xs
xsm
sm
md
lg

หนีโจรปะหมอ! วิบากชีวิตคนกรุง...เมื่ออาชญากรรมล้นเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นเหตุระทึกขวัญใกล้ตัวคนเมืองเมื่อเกิดเหตุปล้นกลางเมืองขโมยมือถือยี่ห้อดังติดๆ กันถึง 2 คดี 1 ในนั้นถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส วิบากกรรมซ้ำเติมเมื่อห้องฉุกเฉินไม่พร้อมรักษา อีกทั้งยังถูกปฏิเสธจนนำมาซึ่งดรามาครั้งใหญ่ที่ใกล้ชิดกับชีวิตคนเมืองอย่างน่าหวาดหวั่น

อาชญากรรมล้นเมือง ห้องฉุกเฉินล้นผู้ป่วย สังคมเมืองแท้จริงแล้วต้องเผชิญกับความโหดร้ายเพียงใดบ้าง? ทางแก้ไขอยู่ที่ไหน?

อาชญากรรมล้นเมือง
 
กรณีอาชญากรรมข้างถนนหรือ street crime ถือเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใกล้ตัวกับประชาชน เป็นอันตรายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่แปลกหากข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกลางเมืองอย่างอุกอาจจะกลายเป็นที่สนใจและชวนให้ทุกคนหวาดหวั่นถึงอันตรายที่เกิดขึ้น

พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าอาชญากรรมในลักษณะการลักวิ่งชิงปล้นข้างถนนนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน แต่ยิ่งถูกนำเสนอโดยสื่อเป็นข่าวเหตุการณ์ที่เกิดแตกต่างกันทั้งเวลาและสถานที่ก็ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่า อาชญากรรมแบบนี้เกิดบ่อยขึ้น

คำถามคือแล้วอาชญากรรมเหล่านี้มีมากขึ้นจริงหรือไม่?

“ถ้าไปดูสถิติข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมจะพบว่าภาพรวมทั่วประเทศอาชญากรรมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และผู้ก่อเหตุก็เป็นเด็กมากขึ้น ซึ่งอันนี้มันสอดคล้องเป็นธรรมดาเนื่องจากประชากรมันเพิ่มขึ้น ความต้องการในด้านต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญตอนนี้เรากำลังจะเปิดAEC ทำให้ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ

“สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันเป็นไปตามทฤษฎีทางด้านอาชญาวิทยาที่ว่า ถ้าสังคมคนอยู่กันมากขึ้น แย่งกันอยู่แย่งกันใช้ ปัญหาสังคมมันก็จะเกิดขึ้น มันจะนำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรมโดยเฉพาะอาชญากรรมข้างถนน แม้เทียบกับอาชญากรรมที่กระทำเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ก่อความเสียหายเป็นแสนล้านไม่ได้ แต่มันก็เป็นอาชญากรรมที่กระทบกับประชาชนโดยทั่วไป”

ทั้งนี้ วิธีป้องกันอาชญากรรมที่เกิดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เขาเผยว่า แนวคิดหนึ่งทางด้านอาชญาวิทยาที่มีชื่อว่า เหยื่อวิทยาบอกว่า คนทั่วไปควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตัวอย่างเช่นผู้หญิงที่ต้องกลับบ้านดึกๆ และต้องผ่านไปในเส้นทางเปลี่ยวก็ไม่ควรใส่กระโปร่งสั้นหรือเสื้อสายเดี่ยวเพื่อลดโกาสที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

“การเกิดอาชญากรรมมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน 1.โอกาสและสถานที่ 2.ตัวผู้กระทำผิดหรือคนร้าย 3. คือตัวเหยื่อผู้ถูกกระทำ หากครบองค์ประกอบเมื่อไหร่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาชญากรรมก็มีสูงขึ้น ฉะนั้นทำอย่างไรไม่ให้เกิดอาชญากรรมเราก็ต้องทำให้องค์ประกอบ 3 อย่างนี้ไม่เกิดขึ้น เช่น ถ้ามีเหยื่อ มีคนร้าย แต่คนร้ายไม่มีโอกาสลงมือกระทำ เพราะมีคนพลุกพล่าน มีตำรวจสายตรวจ มีกล้องวงจรปิด คนร้ายเกรงกลัวจะเป็นองค์ประกอบทำให้โอกาสเกิดอาชญากรรมน้อยลงได้”

ในส่วนของกรณีคนร้ายปล้นขโมยโทรศัพท์ไอโฟนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เขาเผยว่า ในสมัยก่อนเหตุปล้นทรัพย์กระชากสร้อยทองนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันเนื่องจากโจรไม่สามารถแยกทองที่ผู้คนสวมใส่ได้ว่าเป็นทองแท้หรือไม่ หากเป็นของปลอมก็ไปขายไม่ได้ราคา จึงหันมาขโมยไอโฟนซึ่งมีความต้องการของตลาดสูงแทน

ปัญหาสังคมถาโถมมาที่ในห้องฉุกเฉิน


ปัญหาในห้องฉุกเฉินกลายเป็นประเด็นร้องเรียนที่พบได้บ่อยครั้ง บางครั้งก็ถูกถ่ายเป็นคลิปมาโพสต์แฉ บางครั้งกลายเป็นเรื่องโอละพ่อที่เกิดจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็ถูกมองว่าเป็นปัญหาจากประชาชนที่กังวลใจว่าวันหนึ่งวันใดพวกเขาอาจจะต้องเข้ามาใช้บริการห้องฉุกเฉินเหล่านี้

พล.อ.ต.บุญเลิศ จุลเกียรติ อดีตนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มองว่า สาเหตุหลักๆ ในการทำให้เกิดการร้องเรียนจากคนไข้นั้นมี 3 ประการด้วยกัน ตั้งแต่มารยาทที่อาจไม่ถึงพร้อมในการให้บริการ ความสามารถในการรักษาที่ไม่ถูกหลักวิชา และสุดท้ายคือปัญหาเฉพาะบุคคล เขาเผยอีกว่า ปัญหาโดยทั่วไปแล้วต้องพิจารณาตามแต่กรณีที่เกิดขึ้นด้วย

“จริงๆก็ต้องมาดูกันตามกรณี แต่สาเหตุหลักๆก็มีด้วยกัน 3 สาเหตุ 1. คือมารยาทในการปฏิบัติหน้าที่ คนเจ็บป่วยจะพูดแบบไม่ให้เกียรติไม่มีหางเสียงมันไม่ใช่ เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่บางทีต่อให้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมมาแล้วก็มีบ้างที่พูดจาไม่มีมารยาทกับคนไข้

“2. มาตรฐานในการดูแล บางคนอบรมมาไม่มากแต่ทำเหมือนรู้มาก อันนี้อันตรายมาก เวลาผมอบรมจะบอกเลยว่า ทำเท่าที่รู้ อย่าคิดว่ารู้ทุกอย่าง อย่านึกว่ามันถูก เพราะจริงๆอาจผิดก็ได้ ต้องทำเท่าที่แน่ใจเท่านั้น และอย่างสุดท้าย 3. คือเจ้าหน้าที่บางคนที่มีความผิดปกติอย่าง อาจจะชอบขี้ขโมยหรือละเมิดคนไข้ ซึ่งมันแฝงเข้ามา ซึ่งทั้งหมดนี้อาจมีเป็นส่วนน้อยแต่มันก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้”

กับกรณีล่าสุดที่หนุ่มวิศวกรถูกฟันจนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่กลับถูกบอกว่าไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน แต่ต่อมาได้มีการเปิดเผยว่า ห้องผ่าตัดเต็มและมาจากความผิดพลาดในการสื่อสาร อดีตนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินมองว่า กรณีนี้สะท้อนถึงปัญหาของระบบที่ค้างคามาเป็น 10 ปีแล้ว

“คนไข้มันเยอะมากจนกระทั่งห้องผ่าตัดไม่พอ อันนี้เราแก้กันมาอย่างเจ็บปวด ทำกันมาตลอดเพื่อไม่ให้มีคำว่า เตียงเต็ม เพราะโรงพยาบาลที่รับก็รับเยอะมาก พอฉุกเฉินมาเตียงก็ไม่มี ซึ่งจริงๆ มันอยู่ที่นโยบาย ถ้าห้องผ่าตัดมันเปิดไม่ได้ มันน่าจะไปโรงพยาบาลอื่นที่เขาสามารถดูได้ภายในชั่วโมงนั้น

“แต่ปัญหาคือเราสื่อสารกับคนไข้และรถพยาบาลมันทำให้เขาเข้าใจผิด ผมเจอบ่อยๆ จะไล่เขาไปโรงพยาบาลอื่นหรือไง พอเขาไม่ไป เขาก็ต้องนอนรออยู่ ห้องผ่าตัดมันเข้าไปไม่ได้ก็คือไม่ได้ มันอยู่ที่การพูดคุยกันเท่านั้นเอง และการที่เราจะส่งคนไข้ไปที่อื่น มันก็ต้องมั่นใจว่า ส่งไปแล้วโรงพยาบาลปลายทางจะมีที่รองรับ ไม่ใช่ให้เขาไปวิ่งหาโรงพยาบาลเอง”

เขาเผยว่า ปัญหาของกรณีแบบนี้นั้น ข้อแรกคือโรงพยาบาลต้องแน่ใจว่าเตียงเต็มจริงๆ ไม่ใช่ไม่อยากรับ ข้อสองคือระบบที่หากโรงพยาบาลนั้นรับไม่ได้ก็ต้องถือเป็นหน้าที่จะต้องติดต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงให้รับไปทันที ไม่ใช่ต้องให้คนไข้วิ่งหาแต่ละโรงพยาบาลเอาเอง

“เคยมีคนไข้เป็นไส้ติ่งวิ่งจากนครปฐมมาโรงพยาบาลศิริราชก็เต็ม โรงพยาบาลราชวิถีก็เต็มจนมาถึงโรงพยาบาลภูมิพลฯ สมัยก่อนระบบมันแย่ พอเตียงเต็มก็ต้องตามเวรตามกรรมซึ่งมันทำลายความรู้สึกมาก”

ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขทั้งระบบทั้งประเทศโดยระบบสาธารณสุขนั้นไม่ให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยกับกรุงเทพมหานคร ยังมีขึ้นอยู่กับทหารอีกด้วย

“มันคอนโทรลไม่ได้ มันไม่มีองค์กรที่จะสั่งการทั้งหมด มันต้องใช้จิตสำนึกของแต่ละโรงพยาบาลน่ะ”
ในส่วนของเคสฉุกเฉินที่มีมากขึ้นนั้น เขามองว่าก็เป็นปัญหาที่มีมายาวนานเช่นกัน ในฐานะที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน เขาเผยว่า ห้องฉุกเฉินนั้นอัดแน่นไปด้วยคนไข้ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วไม่เป็นกัน พื้นฐานของปัญหานั้นมาจากการขาดวินัยซึ่งทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมายจนท้ายที่สุดมาลงเอยที่ห้องฉุกเฉิน

“พอวินัยมันก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่เท่านั้นยังไม่พอ วินัยการมาโรงพยาบาลก็ยังไม่มี บางทีปวดหัวตัวร้อนจะมาห้องฉุกเฉิน มันไม่ได้ ห้องฉุกเฉินมันต้องฉุกเฉิน ปวดหัวตัวร้อนต้องไปที่อื่น มันต้องแยกให้เป็น บางคนบอก ฉันไม่สบาย ฉันก็มาล่ะ พอมาถึงแต่ละคนแต่ละทิศมามันต้องทำยังไงล่ะ

“ตอนผมเป็นผอ.ดูแลห้องฉุกเฉินอยู่ ผมบอกเลย เราไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธให้ถือว่าทุกคนที่มาเป็นคนไข้ฉุกเฉินก่อน แต่มาแล้วจะรักษาได้แค่ไหนอีกเรื่องหนึ่ง หมายถึงว่า เราไม่มีสิทธิ์ให้เขากลับไปก่อนไง ถ้ากลับไปก่อนแล้วเขาเป็นอะไรกลางทางเรารับเต็มๆ เลยนะ อย่างน้อยก็ต้องดูอาการไว้ก่อน”

เขามองว่า จำนวนห้องฉุกเฉินในประเทศไทยนั้นถือว่ามีเพียงพอแล้ว แต่จำนวนคนไข้ที่เข้ามานั้นกลับมีมากผิดปกติซึ่งเกิดจากปัญหาพื้นฐานซึ่งป็นสิ่งที่ป้องกันได้ และไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาการทะเลาะทำร้ายร่างกายกัน

“ห้องฉุกเฉินต้องรับสิ่งที่ไม่ควรรับเยอะ เช่นคนไข้อุบัติเหตุที่เมาแล้วขับ ครอบครัวตีกันแตกแยก กินยาตาย ปัญหาสังคมมาถาโถมมาที่นี่ คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจ เป็นอัมพาต เป็นหืดหอบเขาจำเป็นต้องมาแต่เราต้องมารักษาคนไข้ที่ไม่จำเป็น ไม่น่าเกิด มันเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ การสร้างจิตสำนึกและวินัยเป็นพื้นฐานของสังคมจะช่วยให้ห้องฉุกเฉินไม่ต้องรับภาระที่หนักขนาดนี้”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754





กำลังโหลดความคิดเห็น