xs
xsm
sm
md
lg

ขอยุติ! ขายสัตว์ผ่านไปรษณีย์ ทั้งทารุณ ทั้งผิดกฎหมาย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ต้องการคำตอบจากไปรษณีย์ไทย การส่งสัตว์ลงในกล่องพัสดุ เป็นเรื่องธรรมดาเหรอคะ?” กระทู้นี้ในเว็บบอร์ดพันทิป เล่นเอากลายเป็นประเด็นเดือดวิพากษ์วิจารณ์กันให้ว่อนเน็ต ถามหาจิตสำนึกของร้านขายสัตว์ออนไลน์ และความรับผิดชอบจากไปรษณีย์ไทย และนี่คือคำตอบจากปากผู้เกี่ยวข้องอย่างตรงประเด็นที่สุด!!




“ไปรษณีย์ไทย” กลืนไม่เข้า คายไม่ออก

(เจ้าหนูแฮมสเตอร์ที่ถูกส่งผ่านไปรษณีย์ครั้งล่าสุด)
ตั้งแต่ผลงานการขนส่งข้าวของแตกหักเสียหาย จนถูกผู้ใช้บริการโพสต์ภาพรุมด่ายับมานับครั้งไม่ถ้วน ไหนจะภาพสัตว์สิ่งมีชีวิตที่ถูกแพกส่งผ่านไปรษณีย์จนเป็นที่โจษจันไปทั่ว ครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เจ้าหน้าที่ปล่อยผ่าน อนุญาตให้ส่ง “หนูแฮมสเตอร์และกระต่าย” ผ่านไปรษณีย์เพื่อธุรกิจออนไลน์ได้
ถึงจะไม่ได้ทำให้มีสัตว์เลี้ยงตัวไหนตายคากล่อง เหมือนอย่างครั้งที่เคยเกิดกับ “กระเล็น” แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้สังคมรุมตั้งคำถามถึงระดับความเข้มงวดกวดขันของเจ้าพนักงานว่า ปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?


ล่าสุด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ชี้แจงอย่างเป็นทางการผ่านแฟนเพจ “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” เกี่ยวกับประเด็นเดือดที่มีเจ้าของร้านขายสัตว์ออนไลน์ ส่งหนูแฮมสเตอร์และกระต่ายใส่กรง หุ้มด้วยกล่องของไปรษณีย์จากที่ทำการไปรษณีย์คีรีมาศ จ.สุโขทัย ว่าความจริงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่พยายามปฏิเสธรับฝากไปเบื้องต้น แต่ทางเจ้าของสินค้าไม่ยินยอม จึงอนุญาตให้ส่งไป โดยล่าสุดสัตว์เลี้ยงตัวน้อยเหล่านั้นได้เดินทางถึงปลายทางไปรษณีย์พระโขนง-ภาษีเจริญอย่างปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว



แต่เพียงเท่านั้นยังไม่อาจตอบความสงสัยที่มีในใจของผู้คนในสังคมได้เกี่ยวกับความเข้มงวดในการตรวจสอบและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบที่กำหนด ทางทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผู้บริหารผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับผู้บังคับบัญชา ดูแลงานด้านไปรษณีย์ไทยมากว่า 35 ปี จึงได้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบการทำงานทั้งหมดดังนี้

“เจ้าหน้าที่ของเราส่วนมาก เจ้าหน้าที่ประจำเคาท์เตอร์ของเราเป็นนักเรียนไปรษณีย์ที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ ทำให้ขาดประสบการณ์ในการอธิบายความให้แก่ผู้ใช้บริการ ในขณะเดียวกัน เมื่ออธิบายไปแล้วก็มักจะเกิดปัญหาเรื่องการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการว่าทางเราไม่ยินดีที่จะให้บริการ ถ้าเป็นผมเอง ผมแนะนำผู้ส่งได้เลย แต่บางที่ ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ยังประสบการณ์น้อย ไม่กล้าปะทะเรื่องการชี้แจงทำความเข้าใจผู้ใช้บริการ กลายเป็นว่าพอถูกผู้ใช้บริการขู่ก็ยอมเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ส่งผิดอยู่แล้วและเราสามารถทำความเข้าใจกับเขาได้


การขนส่งสัตว์ จริงๆ แล้วควรขนส่งด้วยเส้นทางเฉพาะ ขึ้นรถทัวร์ก็ไม่ได้ เพราะการเคลื่อนย้ายสัตว์มันมี พ.ร.บ.ควบคุมอยู่หลายตัว แต่ในยุคปัจจุบัน กลายเป็นว่าการซื้อขายกันผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหนึ่งในการทำธุรกิจ ผู้ที่ซื้อขายเองก็ไม่ได้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอาประเด็นปัญหาตรงนี้มาเข้าสู่ระบบงานไปรษณีย์ สุดท้ายก็ทำให้เกิดภาพเสียหายมาถึงทางไปรษณีย์ไทยในที่สุด”


เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ของไปรษณีย์ไทยเรื่องการขนส่งที่ช่วงหลังๆ ถูกด่ายับ โดยเฉพาะปัญหาสินค้าแตกหัก จึงได้คำตอบว่าสาเหตุสำคัญมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

“การส่งสิ่งของยุคนี้ค่อนข้างมีสิ่งของซื้อขายแบบ E-Commerce ค่อนข้างมาก การแพกต่างๆ ก็อาจไม่ได้มาตรฐาน เช่น ใช้กล่องที่เขาผลิตกันขึ้นมาเองซึ่งมี Gram (ความหนาของกล่อง) ซึ่งบางมาก, ใช้ซองที่แตกหักเสียหายได้ง่ายมาใส่ส่งของ ฯลฯ แม้เจ้าหน้าที่ของเราแพกให้ แต่บางทีกล่องของผู้ใช้ก็มาจากข้างนอก หรือบางครั้ง สิ่งของที่ส่งมีลักษณะบอบบางเกินไปที่จะส่งเข้าสู่บริการไปรษณีย์ก็มี เช่น สิ่งของที่เป็นแก้ว


(ผลงานการส่งที่ถูกกล่าวขานถึง)
โดยสภาพการขนส่งของทางไปรษณีย์ บางช่วงบางตอนเราต้องใช้รถยนต์ในการขนส่ง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้การขนทีละกล่องๆ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่ และระยะทาง เป็นเหตุเป็นผลให้ต้องปฏิบัติด้วยความรีบเร่ง อาจจะมีการโยน ลาก และเคลื่อนย้ายขึ้นลงรถ ทำให้เกิดความกระทบกระเทือน รวมทั้งการขนส่งในช่วงหลังๆ ของเรา จะจ้างเอกชนเข้ามาช่วยทำ เป็น Supplier ที่เข้ามาช่วยเสริมงานเรา เพราะหน่วยงานของไปรษณีย์เองพยายามจะลดต้นทุนลงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เลยทำให้หลายๆ อย่างอยู่เหนือการควบคุม

แต่ถ้าใช้พัสดุหรือแพกเกจของทางไปรษณีย์ ก็มีความเสี่ยงที่จะแตกหักเสียหายได้น้อยกว่า และที่สำคัญ ถ้ามีสิ่งของที่เปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการแตกหักเสียหาย ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนส่งครับ จะได้ป้องกันเป็นอย่างดี แล้วจะแทบไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นเลย แต่ส่วนมาก ผู้ใช้บริการจะปกปิด ไม่ยอมแจ้งรายละเอียดของสิ่งของที่ตัวเองส่งไป เพราะบางทีธุรกิจที่เขาทำอยู่มันไม่โปร่งใส อาจจะเทาๆ ขุ่นๆ มัวๆ ก็เลยไม่แจ้ง จนทำให้เป็นปัญหา

เมื่อถามว่าทางไปรษณีย์ไทยพอจะตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหนจากการสแกนสินค้าตรวจสอบความปลอดภัย? ผู้บังคับบัญชารายเดิมตอบว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการสแกนแบบสุ่มตรวจ ทำให้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เพราะสิ่งของที่เข้ามาในระบบมีหลายล้านชิ้นต่อวัน จึงอยากจะขอความร่วมมือกับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจ ส่งสินค้าทางไปรษณีย์ว่าควรจะต้องให้อยู่ในความโปร่งใส ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ จะได้ไม่เป็นปัญหาต่อสังคมและส่งผลกระทบมาถึงหน่วยงานอย่างที่เห็น




เลิกซะ! หากินกับสัตว์แบบไร้สำนึก

(ครั้งก่อน มีคนส่ง "กระเล็น" ผ่านไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ตายคากล่อง)
“มาตรา 23 ห้ามมิให้บุคคลใดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งวัตถุมีคมที่ไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกันพอ หรือวัตถุระเบิด หรือสิ่งโสโครก หรือสิ่งมีพิษ หรือสัตว์มีชีวิต หรือสิ่งของที่มีสภาพอันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ หรือแก่เจ้าพนักงาน เว้นไว้แต่จะมีข้อบังคับหรือเงื่อนไขกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น”

พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่าผู้ที่ฝ่าฝืน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เท่านั้นยังไม่พอ การขนส่งสัตว์ผ่านไปรษณีย์แบบนี้ยังผิด “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557” อีกด้วย เพราะถือเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้สัตว์นั้นได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ทุพพลภาพ บาดเจ็บ หรือตาย รวมถึงการใช้งานในสัตว์พวกนี้อย่างไม่เหมาะสม มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี “ชัยชาญ เลาหศิริปัญญา” เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ช่วยยืนยันชัดเจน



“การส่งสัตว์ผ่านไปรณีย์แบบนี้ ถามว่าทารุณมั้ย ทารุณแน่นอน ถึงแม้จะอ้างว่าเจาะรูกล่องแล้วก็ตาม ให้ลองเอาคนเข้าไปอยู่ในกล่องแบบนั้นบ้างสิครับ แล้วเจาะรูให้อยู่เหมือนกัน ถามว่าจะทรมานมั้ย ถ้าเขารักสัตว์จริงๆ เขาไม่ควรจะสั่งแล้วให้ส่งมาทางไปรษณีย์อย่างนี้แน่นอน สัตว์เขาก็ต้องคิดกังวลไปเรื่อยว่า เอ๊ะ! นี่ฉันอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่จะถึง? ถึงแม้จะอ้างว่าไม่ได้ทำให้สัตว์ตาย เปิดมาก็ยังมีชีวิตดีอยู่ก็ไม่ได้ครับ เพราะมันไม่ใช่สถานที่ที่สัตว์เหล่านั้นควรอยู่”

และถ้าจะเอาผิดผู้ทารุณสัตว์เช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยสามารถทำได้ 2 กรณีคือ “ถ้าเราเป็นเจ้าของทรัพย์ ตามภาษากฎหมายเรียกว่าขั้นตอนการ “ร้องทุกข์” ถ้ามีใครมาทำร้ายสัตว์เลี้ยงเรา เราก็สามารถร้องทุกข์ได้ ขอแจ้งความเพื่อที่จะเอาผู้กระทำผิดมารับโทษและชดใช้ค่าเสียหาย กับอีกกรณีคือการ “กล่าวโทษ” สามารถร้องเรียนได้ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือไม่ได้เป็นเจ้าของสัตว์ตัวนั้นก็ตาม แต่เราเห็นการกระทำผิด เราก็สามารถทำได้



กรณีนี้ เมื่อมีคนเห็นการแพกสัตว์ส่งผ่านทางไปรษณีย์แบบนี้ ก็สามารถไปแจ้ง “กล่าวโทษ” ผู้กระทำผิดต่อเจ้าพนักงานได้ แต่ส่วนใหญ่คนจะไม่ค่อยแจ้งเท่าไหร่ หลายครั้งคนกลัวจะเดือดร้อนก็อาจจะใช้วิธีติดต่อมูลนิธิที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างพวกผมเป็นคนดำเนินเรื่อง กล่าวโทษให้แทน

ถ้ารู้ว่าคนส่งไปรษณีย์คือใคร สามารถจะลงบันทึกประจำวันให้ทางตำรวจเชิญเจ้าของร้านหรือคนขายสัตว์รายนี้ ให้มารับการดำเนินคดีทางกฎหมายได้เลย ส่วนผู้สั่งซื้อสัตว์ผ่านทางไปรษณีย์ก็น่าจะถูกหางเลขไปด้วย เพราะเขาน่าจะรู้อยู่แล้วตั้งแต่ตอนสั่งของว่าสรุปแล้วจะส่งมาทางไปรษณีย์

เดี๋ยวทางเราจะคุยกันเป็นการภายใน และทางสมาคมจะทำจดหมายถึงเจ้ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจส่งจดหมายไปถึงทางไปรษณีย์ไทยด้วย ขอทราบว่าทางไปรษณีย์จะมีวิธีการควบคุมให้เข้มงวดขึ้นยังไงได้บ้าง น่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยกันตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางในเรื่องกระบวนการจัดการ และแก้ไขที่ปลายทางได้ด้วย โดยให้กฎหมายช่วยลงโทษคนผิด เพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้อีกในอนาคต

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: กระทู้ “ต้องการคำตอบจากไปรษณีย์ไทย การส่งสัตว์ลงในกล่องพัสดุ เป็นเรื่องธรรมดาเหรอคะ?”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ปณท.รับยัดหนูส่ง ปณ.สุโขทัยมีจริง บอกปฏิเสธแล้ว คนส่งไม่ยอม
- ชาวเน็ตประณาม ส่ง “กระเล็น” ผ่านไปรษณีย์ ตายคากล่อง
- 'ไปรษณีย์ไทย..อหังการข้ามโลก' ขนาดโล่รางวัลหินยังหัก!
- “ยับ-พับ-เละ” ทั่วไทย บริการด้วยใจสไตล์ “ไปรษณีย์” !?
กำลังโหลดความคิดเห็น