xs
xsm
sm
md
lg

ทราบหรือไม่ 1 ใน 4 ของผู้หญิง 35+ มี 'เนื้องอกในมดลูก'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ภานุพงศ์ พันธ์เมธาฤทธิ์
สาวๆ หลายคนคงเคยได้ยิน และตกใจกลัวเมื่อพูดถึง "เนื้องอกในมดลูก" แถมบางคนยังเข้าใจสับสนกับซีสต์หรือเข้าใจเลยเถิดว่าเป็นมะเร็ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ภานุพงศ์ พันธ์เมธาฤทธิ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้ก่อนว่า ผู้หญิงหลายคนมีความเข้าใจที่สับสนเกี่ยวกับซีสต์และเนื้องอก ซึ่งโดยปกติแล้วในมดลูกจะไม่ค่อยมีซีสต์ เพราะองค์ประกอบส่วนใหญ่ของมดลูกเป็นกล้ามเนื้อ ซีสต์มีองค์ประกอบเป็นของเหลว และมักเกิดในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ ท่อรังไข่ หรือปากมดลูก ที่ผิดปกติในมดลูกมักเป็นเนื้องอกมากกว่า

"เนื้องอกในมดลูกเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้หญิง โดยพบประมาณร้อยละ 25 ของผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป และพบ 1 ใน 3 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อาจพบที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในตัวมดลูก มีขนาดต่างๆ กันไป บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว อาจจะมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ ซึ่งความน่าเป็นห่วงของโรคนี้คือ ผู้หญิงหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ หรือกำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะไม่มีอาการแสดงใดๆ จนพบว่าตัวเองเป็นเนื้องอกในมดลูก โดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือการมาปรึกษาแพทย์ด้วยโรคอื่นๆ" นพ.ภานุพงศ์เผย

คุณหมอคนเดียวกัน บอกว่า เนื้องอกของมดลูก มีทั้งชนิดธรรมดา และชนิดที่เป็นมะเร็ง โดยเนื้องอกส่วนใหญ่เกิดจากชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก มักจะพบเจอเนื้องอกธรรมดาทั่วไปมากกว่า ซึ่งก็มีเนื้องอก 2 แบบใหญ่ๆ คือ เกิดจากกล้ามเนื้อโดยตรง หรือเกิดจากมีเนื้ออย่างอื่น (เช่น เนื้อเมนส์) แทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อ แล้วทำให้มันโตขึ้นมา โดยอาจโตแบบกระจาย โตทั้งลูกเท่าๆ กัน หรือแทรกแบบจุดๆ แล้วจึงรวมกันเป็นก้อน อาจปูดด้านซ้าย ด้านขวา ด้านบน หรือด้านล่างของมดลูก เป็นต้น อีกชนิดหนึ่งคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แทรกเข้ามาในมดลูก หรือมีหลายเม็ดเกาะกันเป็นกลุ่มจนใหญ่ขึ้น ชนิดนี้เป็นเนื้องอกชนิดเยื่อบุมดลูกแทรกเข้ามา คืองอกผิดที่

อาการสงสัยว่าเป็นเนื้องอกในมดลูกหรือไม่ ดูได้จากประจำเดือนมามากผิดปกติ จะปวดท้องหรือไม่ปวดก็ได้ อาการปวดท้องจากเนื้องอกส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนเลือดไปเลี้ยงเนื้องอกไม่พอ จนทำให้เนื้องอกขาดเลือด หรือเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะอื่นๆ เช่น กดกระเพาะปัสสาวะ กดลำไส้ใหญ่ที่อยู่ข้างๆ ก็จะทำให้เกิดการปวดแบบหน่วงๆ เหมือนมีก้อนหนักๆ ในท้อง และทำให้ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ประจำเดือนมามากในระหว่างมีรอบเดือน หรือมีอาการปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

สำหรับการพิจารณารักษาเนื้องอกของผู้ป่วยแต่ละรายนั้น สูตินรีแพทย์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะของเนื้องอก และปัจจัยโดยรวมของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการในการมีบุตร การตั้งครรภ์ เป็นต้น มาพิจารณาร่วมกันเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด บางรายอาจจะแค่รับประทานยา บางรายแพทย์อาจต้องแนะนำให้ผ่าตัด หรือในผู้ป่วยบางรายแพทย์แนะนำให้ตัดรังไข่ร่วมด้วยเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากตัวโรคเป็นสำคัญ ในปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมคือการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งมีขนาดแผลที่เล็ก ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และใช้เวลาพักฟื้นน้อย ทำให้ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไข้มากนัก

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกโดยที่ไม่ได้เอามดลูกออกร่วมด้วยนั้นก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นเนื้องอกซ้ำได้อีก ทางที่ดี คุณสาวๆ ควรเข้ารับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูก เป็นการป้องกันตัวเองในเบื้องต้น หากตรวจพบเร็ว ได้รับการรักษาเร็ว ผลการรักษาก็ย่อมดีไปด้วย

เรื่องโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น