เป็นข่าวทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ไปทั่วบ้านทั่วเมือง กรณีเพลิงไหม้ชั้น 10 สำนักงานใหญ่ SCB รัชโยธิน เมื่อคืนวันที่ 7 ก.พ. แม้เปลวเพลิงสงบลง แต่ยังมีหลายคนไม่ปักใจเชื่อว่า เป็นเหตุการณ์ปกติ ขนาดวิศวกรยังงงปนฉงนใจกับเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ จุดประเด็นความสงสัยว่ามีเงื่อนงำอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังเปลวเพลิงหรือไม่ แต่อีกมุมก็ถือเป็นกรณีศึกษาถึงความล้มเหลวของระบบหนีไฟ ณ อาคารแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
สืบคดีเพลิง ณ ชั้น 10 SCB Park
เหตุเพลิงไหม้ชั้น 10 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ SCB รัชโยธิน (อาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ถือเป็นข่าวใหญ่ที่สังคม โดยเฉพาะสังคมในโลกออนไลน์ให้ความสนใจ และตามเกาะติดกันมาก ที่เป็นเช่นนั้น เพราะทางธนาคารถือเป็นสถาบันการเงินที่ดูแลบัญชีเงินเดือนบุคลากรทั้งหมดของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เเละมีจำนวนเงินพัวพันในคดีทุจริตมากที่สุด
โดยก่อนหน้านี้ ทางธนาคารได้เคยออกมาแสดงจุดยืน และให้ความร่วมมือกับทางสถาบันฯ ในการให้ข้อมูลตำรวจ รวมไปถึงได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าให้ข้อมูลกับทางตำรวจไปแล้ว แต่หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ SCB ในคืนวันที่ 7 ก.พ. กลับมีข่าวขอเลื่อนส่งหลักฐานแก่สจล.ในวันที่ 9 ก.พ.ออกไป โดยอ้างว่า ต้องจัดระเบียบเอกสารต่างๆ ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้
ภายหลังเกิดเหตุ รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคาร (เงินออม) ของ สจล. บอกว่า จากการโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้จัดการไม่ได้ตอบอะไรว่าเพลิงไหม้มีผลกระทบต่อเอกสารของ สจล.หรือไม่ แต่ยืนยันว่าในวันที่ 9 ก.พ. คงไม่สามารถส่งเอกสารตามที่ สจล. ได้ทำหนังสือขอเพิ่มเติมไปให้ได้ ต้องขอเลื่อนการส่งเอกสารออกไปก่อน โดยอ้างว่า เนื่องจากต้องจัดระเบียบเอกสารต่างๆ ใหม่ก่อน
"ผมเพิ่งเดินทางไปที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อขอตรวจสอบและเปรียบเทียบเอกสารต่างๆ ที่กองปราบปรามได้รับจากธนาคารไทยพาณิชย์ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด พบว่าเอกสารที่กองปราบปรามได้รับนั้นมีอยู่ไม่แตกต่างกับที่ สจล. ได้รับ ทั้งที่ผ่านมาทางธนาคารได้ยืนยันมาตลอดว่า ได้ส่งเอกสารให้กองปราบปรามครบแล้ว 100% ดังนั้นจึงถือว่าไม่เป็นความจริง โดยเอกสารที่กองปราบปรามขอไป 3 รายการนั้น ก็ได้เอกสารมาประมาณ 70% เท่านั้น ขณะที่ สจล. ขอเอกสารไป 100% ก็ได้เอกสารมาไม่เกิน 50%" รศ.ดร.จำรูญ กล่าว
ทางฟากธนาคาร หลังจากได้เห็นข่าวนี้ เพราะมีคนนำมาแชร์ใน เพจเฟซบุ๊ก SCB Thailand จึงได้พิมพ์ข้อความตอบกลับไปว่า "ธนาคารไม่ได้มีการเลื่อนส่งเอกสารค่ะ ซึ่งล่าสุดก็มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมไปให้ทางสจล.เมื่อเช้านี้ (9 ก.พ.) ในส่วนของเอกสารสจล.ที่ทางตำรวจร้องขอ ธนาคารได้ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจครบทั้งหมดแล้ว" จากนั้นได้แปะเป็นลิงก์ข่าว 'ตำรวจเผย SCB ส่งเอกสารคดี สจล.แล้ว ชี้ไม่กระทบกับรูปคดี' เพื่อให้ลูกเพจได้เปิดเข้าไปดู ทั้งยังเข้าไปโพสต์ชี้แจงตามเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง และทวิตเตอร์ของนักข่าวทีวีช่องดังอีกด้วย
"SCB ยืนยันนําส่งเอกสารแก่สจล.ตามที่ขอเพิ่มพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) ตามปกติ ผู้จัดการไม่ได้ขอเลื่อน และเพลิงไหม้ไม่เกี่ยวกับการนำส่งเอกสาร" SCB Thailand
ด้าน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดแถลงข่าวถึงเหตุเพลิงไหม้เพื่อชี้แจงถึงเอกสารสำคัญของสจล. อย่างเป็นทางการว่า บริเวณต้นเพลิง เป็นห้องเก็บเอกสารเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ไม่กระทบคำขอสินเชื่อ ยืนยันไม่ใช่เอกสารสำคัญ ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ที่แยกออกมาจากที่เกิดเหตุ และห้องดังกล่าวไม่ได้เก็บเอกสารเกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือสจล. ซึ่งที่ผ่านมาทางธนาคารได้ส่งมอบให้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหมดแล้ว
สุดงงปนฉงน เหตุเพลิงไหม้ SCB
ลึกลงไปถึงเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตจากฝั่ง 'วิศวกร' ฝากไว้อย่างน่าคิด เริ่มจาก สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ส่วนตัวรู้สึกแปลกใจ เพราะอาคารดังกล่าวเป็นอาคารที่ทันสมัย และถือว่าเป็นอาคารที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูง อีกทั้งเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญในเรื่องการเงินต่างๆ ดังนั้น ควรจะมีความปลอดภัยที่มากกว่านี้
ส่วน ดร.ธเนศ วีระศิริ ที่ปรึกษา วสท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการวงเล่าเม้าท์ข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยบอกถึงสิ่งที่ตัวเองสงสัย นั่นก็คือ พื้นที่เพลิงไหม้ ซึ่งมีประมาณ 20 ม. x 20 ม. เท่านั้น แต่ทำไมกลับลุกไหม้นานหลายชั่วโมง
ล่าสุด นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้แถลงผลการวิเคราะห์สาเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น พบว่าเพลิงได้ไหม้พื้นชั้น 10 และชั้น 11 ซึ่งทางวิศวกรได้สั่งปิดพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 9 จนถึงชั้น 11 เพื่อใช้เครื่องมืออัลตร้าโซนิกสแกนพื้นคอนกรีตที่เกิดเพลิงไหม้
นอกจากนี้ ยังต้องใช้เครื่องมือดังกล่าวตรวจสอบโครงเหล็กแกนกลางของเสา 2 ต้นภายในอาคารที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากเกิดเพลิงไหม้เป็นเวลานานว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ เพราะต้องแบกรับน้ำหนักอีก 20 ชั้น โดยจะรายงานผลให้กับธนาคารทราบภายในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี ได้มีการตั้งคำถามเพิ่มเติมถึงระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารสูงด้วย เพราะตามมาตรฐานจะมีระบบควบคุมควันไฟในบันไดหนีไฟ และโถงลิฟต์ดับเพลิง ซึ่งเป็นระบบอัดอากาศเข้าปล่องบันไดหนีไฟด้วยพัดลมที่ติดตั้งบนดาดฟ้า เมื่อเหตุเพลิงไหม้จะทำงานโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ระบบดังกล่าวได้ทำงานอัตโนมัติหรือไม่
หากระบบอัตโนมัติทำงานโดยปกติ การดับไฟที่เกิดขึ้นครั้งนี้ น่าจะใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าเกิดจากอาการรวนของระบบอัตโนมัติ ย่อมทำให้ไฟไหม้อยู่นานหลายชั่วโมง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปดับเพลิงด้วยความยากลำบาก
สรุปบทเรียน 'หนีอัคคีภัย' ที่ SCB Park
สุดท้ายนี้ นอกจากความเคลือบแคลงใจว่ามีเงื่อนงำอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังเปลวเพลิงหรือไม่ เหตุการณ์ดังกล่าว ยังถือเป็นบทเรียนสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารจัดการอาคารขนาดใหญ่ และรักษาความปลอดภัยในเหตุฉุกเฉินของสังคมและประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดย ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้รับอนุญาตให้นำข้อเขียนเรื่อง กรณีศึกษาระบบ "หนีอัคคีภัย" ที่ SCB Park ของ 'ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์' สถาปนิก และพิธีกรชื่อดัง มานำเสนอเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
"ในฐานะของช่างคนหนึ่ง ขอลองสรุปความล้มเหลวของระบบหนีภัยจากการประมวลข่าวสารและข้อมูลให้เป็นภาษาง่ายๆ เพื่อเป็นข้อสังเกตกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาคารสูงและอาคารสาธารณะ
1. บันไดหนีไฟมี "ควัน" กระจายอยู่เต็มบันได และควันทะลัก "ลง" สู่อาคารชั้นล่างด้วย ทำให้การใช้บันไดหนีไฟเพื่อสู้ภัยทำได้ยาก ซึ่งยังโชคดีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนกลางคืน หากเกิด ณ เวลาทำงาน และมีควันคลุ้งอยู่ในบันไดหนีไฟเช่นนี้ จะมี "ผู้เสียชีวิต" อีกเป็นจำนวนมากแน่นอน
2. บันไดหนีไฟของอาคารถูกออกแบบให้มี "ระบบอัดอากาศ" เพื่อให้อากาศภายในบันไดหนีไฟมีความหนาแน่นและความดันมากกว่าอากาศภายนอก ซึ่งจะทำให้ "ควัน" ไม่สามารถจะวิ่งเข้ามาในบันไดหนีไฟได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ทุกอย่างไม่เป็นไปดังที่ออกแบบไว้
3. จากข้อมูลพบว่า "ระบบอัดอากาศ = ไม่ทำงาน" ทำให้อากาศภายในบันไดหนีไฟมีความดันอากาศเป็นปกติ เหล่า "ควัน" ทั้งหลายจึงพุ่งเข้าสู่บันไดหนีไฟเต็มไปหมด
4. เมื่อระบบ "อัตโนมัติ" ของพัดลมที่เป่าอากาศเข้ามาในบันไดหนีไฟ (ระบบอัดอากาศ) ไม่ทำงาน โดยปกติจะต้องเปิดระบบด้วยคน (Manual) แต่ก็ไม่มีใครสามารถไปเปิดระบบอัดอากาศให้ทำงานได้ เพราะ "สวิตช์" เปิดระบบนั้นอยู่ประมาณชั้นที่ 30 ซึ่งยาก (เป็นไปไม่ได้) ที่จะให้คนวิ่งขึ้นบันไดจากชั้นล่าง (ท่ามกลางควันเต็มบันได) ไป 30 ชั้นเพื่อเปิดระบบนั้น
5. "ควัน" ที่โดยปกติจะไม่ลอยลงมาข้างล่างมากนัก (10 ชั้น) เพราะควันนั้นแม้จะหนักกว่าอากาศ แต่ก็มีความร้อน แต่เพราะบบฉีดน้ำ ซึ่งน้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่าอากาศ ทำให้ควันมีอุณหภูมิเย็นลง ก็เลยลอยลงมาต่ำ จนมาถึงชั้นล่าง ทำให้การเข้าบันไดหนีไฟทำได้ยากมากๆ
เมื่อบันไดหนีไฟ มีควันอยู่คละคลุ้งเต็มไปหมด การสัญจรเพื่อต่อสู้เพลิงก็ทำได้ยากมาก และถังออกซิเจนที่เหล่าอาสาสู้ไฟติดไปนั้น มีอายุเพียง 30 นาที หากต้องใช้ตลอดเวลา และต้องวิ่งขึ้นไปถึง 10 ชั้น ก็จะทำให้ “อากาศช่วยหายใจ” หมดถัง จึงเป็นเหตุหนึ่งแห่งโศกนาฏกรรมของคนดี
6. กรณีที่ทางอาคารมีการพ่นยา (ควัน) กำจัดแมลงวันนั้น อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งได้ เพราะควันจากการฉีดยาฆ่าแมลง อาจไปรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ เช่น Smoke Detector ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้จริง ระบบทุกอย่าง "รวน" ไปหมด พออุปกรณ์ตรวจจับรวน ระบบแจ้งเตือนก็รวน ทำให้ระบบเครื่องสูบน้ำก็รวน สปริงเกอร์อัตโนมัติก็รวน ระบบอัดอากาศเข้าบันไดก็รวน เป็นต้น"
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลอีกหลายประเด็นที่ผู้เขียนบอกว่า น่าศึกษาและควรรับทราบเพื่อป้องกันและปรับปรุงอาคารที่เราๆ ท่านๆ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง ถือเป็นกรณีศึกษาครั้งใหญ่ที่จะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754