ผลการวิจัยชี้ พระสมัยนี้มีเงินไว้ใช้ส่วนตัวแทบทุกองค์ ซึ่งนอกจากจะขัดกับพระธรรมวินัยแล้วยังทำให้เกิดอุปสรรคต่อการสละทางโลก บางรูปถึงกับการทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า พระจับเงินผิดศีลหรือไม่ และจะเป็นไปได้ไหมที่จะครองผ้าเหลืองโดยไม่แตะเงิน?
จับเงิน = ผิดศีล
ผลวิจัยจากศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโดย “ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์” ได้เปิดเผยรายละเอียด ผ่านเว็บไซต์ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา เรื่อง “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” โดยระบุว่าปัจจุบันพระภิกษุสงฆ์มีทรัพย์สินส่วนตัวมากขึ้นทั้งเงินทองและบัตรเครดิต ปัจจัยเหล่านี้ได้มาจากสภาพการลงพื้นที่ หรือกิจกรรมต่างๆ ของฆราวาส ซึ่งหากพระภิกษุสงฆ์มีทรัพย์สินติดตัวมากจนเกินไปจะส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขโมยทรัพย์สินพระภิกษุสงฆ์และปัญหาด้านอาชญากรรมตามมา
สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งพระไทยส่วนใหญ่มีทรัพย์สินติดตัวมากมาย จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขโมยทรัพย์สินพระภิกษุสงฆ์หรือปัญหาการเรี่ยไรเงินทอง สิ่งเหล่านี้เองทำให้เกิดผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากและทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นคำถามตามมามากมายโดยเฉพาะคำถามที่ว่า “พระจับเงินไม่ผิดศีลหรือ?”
หากยึดหลักปฏิบัติในสมัยก่อนพระธรรมวินัยและกฎหมายของสงฆ์ คือห้ามพระจับเงินหรือรับเงินโดยตรง เพราะไม่มีเหตุใดที่พระจะต้องถือเงิน ถ้าญาติโยมจะถวายต้องใส่ในซองเท่านั้น ถ้าหากพิจารณาตามบทบัญญัติบทนี้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นว่าการรับเงินหรือให้คนอื่นรับแล้วเก็บไว้ให้ ถือว่าผิดหมดทุกอย่าง จึงสรุปได้ว่าพระภิกษุจะไม่สามารถรับเงินได้เลย ไม่ว่าจะด้วยทางใดก็ตาม
แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พระไทยในปัจจุบันนั้น ล้วนมีสมบัติติดตัวด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือบัตรเครดิต แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้หากอยู่ในครอบครองก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎของสงฆ์ จะเห็นได้อย่างแพร่หลายจากข่าวครึกโครม ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ใช้เงินซื้อของต่างๆ ในราคาแพง หรือมีรถยนต์หรูๆ ขับ
ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อมิชฉาชีพเห็นจึงเกิดการฉ้อโกงเงินวัด เรี่ยไรเงิน และการบวชพระปลอม ทำให้ความเสื่อมศรัทธาในพระพุทธศาสนาลดน้อยลงไปน้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าพระสงฆ์จะเอาเงินมาจากที่ไหนได้หากญาติโยมไม่นำมาถวาย
ให้เงินอย่างไร ไม่เดือดร้อนพระ!
เพื่อตัดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ที่จะเข้ามาเกี่ยวกับผ้าเหลือง ถามว่าจะเป็นไปได้ไหมหากไม่ให้พระต้องยุ่งเกี่ยวและจับเงิน! อ.ธวัช หอมทวนลม หัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“ตามหลักของพระวินัยคือ พระจับต้องเงินไม่ได้ ในตำราจริงในพุทธบัญญัติที่ว่า ไม่ให้พระสงค์ไปยุ่งเรื่องเงินเรื่องทอง แต่ในปัจจุบันถามว่าพระสงค์จับเงินถูกต้องรึเปล่า
จะแบ่งเป็น2กลุ่ม กลุ่มที่1 มองว่าพระจำเป็นต้องใช้ เช่นใช้ในเรื่องของการเดินทางไปเรียนหนังสือ หรือไปต่างประเทศ พอจะอลุ่มอล่วยได้ แต่ต้องมีลูกศิษย์เป็นคนถือเงินในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย
แต่เมื่อกาลสมัยที่เปลี่ยนไป เราต้องปรับตามความเหมาะสมด้วย เช่นเห็นพระไปรับเงินในที่รโหฐานมันหรือไปซื้อหวย มันก็ไม่เหมาะสม แต่ถ้าใช้เพื่อซื้อของหรือการเดินทางไปไหนมาไหนมันก็ไม่น่าเกลียดเพราะญาติโยมนำมาถวายมาเพื่อที่จะให้ท่านมาใช้เรื่องปัจจัยสี่
ปัจจุบัน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พูดถึงเรื่องเจ้าอาวาส การใช้เงินของวัดตามหลักเลยต้องแยกเป็น2ประเภทคือ 1. เงินส่วนตัว 2.เงินของวัด ซึ่งโดยระเบียบตรงนี้จะมีกองทุน เพื่อจัดตั้งกรรมการถึงจะเบิกเงินได้ตามหลักพระธรรมวินัยจะให้ไวยาวัจกร(ผู้ทำธุรกิจแทนสงฆ์) เป็นคนดำเนินการ ณ ปัจจุบัน เจ้าอาวาสก็ให้อำนาจไปเยอะ พระท่านก็เลยใช้เงินคล่องเอาเงินไปใช้มั่วซั่วจนเป็นข่าว เลยกลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ในส่วนที่ว่าเป็นเพราะญาติโยมถวายเงินให้มากเกินไป เลยมีปัญหาตามมาหรือเปล่านั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งเลยอยากให้ใช้วิจารณญาณในการถวาย เช่นพระวัดไหนดังก็จะแห่กันไป เราต้องระบุไปเลยว่าเงินส่วนนี้สร้างโบสถ์หรือใช้เป็นทุนการศึกษาให้สามเณร ตั้งเงินเป็นส่วนกลางจะแก้ปัญหาได้ในระดับนึง
ส่วนญาติโยมที่เคร่งครัดจริงๆเขาจะไม่ถวายเงินพระแต่จะถวายเป็นใบปวารณาแทน ถ้าพระอยากได้อะไรต้องไปเบิกกับไวยาวัจกร ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะมีเงินประจำเดือนถวายให้กับพระอยู่แล้ว เพราะท่านก็มีความจำเป็นต้องใช้เช่นค่าเดินทาง ใช้ในการอำนวยความสะดวก”
ข่าวโดยAstv ผู้จัดการLive
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754