ท่ามกลางสังคมที่มองค้อน และพ่นเสียงก่นด่าอาชีพ "ตำรวจ" กลายเป็นวิกฤตศรัทธาที่ยากจะเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา แต่ในอีกด้านของชีวิต ต้องบอกว่าครบสูตรชีวิตบัดซบ โดยเฉพาะตำรวจดีๆ ที่ทำงานหนัก แต่รายได้ไม่คุ้มกับงาน ไหนจะต้องมาแบกรับความคาดหวังอันหนักอึ้งจากประชาชนไว้บนบ่าอีก รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่งผลให้เกิดข่าว 'การฆ่าตัวตาย' ของตำรวจอยู่เป็นระยะ
ใน 6 ปี ตำรวจฆ่าตัวตาย 174 ราย
ที่ผ่านมา การฆ่าตัวตายของตำรวจมีการเก็บสำรวจตัวเลขไว้น่าตกใจ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองวิจัย ได้เคยเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 มีตำรวจฆ่าตัวตายรวมทั้งสิ้น 174 ราย โดยในปี 2555 เกิดมากที่สุดถึง 47 นาย สำหรับค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2551-2555 เฉลี่ยตกปีละ 29 นาย
ส่วนในปี 2557 เริ่มทำการสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 พ.ย. 2557 พบว่า มีตำรวจเสียชีวิตด้วยวิธีการฆ่าตัวตายจำนวน 34 นาย
สำหรับปัญหาที่พบว่าเป็นสาเหตุเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้น ส่วนมากมาจากปัญหาครอบครัว ความเครียดเรื่องงาน รองลงมาก็คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยตำรวจระดับชั้นประทวน มีการฆ่าตัวตายมากกว่าชั้นสัญญาบัตร ขณะที่สายงานที่มีการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าด้านอื่น คือ ด้านสายงานป้องกันปราบปราม
ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายที่สำคัญของข้าราชการตำรวจ ได้แก่ สาเหตุด้านจิตใจ โดยพบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีภาวะซึมเศร้า บุคลิกภาพส่วนใหญ่มักจะเก็บตัว วิตกกังวลง่าย หุนหันพลันแล่น มีความรับผิดชอบสูงและไม่ยืดหยุ่น นอกจากนั้นมักจะดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ สามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายเมื่อมีเหตุการณ์กระตุ้นอย่างมาก เช่น ปัญหาจากการทำงาน ปัญหาสัมพันธภาพหรือความเจ็บป่วยเรื้อรังต่าง ๆ เป็นต้น
ล่าสุด เป็นคิวของผู้หมวดหนุ่มวัย 30 ปี พนักงานสอบสวน (สบ.1) สภ.บางบัวทอง เมืองนนทบุรี ด้วยความที่ต้องผิดชอบคดีในท้องที่มากมาย ส่งผลให้ทำสำนวนไม่ทันจนเกิดเป็นความเครียดสะสม ประกอบกับถูกผู้บังคับบัญชาตำหนิบ่อยครั้ง จึงเป็นเหตุให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย
สอดรับกับจดหมายลาตายของผู้ตายที่ระบุเอาไว้ในทำนองตัดพ้อชีวิต และตำหนิตัวเองว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมขอโทษประชาชนในเรื่องคดีที่รับผิดชอบแล้วยังคั่งค้างอยู่มาก ไม่สามารถรับแรงกดดันต่อไปไหว จึงขอลาก่อน
ส่วนเรื่องของการคาดโทษสั่งย้ายผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ไม่ได้หมายความว่าต้องมีการลงโทษเลย แต่จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริง และพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปว่าผู้บังคับบัญชาบกพร่องจริงหรือไม่ และตรงจุดไหน
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ชวนหดหู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตการทำงานที่ต้องแบกรับความคาดหวังจากประชาชนไว้บนบ่า พอๆ กับแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาที่มีการสั่งการเข้ามามากมาย
ย้อนอ่าน 'ไลน์' ลาตายของ "ตร.ชั้นผู้น้อย'
ก่อนหน้านี้ หากใครยังจำกันได้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา กรณีตำรวจชั้นผู้น้อย ร่ายความรู้สึกเป็นตัวอักษรผ่านระบบไลน์ ก่อนปลิดชีพตัวเองลงด้วยอาวุธปืนคู่กาย โดยสื่อฉบับหนึ่งได้เปิดเผยข้อความระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจในอาชีพตำรวจของตำรวจชั้นผู้น้อยรายนี้ ซึ่งเป็นการขยายภาพให้เห็นถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของตำรวจได้ชัดเจนทีเดียว
"อาชีพตำรวจถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงมากอาชีพหนึ่ง เพราะมีเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างมารุมเร้ารอบด้าน จะเห็นได้ว่าเราจะได้ยินข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเครียดจัดยิงตัวตายอยู่บ่อยๆ ทางโรงพยาบาลตำรวจเคยให้สถิติเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วงระหว่างปี พ.ศ.2550 - 2555 ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
- มีตำรวจฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 31 คน
- ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดอยู่ระหว่าง อายุ 41-50 ปี
- ชั้นยศที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ นายดาบตำรวจ
- สายงานที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดคือ สายสืบสวนปราบปราม
- กองบัญชาการที่มีการฆ่าตัวตายมากสุด 3 อันดับ คือ ภ.5 , ภ.3 และน.
น่าจะมีการสำรวจเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ดูบ้าง ว่ามีปัจจัยอะไรที่แตกต่าง (อย่างหนึ่งเพราะเรามีปืน) และจะบรรเทาความเครียดได้อย่างไร ผู้บังคับบัญชาจะทำอะไรได้บ้าง (ไปยุ่งมากอาจโดนยิงเสียเอง) หรือทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีมาตรการใดเพื่อป้องกันชีวิตพี่น้องข้าราชการตำรวจ ไม่ให้สูญไปปีละกว่าสามสิบคน
ปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของตำรวจมีหลายประการ เช่น
- ปัจจัยเรื่องงาน ที่มีการสั่งการเข้ามามากมายโดยเฉพาะงานธุรการ ที่มีเรื่องต้องรายงานมากมาย รายงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด (ในโรงพักบางแผนกงานมีธุรการคนเดียว) คนสั่งรายการก็สั่งแล้วทิ้งเลยไม่รู้ว่าต้องรายงานถึงเมื่อไหร่เป็นอย่างนี้ถมกันไปเรื่อยๆจนล้นมือ
- เรื่องเศรษฐกิจ อาชีพตำรวจนั้นส่วนมากต้องออกพื้นที่ อยู่ในพื้นที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางการกิน วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกน้อง ประกอบกับเงินเดือนที่ไม่สมดุลกับภาระการใช้จ่าย
- สั่งการโดยไม่มีงบประมาณ เป็นแบบนี้มานานแล้วสั่งให้ไปทำอะไรต้องทำให้ได้ ห้ามถามเรื่องงบประมาณตั้งแต่ระดับตำรวจมาจนถึงระดับโรงพัก สรุปว่าต้องควักจ่ายเองหมดเช่น สั่งให้ไปหาข้อมูลกลุ่มมวลชนบอกแค่นั้นไม่มีงบให้ คนรับคำสั่งก็ต้องทำอะไรแบบนี้
- วัฒนธรรมองค์กรที่ต้อง "ดูแล" เจ้านาย ถ้าเจ้านายรู้จักพอประมาณหรือเห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชาบ้างคงไม่ต้องเครียดกันมากนักแต่ความเป็นจริงคือเจ้านายมักจะอยากได้นั่นอยากทำนั่น ทำนี่ซึ่งมันเป็นเงินทั้งนั้นอยากให้ตำรวจผู้ใหญ่อยู่เฉยกันบ้างจะได้ไหม
- การโยกย้ายไม่ได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะที่อยากย้ายกลับภูมิลำเนา เพื่ออุปการะครอบครัว และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
- การเปลี่ยนหน้าที่ไปทำหน้าที่ที่ไม่ถนัดหรือไม่เคยทำ บางคนทำใจไม่ได้ปรับตัวไม่ได้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
- การติดสุรา ปัจจุบันมีตำรวจที่ติดสุราเรื้อรังอยู่ไม่น้อยและยิ่งดื่มก็ยิ่งเครียดไม่ได้แก้ปัญหา
- ปัญหาสุขภาพ อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่ใช้สุขภาพสิ้นเปลืองมากทั้งการนอนการกินที่ไม่เป็นเวลาการสูดดมควันไอเสียทุกวัน
- การทำงานที่เสี่ยงอันตราย ทั้งสายตรวจ และสายสืบ ที่เมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับบ้าน เสื้อเกราะ อาวุธปืน กุญแจมือ ต้องหาซื้อเอง ยิ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของปัจจัยความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ ยังไงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรหามาตรการป้องกันแก้ไขโดยด่วนครับ ส่วนเพื่อนข้าราชการตำรวจ ถ้าเห็นเพื่อนร่วมงานมีอาการซึม เครียด เศร้า เหม่อลอย ยังไงก็ลองคุยปรับทุกข์กันอาจเป็นการช่วยชีวิตเขาเลยก็ได้"
แก้ปัญหาตามแนวทาง 'ผบ.ตร.'
หลังจากที่มีข่าวเศร้าสลดชวนหดหู่ของตำรวจออกมาเป็นระยะๆ เรื่องนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ไม่นิ่งนอนใจ ประกาศลั่น หากพบว่าผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฆ่าตัวตาย จะต้องถูกลงโทษตั้งแต่ระดับผู้กำกับการ รองผู้กับกับการ และสารวัตร โดยถือว่าต้องร่วมกันรับผิดชอบโทษฐานไม่สนใจผู้ใต้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดสายด่วน 1599 จัดแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์ เพื่อให้คำปรึกษาข้าราชการตำรวจที่มีความเครียดในทุกเรื่อง ผบ.ตร. บอกว่า เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ตำรวจได้ระบายความรู้สึก สอบถามเกี่ยวกับปัญหา และหาทางออกในการลดความเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
ด้านผลการประเมินนั้น พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีข้าราชการตำรวจ โทร.มาปรึกษาปัญหาหลายราย เช่น การทำงานที่หนักเกินไป หรือไม่เหมาะสมกับงาน ถูกโยกย้าย หนี้สิน รายจ่ายมากกว่ารายรับ สำหรับอนาคตจะมีการพิจารณาขยายเวลาสายด่วน 1599 ปรึกษาปัญหาตำรวจ จาก 2 วันต่อสัปดาห์ เป็นตลอดทุกวัน รวมทั้งอาจให้เบอร์จิตแพทย์ ปรึกษาปัญหาโดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
แต่เมื่อมองในมุมของ ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ แม้ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเล็งเห็น และพยายามกระตุ้นให้ผู้บังคับบัญชาดูแลใส่ใจลูกน้องให้มากขึ้นทั้งปัญหาส่วนตัว และเรื่องงาน แต่ตัวผู้บังคับบัญชาเองก็ต้องได้รับการแก้ปัญหาในเชิงระบบด้วย
"ถ้านายไม่ดูแลลูกน้อง นายต้องรับผิดชอบ ส่วนตัวเห็นด้วยส่วนหนึ่งนะ แต่ต้องกลับมาที่รากเหง้าของปัญหาความเครียดว่ามันมีที่มาอย่างไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของระดับผู้บังคับบัญชาที่จะแก้ปัญหาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งต้องใช้อำนาจที่สูงกว่าหรือแม้กระทั่งสูงกว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วยซ้ำ
ฉะนั้น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องพยายามหาช่องเหมือนกันนะที่จะเสนอให้รัฐบาลเห็นว่า ขืนปล่อยให้ตำรวจทำงานด้วยข้อจำกัดแบบนี้ ตำรวจก็ต้องมาดูแลประชาชนด้วยสภาพจิตที่ไม่แข็งแรงนัก ดังนั้นถ้าจะต้องแก้ต้องกลับไปดูที่โครงสร้างของระบบ จากนั้นก็กลับมาแก้ปัญหาตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน" ผศ.ดร.ปนัดดาให้ความเห็น
ดังนั้น การแก้ปัญหาตามแนวทางของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในทัศนะของนักวิชาการท่านนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ 'ตัวปัญหา' ไม่ได้ถูกแก้
"จริงๆ แล้วถ้าเกิดผบ.ตร.ท่านพูดให้ชัดว่าต้องการให้ผู้กำกับเข้าไปใกล้ชิดผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อที่จะได้สอบถามปัญหาความเครียดในชีวิต และการทำงานเพื่อสกัดกั้นปัญหาที่จะลุกลามใหญ่โตไปจนถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย ถ้าในอำนาจตัวเองแก้ไขไม่ได้ก็ให้รายงานหน่วยเหนือเพื่อหาทางช่วย ยกตัวอย่างหนี้ตำรวจ ปล่อยให้ธนาคารมายึดทรัพย์จนจะแจ้งล้มละลาย ถ้าเกิดเจอแบบนี้เยอะก็จะได้หาแนวทางแก้ไข หรือไม่ก็จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไข" นักวิชาการคนเดียวกันเสนอ
ปรับวิธีคิด เปลี่ยนชีวิตตำรวจ
ท้ายนี้ ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา ผศ.ดร.ปนัดดา ได้ฝากไปถึงตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยทั้งหลายว่า ขึ้นชื่อว่างานตำรวจ มักจะมีอุปสรรคเป็นธรรมดา ทั้งคนที่ไม่เข้าใจ คนรังเกียจเดียดฉันท์ด้วยอคตินานาประการ หรือด้วยความที่ประชาชนไม่รู้ในระบบงานตำรวจ แต่ถ้าตำรวจมีความอดทนแล้วปรับทั้งวิธีคิด และชีวิตให้มีคุณภาพ เชื่อว่าการทำงานของตำรวจจะผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดี
"ตำรวจทุกวันนี้ ต้องกลับมามองชีวิตของตัวเองว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มีคุณภาพ สิ่งแรกที่ควรมองหาก็คือ มิตรที่เป็นกัลยาณมิตรไม่ว่าจะในที่ทำงาน และในครอบครัวเพื่อพูดคุย ปรึกษาหารืออย่างไว้วางใจได้ เวลามีความทุกข์ก็จะทุเลาลงไปได้ แต่ถ้ายังใช้ชีวิตแบบมุ่งที่จะหาเงิน คบกับใครก็เพื่อหาผลประโยชน์ มันจะเป็นความสัมพันธ์แบบจอมปลอม สุดท้ายชีวิตก็จะหว้าเหว่ ความภาคภูมิใจมันก็จะอ่อนแอตาม เวลามีปัญหาก็จะไม่สามารถระบายกับใครได้แม้กระทั่งครอบครัว ตรงนี้น่ากลัวค่ะ อะไรมากระทบนิดเดียวก็ไปได้ง่ายๆ"
ส่วนในประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนไม่อยากทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่ด้วยระบบที่เต็มไปด้วยความเน่าเฟะ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เรื่องนี้ ผศ.ดร.ปนัดดา บอกว่า คุณเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน เน่าเฟะไปกับปลาเน่า หรือจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่เต็มไปด้วยเกียรติ และความภาคภูมิใจในตัวเอง
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754