xs
xsm
sm
md
lg

สุดทึ่ง!! “คสช.” มองการณ์ไกล สั่งเร่งชวนเด็กเรียนอาชีวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนึ่งในแผนการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่สร้างความแปลกใจให้แก่คนไทยบางส่วน หลังออกนโยบายมอบหมายให้ทบทวนวิธีการเสริมสร้างค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ เพราะที่ผ่านมาเด็กเรียนต่อสายอาชีวะน้อยมาก ทั้งที่ตลาดแรงงานต้องการสูง ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่การแก้ปัญหานี้กว่าจะสัมฤทธิ์ผลคงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น การที่คสช. หยิบยกมาเป็นประเด็นถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่เด็กไทยในยุคนี้จะได้เลิกค่านิยมผิดๆ ที่ว่าต้องจบปริญญาถึงจะเท่เสียที

เด็กไทยเมินเรียนอาชีวะ

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญมานานพอสมควร แต่ยังไม่เห็นผลตอบรับที่ชัดเจนนัก สำหรับการผลักดันให้นักเรียนหันมาเลือกเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีการร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สอศ.และพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำกับดูแลฝ่ายสังคมจิตวิทยา ซึ่งได้มีการนำเสนอภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาในปัจจุบันที่ยังมีนักเรียนมาเรียนไม่มากตามเป้าหมาย และยังมีปัญหานักเรียนออกกลางคัน แม้ในปีการศึกษา 2557 สอศ. ได้รณรงค์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้นักเรียนที่จบชั้น ม.3 มาเรียนต่อสายอาชีวศึกษาแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ทางสอศ. ยังได้เสนอให้มีการเพิ่มเงินค่าอุปกรณ์การเรียนในเงินอุดหนุนรายหัวของเด็กอาชีวศึกษาให้มากขึ้น สาขาวิชาละประมาณ 1,000- 2,000 กว่าบาท เพื่อให้เพียงพอกับค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน เนื่องจากปัจจุบันค่าอุปกรณ์ของเด็กอาชีวะที่ได้รับประมาณ 230 บาท เป็นอัตราเดียวกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งการที่เด็กต้องเสียค่าอุปกรณ์การเรียนดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กต้องออกจากการเรียน เพราะผู้ปกครองไม่มีเงินมาจ่ายส่วนนี้ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญคือเรื่องของครูผู้สอนที่ขาดแคลนมาเป็นระยะเวลานาน สรุปเป็นตัวเลขได้กว่า 8,800 คน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ด้านนโยบายของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ก็ได้มอบหมายให้ทบทวนวิธีการเสริมสร้างค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ เพราะที่ผ่านมาเด็กเรียนต่อสายอาชีวะน้อยมาก ทั้งที่ตลาดแรงงานต้องการสูง สอศ. จึงต้องสร้างความคิดให้เด็กเกิดความภูมิใจเมื่อมาเรียนสายอาชีพ และต้องทำให้เห็นว่าเรียนอาชีวะแล้วดูดี มีรายได้สูง ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งต้องดึงคนเก่งเข้ามาเรียนให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ขยายโครงการทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการให้มากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมอบหมายให้ สอศ. เร่งเดินหน้าโครงการอาชีวะอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการที่จะใช้หมู่บ้านเป็นห้องปฏิบัติการของเด็ก โดยให้เด็กสาขาช่างเชื่อม ก่อสร้าง และไฟฟ้าเข้าไปก่อสร้างบ้านให้แก่คนที่ยากจนที่สุดในทุกจังหวัดๆ ละ 1-2 หลังตามสภาพ โดยให้เริ่มต้นจากการสร้างบ้านให้แก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมไปถึงให้ศึกษาแนวทางป้องกันการทะเลาะวิวาทของเด็กอาชีวศึกษา ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้ดำเนินการในบางพื้นที่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เสื่อมเสียเช่นนี้อีกด้วย

คนยี้ สาเหตุภาพลักษณ์แย่

ปัญหาการผลักดันเด็กนักเรียนให้เลือกเรียนสายอาชีวะ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน อย่างเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดรับนักเรียนอาชีวะเข้าศึกษา จากดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการรับนักเรียนสายอาชีวศึกษา กับสายสามัญศึกษา ในปีการศึกษา 2557 เป็น 45 ต่อ 55 หรือคิดเป็นสายอาชีวะ 295,040 คน ในจำนวนนี้เป็นเป้าหมายการรับนักเรียนของวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 185,285 คน คิดเป็น 62.8% ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลการรับนักเรียน นักศึกษาล่าสุด พบว่า มีนักเรียนมาสมัครแล้ว 142,144 คน ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 43,141 คน ซึ่งคาดว่าจนถึงวันเปิดภาคเรียน สอศ.คงไม่สามารถรับนักเรียนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แน่นอน

“ภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้วิทยาลัยใหญ่ๆ ในจังหวัดรับนักเรียนเต็มตามจำนวนรับแล้ว จะเหลือที่ว่างอยู่ในวิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ทั้งนี้สาเหตุที่จำนวนรับนักเรียนอาชีวะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น เพราะโรงเรียนสายสามัญฯ ทั้งรัฐและเอกชน ยังคงเปิดรับนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กบางส่วนไม่ตัดสินใจที่จะเลือกเรียนสายอาชีพ เพราะยังมีความหวังจะได้เรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐอยู่ ซึ่งได้สั่งการให้ทุกวิทยาลัยแจ้งตัวเลขจำนวนรับเด็กที่ชัดเจนเข้ามาเรื่อยๆ และคาดว่า สอศ.จะสามารถรับเด็กได้ประมาณ 40% จากสัดส่วนที่ตั้งไว้ 45%” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

สำหรับต้นตอของปัญหา อย่างแรกคือเรื่องทัศนคติของคนไทยต่อเด็กอาชีวะ เทคนิค ช่างกล โดยส่วนมากมักจะมองไปในแง่ลบ เนื่องจากข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบันต่างๆ ที่ในช่วงหลังเกิดขึ้นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงความคิดของพ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่เชื่อว่า เรียนจบปริญญาตรีถึงจะได้ดี เพราะในสมัยก่อน คนเรียนจบปริญญาตรีมีน้อย และโดยส่วนมากจะได้ทำงานรับราชการ จึงเชื่อว่าจบปริญญาตรีถึงจะมีงานดีๆ ทำ ประการสุดท้ายคือค่าแรง อย่างที่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท ก็เป็นสิ่งที่ล่อใจได้ไม่น้อย

ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ลงในนิตยสารเพื่อการปฏิรูปการศึกษาว่า ในปัจจุบันคนเลือกที่เรียนต่อในสายอาชีวะนั้นน้อยมาก ดังนั้น ต้องมีการรณรงค์ให้สังคมเห็นว่าการเรียนอาชีวะก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังจบการศึกษาไปแล้ว

"ต้องมองภาพรวมก่อนว่าปัญหาของการอาชีวศึกษาเป็นปัญหาเดียวกันทั้งโลก คือหาคนมาเรียนอาชีวะยาก คนเน้นค่านิยมเรียนในมหาวิทยาลัย การพัฒนาอาชีวะจึงทำได้ยาก ถ้าไม่มีการรณรงค์ให้สังคมเห็นคุณค่าว่าเรียนอาชีวะแล้วมีจุดมุ่งหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานการทำที่ดี คนเขาก็ไม่มาเรียนหรอก ทั้งๆ ที่การจัดการศึกษาระดับอาชีวะเป็นเรื่องที่สำคัญ ทำอย่างไรถึงจะได้เด็กที่มีคุณภาพมาเรียนกันมากๆ เพราะอาชีวศึกษาคือกระดูกสันหลังของภาคอุตสาหกรรม เป็นหัวใจในการผลิตคนระดับรากฐานที่มีทักษะฝีมือ ทั้งนี้นโยบายจากผู้บริหารการศึกษาระดับอาชีวศึกษาก็มีความสำคัญมาก ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ต้องมองให้รอบ มองให้กว้าง ปัญหาต่างๆ ของอาชีวะจึงจะแก้ได้

การจะแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษาในระยะยาว ต้องเริ่มพร้อมๆ กันทั้งการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเด็กอาชีวะกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ส่วนแรกต้องมีการเตรียมผู้เรียนที่ดี มีความพร้อม มีความตั้งใจจริง ทำให้เขาเกิดศรัทธาในการศึกษาระดับอาชีวะและส่วนที่สองจะต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขหลักสูตรและพัฒนาครูอาจารย์ในสถานบันอาชีวะทั้งหลาย"

ค่านิยมผิด ต้องจบ ป.ตรี

ค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมานานเกี่ยวกับการจบปริญญาตรี ยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีตัวเลือกให้เรียนอย่างมากมายหวังได้เพียงใบปริญญาและฝันหวานไปว่าจะได้เงินเดือนที่ดีกว่า เลยทำให้หลายๆ คนมองข้ามการเรียนต่อในสายอาชีวะ แต่ทั้งนี้ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ มีจำนวนคนตกงานมากมาย เพราะตลาดแรงงานต้องการแรงงานในสายอาชีวะมากกว่า

“ทุกวันนี้ การเรียนในสายสามัญโดยพุ่งเป้าไปสู่ระดับปริญญาตรี ได้กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ไปแล้ว แต่กลับพบคนตกงานเยอะมาก ขณะที่การเรียนในสายอาชีพ แม้ว่าจะถูกมองเป็นเส้นเลือดรอง กลับมีความสำคัญมากกว่า โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าสู่แรงงานฝีมือระดับกลาง ซึ่งเรากำลังส่งเสริมการศึกษาแบบผิด ๆ มุ่งธุรกิจการศึกษากันมากขึ้น หากยังย่ำอยู่แบบนี้ ส่วนตัวมองว่าอันตรายมากสำหรับอนาคตของประเทศที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะในเมื่อเด็กไทยไม่เรียน เพื่อนบ้านก็จะส่งคนของเขาเข้ามาเรียนแทน อีกหน่อย แรงงานระดับกลางของไทยกว่าครึ่งจะถูกแทนที่ด้วยแรงงานต่างชาติ แล้วคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทย”

ด้าน ดร.ประสาน ประวัติรุ่งเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) จ.นนทบุรี ก็ได้กล่าวสนับสนุนว่า ถึงเรียนสายอาชีวะก็มีงานทำอย่างแน่นอน ไม่ต่างจากกลุ่มคนที่จบปริญญาตรีแต่อย่างใด

“เด็กที่เรียนอาชีวะ ผมยืนยันได้เลยว่า มีงานทำแน่นอน โดยเฉพาะในตลาดแรงงานระดับกลาง ทั้งยังสามารถพัฒนาตัวเองเข้าสู่ระดับบริหารในระดับสูงๆ ต่อไปได้ นอกจากนั้น การมีทักษะฝีมือที่ดีแถมมีประสบการณ์ด้วยแล้ว ย่อมมีโอกาสก้าวหน้าได้เร็วกว่า ทั้งยังสามารถต่อยอดในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเรียนอาชีวะแล้วจะจบออกมาแค่ ปวช.หรือ ปวส.เท่านั้น อย่างผมเองก็เรียนสายอาชีวะมาเหมือนกัน ปัจจุบันมีหน้าที่การงานที่ดีไม่ต่างจากเพื่อนๆ ที่เรียนในสายสามัญ”

หากวงการอาชีวะยังไม่ปรับแก้ภาพลักษณ์ที่คนไทยหลายคนมองว่า เก่งแต่เรื่องทะเลาะ ตี ต่อย ศึกสถาบันต่างๆ ที่ยังคุกรุ่น และมีแต่เด็กไม่เอาไหนมาเรียน คงไม่ทำให้นักเรียนหันมาเรียนเอาดีทางนี้ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือการปลูกฝังค่านิมยมแบบผิดๆ ให้เด็กไทยต้องจบปริญญาตรี เพราะดูดีกว่า มีราคากว่า เงินเดือนมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนทัศนคติทั้งสองด้านอย่างที่กล่าวไปนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ อาจต้องดูกันไปอีกยาว

เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ Live

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!


กำลังโหลดความคิดเห็น