xs
xsm
sm
md
lg

คำให้การของสิงห์นักปั่น จริงหรือไม่.. เลนจักรยานเลนมรณะ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่คุ้นตากันมาสักพักใหญ่ สำหรับการจัดสรรค์ปั่นส่วนพื้นผิวถนนในย่านชุมชนเมืองเพื่อเป็น 'เลนจักรยาน' สำหรับผู้รักวิถีหลังอานชื่นชอบการเดินทางด้วยสองล้อคู่ใจ แต่ในความเป็นจริงดูจะผิดวัตถุประสงค์ไปเสียหน่อย เพราะสอดส่องดูในหลายๆ จุดแล้ว เลนจักรยานกลายเป็นที่จอดรถยนต์ กลายเป็นเส้นทางซิ่งของมอเตอร์ไซค์ บ้างก็กลายเป็นจุดวางป้ายห้ามจอดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ
ซ้ำร้าย! ดูจะกลายเป็นเลนมรณะสำหรับประชาชนผู้เคราะห์ร้ายอาจจะต้องมาเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากอุบัติเหตุไม่คาดฝัน

พุทโธ่! เกือบไม่รอดแล้วสิ
ความคิดเห็นด้านลบของผู้ใช้งานจักรยานในประเด็น 'เลนจักรยาน' หรือ 'BIKE LANE' ถูกโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขายังมีความหวังว่าหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงอย่าง 'กรุงเทพมหานคร' หรือ สำนักจราจรและขนส่งฯ (สจส.) เข้ามาดำเนินการปัญหาคาราคาซังที่เกี่ยวเนื่องกับเลนจักรยานให้หมดสิ้นไปเสียที

“ทำใจเถอะครับBIKE LANEพวกนี้ทำตามกระแสสังคมเท่านั้น ลดโลกร้อน ประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ คนทำก็สักแต่จะทำให้รู้ว่าเอางบประมาณมาทำแล้วนะ ไม่ต้องสนใจว่าใช้ได้ไหน เหมือนโลงศพ (คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ)ผลมันถึงออกมาเป็นแบบนี้แหละครับ ไม่ต้องรีบครับที่จะให้มี BIKE LANEแบบสมบูรณ์ เพราะประเทศเราเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วยังล้าหลังเขาอีกหลาย10ปี (เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ)” ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต นามแฝง หมู service

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการใช้งานเลนจักรยานดูจะเป็นเกิดขึ้นตั้งแต่มีการเริ่มต้นแนวคิดดังกล่าว เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งในรอบ 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา กระแสจักรยานมาแรงมากๆ และการที่มีผู้สนใจหันมาปั่นจักรยานเพิ่มมากขึ้น สถิติการเกิดอุบัติเหตุย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา ตัวแทนจาก สจส. ให้ข้อมูลกับทีมข่าาว Astv ผู้จัดการ Live สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานนั้นยังไม่มีความชัดเจน เพราะไม่มีหน่วยงานไหนจัดทำข้อมูล “ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าคนใช้มากขึ้นการเกิดอุบัติเหตุมันก็มีมากขึ้น แต่ว่าก็ไม่ได้อันตรายร้ายแรง”

“วันนี้ขี่จักรยานไปทำงานวันแรก ใส่หมวกใส่อะไรพร้อม ขี่มาเรื่อยๆ ใช้ความเร็วสัก 20-25 km/h ผมขี่บนสุขุมวิท พยายามชิดซ้ายไว้ตลอด ปรากฏว่ามีเก๋งเลี้ยวซ้ายจะเข้าซอยตัดหน้าผม” ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานเว็บบอร์ดชื่อดัง

“ประเทศไทยไม่เคยมี Bike Lane ครับ กทม. ทำก็สักแต่ว่าทำครับ ขี่ๆ ไปเจอป้ายบอกทางขวางอยู่ เสาไฟแรงสูง ตู้โทรศัพท์ แถมบางที่ไม่มีทางลาดให้ลงด้วย แถววงเวียนใหญ่ ทำเอาหน้า ก็แค่สักแต่เอาสีมาทาบนถนนให้เลอะเทอะ เล่น แล้วเอารูปจักรยานไปติดไว้ ผมไม่กล้าขี่เลย.. ต้องผจญภัยกับมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ สองแถว รถเมล์ เต็มเลนไปหมด ไม่รวมรถจอด” ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตท่านหนึ่ง

“เหมือนทางเดินคนตาบอดเลยครับ คือต้องเป็นคนตาบอดที่มีทักษะในการหลบหลีกสูงมากๆ เพราะทางเดินจะเลี้ยวไปเลี้ยวมา หลบนั่นนี่โน่น บางทีทางตรงก็จะเจอแผงลอย รถเข็นซึ่งถ้าเจอกระทะทอดปาท่องโก๋แล้วไปชนเข้านี่จะทำยังไง ฯลฯ แบบว่าทุเรศมากๆ ครับ สรุปว่าตราบใดที่ทางเดินเท้ามีแม่ค้าพ่อค้าตั้งวางขายของ ทางไบค์เลนมีรถนั่งส่วนบุคคล รถแท๊กซี่ ฯลฯ จอด สรุปว่าแนวคิดยังพอโอเค แต่ในทางปฏิบัติคงต้องรบราฆ่าฟันกับกลุ่มคนที่คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม” ความคิดเห็นจากผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต นามแฝง PaOPaE

ปลุกสำนึก คนใช้ถนน
เลนจักรยานนั้นเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ยิ่งการแบ่งช่องทางบนพื้นผิวถนนที่มีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์สัญจรไปมา ยิ่งเป็นเรื่องยากที่ตีตราว่าพื้นที่ตรงนี้สำหรับจักรยานเท่านั้น ห้ามรถยนต์จอดขวางทาง หรือ ห้ามมอเตอร์ไซค์ลุกล้ำเข้ามาวิ่ง

มงคล วิจะระณะ นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย เล่าถึงยุคแรกเริ่มที่ประเทศไทยก่อกำเนิดเลนจักรยาน เมื่อสมัย อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะนั้นไม่มีแผนงานประชาสัมพันธ์มารองรับ ทั้งการเดินทางด้วยจักรยานยังไม่เป็นที่นิยม ผู้คนจึงไม่ตระหนักถึงเลนจักรยานและสัญจรทับเส้นจนชิน แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเด็นปัญหาดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข

“ตอนนั้นปริมาณคนที่ขี่จักรยานมากขึ้นก็มีการเรียกร้องเส้นทางจักรยานที่ขับขี่ปลอดภัย คุณอภิรักษ์ ก็ทดลองทำขึ้นมา เช่น สาธร - วงเวียนใหญ่ พอทำปุ๊บมันไมได้มีอะไรมากั้นไว้ ที่นี้คนที่เขาขับขี่มอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้คำนึงถึงเพราะปกติเขาก็ขี่ของเขา เขาก็เข้ามาขี่ในเลนของจักรยาน ถามว่าจักรยานขี่ไหม จักรยานก็ขี่ของเขา ตอนนี้มันเป็นช่วงที่จะต้องมาพูดคุยกันว่า หลังจากที่เรียกร้อง และมีคนมาขี่จักรยานเพิ่มขึ้นแล้ว เราจะมาแก้ไขอย่างไร

เขาแสดงทัศนะว่า เมื่อมีประชาชนหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางกันมากขึ้นแล้ว เป็นโจทย์สำคัญของหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง อย่าง กทม. ต้องสนับสนุนพวกเขา ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบาย คลี่คลายปัญหาต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน

เป็นภาระหน้าที่ของทาง กทม. และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องให้ความรู้และกำกับดูแลความเรียบร้อยในเรื่องการใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องทั้ง 2 หน่วยงานต้องร่วมมือ เพราะที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในเลนจักรยานพบอยู่เป็นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุก็มารถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ไม่น้อย นั่นเป็นเพราะไม่มีการควบคุมความเร็ว ไม่มีการควบคุมความประพฤติคนขับ ถ้าการมีการควบคุมพฤติกรรมของคน ควบคุมกติกาการใช้รถใช้ถนน สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องมือลดการเกิดอุบัติเหตุ

นายกสมาคมจักรยานฯ เปิดเผยว่า ณ เวลานี้เลนจักรยานเป็นยังถือเป็นเรื่องใหม่ใหม่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นในสังคมไทย
“การเปลี่ยนแปลงเมืองทั้งเมืองใช้เวลา 20-30 ปี ไม่มีเปลี่ยนได้วันนี้พรุ่งนี้ แต่ทีนี้มันต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง นโยบายสอดรับ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของท่านผู้บริหาร”

“ช่วงแรกกฎหมายอะไรก็ไม่มีรองรับ ทางที่ดีที่สุดคือ ข้อความอนุเคราะห์พูดคุยกัน ถ้าคุณจะมาใช้ทางจักรยาน ควรจะขับขี่ด้วยความเร็ว ก็อะลุ่มอล่วยกัน จะห้ามขี่เลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เดี๋ยวจะมีคำถามทำไมไม่ทำเลนมอเตอร์ไซค์หละ ก็แชร์กัน พึ่งพาอาศัยกันอย่างที่เป็นอยู่ มันเป็นจุดเริ่มต้นทเท่านั้นเอง” มงคล กล่าว

30 เส้นทางจักรยานยังฝันค้าง
ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการจักรยานกลางเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า เลนจักรยานกว่า 30 เส้นทาง ของ กทม. คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่นั้นมีปัจจัยการติดสินอยู่ 2 อย่างคือ ความสะดวก และความปลอดภัย

“ถ้าเป็นเลนที่ขี่สะดวกและปลอดภัย มันคุ้มค่านะครับ เพราะว่าเทียบกับการตัดถนนใหม่หรือสร้างเลนจักรยานเฉพาะราคามันต่างกัน เป็นสิบๆ เท่านะ ในแง่สุขภาวะของเมืองการที่คนในเมืองมาใช้จักรยานมากขึ้น มันไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องสุขภาพ แต่ว่ามันได้เรื่องของเมืองเรื่องการประหยัดพลังงาน เรื่องการลดมลพิษของเรื่องอะไรเหล่านี้เป็นต้นครับ ค่อนข้างมีแต่เรื่องบวก ถามว่าคุ้มไหม..คุ้มแน่นอน แต่ในที่นี้ต้องทำแล้วสะดวก ปลอดภัย ใช้งานได้จริง

เขาให้เปอร์เซ็นต์ความปลอดภัยในเส้นทางจักรยาน “น้อยครับ น้อยมากเลย เรื่องความปลอดภัย”

ลักษณะของทางจักรยานโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1.ทางจักรยานเฉพาะ ที่แยกออกจากถนน แยกอกกจาฟุตปาธ ก็จะค่อนข้างดีหน่อยในเรื่องของความปลอดภัย ความสะดวก แต่ก็แล้วแต่คนสร้าง เช่น ทางจักรยานคลองไผ่สิงโต สวนลุมเชื่อมสวนเบญจกิติ เป็นเส้นทางเจ๋งมาก แต่การก่อสร้างทางกายภาพมีปัญหาทำให้ใช้งานจริงไม่ได้, ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม แต่เวลาใช้งานจริงไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ คือรถไม่สนใจทางจักรยาน รถมองข้ามเขาไม่สนใจว่านี่ทางเท้าหรือทางจักรยานจะมีคนผ่านหรือเปล่า
2. ทางจักรยานบนฟุตปาธ ซึ่งมีปัญหาเยอะสุดและใช้งานจริงไม่ค่อยได้ เลือนหายไปหมดแล้ว ร้านค้าขึ้นมาเต็ม
3. ทางจักรยานแชร์เลนบนถนน อย่างเช่นบริเวณ ถนนพระอาทิตย์
4. ทางจักรยานในตรอกซอกซอย ลักษณะเป็นภาพสัญลักษณ์จักรยานบนพื้น เป็นการแชร์เลนร่วมกันกับรถอื่นๆ เท่านั้นเอง”

ศิระ กล่าวว่า การตีเส้นเลนจักรยานนั้นสำคัญต่อความปลอดภัยมาก ถ้าเกิดตีโดยไม่ได้คิดถึงการใช้งานจริง ทำให้คนปั่นจักรยานตามเลนเกิดอุบัติเหตุได้ เป็นปัญหาหยุ่มหยิมที่พบได้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการดีไซน์และเชื่อว่าทางผู้เกี่ยวข้องก็มิได้นิ่งนอนใจในประเด็นดังกล่าว

สอบถามถึงในประเด็นที่มอเตอร์ไซค์รุกกล้ำเข้ามาวิ่งบนเส้นทางจักรยาน ศิระ กล่าวว่า กฎหมายควบคุมไว้แล้วระดับหนึ่ง คือห้ามมอเตอร์ไซค์และรถยนต์มาใช้ทางจักรยาน หรือว่ามาจอดทับ มีการระบุค่าปรับชัดเจน แต่เป็นได้ไว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจไม่คุ้นเคยก็เลยไม่มีการบังคับใช้มากนัก

ซึ่งก็เป็นปัญหาที่หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบยังไม่สามารถแก้ไขได้ ศิระ ทิ้งท้ายว่า การรณรงค์การปลูกฝังจิตสำนึกสู่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่สิ่งสำคัญที่เรายังขาดอยู่ คือการทำความเข้าใจพฤติกรรมการขับขี่ของกลุ่มคนที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะเหตุใดพวกเขาถึงต้องมาวิ่งบนเลนจักรยาน เพราะรถติดใช่ไหม เพราะเลนจักรยานโล่งอยู่หรือเปล่า ถนนหนทางในประเทศไทยเป็นอุปสรรค์ต่อการขับขี่มอเตอร์ไซค์หรือเปล่า ตรงนี้มันควรจะมีอะไรที่ออกแบบมาให้เขาปฏิบัติตัวได้ถูกต้องตามกฎหมายและสะดวก
…......................

ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพประกอบ Dhandranunda, thaicycling.com, thaimtb.com และอื่นๆ



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


ทางจักรยานบริเวณถนนพระอาทิตย์
อุบัติเหตุรถยนต์ปะทะจักรยาน
ทางจักรยานบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม
ทางจักรยานเลียบคลองแสนแสบ
ทางจักรยานในซอย สกรีนภาพบริเวณพื้นถนน
ทางจักรยานยกระดับตัดตรงจากสวนเบญจกิติมายังสวนลุมพินี
กลายเป็นสนามเด็กเล่น บริเวณเส้นทางจักรยานเลียบคลองไผ่สิงห์โต
สิ่งกีดขวางบนเลนจักรยานภาพคุ้นชินของคนกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น