ถึงแม้การเดินทางด้วยจักรยานในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ยังตกเป็นเป้าที่วิจารณ์หนาหู ทำนองว่าสาธารณูปโภคด้านการขนส่ง นอกจากไม่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการปั่นจักรยานแล้ว ยังไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกต่างหาก แต่ก็ยังมี 'สิงห์นักปั่น' จำนวนไม่น้อย เลือกเดินทางในเมืองด้วยพาหนะขับเคลื่อนสองล้อประเภทนี้
เช่นเดียวกัน 'ก้อง - ทรงกลด บางยี่ขัน' บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day นักคิด นักเขียน และนักปั่น ผู้ไม่ยี่หระกับข้อแม้ในการเดินทางด้วยการปั่นจักรยาน
3 ปีเศษ ที่เขาขลุกตัวอยู่บนหลังอาน จักรยานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยปริยาย เริ่มต้นจากโปรเจกต์หนังสือเกี่ยวกับจักรยาน นิตยสาร Human ride (วางแผนราย 4 เดือน) สำหรับคนรักจักรยานและการปั่น และรายการโทรทัศน์ Human Ride จักรยานบันดาลใจ (ออกอากาศช่อง Thaipbs) และเป็นตัวตั้งตัวตีในเทศกาลจักรยานสุดยิ่งใหญ่ a day BIKE FEST
อย่างที่กล่าวข้างต้น การเดินทางด้วยจักรยานในพื้นที่เมืองหลวงอาจยังไม่เอื้อต่อนักปั่นเท่าใดนัก แต่หลายภาคส่วนก็มีความพยายามร่วมกันสร้างสังคมจักรยาน ไม่ต่างจากบรรณาธิการหนุ่มผู้คมคายรายนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่เขาและทีมงานฯ เดินทางมาเยือน หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ พร้อมเชื้อเชิญผู้อ่านเข้าร่วมเทศกาลจักรยาน a day BIKE FEST 2014 จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 (ระหว่างวันที่ 6 - 9 พฤศจิกายนนี้ บริเวณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน)
ร่วมพูดคุยกับ ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live ในฐานะนักปั่นผู้คิดการก์ใหญ่
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน
หลายความคิดเห็นฟันธงว่าเส้นทางที่รองรับการเดินทางด้วยจักรยานในเขตเมืองนั้นไม่เอื้อเสียเท่าไหร่
“มันก็แล้วแต่เงื่อนไขชีวิตของแต่ละคน ซึ่งผมว่ามันคงเหมือนพาหนะอื่นๆ บางคนใช้ Bts สะดวก ผมว่าจักรยานก็เช่นเดียวกัน คนที่บ้านกับที่ทำงานใกล้กันไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหนของเมือง จักรยานก็สะดวกเสมอ” ทรงกลด ตอบในมุมมองของผู้ขับขี่จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง และอธิบายต่อ
“แต่ว่าถ้าเป็นภาพรวมของการเดินทางด้วยจักรยาน ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่สะดวกเสียทีเดียว เพราะว่าอาจจะยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน เช่น เอาลงเรือด่วนเจ้าพระยาไม่ได้ หรือว่าจักรยานคันใหญ่ไม่สามารถเอาขึ้น Mrt หรือ Airport link ได้
“เรือด่วนเจ้าพระยาไม่ให้เอาจักรยานลง เป็นเรื่องน่าเศร้าเหมือนกันนะครับ ทั้งๆ ที่เชื่อมคนฝั่ง นนฯ ได้ แต่กฎไม่ให้เอาลงเรือด่วนเจ้าพระยา ได้แต่ข้ามฝาก” ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยซึ่งเป็นคนที่นักปั่นยอมรับโดยทั่วกัน
“ขณะเดียวกันเราก็เห็นจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยขึ้นทุกที่ เห็นองค์กรที่สนับสนุนการใช้จักรยาน ทำห้องอาบน้ำให้พนักงาน มีจุดจอดจักรยานที่ดีไว้ให้ แล้วก็เห็นผู้ใช้ถนนจำนวนมากมีน้ำในให้จักรยานมากขึ้น ซึ่งผมว่าสิ่งนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ดีครับ”
คุณต้องลองมาปั่นเอง
สำหรับเลนจักรยานที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ นั้นมีประโยชน์ถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้างหรือเปล่า ทรงกลด มองว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้
“ก็มีทั้งที่ใช้ได้จริง อาจจะอยู่ในช่วงการเรียนรู้ ผมไม่คิดว่าเราจะเรียกมันว่า เวิร์ก หรือ ไม่เวิร์ก เพราะว่ามันไม่เคยมีมาก่อน ผมว่าเราต้องค่อยๆ เริ่มทำ ทำกันไป เรียนรู้กันไป แบบนี้คนผู้ใช้รถจักรยานเขามองว่าดีหรือไม่ดี ดีก็ทำต่อ ไม่ดีก็แก้ไขไป”
แต่จักรยานก็มีพื้นที่บนท้องถนนมากขึ้น อย่างรถยนต์ก็ให้ทางจักรยานมากขึ้น “เพราะว่าคนปั่นจักรยานมากขึ้น”
เขาแนะว่า “ผมว่าวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ใช้คนใช้ถนนเข้าใจคนขับขี่จักรยาน ก็คือว่าให้เขามาขี่จักรยานเอง ผมเชื่อว่าคนขับรถทุกคน ไม่มีใครอยากชนจักรยานหรอก แต่ว่าเขาอาจจะไม่รู้ว่าขับใกล้เกินไป หรือว่าจักรยานเขามาเร็วมาก เบรกแบบกระทันหันไมได้ แต่ว่าคนเหล่านั้นมาขี่จักรยานเองเขาจะ อ๋อ! จักรยานแบบนี้มันเร็วมาก เบรกทันทีไม่ได้นะ ต้องให้ทางเค้าไปก่อน พอคนใช้ถนนเข้าใจจักรยานมากขึ้น ก็เอื้อเฟื้อกันมากขึ้น”
แค่กระแส เดี๋ยวก็เงียบ
หลายคนมองว่าการปั่นจักรยานนั้นเป็นเพียงกระแส พอเลิกเห่อกันก็ไม่มีคนปั่นแล้ว แต่เขาไม่คิดเช่นนั้น
“ไม่ใช่กระแสฉาบฉวย เพราะว่ามันได้ผ่านช่วงเวลาพิสูจน์กันมาแล้ว เกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นสัก 4-5 ปีก่อน ฟิกเกียร์ดังๆ อันนั้นอาจเป็นไปได้ว่าเป็นกระแส อันนั้นเป็นไลฟ์สไตล์แบบหนึ่ง เป็นความเทห์แบบหนึ่งของวัยรุ่น ซึ่งฟิกเกียร์ใช้ในชีวิตจริงค่อนข้างยาก
“คนจักรยานเขามีเหตุของเขา ปั่นจักรยานเพื่ออะไร ปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกาย เขาก็คือยึดมั่นกับการออกกำลังกาย ก็คือคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้ปั่นไปทำงาน ซึ่งเขาก็มองว่ามันดีกว่าในฟิตเนส ออกไปเจอแดดเจอลมเจอเพื่อนดีกว่า เขาก็ชอบตรงนั้น
“เช่นเดียวกัน บางคนที่เคยเจอกับรถติดตอนเย็นตอนเช้าอยู่ เขารู้สึกว่า.. เห้ย! มันก็ขี่จักรยานมาได้นี่ ก็เปลี่ยนไปใช้ด้วยเหตุผลแบบนั้น ดังนั้น การใช้จักรยานจะมีเหตุผลที่ดีรองรับอยู่
“แน่นอนล่ะ ทุกวันนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อเขารู้ว่าเขาทำไปเพื่ออะไร และเกิดประโยชน์ต่อตัวเขาเอง ก็เลยปั่นจักรยานเพื่อลดโลกร้อนมันก็อาจจะไกลตัวเขาไปหน่อย ตัวเขายอมเหนื่อยแล้วได้อะไรกลับมา มันก็อาจจับต้องไม่ได้ ถ้าบอกว่า เนี่ย! ไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ เก็บค่าเดินทางได้ เป็นประโยชนื้น์ต่อตัวเขาเอง มันก็เลยทำให้ตนใช้จักรยานมากขึ้นเรื่อยๆ”
น้ำใจ ใช้แทน น้ำมัน
ไม่เพียงพาหนะร่วมถนนที่แบ่งปันพื้นที่ให้จักรยาน ในส่วนของประชาชนที่ร่วมสัญจรไปมาก็ให้พื้นที่กลุ่มคนปั่นจักรยานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งมักได้ยินความในใจจากนักปั่นว่าถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ เหยียดกลายๆ
“บ้านเมืองเราก้าวผ่านจุดนั้นมาแล้ว เราน่าจะต้องคิดมากกว่า นักปั่นเองไม่ควรมองเหยียดคนอื่นต่างหากครับ อย่าคิดว่าฉันจักรยานต้องสิทธิพิเศษสิ คือบางทีเราก็อาจจะเผลอคิดไปว่าเราเรียกร้องสิทธิจากรถยนต์ เรียกร้องจากถนน”
ทรงกลด ยกตัวอย่างการใช้เดินทางด้วยจักรยานร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะ “ในต่างประเทศเอง เขาก็บอกว่า จักรยานเอาลงรถไฟใต้ดินได้ แบบแรกให้ลงเป็นเวลา ช่วงคนแน่นห้ามเอาลง เพราะคนใช้รถไฟฟ้าก็มีสิทธิจะเดินทางอย่างมีความสุข อย่าง ไต้หวัน ก็ลงเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ บางประเทศก็บอกว่า โอเค! คุณอยากลงช่วงนี้ก็ลงได้ คือรถไฟ 1 ขบวนสามารถลงได้แค่หัวกับท้าย มีการตีเส้นเลยเขียนกำกับว่าพื้นที่จักรยาน ตรงนี้จักรยานเข้ามาคุณต้องหลบ ไม่มีสิทธิมองเหยียดว่า.. จักรยานแล้วไง? เพราะที่ๆ คุณยืนอยู่คือที่ของจักรยาน และประเทศที่เจริญขึ้นไปอีก ประเทศที่ว่าเป็นทั้งจักรยานและรถวีลแชร์ ผมว่าก็เป็นแค่การจัดสรรค์พื้นที่นิดเดียว แค่ให้เราอยู่ร่วมกันได้ แค่นี้สังคมก็มีความสุขแล้ว”
ปลุกกระแส 'ปั่น'
ในรอบ 3 - 4 ปี ที่ผ่านมานี้ สังคมการปั่นจักรยานหนาตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด a day นิตยสารที่ถูกยกให้เป็นทางเลือกของวัยรุ่นขวัญใจเด็กแนว ดูจะให้ความสนใจกับเรื่องจักรยานและทำการ ปลุก 'ปั่น' กระแส จักรยานในเมืองไทยให้บูมขึ้น ผลิตสื่อในเครือฯ ทั้งนิตยสาร, รายการโทรทัศน์ และเทศกาลจักรยาน ซึ่งดูจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก หลายภาคส่วนเข้าเป็นพันธมิตร ดึงดูดคนรักจักรยานให้เข้าร่วมล้นหลาม
“a day ก็สื่อมวลชน เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าเราจะขายจักรยาน ที่เราทำงานนี้เราอยากให้คนใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น งานนี้เราก็ไม่ได้ทำคนเดียว มีหลายหน่วยงานหลายองค์กรจักรยานเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย อีกคาแรคเตอร์หนึ่งที่มันต่างกับงานจักรยานอื่นๆ เพื่อชวนคนปั่นจักรยานมากขึ้น งานนี้มันก็เลยไม่ได้มีแค่ขายจักรยาน แต่มีงานอื่นๆ อีกเยอะมากครับ” ทรงกลด กล่าวถึง เทศกาล a day BIKE FEST 2014
กลายๆ ว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกันกับจักรยานของทาง a day ทั้งหมด เป็นตัวปลุกกระแสวัยรุ่นรวมถึงมิตรรักแฟนหนังสือให้หันมาปั่นจักรยาน “จะบอกว่า a day มีส่วนร่วมในการให้คนใช้จักรยานมากขึ้น? ก็อาจจะใช่ แต่เราไม่ได้ทำคนเดียว มีเพื่อนพ้องในวงการช่วยกันทำมากมาย”
ผมปั่นได้ คุณก็ปั่นได้
1,800 ก.ม. 45 วัน นั่นคือทริปแรกและระยะทางไกลที่สุด เขาตัดสินใจออกทริปปั่นจักรยาน กับทีมงาน a day เมื่อครั้งทำนิตยสารHuman Ride ประมาณ3 ปีก่อน
“คือเราอยากชวนคนอ่านปั่นจักรยาน แต่คนเขียนยังไม่ปั่น พอคิดอย่างนั้นเราควรต้องเริ่มขี่จักรยานก่อน แล้วจะขี่ไปไหนดี ก็ขี่ไปหาคนที่ใช้จักรยาน รูปแบบต่างๆ ทั่วเมืองไทยดีกว่า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจได้ งั้นก็รอบเมืองไทยก็แล้วกัน เราก็ซื้อจักรยาน ซื้อเสร็จก็ซ้อม ฟิตซ้อมร่างกาย แล้วก็ไปปั่น ก็แปลว่าพวกเราทำได้..ทุกคนก็น่าจะทำได้อย่างพวกเรา
“ปั่นรอบเมืองไทย 1,800 ก.ม. 45 วัน ก็ขึ้นรถไฟไปที่เชียงใหม่ แล้วก็ลงมา ลำพูน ลำปาง ออกไปตาก แล้วก็กลับมาสุโขทัย ฝั่งอีสาน วนแม่น้ำโขง บุรีรัมย์ ประมาณนี้ครับ ขึ้นรถไฟกลับมากรุงเทพฯ ไปทางใต้ หาดใหญ่ปั่นออกไปมาเลเซีย วนกลับขึ้นมา ประมาณนี้ครับ(ยิ้ม)”
ลองคิดดูสิครับ..
ทรงกลด เปิดใจว่าคาดหวังในโปรเจกต์ต่างๆ ที่ทำอยู่ ทั้งนิตยสาร รายการทีวี และเทศกาลจักรยาน “คาดหวังฮะ นั่นคือเป้าหมายการทำงานของเราเลย มันยิ่งใหญ่นะ เราเห็นว่ามีตัวอย่างดีๆ มากมายของโลก ที่เปลี่ยนให้เป็นเมืองจักรยาน เมืองที่เอื้อกับจักรยาน
“เราเห็นว่ากรุงเทพฯ เองมีศักยภาพที่จะเอื้อให้เป็นเมืองอย่างนั้นได้ ถ้าจะบอกว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพตรงไหน? ถนนก็ไม่เรียบ รถติด ทางจักรยานก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความเจริญด้านสาธารณูปโภคอะไร ถึงเรามีเงินทำทางจักรยานใหม่เอี่ยม ก็ไม่มีประโยชน์
“แต่เรามีสิ่งหนึ่งที่มันวิเศษมาก ลองคิดดูสิครับว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เลวร้ายมาก ยังมีคนจำนวนมาก..มากเลยนะครับ ปั่นจักรยานไปทำงานครับ โดยที่เขาไม่สนใจว่า มันมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่เขารักจักรยาน และเขารู้ว่ามันดีอย่างไร ผมว่านั่นแหละคือต้นทุนที่วิเศษที่สุดของกรุงเทพมหานคร คือ มีนักปั่น พวกเขาปั่นโดยไม่เคยร้องขอไบค์เลน ไม่ร้องขออะไรเลย แต่ถ้ามีอะไรไปเสริมให้พวกเขาสบายมากขึ้น เครือข่ายนักปั่นฯ มันจะใหญ่โตมากขึ้นแค่ไหน?”
…..............
เรื่อง / ภาพ : ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live
ภาพประกอบจากรายการ Human Ride
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754