xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตเฮงซวย 'บวชพระดีกว่า' เรื่องกล้วยๆ ของผู้ชายเหลวแหลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิถีพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชายไทยสิ่งหนึ่งที่ถือปฏิบัติกันมาคือ 'การบวชพระ' เพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนและทำนุบำรุงพุทธศาสนา ทว่า กาลเวลาเปลี่ยนผ่านความเชื่อกลับผิดเพี้ยน กลับกลายเป็นว่าพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกก็โร่เข้าหาธรรมะ 'บวชล้างซวย' ???

แว่วเสียงกระจอกข่าวกระซิบถามพระเอกดังผู้ครองข่าวฉาว 'บอย - ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์' ทั้งกรณีภาพหลุดย่องกินตับสาวที่ประเทศเกาหลี, ซื้อลัมบอร์กินีพัวพันแก๊งค์ฟอกเงินมหาวิทยาลัยดัง ฯลฯ ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยว่า ซวยซ้ำซวยซ้อนโดนลิฟต์หนีบอีก จนเปรยผ่านสื่อว่าความตั้งใจจะบวชแต่ยังไม่มีจังหวะเพราะติดเรื่องงาน แต่เรื่องซวยๆ ที่ผ่านมาก็แก้เคล็ดด้วยการอาบน้ำมนต์ที่บ้าน ด้านกระจอกข่าวยิงคำถามว่าบวชล้างซวยหรือเปล่า? เขาให้คำตอบ “ความจริงแล้วผมตั้งใจบวชทดแทนพระคุณครับ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “บอย” ยังไม่มีโอกาสบวชล้างซวย เอาน้ำมนต์มาอาบที่บ้านแก้เคล็ด

จับพลัดจับพลูห่มเหลือง
“ตามความเชื่อของคนไทยถูกสั่งสอนมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชายไทยต้องบวชอย่างน้อย 1 พรรษา บวชเรียนแล้วจะได้บุญ มันฝั่งรากในคนไทยแล้ว” รศ.ดร.ผจญ คำชูสังข์ หัวหน้าภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงวิถีของชายไทยผู้เป็นพุทธศาสนิกชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อบุญของโจรห่มเหลือง ปล้นเงินจากกระแสศรัทธา ซ้ำร้ายยังมีมารศาสนาอีกจำนวนหนึ่งริบวชพระเพื่อล้างบาปชุบตัวในโลกธรรม 'ปลงผม ห่มจีวร' ญาติโยมก็ให้ความเคารพกราบไหว้ ถวายปัจจัยและข้าวปลาอาหาร สำเริงสำราญหาประโยชน์ใต้ร่มเงาศาสนา

ด้าน ดร.อุทัย เอกสะพัง อาจารย์ผู้สอนปรัชญาและศาสนา อาจารณ์ประจำสาขาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร และสังคมศาสตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการนับถือศาสนาแบบฉาบฉวย ศรัทธาแค่เปลือกนอกไม่สนใจแก่นของพุทธศาสนา

เนื้อแท้ของพุทธศาสนา แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ายังดำเนินไปในรูปแบบเดิม แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาลงนั้นคือ พระภิกษุสงฆ์จอมปลอม ผู้รับหน้าที่สืบทอดศาสนา ขณะที่ประชาชนศรัทธาพระสงฆ์ มากกว่าเลือกปฏิบัติตามหลักพระธรรม จึงเป็นช่องทางของเหลือบไรศาสนาแบบเลี่ยงไม่ได้ ดร.อุทัย อธิบายว่าเรื่องของพลังศรัทธาของประชาชนต่อสิ่งเหล่านี้มันฝั่งรากลึกมานาน และมันจะเปลี่ยนแปลงจะยากมาก

ยกตัวอย่าง บุคคลที่แฝงเข้ามาใช้ผ้าเหลือหากิน ต่างสูบเงินจากแรงศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชนร่ำรวยก็มีให้เห็นดาษดื่น

เหตุใดที่พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มนั้นหลงงมงายเป็นเหยื่อบุญได้ง่ายๆ ดร.อุทัย กล่าว“ตราบใดที่เราไม่มีปัญญาในการมองเราก็จะหลงผิดอยู่ในรูปแบบที่เป็นมายาภาพครับ เพราะการมองใดๆ ในแง่ของพุทธศาสนาเราต้องมองในแง่ของปัญญา”

เรื่องโง่เง่าบวชล้างซวย
จริงๆ การบวชมันล้างซวยไม่ได้ สิ่งที่ทำไปแล้วมันเป็นกฎแห่งกรรม มันจะล้างแบบศาสนาฮินดูลงชุบตัวในแม่น้ำคงคาอย่างนั้นทำไม่ได้ แต่การชำระบาปแบบนั้นมันติดรูปแบบมาจากศาสนาพราหมณ์ที่มากับศาสนาพุทธในยุคโบราณ แม้แต่คำว่าบวชล้างซวยมันก็เป็นการชำระบาปเหมือนศาสนาพราหมณ์” ดร.อุทัย อธิบาย

สอบถามในประเด็น ความเชื่อเรื่องการบวชตอบแทนพระคุณบุพการี จะได้เกาะชายผ้าเหลืองบุตรชายขึ้นสวรรค์ ดร.อุทัย บอกว่าเป็นเพียงกุศโลบายเท่านั้น

มันเป็นกุศลโลบายเพื่อให้ครอบครัว พ่อ แม่ ได้ทำความดี เป็นปริศนาธรรม สภาพจริงแล้วเกาะชายผ้าเหลืองไม่ได้หรอก มันเป็นกุศโลบายให้ทำความดีทำกุศล ดำเนินให้ผู้บวชเรียนไปในทิศทางที่ถูกต้องดีงาม แต่จะได้มากหรือน้อยก็อยู่ที่ทิศทางของแต่ละคน การบวชเป็นแนวทางของมัชฌิมาปฎิปทาให้ผู้คนเดินไปในทางที่ถูกต้อง พอเหมาะพอควร” ซึ่งส่วนมากบวชเป็นประเพณีมากกว่าเข้ามาแสวงธรรม

ดร.อุทัย แนะว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเรื่องการคัดกรองบุคคลที่เข้ามาบวชอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ใครใคร่บวชก็สามารถทำได้ง่ายๆ อย่างทุกวันนี้

“เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยจะต้องมารวมกัน สถาบันสงฆ์ด้วย สถาบันฆราวาสด้วย ต้องมาร่วมกันหาทิศทางถ้าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจริง”

บวชพระเดี๋ยวเดียวก็รวย
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา อธิบายแง่มุมจิตวิทยาไว้ ความว่า

“การขายความศรัทธาแลกด้วยเงินมันคุ้มนะ การวางตน สร้างเรื่องสร้างราวให้คนนับถือเราซัก 10 ปี แล้วมีเงินสักพันล้านเนี่ย คุ้มนะ ตอนนี้ทุกคนก็อยากรวยทางลัดทั้งนั้น”

ศรัทธาของญาติโยม เรื่องธารปัจจัย นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทว่า เป็นช่องโหว่ให้มารศาสนาเข้ามาหากินอย่างเกษมสำราญ

“มันเป็นการศรัทธาที่ไม่ได้อาศัยปัญญา ก็เลยต้องเป็นในลักษณะอย่างนั้น จริงๆ แล้วเรื่องเงินก็เป็นทางผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าไปหลงไปโลภทำบุญได้เงินมากๆ แล้วจะขึ้นนสวรรค์ อันนี้ไม่ใช่แนวทาง”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สะท้อนพฤติกรรมของประชาชนในเรื่องการทำบุญหวังผล กลายๆ ว่าเป็นการส่งส่วยให้มารห่มเหลืองนั่นเอง ความว่า

“คนสมัยนี้ บริจาคมากเพื่อหวังจะได้อะไรกลับ คิดว่าทำบุญมากต้องได้บุญกลับไปมาก ทำร้อยล้านต้องได้ตอบแทนร้อยล้าน เป็นวิธีคิดแบบทุนนิยมมาก หยิบเอาเรื่องกำไรสูงสุดมาเป็นตัวชี้นำให้คนทำบุญหรือไม่ทำบุญ ซึ่งมันผิด มันไม่ใช่บุญในพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว”

ด้าน พระพรพล ปสันโน เลขานุการเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก แนะนำแนวทางปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชน เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือของมารศาสนา ความว่า

“วิธีที่เราชาวพุทธควรจะทำก็คือการน้อมกลับมาศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน บอกเอาไว้ว่ามีอยู่ 3 อย่างคือ ทาน ศีล ภาวนา เริ่มด้วยข้อแรกคือการทำทานเพราะเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่ก็จะได้บุญในระดับหนึ่ง ถ้าได้บุญสูงกว่านั้นก็คือการรักษาศีล

“ส่วนบุญสูงสุดเลยที่ทำให้เราเกิดปัญญา รู้ว่าอะไรถูกผิด รู้ว่าความทุกข์คืออะไร รู้ว่าจะดับทุกข์ได้ยังไง นั่นคือการภาวนา ต้องรู้จักปฏิบัติธรรมนั่นเอง แต่คนสมัยนี้ไปมองว่า โอ้โห! การนั่งสมาธิ การภาวนา มันเสียเวลา มันนาน เอาวิธีสั้นๆ ง่ายๆ นี่แหละ ก็อาศัยวิธีบวงสรวงอ้อนวอนขอเขา มันเลยทำให้คนในปัจจุบันหลงงมงายและถูกวัตถุเหล่านี้ชักจูงไปให้เราไม่สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างที่เป็นอยู่”

รู้หรือไม่? บวชแบบไหนไร้ประโยชน์

1. อุปมุยหิกา ได้แก่ ผู้ที่บวชโดยหลงงมงาย สักแต่ว่าบวชตามเขาไป ไม่มีความศรัทธาที่จะบวชโดยแท้จริง ไม่รู้ว่าบวชไปทำไม เป็นต้น
2. อุปชีวิกา ได้แก่ ผู้บวชโดยหวังใช้ผ้าเหลืองหาเลี้ยงชีพ ไม่อยากทำมาหากินอย่างอื่น ไม่สนใจประพฤติ พระธรรมวินัย
3. อุปกีฬิกา ได้แก่ ผู้ที่บวชแล้วหาเครื่องเล่นไปวันหนึ่งๆ ไม่สนใจปฏิบัติพระธรรมวินัย
4. อุปทูสิกา ได้แก่ ผู้ที่บวชแล้วทำเรื่องชั่ว เสียหาย ทำให้ศาสนาเสื่อม ไม่ได้บวชเพื่อทำตัวให้หมดเวรพ้นภัย หรือพบกับหลักธรรมอันใด
(ข้อมูลจาก : www.poonporn.com/stories/story000140.html)

…...................................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Live
ภาพประกอบ sdsweb, dmc, lannaamulet




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น