xs
xsm
sm
md
lg

พิษร้ายปนแรงศรัทธา “ควันธูป” ชนวนเหตุแห่งความตาย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม. รณรงค์ลดจุดธูปในวัด เผยเป็นการก่อมลพิษ คร่าชีวิตทางอ้อม! ทว่า บ้านเราเป็นเมืองพุทธ การจุดธูปเทียนถือเป็นความเชื่อในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากรณรงค์ให้กราบไหว้แทนการจุดธูปบูชา ถือเป็นการบิดเบือนพุทธศาสนาหรือไม่? และจะได้บุญกุศลเท่ากันจริงหรือ?

 
 
ภัยเงียบ ที่มองไม่เห็น!

 
กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการร่วมรณรงค์ลดมลพิษที่เกิดจากการจุดธูปในศาสนสถาน ชี้สูดดมควันธูปอันตรายถึงชีวิต ทั้งระบบการหายใจขัดข้อง และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้

 
โดย นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้กล่าวถึงภัยเงียบดังกล่าวว่า การจุดธูปเป็นการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดมลพิษและฝุ่นละออง เมื่อสูดดมเข้าไปจะทำให้ระบบทางเดินหายใจติดขัด ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืดและอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้




 
ประชาชนที่เข้าวัดเพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาด้วยความศรัทธา เพราะฉะนั้น การกราบไหว้บูชาไม่ว่าจะจุดธูปหรือไม่ก็ตามถือว่าได้บุญกุศลเท่ากัน ด้วยเหตุนี้ทาง กทม. จึงอยากให้ประชาชนลดการจุดธูปในวัดหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันการก่อมลพิษทางอ้อม หากมีความจำเป็นให้จุดในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่งและถ่ายเทได้สะดวก

 
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการผลิตธูปเทียนแบบไร้ควันก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุให้ทาง กทม. ต้องดำเนินโครงการลดมลพิษจากควันธูปที่วัดและศาสนสถานต่างๆ โดยให้ผู้ดูแลศาสนสถานลดการใช้ธูปและตั้งวางกระถางธูปในบริเวณที่มีอากาศปลอดโปร่งแทนเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

 
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มแล้วที่วัดมังกรกมลาวาส โดยได้ลดจำนวนกระถางธูปจากเดิมมีอยู่กว่า 18 กระถาง เหลือเพียงกระถางธูปในจุดที่สำคัญๆ และทางวัดยังได้ลดปริมาณการจุดธูปในจุดกราบไหว้บูชาอีกด้วย ซึ่งทำให้ควันธูปลดน้อยลงไปอีกเท่าหนึ่ง

 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักอนามัยได้ทำการสุ่มตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณที่มีการจุดธูปของศาสนสถาน3แห่งที่ประชาชนนิยมพากันไปกราบไหว้ ปรากฎว่าทุกพื้นที่ที่ตรวจนั้น พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินกว่าค่ามาตรฐานถึง 10เท่าด้วยกัน

 
 
ชาวพุทธ ถูกสอนให้ยึดติด!?

 
จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น อ. ธวัช หอมทวนลม หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นกับทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive ว่าการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ถือเป็นการสักการะได้อย่างครบขั้นตอน ถ้าเข้าไปกราบเฉยๆ ก็เหมือนกับไม่สมบูรณ์

 
“มันมีความเชื่อที่ว่าอามิสบูชา คือการบูชาของเดิม ตามเดิมเลยในสมัยก่อนจะเป็นที่โล่งครับ ในศาสนสถานก็จะมีพระพุทธรูป รูปเคารพ และก็มีความคิดที่ว่าคนที่จะเข้าถึงได้เนี่ย ต้องมีการบูชาด้วยอามิสบูชา คือการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน จึงจำเป็นที่จะต้องจุดธูปด้วย

เหมือนเราไปกราบเฉยๆ ถ้าไม่มีของพวกนี้ มันก็เหมือนกับไม่สมบูรณ์ ซึ่งตรงนี้มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือว่าคนเข้าไปสักการะบูชามันทำให้รู้สึกว่าเราสักการะได้เต็มที่ สมบูรณ์ ครบขั้นตอน หมายถึงว่ามีการบูชาด้วยสิ่งของ บางทีก็จุดธูปเก้าดอกบ้าง แปดดอกบ้าง คือมันมีความเชื่อแบบนั้น”




 
เนื่องจากชาวพุทธยังยึดติดอยู่การกราบไหว้ แบบมีสิ่งของ ดอกไม้ และธูปเทียนเพื่อบูชา ดังนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ และทางออกที่ดีที่สุดคือการนำกระถางธูปออกมาตั้งด้านนอกเพื่อสุขภาพของพุทธศาสนนิกชน

 
“วิธีทางออกก็คือว่าต้องเอามาตั้งนอกสถานที่ หนึ่งเลยเพื่อกันควันจากธูปไปทำลายจิตรกรรมฝาผนัง สองเพื่อสุขภาพคนที่อยู่ด้านใน หรือได้รับควันธูปบ่อยๆ ตอนหลังก็เลยใช้วิธีนี้ในการแก้ไขคือเอามาตั้งด้านนอก เพราะถ้าห้ามเลยคงไม่ได้ เนื่องจากชาวพุทธยังยึดติดในเรื่องอามิสบูชาอยู่ พวกสิ่งของ ดอกไม้ ธูปเทียน การบนบานศาลกล่าว ผลไม้ต่างๆ อันนี้ก็เป็นความเชื่อของชาวพุทธ

 
การจุดธูปหรือไม่จุดธูปนั้นจะได้กุศลเท่ากันหรือไม่ อ.ธวัช ให้คำตอบว่า อยู่ที่จิตใจและความศรัทธามากกว่า และถึงแม้พระพุทธเจ้าจะสอนให้บูชาด้วยสิ่งของ แต่ก็เน้นในเรื่องของธรรมะปฏิบัติด้วยเช่นกัน

 
“ถ้าตามในตำนานจริงๆ มันอยู่ที่จิตใจเรามากกว่า เพราะว่าสมาธิ การบูชา กราบไหว้ หรือสวดมนต์ การมีสมาธิและการแน่วแน่จะได้กุศลมาก คือพระพุทธเจ้าจะเน้นให้เราติดในอามิสบูชา คือการบูชาด้วยสิ่งของ แต่ก็เน้นในเรื่องของธรรมะปฏิบัติด้วยเหมือนกัน คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม จะได้อนิสงค์มากกว่า แต่ถ้าถามว่าเรื่องผิดถูก คือถ้าเราบูชาตรงนี้ได้ บูชาอามิสบูชาได้ ก็มาปฏิบัติธรรม ก็ได้อนิสงค์อีกเท่าตัว กำลังสองเลย”

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น