xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย (หลอน) ตึกร้างทั่วกรุง เสียงเพรียกจากซากปรักหักพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุใด 'ตึกร้าง' ถึงตั้งตระหง่านกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ส่องสำรวจเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อมูลเผยว่ามีมากกว่า 500 อาคาร แม้จำนวนหนึ่งถูกทุบทำลาย และอีกจำนวนหนึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่
ทว่า ยังมีตึกร้างอีกจำนวนไม่น้อยที่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชน สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่ชาวบ้านชาวเมือง ทั้งในเรื่องอาถรรพ์ อาชญากรรม ฯลฯ ขณะเดียวกัน ตึกร้างก็กลายเป็นโลเกชั่นเกรดเอสำหรับผู้รักการถ่ายภาพ

จากกรณีสะเทือนใจ พบศพชาวต่างชาติใน 'ตึกร้างสาทร' หรือ 'สาทรยูนิค ทาวเวอร์' ลักษณะฆ่าตัวตาย กลายเป็นประเด็นแรงที่กระพือให้สังคมหันมาเพ่งมองตึกรกร้างระฟ้าสูงกว่า 40 ชั้นแห่งนี้ นอกจากประเด็นอาชญากรรม ที่ผ่านมายังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และคนไทยผู้หลงใหลการถ่ายภาพ ควักเงินจ่ายค่าผ่านทางดันด้นขึ้นไปถ่ายภาพวิวสวยงามของคุ้งน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งถ่ายพอร์ตเทรตเทห์ๆ (ภาพบุคคล) โดยไม่สนใจว่าตนเข้าข่ายผู้บุกรุกหรือไม่?

เบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่เหมาะไม่ควรคงต้องจับตาดูว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะจัดการอย่างไร กลับมาที่เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นบนยอดตึกร้าง เกิดคำถามตามมาว่าแล้วตึกร้างที่ตั้งอยู่บริเวณอื่นๆ จะมีเหตุซ้ำรอยเกิดขึ้นหรือไม่? ในแง่การจัดการมาตรการอย่างไร? เหตุใดอาคารเหล่านี้ถึงตกอยู่สภาพรกรกร้าง?


ปฐมบทความรกร้าง
ตึกร้างโครงการใหญ่ที่ตั้งสะดุดตาอยู่ในหลายๆ พื้นที่ เกือบทั้งหมดเป็นผลพวงมากจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ช่วงปี 2540 ดร.มงคล อัศวดิลกฤทธิ์ ประธานสาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายว่านั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนไม่น้อยต้องชะงักลง

อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส ความว่า อาคารสูงที่ถูกปล่อยทิ้งเพราะสร้างไม่เสร็จในทางสถาปัตยกรรมศาสตร์เรียกว่า 'ตึกค้าง' หรือ 'ตึกร้าง' โดยเปิดเผยข้อมูลตรง ดร.มงคล ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ทั้งนี้ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบตึกร้างกว่า 500 อาคาร โดยปัจจุบันมีการทุบทำลาย และหลายตึกได้ทำการปรับปรุงใหม่ แต่ก็ยังมีตึกร้างหลงเหลืออีกกว่า100 อาคาร

ด้าน รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุสะเทือนขวัญที่ตกเป็นข่าวดังเกิดจากการปัดความรับผิดชอบของเจ้าของที่ ทั้งเจ้าของเดิมและเจ้าหนี้ใหม่ ต่างไม่ต้องการแบกภาระดูแลสิ่งปลูกสร้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนมากหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ตึกร้าง เพราะด้วยสามัญสำนึกรู้ดีว่าสถานที่พวกนี้คงไม่ปลอดภัยเสียเท่าไหร่ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งเลือกเข้าไปท้าพิสูจน์ หรือทำกิจกรรมท้าทายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แน่นอน ตึกร้างในหลายพื้นที่ไม่ต่างจากสุสาน ยกตัวอย่าง

ตึกร้างสาทรยูนิค ทาวเวอร์ ทำเลทองใกล้คุ้งน้ำเจ้าพระยา วิวสวยดึงดูดให้ผู้คนลักลอบขึ้นไปถ่ายภาพ ล่าสุด มีชาวต่างตัดสินใจขึ้นไปจบชีวิตอย่างโดดเดี่ยว นอกจากนี้ยังเคยพบหลักฐานการใช้ยาเสพติดภายในตึกอีกด้วย

ตึกร้างอาคารไทยฟา กรุ๊ป ตั้งอยู่ริมถนนบางนา ตึกร้างย่านบางนา สถานที่อันตรายตกเป็นข่าวกรณีฆ่าหมกศพ และพบศพชาวต่างชาติแขวนคอตาย

ตึกร้างอาคารวัฏจักร ถนนบรมราชชนนี โลเกชั่น 'ตึกร้าง' ที่มีแบกกราวน์เป็นกราฟิตี้เทห์ๆ ที่ตากล้องต่างพานายแบบนางแบบเข้าไปถ่ายพอร์ตเทรต แต่เหตุอาชญากรรมยังไม่ปรากฏชัด

ตึกร้างบริเวณเมืองทองธานี ว่ากันว่าเป็นโลเกชั่นสำหรับถ่ายภาพเช่นกัน ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งมั่วสุ่มของวัยคะนอง แต่ปัจจุบันแทบไม่เหลือเค้าเดิมเพราะถูกกลุ่มทุนเข้าปรับปรุงใหม่ ฯลฯ

เบื้องหลังซากปรักหักพัง
ตึกร้าง ยังลือชื่อเรื่องความลี้ลับทำให้มีผู้เข้าไปพิสูจน์ลองของจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นที่สิ่งน่ากังวลเพราะคนกลุ่มนี้อาจตกเป็นเหยื่อในเหตุอาชญากรรมได้ เช่นเดียวกัน กลุ่มช่างภาพผู้ชื่นชอบโลเกชั่นดิบๆ ของตึกร้าง การเดินทางเข้าไปยังสถานที่เปลี่ยวลักษณะนี้ หากมีกลุ่มโจรซ่องสุมอยู่ก็อาจเกิดเหตุร้าย สูญเสียทรัพย์สินมีค่า หรือรุนแรงถึงเสียชีวิต

พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม กล่าวว่า อาชญากรรมมักเกิดขึ้นในบริเวณสภาพแวดล้อมไม่ค่อยดีตามหลักอาชญาวิทยาอยู่แล้ว อาทิ สถานที่เปลี่ยวจำพวกตึกร้าง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การชาวต่างชาติที่มีตากล้องมือสมัครเล่นบนศพบนตึกร้างสาทร ถือเป็นความหละหลวมของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลสถานที่ดังกล่าว เหตุใดถึงปล่อยให้บุคคลภายนอกขึ้นไปได้ เหตุใดถึงปล่อยให้บุคคลภายนอกให้คนขึ้นไปเก็บภาพวิว ต้องมีการตรวจสอบว่าส่วนใดที่ปล่อยให้คนขึ้นไปโดยมีการเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ถือเป็นเคราะห์ดีที่ไม่ได้สรุปว่าเป็นเหตุฆาตกรรม

พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ ยกตัวอย่าง สมมติเด็กวัยรุ่นรวมกลุ่มกัน 7 คน บอกว่าจะขอเข้าไปถ่ายรูป แต่ปรากฎว่าตั้งแก๊งค์มั่วสุมทำความผิด เช่น โยนหินจากตึกใส่รถยนต์ด้านล่าง ตรงนี้ก็ไม่รู้แล้วว่าใครเป็นคนโยนมา ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ รปภ. ต้องสอดส่องดูแล

สำหรับกลุ่มคนที่อยากเข้าไปท้าพิสูจน์เรื่องลี้ลับในตึกร้าง หรือมองเห็นความสวยงามของตึกร้างต้องการถ่ายภาพโลเกชั่นแบบดิบๆ พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ ย้ำเตือนว่าถ้าองค์ประกอบการเกิดอาชญากรรมครบ 'คุณอาจตกเป็นเหยื่อ'

“ต้องเรียนว่าโอกาสเกิดอาชญากรรมจะเกิดขึ้นได้ 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1. เหยื่อ 2. ผู้กระทำความผิด หรือคนร้าย 3. โอกาสในการกระทำความผิด โอกาสรวมถึงสภาพแวดล้อมด้วย สภาพแวดล้อมที่กล่าวไป ไม่ค่อยมีผู้คน ตึกร้าง เหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับคนร้ายในการก่อเหตุอยู่แล้ว เหล่านี้ถ้ามีองค์ประกอบ 2 อย่างพร้อม คนร้าย และโอกาส ถ้ามีเหยื่อเข้าไป เช่น ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพแล้วคนร้ายรอจ้องเพราะรู้ว่าตึกนี้คนชอบมาถ่ายภาพ คนร้ายก็อาจจะซ่อนตัว เวลามีคนเข้าไปก็อาจมาชิงทรัพย์ ที่นี้เราจะทำอย่างไรไม่ให้องค์ประกอบการเกิดอาชญากรรมครบ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ต้องเข้าไปเป็นเหยื่อนั่นเอง ตรงไหนที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีไม่เหมาะสมไม่ต้องเข้าไป เพราะฉะนั้นอาชญากรรมก็จะไม่เกิด”

หยุด! เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา
ประเด็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบและตระหนักถึงความปลอดภัย พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวทิ้งท้าย สอดคล้องกับทางด้าน รศ.ไตรรัตน์ ที่แนะแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน ความว่า เจ้าของพื้นที่อย่าง กทม. ต้องออกข้อกำหนดควบคุมด้านความปลอดภัย เพื่อไม่ให้ตึกร้างเป็นแหล่งมั่วสุม ก่ออาชญากรรม

ดร.มงคล ประธานสาขาการจัดการอสังหาฯ ให้ข้อมูลในเรื่องการดูแลรักษความปลอดภัยของอาคารร้าง มีทั้งที่ที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัย และที่ที่ถูกทิ้งร้าง ทว่า ผู้ที่เข้าไปภายในตึกร้างอาจเข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลายๆ อาคารร้างถูกปรับปรุงใหม่โดยกลุ่มทุน “การใช้อาคารร้างมีทั้งข้อดี และข้อเสียนะครับ คือข้อดีของมันคือตอนนี้พื้นที่เขตเมือง ในกรุงเทพมหานครมันหาพื้นที่แปลงใหญ่ๆ และสร้างตึกในทำเลที่ดีมากๆ หาค่อนข้างยากแล้ว ซึ่งตึกร้างส่วนใหญ่มักจะอยู่ในทำเลที่ดีด้วย ข้อดีของมันก็คือตึกพวกนี้มันถูกขออนุญาตมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว

“แต่ข้อเสียของมันก็คือว่า การไปเอาตึกเก่ามาใช้ ต้องดูด้วยว่าเดิมมันถูกออกแบบไว้ใช้สำหรับทำอะไร ถ้าเป็นออฟฟิศ หรือคอนโดมิเนียม ถ้าเราจะเอาไปทำอย่างอื่น สมมุติเป็นโรงพยาบาลมันจะมีปัญหาเรื่องการรับน้ำหนักของอาคาร รวมถึงฟังก์ชั่นข้างในด้วย ซึ่งทางสถาปัตฯ ต้องไปดู ซึ่งคอนโดจะกั้นเป็นห้องๆๆๆ แต่ถ้าเป็นโรงพายาลจะมีห้องเล็กห้องใหญ่ ห้องประชุมบ้าง มันก็จะทำให้ฟังก์ชั่นต่างกัน และต้องมาดูว่าเปลี่ยนฟังก์ชั่นมันรับน้ำหนักได้หรือเปล่า? คือพอน้ำหนักมันเพิ่มขึ้นก็ต้องมาแก้ไขให้รับน้ำหนักได้ และงานระบบที่เกี่ยวข้อง เมื่อเราเปลี่ยนฟังก์ชั่นปุ๊บก็ต้องมานั่งศึกษาของเดิมอีกแบบหนึ่ง ของใหม่อีกแบบหนึ่ง ตรงนี้แหละเป็นความยากของการใช้งานตึกสร้างเชิงกายภาพครับ”

ดร.มงคล วิเคราะห์ว่าอาคารร้างจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 มีแนวโน้มจะได้รับการปรับปรุงใหม่แทบทั้งหมด “เนื่องจากการใช้พื้นที่มันค่อนข้างแน่นขึ้นแล้ว ตึกพวกนี้ก็กลับมาน่าสนใจแล้ว มีแนวโน้มไม่น้อยทีเดียวครับ เนื่องจากปี 2558 ประเทศไทยจะเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน อาจจะมีนักลงทุนต่างชาติสนใจ น่าจะเป็นโอกาสอันดี อย่าง ตึกร้างสาทร ก็ถือเป็นทำเลทอง ติดท่าเรือ ติดบีทีเอส”

การจัดการเรื่องอาคารร้างนั้นเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ในส่วนของนโยบายภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย และในเรื่องความสูญเสีย เพราะการที่ตึกหนึ่งกลายเป็นตึกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มันเกิดความเสียหายต่อประเทศ ตรงนี้ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดประโยชน์อาจจะใช้นโยบายช่วยผลักดัน กำกับดูแลอย่างบูรณาการ


…......................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการLive
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น