งนางงามต่างๆ ถูกประกาศไล่เรียง นางงามยอดนิยม นางงานผิวสวย นางงามหุ่นดี
 

“มีหลายๆ ตำแหน่งแต่แอลลี่ไม่เคยได้เลย พวกรางวัลพิเศษต่างๆจะไม่ได้ตลอด สุดท้ายเราได้ตำแหน่งชนะเลิศ เขาก็เข้ามาดีใจกับเราเป็นภาษาไทย แต่แอลลี่ไม่เข้าใจ (หัวเราะ)”
 
 
หลังได้ตำแหน่งงานนพมาศ เธอก็เดินหน้าประกวดอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เป็นเวทีที่ใหญ่กว่าครั้งก่อนซึ่งจัดขึ้นในไทยเฟสติวัลบนถนนฮอลลีวูด มีการปิดถนนทั้งสายเพื่อจัดงานให้ชาวต่างชาติเข้ามาร่วมชมการแสดงทางวัฒนธรรมไทย มีมวยไทย อาหารไทยรวมไปถึงการประกวดที่ชื่อว่า มิสไทยทาวน์ยูเอสเอ งานนั้นเป็นงานใหญ่ถึงขนาดมีการเชิญดาราไทยให้เข้ามาร่วมเดินด้วยทุกปี

“ตอนนั้นอายุ 17 ปีแล้วถือเป็นงานประกวดเวทีใหญ่ขึ้นไปอีก คนก็เยอะขึ้นไปอีก ตอนประกวดแรกมันเป็นวัดไทยมีแต่คนไทยไม่ค่อยมีคนเยอะ แต่นี่คือปิดฮอลลีวูดคนเยอะมาก คนประกวดก็เป็นคนไทยมี 21 คน แอลลี่เป็นคนที่ 21 เพราะสูงที่สุด ตอนนั้นยังมีแต่งชุดนักกีฬา มีเปลี่ยนเป็นชุดราตรี แล้วก็มีตำแหน่งต่างๆ เหมือนกัน ประกวดวันเดียวเหมือนกันแต่มันใหญ่ขึ้นมาก”

3 ชุดที่ต้องเปลี่ยนสวมใส่เพื่อประกวด ชุดนักกีฬาที่ต้องมีการเต้นประกอบ ชุดราตรีที่ต้องเดินให้สง่างามก่อนเปลี่ยนเป็นชุดไทยส่งท้ายก่อนประกาศ 5 คนสุดท้ายที่เข้ารอบและตอบคำถาม วินาทีแห่งการตัดสินก็มาถึง แจกรางวัลพิเศษในหลายตำแหน่ง ก่อนประกาศผู้ชนะเลิศการแข่งขัน
 

“ก็เป็นอีกครั้งที่แอลลี่ไม่ได้รางวัลพิเศษอะไรเลย (หัวเราะ) แต่ไม่เป็นไร ได้ตำแหน่งชนะเลิศอย่างเดียวก็ดี”
 
 
ระหว่างเส้นทางการประกวดเธอฝึกตัวเองในหลายด้านเพื่อเป็นนางงาม ทั้งการเดินบนส้นสูง เรียนรู้จักวัฒนธรรมไทยในการไหว้ให้สวยงาม และพยายามฝึกภาษาไทยโดยมีครอบครัวที่บ้านช่วยผลักดันอยู่ตลอดเวลา
 

“เพราะแอลลี่อยากจะมาเมืองไทย ตั้งใจจะมาเมืองไทยมาก แม่บอกว่าให้ลองประกวดที่อเมริกาก่อนดูว่าชอบมั้ย เพราะถ้าบอกว่าอยากจะมาแต่ไม่เคยทำมาก่อน แต่มาแล้วเกิดไม่ชอบขึ้นมา คำถามคือแล้วมาทำอะไร?”
 
 
หลังผ่าน 2 เวทีเป้าหมายของเธอก็ชัดเจนขึ้น เธอวางแผนในทันทีอีก 2 ปีต่อจากนี้ ทันทีที่จบไฮสคูลเธอจะเข้าร่วมการประกวดที่ประเทศไทย มีเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นที่จะฝึกภาษาไทย



 
เป้าหมายที่ชัดเจน
 
 
หลังคว้าตำแหน่งมิสไทยทาวน์ยูเอสเอ เป้าหมายของเธอก็ชัดเจนขึ้น เธอต้องมาเมืองไทยเพื่อเข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส แต่ติดที่เธอยังไม่จบไฮสคูลจึงยังต้องรอเวลาต่อไปก่อน

“แรกๆ แอลลี่พยายามฝึกภาษาไทยด้วยการดูละครไทย คุยกับแม่กับยายบ้าง แต่แอลลี่ก็พูดไม่ได้ ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีอะไร คือตอนนั้นมันพูดไม่ได้จริงๆ”
 
 
จากนั้นวิธีต่อมาคือเธอพยายามเสิร์ชดูในอินเทอร์เน็ต หาวิธีการเรียนที่ชาวต่างชาติเรียนการอ่าน การออกเสียง การสื่อสารภาษาไทย หลังดูออนไลน์แล้วก็ไปถามแม่ จากก.ไก่ ข.ไข่ถึงการผสมคำ แต่ตลอดมาเธอก็ยังพูดไม่ได้ ฟังคนอื่นก็ไม่เข้าใจความหมาย

“แอลลี่งงมากเพราะคนปกติพูดเร็วที่นี่ พูดแบบธรรมดา พวกที่อยู่ที่โน่นเมื่อไหร่คนจะพูดเขาจะพูดช้าๆ เพราะเขารู้ว่าหนูไม่เข้าใจก็จะช้าๆ ง่ายๆ นี่คือคนพูดภาษาไทยแบบปกติมันจะเร็วๆหน่อย ก็จะยังงงๆ”
 
 
แต่แล้วเวลาก็มาถึง เธอต้องมาอยู่เมืองไทยให้ครบเวลาทั้งหมด 6 เดือนก่อนสมัครประกวด เธอกับแม่ย้ายมาอยู่ในช่วงปิดเทอมของมหาวิทยาลัยที่เธอเรียนอยู่พอดีเพื่อรอคอยการประกวดที่จะมีขึ้นโดยไม่แน่ใจว่าจะจัดในช่วงไหนด้วยซ้ำ
การมาเพื่ออาศัยอยู่เมืองไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับการปรับตัวไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมรวมถึงวิถีชีวิตที่เธอแทบไม่รู้จักใครที่นี่เลย

“ตอนแรกหนูก็ตื่นเต้นอยู่ เหมือนไปเที่ยวใช่มั้ย? ยังไม่ได้รู้สึกว่าจะอยู่นานเลยยังมีความสุข แฮปปี้ที่ได้มาที่นี่ แอลลี่ชอบเมืองไทยอยู่แล้ว ชอบมาตื่นเต้นที่ได้มา คือแอลลี่เคยมาเที่ยวก่อนแล้วแต่ไม่เคยใช้ภาษาไทยเลยเพราะแม่จะทำทุกอย่างให้ ไปที่ร้านแม่จะสั่งอาหารให้ ซื้อของแม่ก็จะซื้อให้ ตอนเป็นเด็กยังพูดไทยไม่ได้เลยให้แม่ช่วยในการอยู่ที่เมืองไทยตลอด แต่พอมาอยู่เองก็ต้องปรับตัวเองในการมาอยู่ที่นี่ให้ได้”
 
 
สิ่งแรกที่ยากลำบากในการอยู่เมืองไทยคืออากาศที่ร้อนจัด สิ่งต่อมาก็คือการที่เธอไม่มีเพื่อนอยู่ที่นี่เลย เธอจึงต้องอยู่กับแม่และน้องเพียง 3 คน อาหารการกินก็ทานไม่ค่อยได้เพราะเธอเป็นมังสวิรัติ เธอต้องกินผัดผักทุกวันจนเกิดอาการเบื่ออาหารและไม่สามารถทานต่อไปได้ในระยะหนึ่ง
 

“มีปัญหาเยอะเหมือนกัน จากนั้นแอลลี่ก็ไม่สบายเพราะโดนยุงกัดอะไรกัดอีก ทั้งตัวมันมีอาการแพ้แบบไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นแอลลี่ก็รู้สึกว่า oh my god! มันยาก แต่ไม่เป็นไรเพราะแอลลี่มีเหตุผลที่จะมา แอลลี่มีเป้าหมายที่ตั้งไว้มาตั้งแต่อยู่ที่โน่นแล้ว ไม่สามารถยอมแพ้ได้ ต้องสู้ต่อไป”
 
 
หลังมาอยู่เมืองไทยเธอตั้งใจฝึกฝนภาษาไทยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สำเร็จ พยายามคุยกับทุกคน มีครั้งหนึ่งที่ไปห้างสรรพสินค้าพยายามจะสั่งอาหารที่ศูนย์อาหารด้วยภาษาไทย เธอเห็นเมนูข้าวผัดอเมริกันเข้าจึงสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่เพราะไม่เคยเห็นมีขายที่อเมริกา แต่พอลองสอบถามด้วยภาษาที่ยังไม่ดีนักก็ทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่องในที่สุด
 

“จำได้ภาษาไทยยังไม่ดีตอนนั้นก็ถาม ข้าวผัดอเมริกันคืออะไร? เขาก็งง เขาคงไม่แน่ใจว่าจะให้อธิบายยังไง คำว่า ใกล้ ไกล ไก่ที่คล้ายกันก็แยกไม่ออก คิดว่าเป็นคำเดียวกันหมด หนูไม่เข้าใจเลยเพราะมันเสียงเดียวกัน”
 
 
ท้ายที่สุดเธอเรียนภาษาไทยด้วยการไปอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ในฐานะครูอาสาสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านป่าไม้สหกรณ์ซึ่งอยู่ติดชายแดนกับเขมร เธอต้องมาอยู่กับญาติๆ ที่นี่โดยไม่มีแม่มาด้วย และทุกคนที่นั่นพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย อีกทั้งยังพูดยังนิยมใช้ภาษาอีสานพูดคุยกันอีกต่างหาก!
 
 
“แล้วทุกคนจะชอบแกล้งเพราะตอนนั้นภาษาไทยยังไม่โอเค เขาจะพูดภาษาไทย ถ้าหนูยังไม่เข้าใจเขาจะเปลี่ยนเป็นภาษาอีสาน ก็ยิ่งไม่เข้าใจไปใหญ่” เธอเล่าพลางหัวเราะ
 
 
เวลาเพียง 2 เดือนที่นั่นทำให้แม่ของเธอการันตีว่าภาษาไทยของเธอ โอเคแล้ว แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีช่วงหนึ่งที่เธอต้องอยู่ในบ้านท่ามกลางฝนตกน้ำท่วม ไฟดับน้ำไม่ไหลติดต่อกันถึง 15 วัน ด้วยความห่างไกลของหมู่บ้านที่เที่ยวหลังสอนหนังสือเสร็จกลับเป็นเพียงร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมันเท่านั้น
 

“มันไม่มีอะไรที่โน่น มีร้านอาหารนิดหน่อย ตอนนั้นกลับจากโรงเรียนก็ไม่มีอะไรทำต้องไปร้านสะดวกซื้อไปซื้อของเล่นๆ จากนั้นก็มีช่วงหนึ่งที่หนูไม่สบาย กินอะไรไม่ได้เลยหนึ่งวันเต็มๆ แล้วก็ต้องไปหาหมอเพราะว่ามีอาการแพ้
 

“แต่สุดท้ายโอเคนะ แอลลี่ไปที่โน่นได้ภาษาได้วัฒนธรรมไทย ได้เห็นว่าคนที่เขาไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ เขามีชีวิตอย่างไร คนต่างจังหวัดเป็นยังไง มันยิ่งต่างไปอีก ต่างจากแอลเอ ต่างจากกรุงเทพฯด้วย”
 
 
ในช่วงเวลาของการฝึกภาษาไทยนั้น เธอค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อยคำที่ไม่รู้จักจนคุ้นเคยโดยมักจะอยู่ข้างๆ ครูที่สอนภาษาอังกฤษอยู่ในพื้นที่นั้นอยู่ก่อนแล้วเป็นเหมือนล่ามช่วยแปลช่วยสื่อสาร
 
 
“ตอนนั้นเขาถามอะไรมาก็พอเข้าใจแล้วนะ แต่ยังตอบไม่ได้ ต้องเรียนอ่านภาษาไทยเขียนภาษาไทยกับเด็กอนุบาล เขียนกับเด็กๆ ก.ไก่ ข.ไข่ไปเรื่อยๆ เราไปสอนภาษาอังกฤษแต่เราได้ภาษาไทยจากเขามาด้วย พอผ่าน 2 เดือนมาแล้วก็เรียบร้อย โอเค”
 
 
สิ่งที่เป็นอีกตัวช่วยสำคัญในการเรียนรู้ภาษาไทยของเธอคือผู้คนที่นั่นซึ่งเป็นมิตรและคอยช่วยเหลือเธอเสมอ
 

“ทุกคนยินดีที่จะช่วยแอลลี่ เขาอาจจะพูดไม่ได้แต่เขาก็จะพยายาม ทุกคนจะพยายามคุยกับแอลลี่ หนูก็จะพยายามคุยกับทุกคน พยายามใช้ภาษาไทยให้มากที่สุด คือพยายามคุยกับครู ถามมันคืออะไร ภาษาไทยว่ายังไง พยายามจะถาม”
 
ท้ายที่สุดเธอเอาชนะกำแพงของภาษาได้สำเร็จใน 2 เดือน เธอเดินทางกลับมากรุงเทพฯพร้อมเตรียมตัวกับสิ่งที่รอมาตลอดชีวิต ความใฝ่ฝันนับแต่วัยเด็กของเธอ การประกวดมิสยูนิเวิร์ส เธอต้องฝึกเดิน แต่งหน้า ทำผม เริ่มฝึกทุกอย่างอย่างจริงจังพร้อมทั้งออกกำลังกายเพื่อฟิตหุ่นอีกด้วย


 
ดรามานางงาม!
ภายหลังการประกวดทั้งหมด อย่างที่ทุกคนรับรู้กัน “ฝ้าย - เวฬุรีย์” ได้รับสายสะพายบนเวทีไปอย่างค้านสายตาแฟนคลับนางงามทั่วประเทศ แน่นอนว่า หลายคนจับจ้องมาที่แอลลี่ด้วยความงามสง่าที่แม้ตอนนั้นจะอยู่รองอันดับสองแต่หลายคนก็ลุ้นและเทใจเชียร์ให้เธอได้เป็นตัวแทน การสละตำแหน่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้เกิดขึ้น การปลดตำแหน่งนางงามอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนก็เกิดตามมาในกรณีของ “น้ำเพชร - สุณัณณิการ์”
 
เวทีประกวดถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคำตัดสินที่เป็นปัญหาโดยเหยื่อที่ตกเป็นจำเลยวิพากษ์ก็หนีไม่พ้นเหล่านางงามที่เกี่ยวโยงกับดรามาที่เกิดขึ้น แอลลี่เองก็ถูกวิจารณ์ด้วยจากกรณีภาพหลุดในอดีตซึ่งแม่ของเธอออกมาชี้แจงในทันทีถึงความสัมพันธ์ที่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
 
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยดูจะกดดันนางงามเวทีนี้มากกว่าทุกครั้งที่เป็นมา


“การเป็นนางงามมันมีคนกดดันเราอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำให้เรารู้สึกกดดัน ทุกคนจะอยากให้แอลลี่เป็นในแบบที่เขาอยากได้ ทุกคนจะมีความคิดของเขาแล้วเขาจะอยากให้แอลลี่เป็นแบบนี้ แล้วก็จะพยายามคอมเมนต์ให้คนนี้เปลี่ยนไป”
 
แต่สำหรับเธอแล้ว การเปลี่ยนแปลงไปตามเสียงกดดันวิจารณ์ของผู้คนไม่ใช่ทางออกของการเป็นนางงาม การเป็นตัวเองอย่างมั่นใจต่างหากคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าตัวเธอเป็นใคร




“แต่แอลลี่ไม่ค่อยได้รู้สึกกดดันเพราะแอลลี่มั่นใจในตัวเอง เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง ถ้ามีคนมาแนะนำแอลลี่ก็จะฟัง แต่ถ้าคิดว่ามันไม่ดีกับแอลลี่ก็คงไม่ทำ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องพอใจกับตัวเอง ไม่อยากจะเป็นคนอื่น ไม่อยากจะเป็นคนที่ไม่จริงใจ อยากเป็นตัวของตัวเอง”
 
โดยนิยามนางงามของเธอนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ความงามจากภายนอก แต่ต้องมาจากตัวตนภายในที่เป็นคนดีและมีความพร้อมในตนเองในฐานะนางงาม


“ถ้าเขาเป็นนางงามแล้วจะต้องไปต่างประเทศ เขาต้องเป็นคนที่รักสิ่งนี้ และต้องภูมิใจในประเทศของเขา ต้องมั่นใจในตัวเอง และรู้ว่าตัวเองคือใคร”

ภายหลังดรามานางงามผ่านพ้น เธอได้ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สอย่างที่ฝันไว้ ตั๋วบินรัดฟ้าในฐานะตัวแทนประเทศประกวดนางงามจักรวาลมาอยู่ในมือเธอ ที่ไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ช่วงเวลานั้นคือสิ่งล้ำค่าสำหรับเธอเพราะมันเต็มไปด้วยความประทับใจ

แต่ด้านหนึ่งมันก็เป็นการแข่งขันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกกดดันในฐานะตัวแทนของประเทศ


“คือมันไม่ได้เหมือนประกวดที่เมืองไทย นางงามทุกคนที่นั่นเป็นคนที่สวยที่สุดของแต่ละประเทศ ทุกคนต้องไปแข่งขันกัน ทุกคนเป็นตัวแทนจริงๆ แต่สนุกคะ ตอนแรกกลัวว่าถ้าไปแล้วทุกคนจะแข่งขันกันมากเกินไปแล้วจะไม่สนุก


“กลัวจะเขม่นกัน 88 ประเทศ กลัวว่ามีแต่ผู้หญิงกลัวว่าจะมีปัญหา มีไฟต์กัน หรือจะมีดรามาแต่มันไม่มีคะ อยู่ที่โน่นเจอทุกคนน่ารัก โอเค นิสัยดี เกาะกลุ่มกัน สนุกมาก”

โดยในช่วงเก็บตัวประกวดนั้นเธอสนิทกับนางงามตัวแทนจากประเทศจีนมากที่สุดเพราะเป็นรูมเมตกัน ทว่าท้ายที่สุดของการประกวด แม้จะมีกระแสข่าวว่าเธอจะผ่านเข้ารอบลึก แต่กลับจบอยู่เพียงรอบแรกเท่านั้น และแน่นอน มันก็ตามมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเวทีการประกวดที่เกิดขึ้นอย่างร้อนแรงเพราะเธอถือเป็นตัวเก็งคนหนึ่งก็ว่าได้
แต่ท้ายที่สุดเรื่องราวก็ได้ผ่านพ้นมาแล้ว เธอภูมิใจกับการได้ลงมือทำในสิ่งที่ฝันไว้แล้ว


“แอลลี่ภูมิใจที่สามารถยืนบนเวทีได้ เพราะแอลลี่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นมิสยูนิเวิร์ส ในความคิดของแอลลี่คือ ถ้าเรามีฝันมันจะมีสองทาง ทางหนึ่งคือไม่ได้ตามความฝันกับอีกทางที่ลองตามดู ถ้าเราไม่ได้ตามความฝันมันจะหยุด ทำอะไรไม่ได้ ในอนาคตเราก็อาจจะเสียใจที่ไม่ได้ทำ


“ในทางหนึ่งที่เราพยายามตามฝัน มันก็ดีแล้ว เพราะเรากล้าที่จะทำตามความฝัน เรามีชีวิตอันเดียวทำไมจะไม่ทำ ทำไมจะเสียเวลานั่งคิดว่าน่าจะไม่ได้ คือเราต้องกล้า คือแอลลี่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ แอลลี่บอกว่าอยากจะไปก็ไปจริงๆ ดีใจที่แอลลี่สามารถยืนบนเวทีได้ สามารถถึงจุดนั้นได้ จะมีสักกี่คนที่ได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส”
 
ดังนั้นความสุขของการเป็นนางงามในมุมมองของเธอจึงไม่ใช่การให้ใครมาตัดสินว่าดีเด่นกว่าใคร แต่เป็นความภาคภูมิใจที่อยู่ในตัวของเธอเอง


“ความสุขมาจากการที่แอลลี่จะภูมิใจในตัวเองถ้าทำได้ คนที่ประกวดต้องเป็นคนที่กล้า เพราะเราต้องยืนบนเวทีใส่ชุดว่ายน้ำทูพีช ทุกคนจะเห็นเรา ทุกคนจะสามารถจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์เราได้ เราต้องกล้าที่จะทำ เราไปอยู่บนนั้นแล้วเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด”
 
เสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงตลอดการประกวดที่ผ่านมานั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งที่เธอรู้สึกแปลกใจแม้แต่น้อย หากแต่เป็นเรื่องปกติที่เกิดในยุคปัจจุบันที่ผู้คนเข้าถึงเทคโนโลยีมีโซเชียลมีเดียที่สามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาได้


“ทุกที่บนโลกจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ เพราะตอนนี้เรามีโซเชียลมีเดียที่สามารถพูดว่าเขาคิดยังไงได้ ทุกคนจะมีความคิดที่แตกต่างกัน แอลลี่รู้ว่าต้องมีจิตใจที่มั่นคง และรู้ว่าได้ตำแหน่งหรือไม่ได้ก็จะมีคนด่าอยู่ดี มันมีแน่นอนเพราะไม่มีใครในโลกนี้ที่ทุกคนต้องชอบ”



นางงาม นักอ่าน และ ศิลปะ

วัยเด็กของเธอแม้จะเป็นคนอเมริกาเต็มตัวทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ แต่บุคลิกของเธอกลับเป็นคนเรียบร้อยเหมือนถอดแบบมาจากแม่ ชีวิตในบ้านที่พ่อแม่แยกทางไม่ได้ส่งต่อความอบอุ่นที่ขาดหาย เธออยู่กับน้องสาวและยายที่มาจากประเทศไทยคอยเลี้ยงดู และคุณยายนี่เองที่เป็นคนค่อยๆ ทำให้เธอคุ้นเคยกับภาษาไทยแม้ว่าจะพูดไม่ได้ก็ตาม คุณยายพูดไทยใส่เธอ ขณะที่เธอพูดภาษาอังกฤษตอบกลับ ทั้งสองพูดคุยกันคนละภาษาแต่ก็สื่อสารกันเข้าใจ


“ยายจะไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษแต่ก็สื่อสารกันได้ ยังฟังกันรู้เรื่อง แต่ยายเขาก็ไม่เคยพูดอะไรยากๆ จะพูดแค่หิวมั้ย หรืออะไรง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน บางทีก็บอกว่าตอนนี้มีงานสงกรานต์ก็จะมีการเล่นน้ำ คุณยายมีการจะสอนมารยาทไทยว่าเป็นยังไง ต้องทำแบบนี้ เห็นผู้ใหญ่ต้องก้ม สอนทุกอย่าง”

อย่างไรก็ตาม เธอก็เติบโตมากับวัฒนธรรมแบบอเมริกัน เธอมองว่า หากนำวัฒนธรรมไทยไปใช้มันก็ออกจะดูแปลก เพราะอเมริกาไม่มีเรื่องของการต้องเคารพผู้ใหญ่ ไม่ต้องก้มต้องไหว้ หากเจอผู้ใหญ่ก็ทักทายกันตามปกติ


“ที่เมืองไทยทุกคนจะเคารพผู้ใหญ่หรือใครที่อายุมากกว่า ที่นี่คนจะเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน ที่โน่นจะไม่มี คือเรียกชื่อกันธรรมดา ถ้ารู้จักคนนี้อายุมากกว่ามันก็ไม่มีอะไร Hay, How are you? ไม่มีพี่หรือคุณ”
 
ความเป็นอยู่ในช่วงวัยเด็กที่อเมริกานั้น เธอถือเป็นเด็กเงียบๆ แต่ก็มีเป็นคนชอบเล่นกีฬาทำกิจกรรมเป็นนักกีฬาโรงเรียนอยู่บ้าง ช่วงอายุ 16 ปี เธอก็เริ่มทำงานพิเศษหลังเลิกเรียนเพื่อว่าหากจะไปเที่ยวที่ไหน เธอจะได้ไม่ต้องขอพ่อแม่ให้เป็นภาระ


“ตอนเรียนแอลลี่เริ่มทำงานที่ร้านอาหารของแม่ คือทำงานเก็บตังค์เพราะเวลาไปดูหนังกับเพื่อน ซื้อของ ไปเที่ยวไปทะเลก็อยากใช้ตังค์ตัวเองไม่อยากขอแม่”
เมื่ออายุ 16 ปีเธอเริ่มช่วยงานทำงานเล็กๆน้อยๆให้แม่ แต่ตามกฎหมายระบุให้อายุ 17 เท่านั้นจึงจะเริ่มทำงานได้ พอถึงวันเกิดอายุครบ 17 ปีเธอก็ยื่มสมัครงานที่ร้านเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่วัยรุ่นมักจะอยากทำงานกันแทบจะทันที
 
“ตอนนั้นทำงานก็ต้องมี cosumer service ต้องคุยกับลูกค้าตลอด มีบางคนที่แบบ เรื่องเยอะ(เบาๆ)” เธอว่าพลางหัวเราะ “เพราะที่โน่นเป็นแบรนด์เนมแล้วก็จะมีคนที่มาจากต่างประเทศมา เขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง บางทีเขาจะโมโหแต่ไม่มีใครรู้ว่าเขาโมโหอะไร ทำไมเขาถึงโมโห เราก็ต้องใจเย็นๆ Can I help you? หนูก็ต้องเป็นคนจัดเสื้อผ้า ช่วยค้นทำทุกอย่าง”
 
ในช่วงนั้นชีวิตเธอค่อนข้างเป็นอิสระมาก สามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ขับรถไปโรงเรียนและไปทำงานเอง ทุกอย่างทำด้วยตัวเองหมด วิถีชีวิตแตกต่างจากเมื่อมาอยู่ประเทศไทยมาก เพราะเธอขับรถในเมืองไทยไม่ได้


“มันน่ากลัว มอเตอร์ไซค์เยอะ เคยลองขับที่บ้านในซอยบ้าน ขับไปใกล้ๆ พอได้แต่ต้องคิดหนูกลัวรถชน คนไทยขับรถน่ากลัว ที่โน่นทุกคนขับรถเรียบร้อย กว่าจะเลี้ยวทีนึงก็ต้องเปิดไฟขอทาง ทุกคนสุภาพ ขับไปเรื่อยๆ ของที่นี่คนขับรถจะไม่กลัวคนเดิน แต่ที่โน่นคนที่ขับรถต้องกลัวคนเดิน ถ้าชนคือผิด แต่ที่นี่คนต้องระวังรถเพราะว่าบางทีจะข้ามทางม้าลายยังมีบีบไล่เลย”
 
ทว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป งานอดิเรกที่เธอทำมาตลอดชีวิตอย่างการวาดรูปและอ่านหนังสือหรือออกกำลังกาย
 
“หนูเป็นคนที่ชอบอาร์ต พวกงานศิลปะเป็นคนที่ชอบวาดรูป เพนติ้ง ชอบมากตั้งแต่เด็ก เมื่อไหร่ที่ว่างตอนเรียนก็วาดรูปตลอด แล้วก็ชอบอ่านหนังสือ ตอนนี้ชอบออกกำลังกาย”
โดยรูปที่เธอวาดนั้นช่วงนี้เธอชอบวาดรูปคนโดยจับน้องสาวมาถ่ายรูปแล้วเอามาวาดเล่น ตั้งแต่เด็กมานั้นเธอก็มักจะวาดไปด้วยระหว่างดูหนังไปด้วย มันเป็นงานอดิเรกที่เธอสามารถจมอยู่กับมันได้นานเป็นชั่วโมงโดยไม่รู้เบื่อ ค่อยๆวาด ช้าๆ กับงานศิลปะ
“มีความสุขคะ การวาดรูปสามารถเอ็กเพรสตัวเองได้” เธอว่า ไม่นานดูหยิบเอาผลงานที่วาดเมื่อไม่นานมานี้ออกมา บางภาพทำเอาเธอนอนไม่หลับเพราะจมอยู่กับการวาดจนลืมเวลา “มันแล้วแต่บางทีถ้าดูเดิลแบบนี้เราวาดรูปเราก็ไม่รู้ตัวว่ามัน ก็วาดๆๆ อยู่ 2 ชั่วโมงผ่านไปแล้ว บางทีแบบอินมาก ไม่รู้ตัวเลย”
ในส่วนของการอ่านหนังสือนั้น เธอจำได้แม่นยำว่าเคยอ่านหนังสือไม่ออกแล้วรู้สึกโกรธมากๆ


“จำได้ว่าตอนเด็กหนูพยายามอ่านหนังสือแต่เจอคำยากที่อ่านไม่ออกหนูจะโมโหมาก ทำไมอ่านไม่ออก ต้องถามคุณแม่ จำได้ว่าเป็นเด็กที่พยายามอ่านหนังสือมาก”
 
หลังเลิกเรียน ทำการบ้านเสร็จเธอมักจะอ่านหนังสืออยู่เสมอ ถึงตอนนี้เธอก็ยังคงชอบอ่านหนังสืออยู่แม้จะไม่ค่อยมีเวลานัก โดยชื่นชอบหนังสือจำพวกนิยายเป็นพิเศษ และมักจะเน้นไปที่แนวผจญภัย ลึกลับหรือเป็นแนวจิตวิทยาเสียด้วย


“เล่มโปรดมี the monstrumologist มันอธิบายยากหน่อย ตอนแรกมันเกี่ยวกับมอนสเตอร์ เป็นผจญภัยแอกชั่น เป็นแนวเรื่องลึกลับด้วย แล้วก็มาเป็นเรื่องดรามาจิตวิทยา ชอบคะ ทำให้เรารู้สึกอินมาก มันแนวแฟนตาซีนิดนึง”



ความฝันและความรัก
 
สาวสวยน่ารักดีกรีมิสยูนิเวิร์สอย่างเธอ แน่นอนว่า สเป๊กหนุ่มๆ ย่อมไม่ธรรมดา เธอค่อนข้างเขินอายและเงียบไปนานกว่าคำถามประเด็นอื่นๆ จนต้องหันไปปรึกษากับแม่ ประการหนึ่งเธออาจไม่เข้าใจคำถามจากภาษาที่แตกต่าง
 
“ตอนนี้อายุยังไม่ถึงคะ” เธอหัวเราะเมื่อหลุดคำตอบแรกออกมา “ทำไมอันนี้ตอบยากจัง ถ้าพูดถึงความรักมันมีหลายอย่างมีหลายรูปแบบ คือมันมาจากครอบครัวก็ได้ เพื่อนก็ได้ แฟนก็ได้ ตอนนี้แอลลี่ยังไม่มีแฟน ไม่มีแบบนั้นแต่ไม่น้อยใจ โอเค แฮปปี้ โสด”
เมื่อพูดถึงสเปกเธอเผยว่าก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วเธอจะอยากรู้ว่าตัวตนของคนๆนั้นเป็นอย่างไรจริงๆ มากกว่า


“บางทีดูแค่หน้าตาบางทีมันไม่รู้ เขาจะนิสัยดีมั้ย บางทีหล่อมากแต่นิสัยไม่ดี ก่อนจะทำอะไรก็อยากรู้จักเขาก่อน ต้องเป็นคนนิสัยดี ห้ามเป็นคนเจ้าชู้ ไม่ชอบแบบนั้น ต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์และเราต้องสามารถคุยกันได้ แม้จะมีปัญหา คุยกันรู้เรื่อง ต้องเป็นคนนิสัยดี พูดภาษาไทยคนไทยก็ได้คะ(หัวเราะ)”
 
สำหรับความเป็นอยู่ในเมืองไทยนั้น เธอมองว่าสิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุดคือการที่คนไทยมีน้ำใจให้แก่กัน โดยที่ผ่านมาก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยมาตลอด


“ชอบที่คนไทยมีน้ำใจให้กัน อยู่ที่อเมริกามันไม่มีคะ ภาษาอังกฤษก็ไม่มีคำว่าน้ำใจ ชอบมากที่อยู่เมืองไทย ตอนอยู่บุรีรัมย์ พูดภาษาไทยไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่องทุกคนก็พยายามช่วยตลอด อยู่ที่กรุงเทพฯ ก็มีคนช่วยตลอด บางทีมีปัญหาเกิดขึ้นคนที่ไม่รู้จักก็จะมาช่วยเราโดยที่เขาไม่ต้องการอะไรจากเรา คนไทยถูกสอนให้เราต้องมีน้ำใจ”
 
กับความฝันหลังพิชิตฝันของการเป็นนางงามได้แล้วนั้น เธอวางแผนว่าจะอยู่ที่ประเทศไทยเรียนด้านบริหารไปด้วย และอยากจะทำงานในสายด้านการเดินแบบเป็นหลัก


“ตอนนี้อยากจะเป็นนางแบบ ชอบโมเดลลิ่ง แต่ถ้ามีงานอื่น สมมติเป็นพิธีกร ภาษาอังกฤษ หรือมีละครมีอะไร ถ้ามีโอกาสก็จะลองเพราะถ้าไม่ลองก็ไม่รู้จะชอบมั้ย ถ้าลองแล้วรู้ว่าไม่ชอบจะได้ไม่ทำอีก แอลลี่ไม่สามารถบอกได้ว่าไม่ชอบไม่อยากเล่น เพราะแอลลี่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง ถ้าสมมติทำแล้วชอบละ ตอนนี้ก็รอโอกาส แต่ที่คิดๆไว้คืออยากจะเป็นนางแบบ”


เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ

ภาพโดย ปวริศร์ แพงราช
 










มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น