เหตุบ้านการเมืองหลังทหารยึดอำนาจตั้งศูนย์รักษาความสงบแห่งชาติ (ศสช.) แม้มวลชนของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) จะแยกย้ายสลายการชุมนุมไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือความเห็นที่แตกต่างต่อทางออกของประเทศที่เดินมาถึง “การรัฐประหาร”
ด้านหนึ่งก็มองว่าเป็นทางตัน เป็นทางที่วนกลับไปสู่การรัฐประหารแบบเดิมอย่างที่เป็นมาตลอดหลายปี ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับมองว่า นี่คือโอกาสอันดีที่จะทำความสะอาดประเทศครั้งใหญ่ ให้ปราศจากการคอร์รัปชันด้วยระบบที่เด็ดขาดในแบบของทหาร
สุ่มเสียงที่ถกเถียงเกิดเป็นวาทกรรมปะทะกันบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่ “ยอมรับรัฐประหารไม่ได้ แต่รับคอร์รัปชันได้” หรือถกเถียงถึงประเด็นเสรีภาพ “ก่อนจะถามว่านกพิราบไปไหน รบกวนช่วยบอกก่อนได้ไหมว่า ข้าว 3 ล้านตันที่พรรคเพื่อไทยจำนำไว้หายไปไหน” กระทั่งจุดยืน “อเมริกาอย่ายุ่ง!”
ต่อไปนี้คือเพจชั้นนำที่ ทีมงาน ASTV ผู้จัดการ LIVE ได้รวบรวมมาถือว่าเป็นเพจทรงอิทธิพลที่มีจุดยืนสนับสนุนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง!!!
เพจ I Support PM Abhisit
ไม่ใช่เพจอย่างเป็นทางการของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ถือว่ามีการจัดทำเนื้อหาที่น่าสนใจ ร้อนแรงตรงกับความต้องการของผู้สนับสนุนได้อย่างทันท่วงที มียอมไลค์กว่า 454,000 คน
ก่อตั้งขึ้นในช่วงมีนาคม 2553 ใกล้เคียงกับที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ อาจบอกได้ว่าเพจนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้อภิสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้เพจการเมืองเพจนี้ก็ยังเกาะติดสถานการณ์ รายการข่าวพร้อมทั้งร่วมแสดงความเห็นต่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ความผิดพลาดในการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ติดตามการชุมนุมของกลุ่มกปปส. จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร มีการแชร์เกร็ดความรู้รวมไปถึงจุดยืนอุดมการณ์ที่ให้ชุดคำอธิบายที่โดนใจมวลชนเป็นอย่างมาก
จุดเด่นคือความรวดเร็วและร้อนแรงของประเด็นที่นำเสนอ
เพจ ขบวนการเสรีไทยเฟซบุ๊ค
ขบวนการเสรีไทยมีชื่อโด่งดังในประวัติศาสตร์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 การเคลื่อนไหวที่นำโดยปรีดี พนมยงสร้างเงื่อนไขทำให้ประเทศไทยไม่แพ้สงครามแม้จะให้ความร่วมมือกับประเทศแพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นก็ตาม ชื่อนี้กลับมาปรากฏอีกครั้งในนาม “ขบวนการเสรีไทยเฟซบุ๊ค”
ก่อตั้งเพจมาตั้งแต่พฤษภาคม 2554 แต่เดิมทีนั้นมีรูปแบบเป็นเว็บบอร์ดที่ใช้ชื่อว่า ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด หรือ serithai.net โดยเป็นเว็ปบอร์ดที่เป็นเสมือนสภากาแฟให้ผู้คนเข้ามาถกเถียงแสดงความคิดเห็นในประเด็นการเมืองด้วยการกระทู้ถาม - ตอบกันภายใน
กระทั่งภายหลังขยับตัวเองมาอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการตั้งกระทู้ถาม - ตอบ เป็นการโพสต์ข่าวสารความเคลื่อนไหวพร้อมทั้งจุดยืนทางการเมือง มีจุดเด่นที่ข้อมูลเชิงลึก หรือข้อความคำพูดจากนักวิชาการ นักการเมืองที่ย่อมาสั้นๆแต่ได้ใจความ ยังมีข้อความแนวยั่วล้อฝั่งตรงข้ามที่ได้ใจมวลชนประกอบอยู่ด้วย ยอดลูกเพจ 233,000 คนเป็นยอดไลค์ที่สั่งสมผ่านเหตุการณ์จุดเปลี่ยนทางการเมืองมากมาย
เพจ ห่วยตูน
ชื่อเพจอาจมีชื่อล้อเลียนกับนิตยสารความรู้รุ่นเก๋าอย่าง ต่วยตูน แต่ “ห่วยตูน” คือเพจการเมืองอีกเพจที่มีจุดเด่นที่การภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนในสไตล์ของการ์ตูนแก๊กแบบ 3 ช่องจบ โดยมุกแต่ละมุกก็มีความสดใหม่ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ มีการดีไซน์คาแร็กเตอร์การ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองออกมาสร้างความตลกขบขันตั้งแต่แวบแรกที่มองเห็น ยอดไลค์ 110,000 ถือว่าเป็นยอดไลค์ที่เติบโตขึ้นมาในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ว่าได้
เพจ michael yon
นักเขียน นักข่าว - ช่างภาพอิสระชาวอเมริกันผู้โชกโชนผลงาน ผ่านสมรภูมิข่าวมาแล้วมากมาย เคยเข้าไปทำข่าวในช่วงสงครามอัฟกานิสถานอีกด้วย จนถึงตอนนี้เขาเข้ามาทำข่าวอยู่ที่ประเทศไทย มีการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. โดยถือเป็นสื่อต่างชาติไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าใจบริบทของประเทศอย่างชัดเจน
จุดเด่นของเพจคือภาพข่าวที่มีความสวยงาม มีการรายงานเป็นภาษาอังกฤษพร้อมภาษาไทย เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสื่อสารความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยให้แก่ต่างชาติได้รับรู้ จนถึงตอนนี้เขาก็ยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ยอดไลค์ในเพจปัจจุบันสูงถึง 229,000 แล้ว
เพจ องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน
มีจุดยืนชัดเจนเด็ดขาดในการจะเก็บกวาดจัดการขยะแผ่นดิน ทั้งนี้เป็นเพจที่เกิดขึ้นได้ไม่นานแต่ก็มีผู้เข้ามากดไลค์สูงถึง 187,000 คน เป็นเพจของพล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา มีเป้าหมายในการจัดการกับคนไทยที่ก่อคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้มาตรการเด็ดขาด แม้ด้านหนึ่งจะมีผู้เห็นค้านกับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น แต่ยอดไลค์ที่เพิ่มอย่างรวดเร็วก็แสดงให้เห็นว่า มีผู้คนที่พร้อมจะตอบสนองอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ก่อคดีเช่นนี้มากเพียงใด
ผลงานที่ผ่านมา เพจดังกล่าวสามารถรวมตัวนักรบไซเบอร์รีพอร์ตเพจที่ต้องสงสัยว่ามีการทำผิดได้แล้วหลายเพจ ปัจจุบันเพจนี้ก็ยังคงติดตามประเด็นผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่อง
เพจ กวีตีสาม
รวมบทกลอน - กวีแต่งโดย เกลือ - กิตติ เชี่ยววงศ์กุลหรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “วอก เป็นต่อ” ดาราตลกมากรอยยิ้มเปี่ยมอุดมการณ์ผู้ขึ้นเวทีกปปส.มาหลายต่อหลายครั้ง ในช่วงเวลาว่างโดยเฉพาะช่วงตีสามเป็นช่วงที่เขาว่างเว้นจากงานแล้วนั่งลงเขียนบทกวี ทั้งนี้ บทกวีของเขาบอกเล่าเรื่องราวพร้อมทั้งทัศนคติทางการเมืองของตนเอง มีภาษาที่สวยงามในแบบกวี แต่ตรงและเฉียบคมในแบบของนักเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้เพจของเขาเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
อีกทั้งประเด็นเรื่องราวที่บอกเล่านั้นก็ทันต่อเหตุการณ์ พูดในสิ่งที่อยู่ในใจของหลายคนได้อย่างตรงประเด็น แม้จะเปิดตัวไม่นานและโพสต์แต่บทกวีที่ต้องใช้เวลาอ่านนานพอสมควรแต่ก็มียอดไลค์สูงถึง 19,673 เลยทีเดียว
เพจการเมืองแบ่งกลุ่ม สังคมยิ่งแบ่งแยก
การเกิดขึ้นของเพจการเมืองนั้นมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่เพจของบุคคลที่เป็นบุคคลทางการเมืองโดยตรง เพจนิรนามของบุคคลที่ไม่ต้องการจะเปิดเผยตัวตน แต่ต้องการแสดงจุดยืน จนถึงเพจของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่อาจมีจุดร่วมทั้งจากพรรคการเมือง จุดร่วมทางอุดมการณ์ หรือจุดร่วมทางเป้าหมายเฉพาะกิจ
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)/ไทยพีบีเอส อธิบายปรากฏการณ์เพจการเมืองว่า มาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์การเมืองและต้องการแสวงหาจุดร่วมทางความคิด ดังนั้นเมื่อมนุษย์เคลื่อนย้ายตัวตนจากโลกจริงสู่โลกเสมือน การแสวงหากลุ่มคนที่มีความคิดเหมือนกันบนพื้นที่เสมือนอย่างเฟซบุ๊กจึงเกิดขึ้น
“เพจทางการเมืองก็เปรียบเสมือนผู้นำทางความคิด สมัยก่อนก็เหมือนหัวคะแนน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เจ้าอาวาส พระสงค์ หรือคุณครู ใครก็ตามที่มีอิทธิพลในชุมนุม แต่สื่อใหม่เข้ามาทำลายตรงนั้น ทำให้ใครก็ได้มาเป็นผู้นำทางความคิดทางการเมือง ลักษณะสำคัญคือการมีความคิดทางการเมืองร่วมกัน”
งานวิจัยเมื่อปี 53 ของมีเดียมอนิเตอร์เผยว่า กลุ่มทางการเมืองนั้นไม่ได้มีเพียงเหลือง - แดง แต่มีหลายเฉดไม่ว่าจะเป็นสนับสนุนทหาร รัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือสนับสนุนสายสันติวิธี สนับสนุนสถาบัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยสนใจการเมืองมากขึ้น
“เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ คุณไม่สามารถใช้ชีวิตบนเฟซบุ๊กได้โดยไม่มีประเด็นร่วมทางการเมือง” เขาให้คำอธิบาย “เพราะไม่ใช่ว่าเราจะโพสต์รูปเซลฟี่ รูปอาหารอยู่อย่างเดียว มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวทั้งหมด ครึ่งหนึ่งมันมีเรื่องข่าวสารสถานการณ์สังคม เป็นพื้นที่แสดงความเห็น พูดง่ายๆ เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวมอยู่ร่วมกัน”
และท่ามกลางพื้นที่นั้นการแบ่งขั้วทางการเมืองส่งผลให้ผู้คนต้องเลือกข้างจากปฏิสัมพันธ์ทางความเห็นผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม ความเป็นเพื่อนที่ทำงาน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ความเป็นคนรู้จักเครือข่ายเหล่านี้จะยิ่งดึงและผลักผู้ใช้งานให้ไปในขั้วใดขั้วหนึ่งเสมอ
“ตามทฤษฎีการแบ่งขั้ว เมื่อมีการปะทะทางความคิดกันมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างในอเมริกา ผู้คนที่เป็นเดโมแครต กับริพับลิกันสมัยก่อนยังคุยกันบ้างเพราะต้องเจอตัวกันในชีวิตจริงอาจจะต้องเจอกันอาจเป็นตามสภากาแฟ บนรถโดยสารหรือตามร้านอาหาร แต่เฟซบุ๊กทำลายตรงนั้น เพราะมันทำให้แต่ละคนเข้าถ้ำเข้ากลุ่มที่ตัวเองเลือกได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมานั่งถกเถียง
“ฉะนั้นเฟซบุ๊กจะทำให้กลุ่มทางการเมืองขยายตัวและรุนแรงมากขึ้น ทุกคนต่างมีช่องทางสื่อ มีชุมชนของตัวเอง เราลดโอกาสวิวาทะไป มันจะทำให้สังคมเริ่มขมวดเป็นก้นหอยสนใจแต่เรื่องของกลุ่มตัวเอง พูดง่ายๆ ต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นแล้ว กลายเป็นว่าผู้คนมีความอดทนต่อความเห็นต่างได้น้อยลง จุดแตกหักมันง่ายขึ้น”
เขาเผยต่อไปว่า การเสพข่าวในเฟซบุ๊กผู้ใช้งานจะรู้สึกว่ามันง่ายที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ง่ายที่จะแชร์ ง่ายที่จะโพสต์ ง่ายที่จะแสดงความคิดเห็น และเวลาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กผู้ใช้งานจะไม่เห็นคนตรงหน้า สิ่งนั้นทำให้ความเห็นที่ออกมารุนแรงโดยไม่รู้ตัว
“ลองคิดดูเวลาเราแสดงความทางการเมืองในร้านกาแฟร้านอาหารกับคนอื่นที่เห็นต่างจากเรา เราจะพินอบพิเทากว่า เราไม่เคยด่าใครไม่ใช่คนไทย ไม่เคยด่าใครหยาบๆ คายๆ ไม่เคยมาด่าเกลียดชังต่อหน้า การสื่อสารแบบเห็นหน้าค่าตามันทำให้เรารู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ แต่เฟซบุ๊กไม่ใช่ เวลาเราสื่อสารทางการเมืองมากๆ เราจะมองไม่เห็นคนที่เรากำลังด่า เราเห็นแต่ควายแดง สลิ่ม เราเห็นแต่ความเป็นพวกแบ่งแยกประเทศ เราไม่เห็นความเป็นมนุษย์ นี่คือปัญหาของสื่อใหม่”
ท้ายที่สุดเขาฝากคำแนะนำถึงการใช้สื่อเฟซบุ๊กเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า หากมีปัญหาความเครียดเพิ่มขึ้นก็ควรลดเวลาการใช้งาน การเสพสื่อเหล่านี้ลง และหากเป็นผู้ใช้งานที่ชอบแชร์ข่าวสารก็ควรคิดก่อนแชร์ให้มากขึ้น อย่าเพิ่งใส่อารมณ์ไปกับข่าวที่เกิดขึ้น ควรตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน ข้อสุดท้ายเขาเห็นว่า ผู้คนควรแยกความสัมพันธ์ในโลกออกไลน์ออกจากชีวิตจริงให้ออก แม้จะอันเฟรนด์ไม่รับฟังคนเห็นต่างกันทางการเมืองในเฟซบุ๊ก แต่ในชีวิตจริงก็ควรจะรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายด้วย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!