วันสตรีสากล (8 มี.ค.) กลุ่มเด็ก สตรี และเพศที่สามชาวไทยกว่า 300 ชีวิต ได้ยึดพื้นที่สวนสันติชัยปราการ ถ.พระอาทิตย์ กรุงเทพฯ จัดม็อบรวมพลังกันเต้นเพลง Break the Chain ฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาการรณรงค์ยุติความรุนแรง ส่งเสริมคุณค่าและพลังของผู้หญิง โดยมีการบันทึกวิดีโอการเต้นเพื่อนำไปตัดต่อ เผยแพร่ในประเทศไทย และส่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการรณรงค์ในระดับโลกด้วย
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์ "หนึ่งพันล้านเสียง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" ที่แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้หญิง 14 องค์กร ในนาม "เครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" จัดขึ้นเนื่องในวันสตรีสากล (8 มี.ค.) โดยมี ดร. ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. และดร. ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน
น.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสนับสนุสุขขภาวะผู้หญิง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ระดับโลก ที่มีชื่อเรียกว่า One Billion Rising for Justice ที่จัดโดยองค์กร V-Day ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3-4 ปี โดยนักกิจกรรมจากทั่วโลกจะออกมารวมตัวกันในวันแห่งความรักเพื่อร่วมกันเต้นเพลง Break the Chain ที่มีเนื้อหาต่อต้านความรุนแรง และสื่อถึงพลังและคุณค่าของผู้หญิง
"การรณรงค์นี้ริเริ่มโดยศิลปินนักเขียนบทละคร ที่เคยเขียนบทละครเพื่อปลุกให้ผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมาพูดเรื่องเพศของตัวเอง พอมาถึงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงครั้งนี้ จึงใช้แนวคิดที่ใช้ศิลปะ คือ เพลงและการเต้น มาเป็นสื่อรณรงค์เพื่อดึงให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยใช้เพลง Break the Chain เป็นเพลงสำหรับการเต้นรณรงค์ และเครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ให้ชื่อเพลงว่า ทำลายโซ่ตรวน"
"การชวนคนออกมาเต้นในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของการรณรงค์ครั้งนี้ เป็นการสื่อว่าเราไม่ยอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เป็นการยืนยันว่าคนทุกคนมีสิทธิเหนือร่างกายตนเอง และคนทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ต้องได้รับการคุ้มครองให้สามารถมีชีวิตที่ปลอดภัยและไม่ถูกทำร้าย" ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิง สสส. กล่าว
สำหรับกิจกรรมรณรงค์ One Billion Rising for Justice ที่ผ่านมา มีหลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจกันมาก โดยในปี 2556 มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวพร้อม ๆ กันในประเทศต่าง ๆ จำนวน 207 ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ในปีนี้ แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ร่วมกับอีก 14 องค์กรผู้หญิงได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมครั้งนี้ผ่านการรณรงค์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัว และเห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหา
ดูข้อมูลเพิ่มเติมการจัดงานในระดับสากลได้ที่ www.onebillionrising.org
/////////////////////
ข้อมูลประกอบข่าว
วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี (อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ) เป็นวันที่มีการประท้วงของแรงงานหญิง ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน
ประวัติความเป็นมา ของ "วันสตรีสากล" เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 (พ.ศ. 2400)
จากนั้นในปี ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก
ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
กระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย
ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล"
ที่มา : วิกิพีเดีย
ASTV ผู้จัดการ Live