ติดร่างแห่แบบเลี่ยงเสียไม่ได้ เพราะการจัดงานเทศกาลท่องเที่ยวเปิดบูทส่งเสริมการขายที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะแม่งาน ดันเกิดช่องโหว่ให้ 'ทัวร์เถื่อน' เข้ามาตั้งบูททำการ 'หลอกขายทัวร์' แก่นักท่องเที่ยวที่ตบเท้าเข้ามาเลือกชมแพคเกจนำเที่ยว ยอมจ่ายเพราะเชื่อมั่นในเครดิตของผู้จัดงานกลายๆ ว่า ซื้อทัวร์ที่งานไทยเที่ยวไทย ของ ททท. คงไม่โดนโกงหรอก!
ทำเอานักท่องเที่ยวหลายท่านตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน เพราะรู้สึกตัวอีกทีก็เสียท่าทัวร์เถื่อนไปแล้ว ซึ่งเมื่อช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ก็เป็นข่าวใหญ่โต กรณีบริษัทกระบี่ภูพระนางทราเวลแอนทัวร์ ในงานไทยเที่ยวไทย จัดขึ้นที่เมืองทองธานี หลอกขายแพคเกจทัวร์ราคาถูก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวนับหมื่นคนถูกลอยแพ สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ทั้งโครงข่ายของบริษัททัวร์เถื่อน เซลผีหน้าเดิมๆ ก็ยังวนเวียนเข้ามาหากินภายในเทศกาลท่องเที่ยวของ ททท. แบบไม่ขาดสาย
แน่นอนว่า ททท., กรมการท่องเที่ยว ฯลฯ ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะปัดความรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าวไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คดีใหญ่ดังกล่าวกระพือความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมาก เพราะมีข้อมูลเปิดเผยว่า 2-3 ปีมานี้ ทัวร์เถื่อนอาละวาดในงานของ ททท. ก่อคดีเล็กคดีน้อยเป็นว่าเล่น แต่ดูเหมือนเรื่องจะเงียบหายไป หรือยุติเพียงการวิพากษ์ในโซเชียลมีเดีย
เที่ยววัดใจ ททท. จัดให้
ช่วงเช้าของวันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live ลงพื้นที่ไปยัง กรมการท่องเที่ยว สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บริเวณปทุมวัน พบกลุ่มผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากหลอกขายทัวร์เถื่อนที่ ททท. เป็นแม่งานจัดขึ้นอย่างเป็นประจำ โดยพวกเขานัดหมายรวมตัวเข้ามาเพื่อหวังขจัดขบวนการหลอกขายทัวร์ โดยเฉพาะทัวร์เถื่อนที่เล็ดลอดเข้าไปหลอกขายผู้บริโภคในเทศกาลส่งเสริมการขายที่จัดขึ้นโดย ททท.
“ขึ้นชื่อว่าเป็น ททท. แล้วก็น่าจะรับประกันให้นักท่องเที่ยวได้อยู่แล้วค่ะ ไม่งั้นก็ไปซื้อตามอินเทอร์เน็ตก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาซื้อผ่านเทศกาลท่องเที่ยวก็ได้ใช่ไหมคะ? ในเมื่อซื้อในชื่อ ท่องเที่ยวไทย แล้วเขาก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าโยนกันไปโยนกันมาเป็นไปไม่ได้ ไม่งั้นก็ไม่ต้องมีท่องเที่ยวไทยก็ได้” ชญานิษฐ์ สุนทรอมรเชษฐ์ ผู้เสียหายจากการซื้อแพคเกจทัวร์ในงานท่องเที่ยวไทย ของ ททท. กล่าวพร้อมเปิดเผยว่าเป็นการซื้อทัวร์ครั้งแรกเพราะเชื่อมั่นในตัวผู้จัดงาน แต่ผลที่ได้รับกลับโดนโกงทั้งปัญหายังค้างคาไร้ผู้รับผิดชอบ โดยความเสียหายเกิดขึ้นในงานท่องเที่ยวไทย ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครั้งที่ผ่านมา
“เสียไป 15,000 บริษัทบอกพนักงานบัญชีลาออกไปแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย”
เธอ บอกว่าไม่รู้จะตามเรื่องกับใครแล้ว ทั้งโทรศัพท์และเดินทางไปสอบถามที่บริษัท 2PN ที่ได้ทำการตกลงซื้อแพคเกจทัวร์ในงานดังกล่าวแต่ก็ไม่ได้รับความคืบหน้า ทั้งยังถูกบ่ายเบี่ยงเรื่องการขอรับเงินคืนมาตลอดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
“โดนบริษัท 2PN หลอกขายทัวร์ โดยได้ทำการซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในงานของ ททท. ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังจากที่ซื้อทัวร์ติดต่อบุ๊กกิ้งวันก็มีปัญหา แต่พอบุ๊กกิ้งได้แล้วก็รอวันเดินทาง ก่อนวนเดินทางวันนึงเขาโทรมาบอกต้องจ่ายเงินเพิ่ม เราก็ตัดสินใจไม่จ่าย เหตุผลเพราะไม่รู้เข้าจะเอาไปทำอะไร เขาบอกว่าไม่จ่ายจะเข้าพักไมได้ ก็ไม่จ่าย สุดท้ายเราก็ยกเลิก เรายื่นเรื่องตั้งแต่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้เงินคืน ไปที่บริษัทมาเขาก็บอกว่ากำลังทำเรื่องให้อยู่ เขาบ่ายเบี่ยงไปเรื่อย ผัดวันไปเรื่อยๆ บอกจะจ่ายเงินคืนวันนี้แต่พอถึงกำหนดก็เลื่อนออกไปอีก ก็ยังไม่ได้”
“เราเสียเงินไป ยังไม่แน่ใจว่าจะเอาคืนจากใคร” สุนิศา นุชหรั่ง ผู้เสียหายจากการซื้อแพคเกจทัวร์ในงานท่องเที่ยวไทย ของ ททท. หนึ่งในผู้เสียหายจากกรณีการฉ้อโกงของบริษัทภูพระนาง ที่ไปตั้งบูทขายทัวร์ในเทศกาลท่องเที่ยว เปิดเผยข้อมูล
โดยตัดสินใจซื้อแพกเกจทัวร์ทั้งหมด 4 ที่ ราคา 2,590 บาท และเป็นครั้งแรกที่ตัดสินใจซื้อทัวร์เพราะมีความเชื่อมั่นในตัวผู้จัดงานอย่าง ททท. ซึ่งการออกมาแสดงพลังในครั้งนี้หวังว่าทางหน่วยงานที่กำกับดูแล จะแสดงความรับผิดชอบ
“คิดว่าคงได้รับผิดชอบจากอะไรบ้าง หรือไม่ก็ร้องเรียนให้เขารับทราบว่ามีอะไรแบบนี้ มีการโกงแบบนี้“
ตั้งบริษัทเก๊ ซุ่มดูการทำงาน ททท.
ซึ่งมีทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และแนวร่วมที่ตบเท้าเข้ามาร่วมพลังในครั้งนี้ นำโดย ชัญญา ชาติยานนท์ คณะกรรมการประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากงานท่องเที่ยวเพื่อปฏิวัติ ผู้จัดงานท่องเที่ยว คัดสรรคนขายให้คนไทยไปเที่ยวอย่างปลอดภัย 100% (ก.ททท.) เธอให้ข้อมูลว่า ในประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภคเลย แต่เป็นความผิดเต็มๆ ของทางแม่งานอย่าง ททท. ที่ไร้ประสิทธิภาพไม่มีการตรวจสอบผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้ามาเปิดบูทขายแพคเกจในเทศกาลท่องเที่ยวที่มีประชาสัมพันธ์อย่างโก้หรู
“คนก็อยากซื้อเพราะของถูกไง ไปซื้องาน ททท. มันไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อนะ มันเป็นความผิดของ ททท. คนจัดงานที่ต้องคัดสรรมาให้เรา”
ประเด็นหลอกขายทัวร์ในงานของ ททท. ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งยังเกิดขึ้นอยู่ทุกครั้ง เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวดัง แต่นอนว่ากรณีภูพระนางถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของชาติต้องหันมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะผู้เสียหายทั้งหมดเชื่อมั่นในหน่วยงานที่จัดงาน จึงทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้
หลังจากเกิดกรณีของภูพระนาง ผู้ได้รับความเสียหายเข้ามาร่วมกลุ่มในเฟสบุ๊กจำนวนมาก ให้หลังไม่นาน ททท. จัดเทศกาลท่องเที่ยวขึ้นมาอีกครั้ง และก็มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อลักษณะการฉ้อโกงเช่นเดิม
ชัญญา คณะกรรมการ ก.ททท นั้นเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในแวดวงท่องเที่ยว นอกจากรวมกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อทัวร์ในงานไทยเที่ยวไทยทางอินเทอร์เน็ต เธอเป็นหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและตีแผ่ความฉาวที่แฝงอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว เป็นตัวตั้งตัวตีจับตามองการบริหารจัดการของ ททท. โดยงานท่องเที่ยวครั้งที่ผ่านมา ร่วมกับ กุลเดช พัวพัฒนกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัติย์ จัดฉากตั้งบริษัททัวร์เถื่อนร่วมออกบูทใน เทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2557 Thailand Tourism Festival 2014 ตอน ครบเครื่องเรื่องท่องเที่ยวระหว่าง 4 - 8 มิถุนายน 2557 ณ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพก เมืองทองธานี
ทำงานจัดตั้งบริษัททัวร์ชื่อว่า บริษัท จีโอซาโน่ จำกัด ขึ้นมา และทำทีเป็นบริษัทเถื่อนไม่มีใบประกอบการท่องเที่ยว ยื่นรายชื่อขอออกบูทในเทศกาลดังกล่าวที่ ททท. เป็นแม่งาน และได้รับการตอบรับว่าเข้าร่วมออกบูทได้เลย จ่ายเงินเสร็จก็เชิญเข้าจัดบูทได้ตามสบาย
ต่อมา วันที่ 4 มิถุนายน ได้พบบูทที่เป็นเครือข่ายหลอกหลวงของภูพระนาง จึงไทำการแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว โดยแจ้งให้ตรวจสอบบูทที่ไม่ชอบมาพากล อาทิ บลู วิลเลจ รีสอร์ท, ออเร้นท์ ทรีเฮ้าส์, สไมล์ ไทยแลนด์ ทัวร์, ดีดี ทัวร์ และ จีโอซาโน่ บริษัทตุ๊กตาของตน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตรงดิ่งมาจับกุมเพียงจีโอซาโน่แห่งเดียว ตรงนี้ถึงสร้างความครางแครงใจว่าทำไมเจ้าหน้าเลือกปฏิบัติไม่ดำเนินการตรวจสอบจับกุมบูทอื่นๆ ที่แจ้งเข้าไป
ชัญญา ยังเปิดเผยว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้หญิงที่มาจากกรมการท่องเที่ยว นั้นแสดงกิริยาไม่เหมาะสม ทั้งยังใช้อำนาจเลือกปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งขณะที่เซลของจีโอซาโน่ถูกจับกุม ก็มีการให้ข้อมูลต่อทางเจ้าหน้าที่ด้วยว่าช่วยสไมค์ไปตรวจสอบบูท บลู วิลเลจฯ E 36 ด้วย แต่ก็ได้รับคำตอบในทำนองจะจับกุมบูทเรานี้แหละ
แลกหมัด ทัวร์เถื่อน
“2-3 ปี ที่ผ่านมา มันโผล่เหมือนดอกเห็ด เหมือนเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ใช้เฉพาะในงานของททท.อย่างเดียว มีทั้งเอกชนด้วย ในบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ บูทขายทัวร์มันไปอยู่ทุกที่เลย” เจริญ วังอนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยข้อมูลทัวร์เถื่อนที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค และยังไม่มีหน่วยงานที่เข้าดำเนินการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่ได้มีโลโก้ ททท. แล้วจะการันตี ได้ทุกอย่าง อย่างไรมันก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย”
สำหรับรูปแบบกลโกงของบริษัททัวร์เถื่อนนั้นเริ่มตั้งแต่ ไม่ทำการจดทะเบียนใบประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้เองจะให้การคุ้มครองผู้บริโภคเบื้องต้นกรณีการโดนโกง หรือล่อขายในราคาถูก โฆษณาชวนเชื่อ เช่น ตั้งราคาหลักแสน แต่ลดพิเศษเหลือหลักหมื่นหรือหลักพัน หรือ หลอกขายควบการบริการที่ดี แต่สุดท้ายขายได้เยอะๆ ก็ปิดบริษัทหนีโดยอ้างว่าขาดทุน ซึ่งมันคือการโกงรูปแบบหนึ่ง
“งานที่จัดโดย ททท. จะปัดความรับผิดชอบก็คงไม่ได้ เพราะว่าเป็นเจ้าของงาน หนึ่ง-เป็นคนดูแลท่องเที่ยว ถึงแม้ไม่ได้ดูแลโดยตรงแล้วเพราะโอนภารกิจหลักไปให้ทางกระทรวงฯ แต่ว่าด้วยตัวเองทำเรื่องของท่องเที่ยวเป็นหลัก จะต้องมีความเชี่ยวชาญมีความรอบรู้ จะต้องใส่ใจว่าคนที่มาออกบูทจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนถูกต้อง คือเหมือนกับว่ากรมตำรวจแล้วมีคนเข้ามาขโมยของในกรมตำรวจ คนเข้าใจอย่างนั้นก็คงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ (ยกตัวอย่างงานที่จัดที่เมืองทองฯ) ททท. มอบหมายให้คอลเซ็นเเตอร์ไปขายบูท ตรงนี้ ททท. ต้องมีนโยบายให้เขาไปตรวจสอบขายบูท นี่ก็เป็นช่องว่างที่ทำให้มิจฉาชีพเข้าไปยังงานของ ททท. ได้”
ททท. และผู้จัดงานในลักษณะดังกล่าว ต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนอนุญาตให้เข้ามาเปิดบูทขายทัวร์ เบื้องต้นคือในเรื่องใบอนุญาตฯ แต่นั่นก็ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าผู้บริโภคจะไม่ตกเป็นเหยื่อของทัวร์เถื่อน ฉะนั้น ทุกคนต้องร่วมเป็นหูเป็นตา ด้านผู้บริโภคเองเป็นหูเป็นตาตรวจสอบและร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริต และที่สำคัญหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบต้องปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจัง จัดการเป็นตัวอย่างเพื่อกำราบทัวร์เถื่อนที่จะแฝงเข้ามาอีก
“ใครมีหน้าที่ปราบปราม มีหน้าที่ปกป้อง มีหน้าที่ฟ้องร้องก็ทำให้เต็มที่และก็ทำอย่างจริงจัง ตอนนี้มันมีเป็นดอกเห็ดอย่างนี้ คนที่กุมบังเหียนอยู่ต้องมาร่วมพูดคุยว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร มันต้องมีคนเอาใจใส่ดูแลให้มากกว่านี้” เจริญ ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการทำงานของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยในเวลานี้ เน้นหนักในเรื่องการตลาดและการประชาสัมพันธ์ แต่ในเรื่องมาตรการดูแลสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวดูเหมือนยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการสอดส่องดูแลเท่าไหร่นักยังดำเนินในรูปแบบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ซึ่งบทเรียนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่ทำให้ผู้จัดฯ อย่าง ททท. ตระหนักถึงการคัดกรองผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเปิดบูทได้ ก่อความเสียหายซ้ำซากต่อทรัพย์สินและความรู้สึกของนักเดินทางเข้าทำนองที่ว่า.. ผิดที่ไว้ใจ ททท.
…......................
เรื่องโดย ทีมข่าว Astv ผู้จัดการ Live
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754