สังคมนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน... มิจฉาชีพแม่-ลูก ปลอมเฟซบุ๊ก “โน้ส-อุดม” แถมยังขู่กรรโชกทรัพย์ซ้ำอีก บอกถ้าอยากให้ปิด ให้โอนเงินมาให้ 150,000 บาท นักเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังไม่ยอม ขอเอาเรื่องให้ถึงที่สุดเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่สังคม งานนี้ เกรียนคีย์บอร์ดที่อยากรวยทางลัดคงได้ขนลุกขนพองไปตามๆ กันเมื่อเจอศิลปินเอาคืน!!
“โน้ส อุดม แต้พานิช” คือชื่อแฟนเพจ “เฟซบุ๊กปลอม” ที่มิจฉาชีพแม่ลูกคู่หนึ่งตั้งขึ้นเพื่อหลอกลวงคนบนโลกออนไลน์ โดยเริ่มต้นนั้น พวกเขาแอบเซฟภาพต่างๆ ของนักเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดังเอาไว้ แล้วเอามาโพสต์เรียกยอดไลค์และแชร์ในแฟนเพจ เขียนคำบรรยายชวนพูดคุยทีเล่นทีจริง พยายามเลียนแบบอย่างแนบเนียนที่สุด กระทั่งหลายคนหลงเชื่อ เข้ามากดไลค์กว่า 1.8 แสนราย ระยะหลังๆ เริ่มโพสต์ภาพเด็กน้อยผู้น่าสงสารหรือด้อยโอกาสตามสถานที่ต่างๆ พ่วงด้วยถ้อยคำชวนสมทบทุนบริจาคเข้าบัญชี
(แฟนเพจปลอม โพสต์เรียกให้คนมาสนใจ)
แต่แล้วสวรรค์ก็มีตา เมื่อเกิดมีผู้สงสัย สังเกตเห็นว่าภาพที่เจ้าของเฟซบุ๊กปลอมนำมาแชร์เพื่อเรียกเงินบริจาค คือภาพเดียวกับผู้ตกทุกข์ได้ยากรายหนึ่งที่ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” เคยเข้าช่วยเหลือและจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เมื่อตรวจสอบลึกลงไปในรายละเอียดจึงพบว่า มิจฉาชีพเฟซบุ๊กรายนี้ตั้งใจก็อบปี้ภาพและเนื้อความทั้งหมดมาลง เปลี่ยนเพียงแค่ชื่อและเลขบัญชีที่ต้องการให้คนโอนเงินมาให้ เป็นบัญชีของตัวเองเท่านั้นเอง
เมื่อพบความจริงเช่นนั้น เรื่องจึงถึงหูของเจ้าของเฟซบุ๊กตัวจริงซึ่งใช้ชื่อแฟนเพจว่า “เดี่ยว9” (www.facebook.com/thaistandupcomedy) โน้สจึงให้ทีมงานของตนติดต่อขอเจรจากับเจ้าของแฟนเพจปลอม ให้เลิกพฤติกรรมทำลายชื่อเสียงเหล่านี้ แต่กลับได้ข้อต่อรองกลับมาว่า ให้โอนเงินมา 150,000 บาทเข้าบัญชีให้เสียก่อน จึงจะยอมปิดเพจ เมื่อทราบเจตนาของมิจฉาชีพแน่ชัดดังนั้น โน้สจึงตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะต้องให้บทเรียนแก่มิจฉาชีพรายนี้ให้ได้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่สังคมต่อไป จึงจัดการดำเนินคดีตามกฎหมาย กระทั่งผลปรากฏออกมาว่ามิจฉาชีพรายนั้นคือ ลูกชายวัย 17 กับคุณแม่วัย 39 ซึ่งร่วมทำกันเป็นกระบวนการ
(ขณะนี้ เพจปลอมได้ปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว)
เจอกับเรื่องตลกๆ ในชีวิตมาก็มาก นี่คงเป็น “ตลกร้าย” ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของโน้ส-อุดม ทั้งยังถือเป็นบทเรียนให้คนมีชื่อเสียงหลายๆ คนเตรียมรับมือกับมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ด้วย และบรรทัดต่อจากนี้คือวิธีจัดการที่ทาง facebook.maahalai.com เว็บไซต์ความรู้ด้านไอทีแนะนำเอาไว้เกี่ยวกับ “แนวทางป้องกันและแก้ไขพวกแอบอ้างปลอมแปลงบนโลกออนไลน์”
ก่อนอื่น ให้เก็บหลักฐานทั้งหมดไว้ก่อน เช่น Capture ภาพหน้าจอเอาไว้ จากนั้นก็เริ่มดำเนินการ “ร้องเรียนระบบ” สำหรับคนที่ถูกปลอมเฟซบุ๊ก ให้กด “รายงาน” แล้วบอกระบบไปว่ามีคน “แอบอ้างเป็นตัวฉัน” และอย่าลืมชวนเพื่อนๆ อีกหลายๆ คนไปช่วยกดรายงานแบบเดียวกัน โดยบอกว่า “แอบอ้างเป็นบุคคลที่ฉันรู้จัก” จากนั้นให้พิมพ์ชื่อผู้เสียหายลงไป
แต่วิธีจัดการดังกล่าว อาจไม่ได้ผลบนโลกออนไลน์ในทันที จึงต้องทำควบคู่ไปกับกระบวนการต่อไปคือ “แจ้งความ” ส่วนแจ้งความไปแล้ว ตำรวจจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนนั้น คงขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของคดี ผู้ที่แอบอ้างจนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในมาตรา 14 (1) กำหนดให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: เดลินิวส์, แฟนเพจ "เดี่ยว9"
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754