แวดวงการศึกษาไทยตกเป็นข่าวไม่สู้ดีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรณีมือมืดตั้งเฟซบุ๊กแฟนเพจโพสต์ข้อมูลส่วนตัวและคะแนนสอบ O - NET ของนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำ โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ทั้งยังโพสต์ภาพใบหน้าของนักเรียนเจ้าของคะแนนสอบอย่างชัดเจน โดยหารู้ไม่ว่าตนกระทำความผิดต้องหลายกระทง ทั้งจำทั้งปรับ!
โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวได้รับการเปิดเผยผ่านกระทู้ร้อนในเว็บบอร์ดดัง 'พันทิป' จั่วหัวเป็นนัยยะ 'นี่หรือสิ่งที่นักเรียนโรงเรียนดังย่านราชบุรีต้องเจอมานานนับปี!!!' (www.pantip.com/topic/33242756) โดยระบุว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ ชื่อว่า 'ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สามัคคี o-Net' เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กนักเรียนในโรงเรียน ทั้งยังนำคะแนนสอบ O-Net มาโพสต์ประจาน
ถึงเวลา..ประจานคนมือบอน
ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live ตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊ก 'ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สามัคคี o-Net ' ถูกลบออกไปจากระบบเรียบร้อยแล้ว แต่สามารถติดตามอ่านข้อความที่แอดมินเจ้าของเพจฯ โพสต์ผ่านการเข้าดูลักษณะเพจแบบแคช อย่างไรก็ตาม เพจดังกล่าวได้ทำการเผยแพร่ ภาพและข้อมูลเด็กนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปี พร้อมผลคะแนนสอบ O - NET และโพสต์ข้อความเชิงติเตียนกลุ่มนักเรียนที่ได้คะแนนต่ำ กลายๆ เป็นการโพสต์ประจานเด็ก
ได้รับการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เด็กนักเรียนที่ปรากฏอยู่ในเพจฯ ดังกล่าวเป็นนักเรียนของโรงเรียนวัดบ้านโป่ง สามัคคีคุณูปถัมภ์ จังหวัดราชบุรี อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องฉาวตกเป็นประเด็นร้อนของสังคม เมื่อทางโรงเรียนทราบเรื่องมีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'โรงเรียนวัดบ้านโป่ง สามัคคีคุณูปถัมภ์' ทันที ความว่า “ตอนนี้....ทางโรงเรียนกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ครับ”
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากต่อกรณีไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนต่างๆ นานา
“อย่างแรกโรงเรียนปล่อยให้มีเรื่องอย่างงี้มานานอย่างงี้ได้ไงมีการเรียกร้องไปแต่ไม่ทำอะไร ที่ควรจะปิดนอกจากชีวิตไอ้คนที่ทำอย่างงี้ก็คือโรงเรียนนี้และทุเรศสุดๆไม่รู้จะพูดยังไง” ความคิดเห็นจาก สมาชิกหมายเลข 1951139
“มันคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ที่อาจกระทำโดยผู้ควรมีสามัญสำนึก การเปิดเผยเลขที่บัตรประชาชนไม่ใช่เรื่องดีเลย ไหนจะรูปภาพ คะแนน ข่าวลือ การด่าทอ พวพวกนี้คุณมองเป็นเรื่องปกติหรือ มันคือการกระทำที่เลวร้ายของผู้ที่ควรจะไม่กระทำ หรือถ้าคุณคิดว่ามันดี ลงเลขที่บัตรประชาชน รูปภาพคุณ มาเลยครับ” ความคิดเห็นจาก spirit_of_sun
“เสียดายตังค่าเทอมเด็กจัง แล้วอย่างนี้ เราสมควรให้ลูกเราเรียนที่ไหนดีล่ะครับเนี่ยช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับโรงเรียนในทางแย่ๆ ก็เยอะขึ้น” ความคิดเห็นจาก สมาชิกหมายเลข 1769329
“การเอาข้อมูลมาเผยแพร่ในกรณีนี้ผิดกฎหมายแน่นอนค่ะ ไม่ใช่เรื่องของคะแนนสอบเท่านั้นแล้ว ควรเอาโทษให้ถึงที่สุด ไม่อย่างนั้นต่อไปก็จะมีอีก ตราบใดที่คนบางคนขาดวุฒิภาวะและจิตสำนึกรู้ถูกรู้ควรได้ถึงขนาดนี้
ตอบกลับ” ความคิดเห็นจากkdunagin
“เปิดเผยแบบนี้นักเรียนสามารถฟ้องเอาผิดทางกฎหมายได้หรือเปล่าครับ ถ้าได้ขอให้ผู้เสียหายแจ้งความเอาผิดแอดมินเพจนี้เถอะ ดูแล้วอนาถครับ ไม่ได้อนาถที่ตัวนักเรียนนะ แต่อนาถที่แอดมินมาทำเรื่องแฉคนอื่นแบบนี้เนี่ยแหละ โคตรทุเรศ” ความคิดเห็นจาก Vorrapob Sangworn
โพสต์คะนอง ไปนอนคุก
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ พิธีกรรายการทนายคู่ใจ ให้ความรู้ว่ากรณีการนำข้อมูลส่วนตัวและภาพของเด็กนักเรียนมาโพสต์เชิงให้ร้ายไม่ประสงค์ดีมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
“เรื่องของประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการหมิ่นประมาทโฆษณา มีโทษจำคุก 2 ปี ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 4 อนุ 1 นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โทษจำคุก 5 ปี และผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก นำเสนอข่าวด้านลบของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีโทษจำคุก ซึ่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กรนแรงมาก ห้ามนำสื่อมวลชนหรือคนทั่วไปเสนอข้อมูลด้านลบของเด็ก ซึ่งตรงจุดนี้”
ทั้งนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามดำเนินคดีนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ทันที
“กรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เรื่องนี้มันเป็นของหน่วยงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ต้องดูแลเด็ก ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กไปแจ้งความเอง คือมันมีกฎหมายดูแลเฉพาะด้าน บ้านเรามีกฎหมายคุ้มครองเยาวชน เด็กอายุยังน้อยวุฒิภาวะยังน้อย พอเด็กบางคนที่เป็นเหยื่อไปเจออย่างนี้อาจจะเครียด เครียดเสียจนไม่รู้จะทำอย่างไร จะไปปรึกษาใครก็ยาก จะมาปรึกษาทนายก็คงไม่ใช่”
นั่นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต้องออกมาดำเนินการ “จึงมี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ให้อำนาจเจ้าพนักงานแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีให้กับเด็กได้เลยโดยที่ไม่ต้องรอ หน่วยงานรัฐถ้าทำหน้าที่เด็กจะไม่เดือดร้อนเท่านี้”
เขากล่าวถึงกรณีการนำข้อมูลคะแนนของเด็กนักเรียนมาโพสต์ประจาน “แม้ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะว่าเป็นข้อมูลลับ ไม่เหมือนการเผยแพร่บัตรประชาชน ทะเบียนสมรส ฯลฯ กระดาษข้อสอบไม่มีกฎหมายคุ้มครองว่าห้ามเป็นความลับ ผมมองว่าเป็นสิ่งที่โพสต์ได้ แต่มันผิดเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ถ้าเป็นเด็กอายุเกิน 18 ปี มันไม่ผิดกฎหมายสักข้อเลยแหละ แต่ประเด็นเด็กที่สอบอายุไม่ถึง 18 ปี มันจะมี พ.ร.บ. อยู่มาตรหนึ่งห้ามนำเสนอข้อมูลของเด็กอันเป็นผลร้ายแก่ตัวเด็ก มันเป็นผลตรงนี้มากกว่า”
“โพสต์อะไรไป เราต้องรับผิดชอบต่อสังคมต่อคนรอบข้าง เราโพสต์ไปแล้ว เรากลับมาแก้ไขไม่ได้” ทนายรณณรงค์ กล่าว
คะแนนวัดคุณค่าของเด็กไม่ได้
“ไม่ควรทำ คนที่เสียประโยชน์คือเด็ก ถือว่าผิดมาก มันผิดสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำไป หลักการสำคัญเกรดมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ต้องเอาไปให้คนอื่นรับรู้ ในห้องเรียนอาจจะรู้ แต่เอาไปให้คนอื่นรู้เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่ดี ผมว่ามันไม่ควร” ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ วิจานณ์และแสดงทัศนะเกี่ยวการให้คุณค่าในเรื่องคะแนนสอบของเด็กนักเรียนที่มากเกินไป
“ผมคิดว่าการใช้คะแนนสอบ เป็นตัวตัดสินว่าผ่านไม่ผ่านใช้มานานแล้วหลายประเทศ เพราะว่ามันสะดวกในการที่ตัดสิน เพื่อความสะดวกก็ทำกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ปัจจุบันผลทางการศึกษาที่ใช้ตัวเลขเป็นตัววัดมันเพียงส่วนเดียวเท่านนั้นเอง ตัวเลขสูงไม่ได้หมายความว่าผมสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะสูง หรือว่าในมหาวิทยาลัย ก็รู้ดีว่าคนที่ได้เกรดสูงอาจจะไม่ได้มีอะไรมากเลย เรียนในสาขาที่ค่อนข้างง่าย หรือว่าวิธีท่องจำให้ได้คะแนนสูงๆ แต่ว่าทำงานไม่เป็น ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ดูคะแนนอย่างเดียว ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาด และนำไปสู่ปัญหามากเลย โดยเฉพาะในสังคมไทยที่นำไปสู่การเปรียบเทียบซึ่งเด็กไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
“เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบคะแนนผลทางการศึกษา เราควรจะใคร่ครวญนะครับ ส่วนคะแนน O-Net ที่ต้องสอบก็สอบไป แต่เป็นเพียงตัวเลขตัวหนึ่งเท่านั้นเองไม่ใช่คำตัดสินของสวรรค์ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นทาสเราแต่ถ้าเราเอาไปใช้เป็นคำพระเจ้าลงมาตัดสินทุกอย่างนั่นผิดแน่นอน”
การนำคะแนนมาโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน เขามองเรื่องของคะแนนสอบนั้นเป็นความกดดันที่เด็กนักเรียนต้องแบกรับ
“ ตัวคะแนนเป็นตัวกดดันเด็กมากเลย เพราะโดยทั่วไปเด็กต้องการทำให้พ่อแม่ดีใจ มนุษย์ทุกคนต้องการยอมรับ ครูยอมรับ เพื่อยอมรับ และการทำคะแนนได้ดีมันมีหลายวิธี ลอกการบ้านเพื่อนบ้าง ทำทุจริตต่างๆ เพื่อให้ได้ที่ 1 มันเป็นผลเสียต่อการศึกษาในระยะยาว เพราะว่าการเรียนรู้ไม่ได้มาจากการท่องจำ มาจากการลองผิดลองถูกเรียนรู้จากในห้องเรียน ไม่มีการวัดผลแต่ตัวเลข สิ่งที่ครูจะต้องให้กับแด็กเล็กคือกำลังใจ”
ด้าน วรรณา เลิศวิจิตรจรัส นักวิชาการอิสระ ผู้จัดการแผนงานสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ กล่าวว่าคะแนนสอบสูงหรือต่ำวัดเพียงปริมาณความจำของเด็กเท่านั้นเอง
“มันวัดแค่เนื้อหาความรู้ของเด็กเท่านั้นเอง มันไม่ได้วัดทักษะ หรือคุณค่าความเป็นมนุษย์อื่นๆ ของเด็กเลย ซึ่งตัวข้อสอบ O-Net, A-Net มันวัดไม่ได้ จริงๆ มันวัดได้แค่องค์ความรู้ที่เด็กคนนั้นจำหรือท่องได้เท่านั้นเอง แล้วถึงแม้มันจะวัดความเก่งได้ แต่ก็ไม่ได้วัดว่าเด็กคนนี้มีทักษะอะไร เช่นทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อนร่วมงานทักษะชีวิตอื่นๆ วัดไม่ได้”
วรรณา กล่าวทิ้งท้าย การทำคะแนนของเด็กนักเรียนมาประจาน เป็นเหมือนการประจานโรงเรียน เพราะเจตนาของ O-Net, A-Net สร้างขึ้นเพื่อวัดคุณภาพโรงเรียน เป็นการสุ่มเพื่อวัดว่าตอนนี้คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเด็กคะแนนไม่ดีมันสื่อให้เห็นว่า ครูและโรงเรียนด้อยคุณภาพ เป็นเรื่องที่โยนความผิดให้เด็กไม่ได้
….........................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754