xs
xsm
sm
md
lg

'ไม่เชื่อ..ต้องพิสูจน์' จับเข่าคุย 'นักวิทย์' หัวรั้นแห่งยุค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บั้งไฟพญานาค ที่แท้คือลำแสงกระสุนส่องวิถี, เครื่อง GT 200 คุณสมบัติไม่ต่างจากไม้ตีหมา, รอยเลื้อยพญานาคเกิดจากเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง, อาถรรพ์โค้ง 100 ศพรัชดา ก็แค่อุบายและสร้างผิดหลักวิศวกรรม ฯลฯ
เหล่านี้คือข้อเท็จจริงจาก 'นักวิทย์' ที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุด ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลบล้างหลากหลายความเชื่อเพียงเพราะเชื่อตามๆ กันมา สร้างความงมงายและก่อความเข้าใจผิด ย้อนแย้งด้วยเหตุผลและข้อพิสูจน์ 'ตีแสกหน้าสังคม' อย่างไม่เกรงคำวิจารณ์ 

ในยุคที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์ แต่วิถีของคนไทยยังขับเคลื่อนแบบเชื่อตามๆ กัน ผศ.ดร. เจษฎา ดูจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประกาศชัดว่าเป็นอริกับข้อมูลที่ผิดเพี้ยน และความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่เข้าข่ายงมงายก่อผลกระทบต่อสังคม
เขามักจะออกตัวอธิบายสังคมด้วยเหตุและผลที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีรายการทางยูทิวบ์ชาแนลของตนเอง ตอบโจทย์ในประเด็นน่าสนใจด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ รวมถึงผลงานหนังสือเรื่อง วิทยาตาสว่าง เปิดโปงศาสตร์ลวงโลกและกลโกงต่างๆ ฯลฯ

เหตุใด เขาถึงนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาแบ่งปันอย่างไม่หวงแหน และไม่หวั่นเกรงเสียงวิจารณ์กรณีที่แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อทางสังคม ผศ.ดร. เจษฎา ตอบคำถามผ่าน M- Open แบบไม่หมกเม็ด

พิสูจน์รอยพญานาค เกิดจากเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง
ทำไมเลือกนำวิทยาศาสตร์มาอธิบายเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันความเชื่อทางไสยศาสตร์?
ผมมีพัฒนาการในการทำงานอยู่หลายสเตปครับ พื้นฐานผมเป็นอาจารย์สอนชีววิทยา แล้วก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย ขณะเดียวกันตอนนี้บทบาทหนึ่งที่พยายามทำเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ด้วย สิ่งที่เราใช้สื่อสารได้ง่ายๆ คือโซเชียลมีเดีย

ในยุคโบราณเราก็เชื่อตามกัน ผีมีจริง วิญญาณมีจริง สิ่งศักดิ์สิทธิมีจริง อย่างยุคสมัยใหม่เชื่อตามกัน แชร์กันมาก็เชื่อ โดยที่ไม่หาข้อมูลกันว่ามันจริงหรือไม่จริง สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ ต้องการให้ผู้คนเกิดความสงสัย เรื่องนี้มันจริงไหม มีคำอธิบายมากกว่านั้นไหม พอจะสามารถกระตุ้นให้คนคิดตามเราได้บ้างไหม คือไม่ใช่ให้เชื่อเรานะ แต่หาข้อมูลมากขึ้นครับ

ถ้าจำได้ ย้อนไป 5 ปีที่แล้ว ผมเคยมาพูดเรื่องระเบิด GT200 นั่นคือจุดเริ่มต้น ผมเพิ่งมาเล่นเฟซบุ๊กเป็นเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมสนใจด้านไหนก็จะเล่าไปในโพสต์นั้นๆ มีคำถามเข้ามาผมก็พยายามจะตอบ ตอนนี้สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา มีคนติดตามผมมากขึ้น มันเป็นการสร้างบรรยากาศวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยครับ แต่ไหนแต่ไรแล้วเราไม่ค่อยมีบรรยากาศเป็นวิทยาศาสตร์ หรือว่าคิดแบบวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่าง เรื่องไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อที่เขาเล่าอะไรมาก็เชื่อตามๆ กัน

สังคมไทยเริ่มมีบรรยากาศการถกเถียงแบบสังคมวิทยาศาสตร์แล้วใช่ไหม
อยู่ในขั้นเริ่มต้นครับ ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนนะ ผมเคยเรียนอยู่ต่างประเทศมาก่อน บรรยากาศจะเป็นลักษณะคนส่วนใหญ่ของสังคมชอบการโต้แย้ง สื่อมวลชนเองก็ให้ข้อมูล 2 ฝั่งตลอด สมมติว่ามีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นสื่อบ้านเราก็จะแปลข่าวมาตรงๆ แล้วก็ลงเลย แต่ว่าถ้าเป็นเมืองนอกจะถามความคิดเห็น 2 ฝั่งตลอด อย่างมีคุณหมอคนหนึ่งบอกว่ากินบางอย่างแล้วดี เขาก็จะไปถามหมออีกคนว่าในวงการหมอคนอื่นคิดอย่างไร เป็นบรรยากาศการคิดแบบโต้แย้งปรึกษากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมฝรั่งมานานแล้ว

แต่บ้านเรายังไม่ค่อยมี ถึงบอกว่าบ้านเราอยู่ในขั้นเริ่มต้น ถ้าผมเริ่มทำให้สังคม คนที่ติดตามผม คิดแบบนี้ได้ หรือแม้แต่สื่อมวลชนมองว่าเรื่องๆ หนึ่งต้องหาข้อมูลมากขึ้น สมุมติมีข่าวโค้งร้อยศพ แล้วมีมุมวิทยาศาสตร์ไหม มองมุมวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะมีแค่มุมไสยศาสตร์ ตอนนี้เริ่มพัฒนาไปแล้วว่าถ้าเอาวิทยาศาตร์เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ผมเห็นพัฒนาการมุมวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไปเยอะนะ

ประกาศตนเป็นปรปักษ์กับไสยศาสตร์ลี้ลับหรือเปล่า?
ต้องนิยามว่าไสยศาสตร์ที่ว่าคืออะไร หรือความเชื่อที่ว่าคืออะไร ความเชื่อพื้นถิ่น ความเชื่อเชิงศาสนา หรือความเชื่อที่ตั้งขึ้นมาเองก็ได้ ไสยศาสตร์เป็นความเชื่อแบบหนึ่ง ไสยศาสตร์ที่เป็นความเชื่อเฉยๆ ก็เป็นความสุขของเขา เราไม่จำเป็นต้องไปยุ่ง แต่ถ้าเป็นการเชื่อแล้วส่งผลเสีย เป็นความเชื่อถูกทำตรงนั้น หลอกล่อทำเสน่ห์ยาแฝด แล้วเราอธิบายอะไรได้เราต้องช่วยอธิบายให้เขา

หลายๆ เรื่องอธิบายง่ายมาก ซึ่งเราพูดนิดเดียวก็เคลียร์แล้ว แต่มันไม่เคยมีใครพูดไง อย่างเรื่องพญานาค เราไม่เคยพูดหรือถกเถียงว่าพญานาคมีจริงหรือเปล่า? เราปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา..เป็นความเชื่อของเขา แต่ถ้ามาพูดว่าเห็นเป็นรอยพญานาคอ้างว่าเป็นรอยพญานาค ผมไม่เถียงนะว่าเป็นรอยพญานาคมาทำ แต่เราสามารถทำให้เขาเห็นได้

อย่างกรณีรอยพญานาค คุณนำเครื่องฉีดน้ำความดันสูงมาพิสูจน์ว่าเป็นรอยลักษณะเดียวกัน อย่างนี้เรียกตีแสกหน้าหรือเปล่า
เราฉีกให้คนคิดอย่างอื่นได้ ที่แรงกว่าเรื่องรอยพญานาค คือบั้งไฟพญานาค เพราะมันมีมุมเขาบอกกระทบกับความเชื่อกับชาวบ้าน และกระทบการท่องเที่ยว เรื่องนี้มีคนโมโหผมก็เยอะ ขู่ถูกฆ่าก็มี ที่ต้องออกมาพูดเพราะมันกระทบกระเทือนวิทยาศาสตร์ การเชื่อกันว่าบั้งไฟพญานาคเป็นแก๊สที่ลอยจากน้ำ ในเชิงวิทยาศาสตร์มันเป็นไปไม่ได้ครับ เป็นเหตุผลเหมือนกรณีโค้งร้อยศพรัชดา ที่ผมต้องพูดเยอะๆ เพราะว่าถ้าไม่พูดคนก็จะเข้าใจผิดตลอด

มันเป็นการเข้าใจผิดว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้อธิบายอย่างนี้ คุณเข้าใจผิดไปเอง เราต้องหาวิธีอื่นมาอธิบาย ผมมองว่าเมื่อมันเกิดมุมมองอย่างนี้ขึ้น หากผมเลิกหรือผมตายขึ้นมากะทันหันจะได้มีคนสานต่อเจตนารมณ์ ถ้าอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนามากขึ้น มันต้องกล้าที่จะย้อนแย้งครับ
Sci Find เฉลยปริศนาบั้งไฟพญานาค

ตีแสกหน้าก็จริง แต่ทำอย่างไรได้คุณต้องโดนกระตุ้นบ้างถึงจะกลับมาคิด เป้าหมายของผมไม่คิดว่าผมจะไปโต้เถียงกับคนที่เขาเชื่อเรื่องพวกนี้ ถ้าคนเราเชื่อเรื่องไหนแล้วคุณจะไม่มีทางเปลี่ยนหรอก แต่คนตรงกลางมากกว่าที่คุณยังไม่เชื่อเขาหรอก แต่ยังคงหาคำตอบว่านั่นมันคืออะไร

การตีแผ่ข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ฟีดแบกจากสังคมเป็นอย่างไรบ้าง
เรื่องที่เราพูดมันโยงกับความเชื่อ ความโกรธเกลียดของคนต้องมีอยู่แล้วครับ แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะกลืนหายไปเมื่อเรารู้มากขึ้นว่าอะไรคืออะไร ประเด็นสำคัญเราต้องรู้ว่าเราจะเข้าเมื่อไหร่ เราจะถอยเมื่อไหร่ อย่างเรื่องบั้งไฟพญานาคผมพูดมาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้..อาจจะเพราะว่าเราทำคลิปวิดีโออธิบายเรื่องนี้แล้วเก็แชร์คลิปกันเยอะ พอกระแสแรงมากไปเราก็ต้องรู้วิธีถอย โอเค! ผมไม่เถียงเรื่องนี้แล้ว ผมขอโทษ! เดี๋ยวปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ นี่คือมุมของการทำงาน (ยิ้ม) มันเป็นจังหวะให้คนค่อยๆ ทบทวน เราต้องใจเย็นครับ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อของคนมันต้องใช้เวลา อย่างเรื่อง GT200 เรามีการทดสอบให้เห็น มันเปลี่ยนความคิดคนเร็วมาก 4-5 เดือนจบแล้ว แต่บั้งไฟพญานาคอาจจะใช้เวลาหลายปี ก็ไม่เป็นไรค่อยๆ ทำไป

ปัจจุบันหากถูกสังคมออนไลน์แอนตี้กระแสจะรุนแรงมาก ไม่เกรงกลัวเลยเหรอ
ทำแบบมีเป้าหมายสิ ไม่ใช่ลบล้างวัฒนธรรมอันสวยงามมันไม่จำเป็น สมมติว่าเขาเล่นไล่จับปอบ 'ผีค่อง' ก็เป็นเรื่องสนุกของเขา แต่ว่าถ้าเรารู้ว่าเป็นสำนักทรงหลอกลวงประชาชน เราต้องทำอะไรบ้าง

ประเด็นปัญหาข้างต้น คุณมีวิธีรับมืออย่างไร
เราเลือกฟังได้ เลือกเก็บข้อมูล เวลาเรารณรงค์เรื่องไหนสักเรื่องหนึ่งเราไม่จำเป็นต้องถูก 100 เปอร์เซ็นต์หรอก เราเลือกถูกแค่ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่เราต้องบอกเรื่องนี้ไปก่อนเพราะต้องการความเร็ว ข้อมูลยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่สันนิษฐานว่าอย่างนี้ก็โพสต์ไปก่อน และต้องเผื่อใจอาจจะมีคนคอมเมนต์แรงๆ ว่าไม่ใช่หรอก เกิดการนำข้อมูลมาถกเถียงกัน ที่ไม่ใช่เฮตสปีชอย่างเดียว

เท่ากับว่ายอมรับตรงๆ ว่าประเด็นที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กข้อมูลไม่ 100 เปอร์เซ็นต์
ผมว่าเป็นสิ่งน่าสนใจครับ ผมกำลังเทรนด์สังคมว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องโต้เถียงกัน เราต้องรู้ตัวว่าเราผิดได้ แนวโน้มของวิทยาศาสตร์คือเราเห็นแนวโน้มของเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเราสันนิษฐานว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้ามีหลักฐานแย้งคุณก็แย้งมา ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่คนไทยเป็นอยู่ คนไทยจะเป็นแบบเชื่อกันมา คนนี้พูดเขาจะต้องถูกตลอด แต่ถ้าวันหนึ่งเขาพูดผิดเราจะเสียศรัทธา

สำหรับผมไม่ต้องการให้ใครมาศรัทธาผม ผมต้องการให้คนมาหาข้อมูลกันก่อน คุณช่วยเตือนตัวเองว่าต่อไปอย่าเพิ่งแชร์อะไร

สังคมไทยทำไมความเชื่อความศรัทธาที่ผิดเพี้ยน วิทยาศาสตร์ไม่ลบล้างได้
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อ่อนแอหลายเรื่องนะครับ เรากำลังพูดถึงความอ่อนแอทางวิทยาศาสตร์ เราไม่ค่อยส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เรามองเป็นเรื่องยากเกินไป ไม่มีการส่งเสริม เรามีตำราเรียนแต่ไม่มองความคิดและการโต้แย้ง เราอ่อนแอหลายด้านมาก วิทยาศาสตร์เราก็อ่อนแอ ศาสนาเราก็อ่อนแอ การศึกษาเราก็อ่อนแอ เรื่องการเรียนการสอนของเราไม่ได้สอนคนให้คิด เราสอนคนใช้เชื่อ ยกตัวอย่าง ครูอยู่หน้าชั้นเรียน ครูพูดอะไรครูต้องถูก ข้อสอบออกมาต้องตอบตรงกับที่ครูบอกถ้าไม่อย่างนั้นผิดทันที

และที่น่าห่วงและเป็นปัญหาสั่งสมมานานมาก คือ เรื่องศาสนา สังคมไทยบอกว่านับถือพุทธ แต่ไม่ใช่ครับ! นี่เรานับถือผีชัดๆ คนไทยภาพรวม เราเลือกพุทธธรรมเนียม เราเก็บปฏิบัติมาแต่ประเพณีทั้งนั้นเลย แต่ตรงแก่นเราไม่ได้พูดถึง หลักการที่สำคัญมากพุทธศาสนาที่พวกผมที่วิทยาศาสตร์เลือกใช้ คือ กาลามสูตร 10 อย่าเพิ่งเชื่อแม้ว่าตรรกะดีก็อย่าเพิ่งเชื่อ

จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์สามารถอธิบายศาสตร์ลี้ลับได้ทั้งหมดหรือเปล่า
มันมีเรื่องที่น่าปวดหัวมากกว่านั้นอีก แต่ขำๆ ดีครับ สมมติเวลาผมพูดเรื่องอะไรก็ตาม จะมีคนพูดว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้ตอบได้ทุกเรื่องหรอก วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ทุกเรื่องหรอก ยกตัวอย่างเรื่องผีเป็นอย่างไร วิทยาศาสตร์ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้

ครับ! นักวิทย์ไม่เชื่ออย่างนั้น อะไรที่เราพิสูจน์ได้เราจะบอกว่ามีจริง..เราถึงจะเชื่อว่ามีจริง แต่ถ้าเราพิสูจน์ไม่ได้เราก็บอกว่ามันไม่มีจริง ถ้าใครถามผมเรื่องผีวันนี้ผมก็จะพูดว่าไม่มีจริง แต่คนบอก อ้าว! คนเขาเห็นกันตั้งเยอะ ผมจะบอกว่าคุณพิสูจน์ให้ผมเห็นก่อนสิว่ามีจริง ถ้าคุณพิสูจน์ไม่ได้ผมจะเชื่อว่าผีไม่มีจริง

แต่! วิทยาศาสตร์บอกว่าเราพร้อมจะเปลี่ยนใจทันที..ถ้าคุณพิสูจน์ได้ วิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเราพร้อมโต้แย้งเราพิสูจน์

คำกล่าว 'วิทยาศาสตร์มีคำตอบ' ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
กระทรวงวิทย์ เคยบอกว่า 'วิทยาศาสตร์มีคำตอบ' สมัย รมต. กรณ์ ทัพพะรังสี ผมชอบมาก จริงๆ เรื่องทุกเรื่องวิทยาศาสตร์มีคำตอบนะ ย้อนแย้งกับคำกล่าวของคนไทยที่ผมแอนตี้มาก 'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่' ซึ่งในกลุ่มพวกผมเรารณรงค์คำใหม่ 'ไม่เชื่อต้องพิสูจน์' คือเรื่องทุกเรื่องมันหาคำตอบได้นะ ถ้าเราจะพยายามพิสูจน์หาคำตอบ ที่ผ่านมาไม่เคยให้เราพิสูจน์ไง เฮ้ย! อย่ามายุ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อพื้นถิ่นก็หาคำตอบไม่ได้

ตอนนี้นอกจากให้ข้อมูลความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก คุณทำอะไรอีกบ้าง
มีเป็นคลิปเป็นรายการในยูทิวบ์ Sci Find ที่ได้งบสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็นเชิงย้อนแย้งไม่ใช่แนวทะเลาะกับชาวบ้านนะ ก็มีคนสนใจมากขึ้น เช่น กรณีลบล้างความเชื่อคนว่าผงชูรสไม่อันตราย นี่พลิกความเชื่อคนไทยเลย

กระทรวงวิทย์ ดูจะไม่ค่อยมีบทบาทในสังคม คุณมีความคิดเห็นอย่างไร
กระทรวงวิทย์ เป็นส่วนสำคัญ และทำงานมานาน เป็นกระทรวงที่เก่าแก่ แต่ปัญหาคือเป็นกระทรวงที่ไม่ค่อยเห็นภาพ มีคนแซวเล่นๆ แต่เจ็บนะครับ ถ้าวันดีคืนดีต้องมีการยุบสักกระทรวง แล้วยุบกระทรวงวิทย์ หายไปมันไม่มีใครสนใจหรอก แต่คนในวงการตกใจนะ คนทั่วไปไม่สนใจมันไม่เหมือน กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ มันมองไม่ออกว่ารูปธรรมคืออะไร กระทรวงวิทย์ เป็นหมือนทำงานซัพพอร์ตส่วนอื่น แต่ไม่ใช่ตัวนำ ซึ่งมันไม่เหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่วิทยาศาสตร์สร้างชาติ

ผมว่าเขาทำงานหนัก แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ทำให้คนเห็นคุณค่า นี่ไม่ใช้การต่อว่านะครับ ผมมองว่าบางประเด็นในสังคมกระทรวงวิทย์ ช่วยตอบคำถามประชาชนหน่อยได้หรือเปล่า? ถ้าไม่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วใครจะออกมาพูด มองด้วยหน้าที่แล้วต้องกระทรวงวิทย์ ใช้ไหม? หลายๆ เรื่องกระทรวงวิทย์ ทำได้แต่ไม่ออกมา

สมมติได้เป็น รมต. กระทรวงวิทย์ จะแก้ปัญหาอะไรบ้าง
(หัวเราะ) คงยาก ผมมองว่ามันเป็น 2สเกลนะครับ สเกลประเทศ กับสเกลประชาชน
สเกลประเทศ - กระทรวงวิทยาศาสตร์ควรจะเข้าหาเอกชนว่าต้องการให้ช่วยอะไรบ้าง งานวิจัยที่บ้านเราพูดกันบ่อยๆ ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองนอก ที่แย่กว่าคือการลงทุนของเราน้อยมาก และที่แย่ที่สุดคือการวิจัยของเรารัฐเป็นฝ่ายลงทุน ในประเทศที่เขาเจริญแล้ว การลงทุนวิจัยมาจากภาคเอกชน เขาเงินไปลงและผลวิจัยมันกลับไปพัฒนาตัวเอง กระทรวงวิทย์ ควรจะทำเหมือนนายหน้า สมมุติบริษัทต่างๆ ใหญ่เล็กอยากให้ช่วยอะไรบ้าง ที่จะช่วยลดต้นทุนผลิต เพิ่มนวัตกรรม เรื่องพวกนี้กระทรวงต้องเคลียร์ คนจะได้เห็นคุณค่าทางสังคม

สเกลต่อประชาชน - เรื่องจิปาถะของสังคมต้องหาคำตอบนะ สร้างทีมขึ้นเพื่อแถลงประเด็นต่างๆ ทำไมคนมาฟอโลเฟซบุ๊กผมซึ่งเป็นโนบอดี้ กระทรวงวิทย์ ไม่ตั้งเฟซบุ๊กสักอันให้คนมาฟอลโล? วิทยาศาสตร์ต้องมาอยู่ในโซนของประชาชน การตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์บางเรื่องมันอาจไร้สาระแต่คนสนใจ แต่การพิสูจน์ให้คนเห็นความสำคัญ วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเครียดอีกแล้ว คือที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์มันดูยากมันน่าเบื่อ แล้วที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พูดไม่รู้เรื่องโดยธรรมชาติที่ถูกเทรนด์มา วิทยาศาสตร์สามารถสื่อให้เข้าใจง่ายๆ

ในแง่มุมด้านนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ช่วยฝากข้อคิดแก่สังคมไทยหน่อย
สังคมไทยยังไม่คิดเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการขับเคลื่อนสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ ปรากฏการณ์เรื่องหนึ่งจากที่เราเคยเชื่อตามๆ กัน เราเปลี่ยนมุมมองใหม่เอากระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์เข้ามา เริ่มจากการตั้งคำถาม จริงหรือเปล่า? เป็นไปได้ไหม? เพราะอะไร? เมื่อวิธีการคิดเปลี่ยนเข้าสู่กระบวนการวิทยาศาสตร์ ผลลัพธ์เชิงรูปธรรมก็จะต่างไปจากที่สังคมไทยเผชิญอยู่

…..................................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Lite
เรื่อง : นฤมล ประพฤติดี
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ

คลิปพิสูจน์ไสยศาสตร์งมงายด้วยตรรกะวิทยาศาสตร์








มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น