xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็นช่างภาพสารคดี ในวิถี “สมศักดิ์ เนตรทอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้า “สมศักดิ์ เนตรทอง” ช่างภาพมือรางวัลภาพถ่ายสารคดี Photography Contest 2013 ภายใต้หัวข้อ “10ภาพเล่าเรื่อง Season 3”
ในความรู้สึกของคนทั่วไป หลายคนอาจมองว่า ภาพถ่ายที่ดี ควรมีสีสันคมชัด รายละเอียดครบถ้วนไม่ผิดเพี้ยน หรือมากกว่านั้น คงหลบไม่พ้น ต้องหลากมิติ มีมุมมอง ถ่ายในสถานที่ที่คนธรรมดายากจะเข้าถึง แต่นั่นกลับเป็นทัศนะที่สวนทางกับคำนิยามของหนุ่มใหญ่วัย 32 ปี ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดภาพถ่ายสารคดี ภายใต้หัวข้อ“10 ภาพเล่าเรื่องSeason 3” ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อย่าง “สมศักดิ์ เนตรทอง” ด้วยชุดภาพถ่ายสารคดี ที่มีชื่อว่า “Dancing Girl (หางเครื่อง)”
 
แน่นอนว่าผลงานสารคดีชิ้นนี้ ย่อมไม่ธรรมดา เพราะต้องผ่านด่านคัดเลือกอันแสนครัดเคร่งจากคณะกรรมการระดับปรมจารย์ด้านภาพถ่าย อาทิ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีชั้นแนวหน้าของไทย อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพมือรางวัลระดับนานาชาติ และวินัย ดิษฐจร ช่างภาพมืออาชีพ ฯลฯ ที่ร่วมจับมือกันชำแหละผลงานภาพถ่ายทุกองศาของผู้เข้าประกวดทุกคนกว่า 695 ผลงาน รวม 5,560 รูป เพื่อเฟ้นหาสุดยอดภาพเล่าเรื่องที่ดีที่สุด เพียง 10 รูป อันได้แก่ผลงานของสมศักดิ์ เนตรทอง
 
ดังนั้นวลีเด็ดชิ้นสำคัญเกี่ยวกับหัวใจในการถ่ายภาพที่ดี ผ่านทัศนะของสมศักดิ์ เนตรทอง คงไม่ฟังไม่ได้

“สำหรับผม ภาพถ่ายที่ดี ไม่จำเป็นต้องสวย ขอเพียงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้และมีความหมายต่อผู้ถ่ายเป็นพอ” เจ้าของผลงานภาพถ่ายรางวัลชนะเลิศ กล่าวคำนิยามตามแบบฉบับของตน ก่อนเล่าย้อนถึงต้นธารการทำโปรเจ็กต์ภาพสารคดีสะท้อนชีวิตเบื้องลึกชิ้นนี้ว่า

“เพราะผมสงสัย และชอบดูหางเครื่องมาตั้งแต่เด็ก ผมถึงอยากทำสตอรี่ภาพชุดนี้ ประจวบเหมาะกับที่พอดีมีน้องคนหนึ่งที่ผมพอรู้จัก เคยคุยกันบ้างเป็นครั้งคราว เขาบอกว่าเขาเป็นโคโยตี้ ผมก็เลยอยากรู้ว่า ไอ้คำว่าโคโยตี้ของเขา มันหมายความว่ายังไง คือตอนนั้นผมก็นึกแค่ว่าโคโยตี้คือคนที่เต้นกันตามหลังรถกระบะ ผับ เป็นหางเครื่องที่ชอบเต้นยั่วผู้ชายอะไรอย่างนี้”

และเมื่อข้อข้องใจนี้ยังคงปักหมุดตรึงใจ สมศักดิ์จึงไม่ลังเลที่จะเลือกตัดสินใจออกเดินทางขอตามเก็บภาพกลุ่มหางเครื่องกลุ่มหนึ่งเรื่อยมา ทว่ากลับต้องพบปัญหาใหญ่ระหว่างทาง เรียกว่า ใจตัวเอง

“ก็มีอุปสรรคเยอะครับ แต่เป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากตัวผมเอง แรกๆผมก็ทำตัวไม่ค่อยถูก เพราะผมแทบไม่รู้จัก หรือสนิทกับใคร จะขอถ่ายภาพพวกเขาบ่อยๆก็ไม่กล้า ตรงนั้นมันคือพื้นที่ของผู้หญิง กลัวว่าตัวเองจะไปล้ำเส้นสิทธิของพวกเขา แต่ช่วงหลังที่เข้าไปบ่อยๆ ก็ค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น สนิทใจทั้งผมและพวกหางเครื่อง ตรงนี้เพราะผมพยายามค่อยๆ ปรับตัว พยายามทำให้พวกเขาเชื่อใจ รับรู้ว่าผมไม่ได้มีเจตนาไม่ดี เพียงแค่อยากส่งภาพประกวด”

และแล้วความจริงใจก็เป็นสะพานเชื่อมใจคนได้ไม่ยาก ตลอดระยะเวลา 3 เดือนในการติดสอยห้อยตามคณะหางเครื่องเพื่อเก็บภาพ ความผูกพันช่วยขยับความสัมพันธ์ แปรเปลี่ยนความหวาดระแวงให้เป็นมิตรภาพอันแน่นแฟ้น

“พอเริ่มสนิทกับทุกคน ผมก็เริ่มรับรู้เรื่องราวของพวกเขามากขึ้น เขาเองก็เริ่มเปิดพื้นที่ส่วนตัวให้ผมมากขึ้น ใครจะคิดว่าคนที่เราเห็นว่าพวกเขาเป็นโคโยตี้เต้นตามผับ ตามหลังรถกระบะเวลากลางคืน เป็นหางเครื่องวงดนตรีเดินสาย จริงๆแล้วพวกเขาบางคนมีลูกต้องดูแล มีครอบครัวที่น่ารัก อบอุ่น บ้างเป็นคนเรียบร้อย พูดจาเพราะ สุภาพ แล้วก็ใช้ชีวิตปรกติอย่างคนทั่วไป ไหว้พระ ทำบุญ บางคนก็หน้าตาสวยมาก แต่งตัวสวย ดูมีระเบียบเรียบร้อย แต่ลึกๆก็มีหลายอย่างไม่ได้เพอเฟ็กต์”

ย่อมเป็นธรรมดาที่รางวัลใหญ่ที่ได้รับ จะเปลี่ยนแปลงชีวิตในอดีตของช่างภาพอิสระคนหนึ่ง อันนำไปสู่แนวทางความคิดของอนาคต เพราะสมศักดิ์ ตัดสินใจยอมรับว่า ตนจะลาออกจากการเป็นพนักงานคอมพิวเตอร์ประจำบริษัท มาทำงานถ่ายภาพที่ตนรักและคิดว่าทำได้ดีอย่างเต็มตัว

ส่วนความประทับใจที่มากกว่ารางวัลใดๆ เจ้าตัวเล่าต่ออีกว่า การได้เข้าไปสัมผัสชีวิตคนกลุ่มนี้ในอีกแง่มุม ที่คนภายนอกไม่เคยสนใจ และอาจไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยได้ยินมาจากที่ไหนๆ คือการมองจากเบื้องหลังเวที ซึ่งมีเบื้องลึกมากมายซุกซ่อนอยู่ อันเป็นตัวแปรสำคัญในความสำเร็จบนหน้าเวที การได้เข้าไปคลุกคลีกับคนที่เราเคยตั้งคำถามกับเขา จนเห็นคำตอบ “สำหรับผมมันคือรางวัลที่มากกว่าตัวเงินรางวัล”
 

รายละเอียดผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลอื่นๆ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1. ได้แก่ “9,000 ตัน” ชุดภาพถ่ายบอกเปิดโลกการเดินทางของขยะในเมืองใหญ่ ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ อิศเรศ สงวนนาม

ถัดมา เป็นรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ชุดภาพถ่ายสารคดีสะท้อนวิถีชีวิต “คน สัตว์ และความเชื่อ” ที่มีชื่อว่า “นักสู้วัวชน สายสัมพันธ์ บนลานประลอง”โดย วิริทธิพล วิธานเดชสิทธิ์

สำหรับรางวัลชมเชย 7 รางวัล ได้เก่

1.“จาก65ปี ความสัมพันธ์ มองพม่าในแผ่นดินไทย” ผลงานจาก อนุชิต เลิมสุ่ม

2.“ปอยต้นธี เสาศักดิ์สิทธิ์ วิถีแห่งความเชื่อ” ผลงานจาก จิตรภณ ไข่คำ

3.“แม่ตาว คลินิก สถานพยาบาลเพื่อชาวพม่า และผู้ไร้สัญชาติ” ผลงานจาก ลิปปนนท์ พิพัฒน์อนันต์

4. “วิถีควายชน ชีวิตของคนกับควาย” ผลงานจาก วสวัตติ์ จันเรียง

5. “หล่อเทียน หลอมศรัทธา” ผลงานจาก บุญเชษฐ ช่วงสุวนิช

6. “อีกเฮือกลมหายใจ (ต่ออายุให้เกาะแห่งชีวิต)” ผลงานจาก ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

7.“แอมฟาเตมีน มหันต์ใกล้ตัว” ผลงานจาก อธิวัฒน์ ศิลปเมธานนท์




คณะกรรมการในการตัดสินภาพถ่ายเล่าเรื่อง และผู้เข้าประกวดที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 อันดับ
บรรยากาศเวดล้อมภายในงานประกาศผล ได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี อาคารชาเลนเจอร์ 3อาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น