xs
xsm
sm
md
lg

มิจฉาชีพรูปแบบใหม่ ปลอมไลน์ หากินในเงาดารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงเวลาแล้วที่คนใช้ไลน์ ต้องระวัง! ให้มากขึ้น ไลน์ถือเป็นโปรแกรมการสื่อสารที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้บริการ แต่ก็สะดวกต่อพวกกลุ่มมิจฉาชีพอีกเช่นกัน ซึ่งอาจนำข้อมูลส่วนตัวของคุณไปก่อให้เกิดความเสียหายได้ ล่าสุดเป็นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับ นางเอกสาว “นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี” ที่ถูกมือดีปลอมไลน์มาแล้วถึง 3 ครั้ง!!

สวมรอยดาราผ่านไลน์
กรณีที่เกิดขึ้นกับนุ่น มิจฉาชีพใช้วิธีการก็อบฯ รูป “นุ่นกับต๊อด” เพื่อนำไปแอบอ้างในการเช่าชุดไทย โดยให้ลูกค้าโอนเงินค่าเช่าชุดมาให้ พอเจ้าตัวรู้ไม่ติดใจไม่เอาความแต่อย่าทำอีก และรีบออกมาชี้แจงผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว เตือนบรรดาแฟนๆและลูกค้าให้ระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลให้ดีเสียก่อน และนี่คือคำพูดของเธอผ่านหนังสือพิมพ์สำนักหนึ่ง

“เรื่องที่มีคนปลอมไลน์นุ่นไปหลอกคนอื่น ได้ยินมาสักพักนึงแล้วค่ะ ตอนแรกได้ยินแค่รายเดียว แล้วพออีกวันสองวันก็มีอีกประมาณ3-4รายค่ะ เลยต้องขอชี้แจงนิดนึงเพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะโดนหลอกให้ไปโอนเงินให้เขา ต้องบอกก่อนเลยว่าแค่ชื่อตั้งก็ไม่ใช่แล้วค่ะ เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่มีผู้เสียหาย พอดีมีคนรู้จักเป็นคุณครูในกรมศิลปากร เขามาแจ้งให้ฟังก่อน ตอนนี้คิดว่าไลน์ปลอมนี้ก็น่าจะเงียบแล้ว อย่าให้มีอีกแล้วกันเราไม่แน่ใจว่าเขาปิดไลน์ไปหรือยัง เพราะไม่ได้ตามเลย นุ่นมองว่ามันไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปคุยกับเขา แค่เตือนให้คนอื่นๆระวังตัวมากขึ้นเท่านั้นค่ะ นุ่นไม่ได้คิดจะไปหาตัวคนทำ เพราะรู้ว่าเวลาคนทำผิดแค่ปิดไลน์ปลอมก็จบแล้ว”

แต่ยังมีเคสอื่นอีกที่ไม่ใช่แค่ของนางเอกสาว “นุ่น-วรนุช” คือ พระเอกหนุ่ม “ออฟ ชนะพล สัตยา” ที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาถูกมือดีทำไลน์ปลอมอีกเช่นกัน ในกรณีนี้ไม่ได้หลอกลวงเงินแต่อย่างใด แต่กลับแอบอ้างเป็นตนเองแล้วไปหลอกจีบชาวเกย์หรือเพศที่3 ส่งผลให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกรณีใด หากมีผู้แอบอ้างปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่นถือว่าเป็นความผิดฐานหลอกกลวงผู้อื่นโดยเจตนา จะเห็นได้ว่าภัยเหล่านี้เป็นภัยที่ใกล้ตัว ซึ่งไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป

จากกรณีทั้งหมดทางทีมข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ไลน์ประเทศไทย มีความเห็นว่า “กรณีไลน์ที่โดนแอบอ้างหรือuserทั่วไปก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่เขาใช้ e-mail และ password เดียวกันร่วมกับ Social Network อื่นๆ เช่น facebook, instagram ซึ่งเป็นรหัสชุดเดียวกัน คนส่วนใหญ่มักจะละเลยตรงส่วนนี้ที่อาจจะจำง่ายก็จริง แต่จริงๆแล้วมันค่อนข้างจะไม่ปลอดภัย ในส่วนที่ว่าถ้ามีโจรหรือบุคคลอื่นที่ล่วงรู้และสามารถคาดเดาในส่วนของpasswordได้ก็จะสามารถดึงเข้าSocial Networkอื่นได้เลย ก่อนหน้านี้ไลน์ประเทศไทย เคยออกคำเตือนผ่าน official line ประเทศไทย ให้ผู้ใช้หมั่นเปลี่ยน passwordไม่ให้ใช้ซ้ำๆกัน เพื่อความ
ปลอดภัย

อย่างกรณีของคุณ “นุ่น วรนุช” ถ้ามองอีกมุมหนึ่งไลน์จะยึดความเป็นส่วนตัวและให้ความเป็นอิสระของผู้ใช้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถไปก้าวก่ายในเรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัวของ user ท่านอื่นได้ วิธีป้องกันอาจจะเป็นในส่วนของผู้ใช้ที่จะต้องใช้อย่างระมัดระวัง ยิ่งในส่วนที่มีในเรื่องของธุรกรรมผ่าน Social Network อยากให้ระมัดระวังผู้ใช้กับผู้ใช้กันเอง ถ้ามีการโอนเงินต้องมีการยืนยันกันให้แน่นหนาพอสมควร อาจจะมีการนัดเจอเพื่อความชัวร์

เพราะฉะนั้น ไลน์จึงออกมาในรูปแบบที่ว่าเตือนให้ผู้ใช้ ใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนในเรื่องของกฎหมายสำหรับการยักยอกเงินนั้น ทางไลน์ประเทศไทย เห็นสมควรว่าให้แล้วแต่ผู้ใช้ว่าเจ้าตัวจะดำเนินการหรือไม่ ถ้าเป็นการแนะนำจากทางไลน์ ประเทศไทย หากมีบุคคลอื่นเข้า user ของเรา ให้ผู้ใช้รีบเข้าของตัวเองแล้วเปลี่ยน password หรือรีบลงทะเบียนใหม่ บ่งบอกความเป็นตัวเองให้มากที่สุดและหมั่นอัพเดต password อยู่เป็นประจำ

จับผิดกลโกง แก๊งมิจฉาชีพออนไลน์
ในเมื่อ Social Network เป็นสิ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันและขาดไม่ได้ เราจะระวังและเลือกใช้อย่างไรให้ถูกวิธี ต่อไปนี้คือวิธีเจาะลึกกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์และพฤติกรรมที่น่าสงสัยอาจเข้าข่ายเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ

1. ขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดมากเกินไป

2. หลอกล่อให้โอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้าโดยไม่ให้หลักฐานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

3. เมื่อโอนเงินแล้ว ผู้ขายจะหายตัวไป ไม่รับโทรศัพท์ และปิดโทรศัพท์หนีในที่สุด

4. เปลี่ยนชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ไม่ซ้ำกัน ทำให้ยากต่อการติดตาม

5. นัดเจอเพื่อดูสินค้า แล้วขอรับสินค้าก่อนโดยอ้างว่าจะโอนเงินให้ภายหลัง

6. ปลอม SMS จากทางธนาคารเพื่อหลอกว่าโอนเงินให้แล้ว แต่แท้จริงยังไม่ได้โอนเงิน หรือหลอกว่าโอนเงินเกินให้ช่วยโอนเงินคืน

อย่างไรก็ดีมิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกลโกงไปเรื่อยๆ และมีความซับซ้อนยากที่จะป้องกันมากขึ้น ดังนั้นการนัดเจอเพื่อดูสินค้าและชำระเงินซึ่งหน้าจึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด แต่สำหรับคนที่พลาดพลั้งไปแล้ว แนะนำให้ตั้งสติและทำตามข้อดังต่อไปนี้

1. บันทึกรายละเอียดของประกาศนั้น ไว้เป็นหลักฐาน โดยเซฟหน้าประกาศนั้นและ print ออกมาเป็นเอกสาร

2. เตรียมหลักฐานการโอนเงิน , เลขที่บัญชีธนาคาร , หลักฐานการติดต่อระหว่างคุณกับมิจฉาชีพ เช่น e-mail , เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุ

3. แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.ท้องที่ที่คุณไปโอนเงิน ว่า “ถูกฉ้อโกง” เพื่อลงบันทึกประจำวัน และออกใบแจ้งความเพื่อดำเนินคดี

4. นำใบแจ้งความ ส่งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ เพื่อขอหมายเลข IP ของมิจฉาชีพ (หมายเลข IP สามารถใช้แกะร่องรอยและขยายผลในการจับกุมได้)

5. นำเอกสารข้อ 1-4 ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ท้องที่ที่แจ้งความ เพื่อออกหมายจับ และพาไปจับกุมตัว หรือ ส่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (http://www.tcsd.in.th)

ในกรณีนี้ต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า "ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด" อย่าแจ้งเพียงว่า แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน (ถ้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเฉยๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเพิกเฉย เพราะถือว่าการแจ้งแบบนี้แปลว่าเจ้าทุกข์จะดำเนินการทางศาลด้วยตนเอง)

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.olx.co.th



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น