xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ครูใจป้ำ แจกที่ดินเกือบไร่ ล่อใจ “เด็กดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ได้ “บ้า” แต่แค่อยาก “กระตุ้นจินตนาการ” ของเยาวชน จึงทำให้อดีต ผอ.แห่งพิจิตร ยอมมอบ “ที่ดินพร้อมโฉนด ขนาด 67 ตารางวา” เป็นรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดเรียงความในหัวข้อ “หนูอยากเป็นคนดี” โดยไม่นึกเสียดาย เชื่อว่าตัวอักษรจะช่วยกล่อมเกลาความคิดสร้างสรรค์และช่วยให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดีได้จริงตามที่เขียนสัญญาเอาไว้

หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า คนที่ยอมสละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อความคิดแปลกๆ แบบนี้ มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลัง วันนี้เองที่จะได้รู้จักทุกแง่มุมความคิดแหวกแนวจากปาก “นริศ สังวารีย์” ครูผู้ใจป้ำ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านนา ผู้ยอมเจียดที่ดินราคาหลายล้านให้คนแปลกหน้าฟรีๆ ด้วยความเต็มใจ




โชคชะตาดลใจให้แจกฟรี!
ผมจะเล่าให้ฟังว่าทำไมถึงแจกที่ดินให้เด็กๆ ได้ คือจริงๆ แล้วผมขอซื้อที่ดินมาจากธนาคารในราคา 1,350,000 ซึ่งมันมีอาคารเก่าสร้างไว้อยู่แล้ว เพราะพื้นที่เดิมของเจ้าของรายเดิม เขาสร้างเพื่อจะทำบ้านจัดสรรอยู่ก่อนแล้ว แต่เจ้าของเดิมเขาล้มละลาย แบงก์ก็เลยเข้ามายึดไว้ พอผมได้ที่มา ผมก็เอาโครงสร้างตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ เป็นโครงสร้างอาหารตึกเก่า 3 คูหา 2 ชั้น ซอยเป็นห้องเช่าได้ 18 ห้อง มันก็ช่วยลดต้นทุนไปได้เยอะ

แทนที่ผมจะต้องสร้างตึกเอง ถ้าให้แบงก์ตีมูลค่าก็เกือบ 10 ล้าน ใช้หลักของในหลวงเลยครับ ท่านตรัสไว้ว่าอะไรที่อยู่ละแวกเดียวกันในพื้นที่ ให้ใช้ประโยชน์ให้หมด ผมก็เลยไม่ทิ้งเลย ก็เอามาปรับปรุงใหม่หมด ทำให้มูลค่าที่ดินเฉพาะตรงส่วนหน้าตรงนั้น ส่วนที่มีอาคารห้องเช่ามันคืนทุน เลยเหลือที่อีกประมาณเกือบ 6 ไร่ ซึ่งผมมองว่านั่นคือกำไรของเราแล้ว เลยแบ่งส่วนหนึ่งไปแจกได้

นี่คือข้อดีของการซื้อ NPL ครับ มันคือหนี้เสียที่ทางธนาคารเก็บเอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ทางแบงก์เขายึดที่ดินตรงนี้เอาไว้ 7 ปีแล้ว และไม่เคยได้ดอกเบี้ยเลย คล้ายกับเขามองว่าเป็นของหมดสภาพไปแล้ว และไม่มีใครเข้าไปติดต่อขอซื้อทั้งๆ ที่ติดป้ายประกาศขายไว้นานแล้ว จริงๆ แล้ว ผมก็ขี่รถไปทำงานทุกวันแหละ แต่วันนั้น เราบังเอิญไปเห็น ก็เลยถอยรถจอดตรงนั้น แล้วก็เดินลุยป่าเข้าไป ผมเลยมองว่ามันเป็นวาสนา ที่เขาอยากจะให้เราได้มีโอกาสเปลี่ยนชีวิต ป้ายมันแขวนอยู่ที่ตัวอาคาร ห่างจากถนนไปประมาณ 30 เมตร ลึกเข้ามาจากถนนใหญ่ และตรงนั้นก็เป็นป่า ความสูงต่ำกว่าถนนเกือบ 2 เมตร


ก่อนจะติดต่อซื้อกับทางแบงก์ เราก็ตั้งจิตอธิษฐาน นึกในใจเอาไว้ว่าถ้าได้ที่ตรงนี้ ถ้าทางแบงก์เขายอมขายให้เรา จะขอคืนกลับให้ชุมชน ถ้าได้ที่ดินแปลงนี้ ชีวิตนี้จะเอาไปพัฒนาท้องถิ่น กะจะคืนกำไรด้วยการตั้งมูลนิธิ แต่ว่าตอนนี้ผมตั้งมูลนิธิยังไม่ทัน ก็เลยใช้วิธีแจกที่ดินไปก่อน เพราะจะตั้งมูลนิธิ มันต้องระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาด้วย และตอนแรกธนาคารเขาไม่ได้ตั้งราคาไว้แค่ 1 ล้าน 3 แสนนะ เขาตั้งไว้ 3-4 ล้านแน่ะ แต่เราก็ยืนยันว่าเราจะขอซื้อในราคานี้ ทางธนาคารเขาก็ถอยราคามาให้เรา จนสุดท้ายก็ได้ราคา 1,350,000 บาทมา

ถ้ายังไม่ถมที่ ที่ดินตรงนี้อาจจะดูไม่น่าซื้อ ความรู้สึกของคนอื่นอาจจะมองว่าเป็นพื้นที่ป่าดิบรกร้างมา 7 ปี คนเลยอาจจะมองไปในแง่ไสยศาสตร์ด้วย แต่พอถมที่ให้สูงขึ้นแล้ว จะเห็นว่าที่มันก็ล้อมรอบไปด้วยมหาวิทยาลัย ชุมชนและร้านค้า มันไม่ได้อยู่กลางทุ่ง พอข้ามฟากไปก็จะมีที่ว่าการอำเภอ, โรงพัก, กศน., สำนักงานที่ดิน ฯลฯ น่าจะไปทำประโยชน์อะไรได้ ผมซื้อจากแบงก์มา เพราะจะทำหลักทรัพย์ไว้ให้ลูก ทั้งหมดมันมีถึง 6 โฉนด เราก็แบ่งพื้นที่โฉนดส่วนหนึ่งมาแจกเขาได้




“เรียงความ” สร้างคน
ผมเป็นครูอยู่ 8 ปี และเป็นผู้บริหารอยู่ 25 ปี สิ่งที่ผมเห็นมาตลอดก็คือเด็กรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่งครูจบใหม่ เขียนเรียงความกันไม่ค่อยได้ คนรุ่นใหม่ขาดจินตนาการ ทำงานเหมือนหุ่นยนต์เพราะถูกฝึกมาด้วยกระบวนการคิดแบบอยู่ในกรอบ ตอบคำถามด้วยการกากบาทเลือกคำตอบ ข้อ ก-ข-ค-ง พอให้มาเรียบเรียงอะไรสักเรื่องหนึ่ง ทำกันไม่ได้ ทำไม่เป็น เขาเรียกว่าขาดความคิดเชิงระบบ

ถามว่าทำไมการศึกษาไทยถึงตกต่ำ ก็เพราะตัวครูเองก็ขาดจินตนาการเหมือนกัน และผมก็ได้ประสบการณ์จากการมีลูกนี่แหละครับ ผมมีลูกคนเดียว ทุกวันผมจะให้เขาเขียน เล่าเรื่องในแต่ละวันตั้งแต่เด็กๆ ให้เขาเขียนเท่าที่เขาอยากเขียน เล่าเรื่องความในใจของเขา เราก็รู้สึกว่าการพัฒนาความคิดของเขามันเป็นระบบ เพราะคนที่เขียนเรียงความได้ ต้องมี “มโน” หรือ “จินตนาการ” คนไม่มีจินตนาการอาจจะเขียนไม่ได้หรือเขียนแบบไปเรื่อยไม่มีจุดหมาย



นี่คือเหตุผลที่การศึกษาของเราแพ้ประเทศอื่น แพ้สิงคโปร์ แพ้มาเลเซียเขา เพราะเด็กไทยขาดกระบวนการคิด ถึงตอนนี้ผมจะลาออกจากอาชีพครูมาพักผ่อนแล้ว แต่จริงๆ แล้ว ผมเองก็อยากจะเป็นครูไปตลอดชีวิต แต่ขอเป็นครูนอกระบบแทน เพราะรู้สึกว่าระบบราชการไทยมันตีกรอบเอาไว้มากเกินไป ออกนอกกรอบมากไม่ได้ ทำมากไปก็ถูกหมั่นไส้ โดยเฉพาะระบบการศึกษา มันมีระบบบังคับบัญชาหลายขั้นตอนมาก

ยิ่งตอนหลังมีระบบท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่งระบบตรงนี้ผมมองว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยยังมาไม่ถึง เช่น ถ้าคุณเลือกตั้ง อบต.จาก 6 คนในหมู่บ้าน ถ้าเราไปสนิทใครสักคน ก็จะเริ่มมีศัตรูแล้ว หรือผู้ใหญ่บ้าน 4 ปีเลือกคนหนึ่ง วางตัวลำบากครับ ระบบราชการไม่รองรับศักยภาพของเรา

ผมจึงยึดหลักของในหลวงมาตลอด ก่อนหน้านี้ก็มีโอกาสได้ทำโครงการนำร่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มองว่าเราต้องพัฒนาที่ตัวคนให้อยู่ได้ก่อน พัฒนาสติปัญญา และใช้ทรัพยากรรอบข้างให้คุ้มค่า วิเคราะห์ให้ออกว่าสิ่งแวดล้อมที่คุณอยู่จะเป็นประโยชน์กับตัวคุณและคนอื่นได้ยังไง หลักมีแค่นี้แหละครับ ผมชอบคิดเชิงระบบอยู่แล้วไงครับ ถ้าให้ให้ที่ดินเฉยๆ ก็ให้ได้ ให้จับฉลากแล้วแจกที่ดินก็ได้ แต่ก็มานั่งนึกว่าเราก็เป็นครู ทำไมไม่พัฒนาสติปัญญาเยาวชนในสังคมไปด้วยล่ะ ก็เป็นโอกาสดีครับ

เรื่องการประกวดครั้งนี้ ผมไม่ได้ตัดสินว่าใครดีกว่าใคร ผมเปิดรับตั้งแต่เด็ก ป.1 ถึงปริญญาตรีเลย แต่ถ้าปริญญาตรี มีเงื่อนไข 4 ข้อ คือ
1.เป็นนักเรียนทุกระดับชั้นในจังหวัดพิจิตร
2.ส่งเรียงความเรื่อง “หนูอยากเป็นคนดี” มาที่ “ผอ.นริศ สังวารีย์ 98 ม.6 ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร 66140” 3.หมดเขตวันที่ 1 สิงหาคม 2557
และ 4.พอคัดเลือกคนที่เข้ารอบได้แล้ว จะเอาชื่อมาจับฉลาก รับโฉนดที่ดินอีกทีวันที่ 24 สิงหาคม 2557

เราไม่มีกฎเกณฑ์การตัดสินอะไรมาก แต่ถ้าคนที่จบปริญญาตรีเขียนมาได้เท่านักเรียน ป.1 มันก็ชัดเจนอยู่ว่าต้องเลือกใคร แต่เราก็ไม่ได้ตีกรอบว่าต้องเขียนให้ได้ 1-2 หน้าหรืออะไร บางทีคนเรามีจินตนาการมากกว่านั้น แต่ที่ส่งมาผมก็ไม่ได้เอาไปทิ้งหรอก ผมอาจจะพิมพ์เป็นรูปเล่ม เก็บเอาไว้ศึกษา ทำวิจัยที่จะช่วยเหลือเขาต่อไปเมื่อผมมีความมั่นคงหรือมีระบบทุนที่ดีกว่านี้

ผมสั่งลูกผมเอาไว้เลยว่า ที่ดินแปลงนี้จะต้องจบลงที่การตั้งมูลนิธิอยู่แล้ว เป็นมูลนิธิส่งเสริมเยาวชนและการศึกษา เพราะผมมองว่าคนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ในช่วงแรกนี้ก็อยากให้ช่วยเหลือในพิจิตรก่อน ต่อไปก็ต้องดูว่ามูลนิธิผมเติบโตได้แค่ไหน หรือมีเครือข่ายเข้ามาร่วมมั้ย และต่อไปถ้าเรามีพลังหรือมีวาสนาให้ได้ทำดีก่อนตายเพิ่มมากขึ้น เราก็เพิ่มโอกาสตรงนั้นเข้าไป




“คนดี” แบบไหนควรได้รางวัล?
เขาอยากดีแบบไหนก็ให้เขาเขียนมาเล่าอย่างที่เขาอยากเป็นเลยครับ ผมเชื่อว่าจินตนาการที่เขาใส่มาในเรียงความ มันจะทำไปสู่การปฏิบัติอย่างนั้น เพราะมนุษย์เราเนี่ย คิดอย่างไรก็จะพยายามปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามนั้น หรือถ้าไม่ทำตามนั้น ก็สามารถใช้จิตวิทยาโน้มน้าวให้ทำได้ เพราะวันที่เขาได้รางวัล เขาต้องประกาศต่อหน้าสาธารณชน ผู้ว่าราชการก็อยู่ในงาน หลังจากนั้นเราก็อาจจะมีการติดตามดูผลบ้าง แต่แบบไม่ให้เขาเครียดนะ คือไม่ได้ไปตามบังคับเขา ถ้ามันฝืนเขาเกินไปก็ปล่อยเขา เพราะเราถือว่าเรายกที่ดินให้เขาไปแล้ว วาสนาเราคงทำมาร่วมกันแค่นั้น


ถ้าสมมติเขาได้ที่ดินไปแล้ว แต่ทำอย่างที่เขียนไว้ไม่ได้ก็จะไม่มีการตัดสิทธิทีหลังครับ เพราะสิทธิทางกฎหมายมันเกิดแล้ว กรรมสิทธิ์ของที่ดิน เราไม่มีสิทธิ์จะไปทวงถาม ยักย้ายถ่ายเทให้คนอื่นแล้ว อย่างที่ผมบอกว่าถือว่ามีวาสนาต่อกันมาแค่นั้น เพราะตรงนี้ผมมีที่อยู่ 8 ไร่ ผมจะทำธุรกิจบ้านจัดสรร ผมแบ่งที่ให้เขาไป 1 ไร่ มันก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะมาเป็นหนึ่งในทีมงานที่จะทำธุรกิจร่วมกันกับลูกๆ ของผมในอีก 10-20 ปีข้างหน้าก็ได้

ตอนแรกก็ยังไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าเราจะแจกจริง เพราะมันเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครเคยทำ เรื่อง “ที่ดินแลกเรียงความ” ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดอยากดังจากการทำ แต่ผมแค่หวังด้วยจิตอันบริสุทธิ์ของผมว่า ผมจะได้ทำตามสัญญา-อธิษฐานเอาไว้ในใจ ก่อนที่จะไปต่อรองกับธนาคาร เราก็ทำตามสัญญา ถึงจะยังไม่รู้ว่าคู่สัญญาเราเป็นใคร (หมายถึงคนที่จะชนะการประกวดเรียงความและได้รางวัลในอนาคต) เราก็สบายใจแล้ว

เราจะไม่ไปคอมเมนต์หรือไปตั้งกฎเกณฑ์อะไรมาก เพราะมันจะกดดันทั้งเราที่เป็นผู้ให้และเขาที่เป็นผู้รับ ขอแค่เขาแสดงเจตนาที่ดี มีมโนที่ดี เขียนออกมาผ่านเรียงความ อย่างน้อยทำได้ 1 ใน 10 จากที่จินตนาการเอาไว้ ผมก็ดีใจแล้ว มันไม่จำเป็นต้องเป๊ะตามนั้นทุกอย่าง ชีวิตเรายังผิดพลาดได้ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเลือกได้ ใจจริงแล้วก็อยากให้รางวัลตกไปอยู่กับคนด้อยโอกาสนะ แต่ทุกอย่างบนโลกนี้ มันอาจจะตามใจเราไม่ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่มีฐานะอยู่แล้วได้ที่ดินนี้ไป ผมก็จะมองว่าถ้าเขารวยอยู่แล้ว เขาก็อาจจะสามารถเอาที่ดินตรงนี้ไปต่อยอด ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้อีก มันก็ขยายเครือข่ายความดีไปได้อีกเรื่อยๆ ก็มองในแง่ดีไป

แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีคนส่งเข้ามาเลย เรื่องเรียงความ มันเป็นยาขมของเด็กๆ เลยนะผมว่า แต่ถ้าต่อไปมีคนส่งเข้ามาเยอะ ก็อาจจะต้องให้สถาบันการศึกษาช่วยครับ หรือให้ทางผู้ว่าฯ แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม แต่ต้องดูปริมาณเรียงความที่เข้ามาก่อน ถ้าเข้ามาแค่ 100-200 ฉบับ เรารับไหวอยู่แล้ว

สำหรับเยาวชนในพิจิตร ไม่ว่าจะไปเรียนที่ไหน ขอให้มีสำเนาทะเบียนบ้านแสดงว่าเป็นคนพิจิตรมายื่น เพราะเวลาได้รางวัล จะมีการตรวจสอบ ส่งมาได้ครับ เขียนจินตนาการเรื่อง “หนูจะเป็นคนดี” ออกมาตามระดับการศึกษา ถ้าจบปริญญาตรี คุณคิดว่าจะเขียนได้แค่ไหน คุณจะทำในสิ่งที่เอื้อต่อครอบครัว สังคม แค่ไหน อาจจะเริ่มจากตัวเองก่อนแล้วค่อยๆ ขยายออกไป แล้วคุณจะเป็นคนที่มีพลังขับเคลื่อนสังคมให้มั่นคงต่อไป


ขอยืนยันว่าทำด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ลูกหลานของผู้ให้ไม่มีสิทธิจะได้ที่ดิน ในส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะช่วยจัดให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมขึ้น ตัวผมเองที่ทำ ผมก็ไม่ได้หวังผลเรื่องชื่อเสียงใดๆ เรื่องการเมืองใดๆ ผมแค่อยากจะทำให้ตัวเองและสังคมทั่วๆ ไป
คนอาจจะมองว่าสิ่งที่ผมกำลังทำมันบ้า ถ้ายังอยู่ในระบบราชการแล้วทำแบบนี้ คนอาจจะมองว่าบ้า ทำเพราะอยากเลื่อนตำแหน่ง 

สังคมไทยเป็นแบบนี้แหละครับ มีไม่กี่ขี้ คือ “ขี้เกียจ” แต่อยากได้เงินเยอะ ก็ “ขี้อิจฉา” คนทำมาก-ผิดมาก ทำน้อย-ผิดน้อย ไม่ทำ-ไม่ผิดเลย (หัวเราะ) กลายเป็นว่าคนที่ทำมาก มุ่งมั่นมากจะเป็นเป้า เลยทำให้ครูในระบบราชการหลายคนค่อยๆ หายไปเพราะเหนื่อยใจเหนื่อยกาย ทัศนคติของราชการไทยมันต้องเปลี่ยนจริงๆ

ผมยังไม่คาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรียงความนี้ แค่คนที่ได้รางวัล ทำได้ตาม 1 ใน 10 ข้อที่สัญญาเอาไว้ในเรียงความ ผมก็ดีใจแล้ว ดีกว่าทำไม่ได้เลย และผมอาจจะเอาข้อมูลตรงนี้ไปทำวิจัยต่อไปว่าคนที่ส่งเรียงความมาร่วมกับผมครั้งนี้ มีทัศนคติเป็นไปในเชิงบวกในการ “อยากเป็นคนดี” ยังไงบ้าง ถือเป็นการฝึกกระบวนการคิด วิเคราะห์ และจินตนาการ ในฐานะที่เป็นครูนอกกิจการก็ขอให้พื้นที่ตรงนี้คิดนอกกรอบเพื่อขับเคลื่อนเยาวชนต่อไป

ถามว่าทำไปทำไม ผมได้แนวคิดมาจากการทำธุรกิจแบบ Social Business ของวอร์เรน บัฟเฟตต์, สตีฟ จ็อบส์, คุณตัน ภาสกรนที ฯลฯ คุณว่าคนพวกนี้จริงๆ แล้วเขารวยหรือยังครับ เขารวยแล้วนะ จริงๆ แล้วเขาหยุดทำก็ได้ แต่เขายังทำอยู่ สิ่งที่เขาทำมันเกิดประโยชน์ สร้างงานให้คน กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างสังคม-สิ่งแวดล้อม อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ สมมติเขาได้กำไรหมื่นล้าน เขาจะเก็บไว้แค่พันล้านหรือ 500 ล้าน ที่เหลือจะเอาเข้ามูลนิธิหมดเลยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และชีวิตของเขาก็อยู่ได้ แต่สิ่งที่เขาทำมันคือศักยภาพของเขาที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม

คนเรา ถ้าคิดถึงแค่ตัวเอง มันก็จะจบอยู่แค่ตัวเอง บอกฉันอิ่มแล้ว ฉันก็นอน ทั้งๆ ที่มีโอกาสที่จะทำให้คนอื่นอิ่มไปกับเราด้วย แต่ไม่ทำ สุดท้าย ทุกอย่างมันก็จะจบอยู่ที่ตัวเอง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
ฮือฮา! ครูพิจิตร แจกฟรีที่ดินแปลงงาม แค่เด็กเขียนเรียงความ “หนูอยากเป็นคนดี” ส่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น