ทำวุ่น! ป้ายประกาศ ห้ามเจ้าหน้าที่หญิงตั้งท้อง จุดกระแสดรามา ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ สุดท้าย ผอ.รพ.ราชวิถียอมรับ บอกประกาศดังกล่าวเป็นของแผนกยาจริง หลังสอบถามหัวหน้าแผนกพบปัญหาเจ้าหน้าที่หญิงท้องอื้อ จึงขอความร่วมมือพนักงาน แต่กลับกลายเป็นการลิดรอนสิทธิ์ ล่าสุดยกเลิกประกาศดังกล่าวนี้ไปแล้ว ด้านนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการบริหารทรัพยากรมนุษย์ แฉ! มีบางบริษัทพยายามใช้ช่องกฎหมายกดขี่ เอาเปรียบพนักงาน ฝากสังคมต้องช่วยกัน
แผ่นประกาศ จุดดรามา
"ประกาศ...ตั้งแต่ 30 ต.ค.57- 31 ธ.ค.58 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" เป็นประกาศจากแผนกห้องยาของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งย่านอนุเสาวรีย์ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ สาว ทึนทึก (ล่าสุดได้ปิดเฟซบุ๊กไปแล้ว) โพสต์รูปไว้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยในตัวประกาศดังกล่าว ยังให้เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อรับทราบในแผ่นประกาศ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเซ็นชื่อรับทราบกว่า 30 คน พร้อมกำกับวันเดือนปีที่ลงชื่อรับทราบไว้ด้วย
คำสั่งในข้างต้น ไม่เพียงแต่สร้างความสับสนวุ่นวายแก่เจ้าหน้าที่ และผู้พบเห็น ทันทีประกาศถูกแชร์ออกไปก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ อย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ต่างรุมจวกกันว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ทั้งยังขัดกับกฎหมายแรงงาน ในขณะที่บางส่วน มองว่า ทางโรงพยาบาลอาจอยู่ในช่วงขาดแคลนบุคลากร จึงจำเป็นต้องบังคับไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงนี้
ล่าสุด (10 พ.ย.) ความจริงก็ปรากฏ เมื่อ นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ยอมรับว่าประกาศสั่งห้ามเจ้าหน้าที่หญิงตั้งครรภ์นั้นเป็นของรพ.ราชวิถี จริง โดยเป็นประกาศของแผนกยา ซึ่งหลังจากการสอบถามไปยังหัวหน้าแผนกก็พบตรงกันกับที่ชาวเน็ตส่วนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ นั่นก็คือ แผนกกำลังขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตั้งครรภ์ค่อนข้างมาก
ด้วยเหตุนี้ จึงขอความร่วมมือ และตกลงกันภายในแผนก 'ขอให้เจ้าหน้าที่หญิงคุมกำเนิด' แต่ข้อความที่ประกาศออกไป ดูเป็นการลิดรอนสิทธิ และถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายตามมา ล่าสุดได้กล่าวตักเตือน และยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้ว
"เรื่องดังกล่าวอาจมาจากความเครียดของหัวหน้าหน่วยที่เห็นว่า บุคลากรในหน่วยมีการตั้งท้องกันเยอะ จึงมีการขอความร่วมมือในการประชุมหน่วยว่าพยายามคุมกำเนิดอย่าท้อง แต่วิธีการที่ทำอาจดูว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นความหวังดี แต่คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร
ส่วนตัวยืนยันชัดเจนแล้วว่ามาตรการแบบนี้ใช้ไม่ได้ อย่าไปลิดรอนสิทธิ์และให้ยกเลิกไปแล้ว ใครอยากท้องก็ท้องไป เพราะไม่สามารถห้ามคนมีครอบครัวหรือสามีภรรยาได้ และในนโยบายรัฐบาลเอง ยังสนับสนุนเรื่องการมีบุตรด้วยซ้ำ โดยให้ไปหาวิธีการบริหารจัดการและนำมาบอกฝ่ายบริหาร" ผอ.รพ.ราชวิถีให้สัมภาษณ์
จากกรณี รพ.รัฐ สู่บริษัทฯ เห็นแก่ได้
แม้ความจริงจะปรากฏ และมีการออกมาชี้แจงกับสังคมต่อเรื่องที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่สังคมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือความรู้ในประเด็น 'การตั้งครรภ์ของพนักงาน' ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงตัวบทกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานหญิง ทำให้บางหน่วยงาน หรือบางบริษัทที่ออกประกาศ หรือมีคำสั่งกดขี่เพศหญิงเกิดอาการสะดุ้งจากการตีแผ่ของสื่อ และพลังของสื่อโซเชียลฯ ในครั้งนี้
ต่อกรณีดังกล่าว ดร.กฤติน กุลเพ็ง ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาศักยภาพองค์การ ให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ว่า ไม่เพียงแต่กรณีนี้ ยังมีกรณีคล้ายๆ กันจากหลายบริษัทที่มีข้อกำหนดกระทบลูกจ้างหญิง ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายแรงงาน ยกตัวอย่าง กรณีพนักงานตั้งครรภ์ไม่ผ่านทดลองงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่แทรกซึมอยู่ในหลายๆ บริษัท
"ในช่วงทดลองงานบางบริษัทไม่อยากให้พนักงานท้อง เพราะท้องก็ต้องลาคลอด 90 วันตามที่กฎหมายได้ให้สิทธิเอาไว้ ไหนจะต้องมาเบิกค่ารักษาอื่นๆ อีก เมื่อเป็นแบบนี้ บางบริษัทก็ไม่อยากจ่าย ตรงนี้ก็เลยออกกฎเกณฑ์ในลักษณะนี้ออกมา บางบริษัทเขียนไว้ในข้อบังคับเลยนะ" ดร.กฤตินขยายความ
นั่นแสดงให้เห็นว่า บริษัทได้ใช้ช่องกฎหมายเอาเปรียบลูกจ้าง หรือพนักงานที่รู้ไม่เท่าทัน บางบริษัทรับเข้าไปอยู่ภายในองค์กรแล้ว แต่ปรากฏว่า พนักงานเกิดการตั้งครรภ์ในขณะที่อยู่ในช่วงทดลองงาน บริษัทจึงอ้างเหตุผลที่ไม่ผ่านการทดลองงานต่อพนักงาน ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ ดร.กฤติน บอกว่า เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามเลิกจ้างพนักงาน เพราะเหตุการณ์ตั้งครรภ์
"แต่จะมีบางบริษัทใช้ช่องว่าของกฎหมายว่า ที่ไม่ผ่านเพราะว่าไม่ใช้เหตุผลการตั้งครรภ์ แต่เป็นกรณีอื่นก็ต้องมีการนำหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ หากในข้อบังคับของบริษัทที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กรณีที่พนักงานตั้งครรภ์ บริษัทอาจจะปลดออกจากการเป็นพนักงานนั้น ถือว่าเป็นการเขียนไว้ขัดต่อกฎหมายอย่างแน่นอน" ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาศักยภาพองค์การเผย ก่อนจะเสริมว่า "ผมเป็นที่ปรึกษาให้หลายบริษัท บางบริษัทจ้างผม เชิญผมไปแล้วให้ช่วยหาช่องวางทางกฎหมายเพื่อเอาเปรียบพนักงาน ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยนะ ผมบอกไปว่า ผมไม่เห็นด้วย และผมก็ไม่เอา"
ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาศักยภาพองค์การ ฝากไปถึงลูกจ้างหรือพนักงานหญิงทุกคนว่า "ถ้าเกิดลูกจ้างรวมตัวกันไม่ยอม แล้วใช้สื่อโซเชียลฯ เป็นกระบอกเสียง มันก็เป็นจุดหนึ่งที่บริษัทเหล่านี้จะสะดุ้งขึ้นมาได้ ดังนั้นต้องกล้าที่จะรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ แต่ผมก็เข้าใจครับว่า บางคนกลัวจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากบางบริษัทจะมีบริษัทในเครือ ถ้าเกิดไปมีปัญหา หรือไปฟ้องร้อง โอกาสที่จะได้งานมันมีน้อย เพราะถูกกาหัวไว้แล้ว แต่ถ้าช่วยกัน รวมตัวกัน ผมเชื่อว่า บริษัทที่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจะเกิดแรงกดดันจากสังคมไปเอง"
เปิดกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างสตรี (มีครรภ์)
ปิดท้ายกันที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิง ปัจจุบันอนุสัญญาองค์การแรงงานประเทศ และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานได้ให้ความคุ้มครองไว้ในหลายๆ เรื่อง เริ่มจากการลาคลอด ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ซึ่งลาคลอดเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน
นอกจากนี้ กฎหมายยังคุ้มครองในเรื่องของการทำงานด้วย โดยระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 4 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า รวมไปถึงห้ามทำงานล่วงเวลา ห้ามทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
2. งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
3. งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
4. งานที่ทำในเรือ หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ สำหรับบางงาน อาจมีข้อยกเว้นตามข้อกฎหมาย เช่น ลูกจ้างที่ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ รวมทั้งงานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี สามารถทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ แต่ไม่ใช่ล่วงเวลาในช่วงวันหยุด โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
ส่วนลูกจ้างที่ตั้งครรภ์มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ ดร.กฤติน บอกว่า สามารถเปลี่ยนรูปแบบงาน หรือโยกย้ายไปทำตำแหน่งอื่น และที่คุ้มครองยิ่งไปกว่านั้น คือ การถูกปลดออกเพราะเหตุตั้งครรภ์ เรื่องนี้ นายจ้างไม่มีสิทธิไล่ออก หรือปลดออก หากลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ถูกบีบบังคับให้ลาออก การกระทำของนายจ้างดังกล่าวนี้ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีสิทธิ และสวัสดิการสังคมตามกฎหมายประกันสังคมอีกด้วย เพราะสามารถเบิกค่าคลอดบุตรในอัตราเหมาจ่าย 13,000 บาทต่อครั้ง แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ซึ่งหมายความว่า หากคลอดบุตรคนที่ 3 คุณแม่จะไม่สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้อีก ยกเว้นถ้าคุณพ่อก็เป็นผู้ประกันตนด้วย ก็สามารถใช้สิทธิของคุณพ่อกับบุตรคนที่ 3 และ 4 ได้
เท่านั้นยังไม่พอ ทางสำนักงานประกันสังคมยังให้เงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายรายเดือนให้แก่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ในอัตรา 400 บาทต่อเดือนต่อคน โดยใช้สิทธิได้คราวละไม่เกิน 2 คน ซึ่งการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตร ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันคลอดบุตร สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754