“ในสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นการฟังอัสนี - วสันต์ถือเป็นความเท่อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นยุคนี้ก็คงต้องฟังเล็ก Greasy café” ผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงเอ่ยขึ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในหมู่นักฟังเพลงอินดี้มีคำร่ำลือมากมายถึงบทเพลงของเขา...ตั้งแต่ความเศร้าลึกล้ำสีเทาทึมของบทเพลง ถ้อยคำที่เลือกสรรดั่งบทกวีกระทบใจ ท่วงทำนองช้าเชือนหากหนักหน่วงในห่วงอารมณ์ ขับบรรเลงด้วยสุ่มเสียงหมองหม่นกับห่วงอารมณ์ที่จมดิ่งไปในความหมองเศร้า
ถึงวันนี้จากคำร่ำลือในวงแคบสู่ชื่อเสียงในวงกว้าง ช่วงปีที่ผ่านมา...“อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร” หรือที่รู้จักกันในนามเล็ก Greasy café กลายเป็นชื่อที่คุ้นเคยของเวทีรางวัลมากมาย ทั้งงานเพลงที่เขาคว้าทั้งศิลปินยอดเยี่ยม อัลบั้มยอดเยี่ยมและเพลงยอดเยี่ยม รวมถึงงานการแสดงที่คว้ารางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมมาครอง
จากบทเพลงลุ่มลึกที่หลายคนอาจฟังไม่เข้าใจสู่ความสำเร็จและกระแส ในแง่หนึ่งมันกลายเป็น “ความเท่” ของยุคสมัยที่หลายสิ่งหลายอย่างเป็นไปตาม “กระแส” มากกว่า “ความชอบ”
“ไม่รู้เหมือนกันนะ” เขาเปรยขึ้น “แต่ถ้าคนฟังเพลงเราเพราะเข้าใจว่าฟังแล้วจะดูเท่ ไม่ได้ฟังเพราะชอบ มันคงเป็นเรื่องอันตรายแน่ๆ”
และหลังจากหลายสุ่มเสียงที่ไถ่ถามถึงคอนเสิร์ตใหญ่ จวบจนวันนี้เขาใช้คำว่า “สิ้นสุดการรอคอย” กับคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ครั้งแรกของเขา “Until Tomorrow” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคมนี้
“แต่เราไม่ได้ใหญ่มากขนาดคนเป็นหมื่น เราแค่ 2,000 - 2,500 ซึ่งนั่นใหญ่มากแล้วสำหรับเรา” เขาเอ่ยด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่เต็มความรู้สึกของเขา วันนี้ทีมงาน M-Lite นั่งลงพูดคุยถึงจุดพักแรมของการเดินทางครั้งนี้ทบทวนถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาและความรู้สึกที่เขามีต่อบาง “สิ่งเหล่านี้” ใน “ทิศทาง” ชีวิตกับ “การเดินทางไร้แผนที่”
การเดินทางอันยาวนาน
ศิลปินยอดนิยมคงเป็นคำที่ไกลตัวเขามาก หากย้อนเวลากลับไปถึงคอนเสิร์ตครั้งแรกของเขา คอนเสิร์ตเล็กๆ ในร้านเหล้าที่เขาได้เล่นเพลงของตัวเองครั้งแรก ในบรรยากาศสลัวของผู้คนที่จดจ่ออยู่กับเครื่องดื่มบนโต๊ะ มากกว่าเสียงเพลงบนเวที และเขายังคงจำภาพเหล่านั้นได้ดี
“จำได้นะ มันก็ไม่ค่อยดีเพราะคนรู้จักกันน้อยมาก เราเล่นจบเพลงเขาก็ยังชนเหล้ากันอยู่ ไม่มีตบมืออะไร มีบางคนตะโกนด้วยว่า เฮ้ย! กรีซซี่คาเฟ่คือใครวะ? แต่เราคิดว่ามันก็เป็นเรื่องปกติเพราะเขายังไม่รู้จักเรา”
หลังจากผ่านอัลบั้มแรกของชีวิต “สิ่งเหล่านี้” และอัลบั้มที่ 2 “ทิศทาง” Greasy café กลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนฟังเพลงนอกกระแส จนเมื่ออัลบั้มที่ 3 “The jouney without maps” กลุ่มคนฟังก็เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจราวกับรอวันติดตามผลงานของเขาอยู่
“ตอนที่วางอัลบั้มนี้ครั้งแรกที่งานแฟต(fat festival)เรารู้สึกเลยว่า โอ้โห! อัลบั้มชุดนี้มันไม่เหมือนกับ 2 อัลบั้มที่ผ่านมาแล้วล่ะ” เขาตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่รู้จริงๆว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร “คิดไปหัวจะแตกเปล่าๆ คือถ้าเราคิดก็อาจจะเป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องแต่เพียงผู้เดียวมาช่วย คือเราไม่รู้จริงๆว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง”
และความสำเร็จของอัลบั้มนี้เองที่ทำให้เขาเริ่มมีความคิดที่จะออกเดินทาง เพื่อตามหาว่าสิ่งที่เขาเชื่อว่ามีอยู่จริง
“2 อัลบั้มก่อนไม่มีทัวร์คอนเสิร์ตต่างจังหวัดครับ แต่อัลบั้มนี้เราลองคุยกับพี่รุ่ง(รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้บริหารค่ายสมอลล์รูม)ว่า บางทีพวกเขา(แฟนเพลง)อาจจะเข้ามากรุงเทพฯไม่ได้ เราไปหาเขากันมั้ย?” เขาเผยถึงแผนการเดินทางที่แม้จะเต็มไปด้วยความไม่มั่นใจ แต่เขาก็ได้พบกับสิ่งที่เขาเชื่อว่ามีอยู่จริง แฟนเพลงของเขานั่นเอง
“จากที่ไม่คิดว่าจะมี เราไปเล่นหาดใหญ่ซึ่งไม่เคยไปจริงๆเลย อาจจะเคยไปตอนเด็กๆ นานมากแล้ว แต่ก็ไม่เคยไปเล่นดนตรีและพอไปถึงโอ้โห! งงมาก คนเยอะจริงๆ แต่มันอาจจะไม่ได้เยอะขนาดนั้น” เขาเอ่ยราวกับแอบเห็นภาพในหัวของเรา “แต่สำหรับเรามันเยอะมากแล้ว”
นับวันที่ผ่านไปกับการเล่นคอนเสิร์ตที่เขาได้พบปะกับกลุ่มแฟนเพลงที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเขามักเปรียบแฟนเพลงของเขาเหมือนเพื่อนร่วมทางในกองคาราวานของนักเดินทางกลุ่มหนึ่ง
“เรารู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักขึ้น ให้ผลงานออกมาดียิ่งขึ้นแต่ไม่ใช่กลุ่มคนฟังเราเป็นวัยรุ่น เราต้องแต่งเพลงวัยรุ่น มันคงไม่ใช่ (หัวเราะ)”
คือการสื่อสารระหว่างกัน
สิ่งหนึ่งที่เล็ก Greasy café แตกต่างจากศิลปินอินดี้ทั่วไปคือความใกล้ชิดกับแฟนเพลง บางคราวเขานั่งลงเล่นเพลงตีคอร์ดในวงเหล้าของแฟนเพลง เมื่อถึงยุคแห่งโซเชียลมีเดียที่โลกหมุนไปเร็ว และความรู้สึกเดินทางได้เร็วกว่า แม้บางคนจะมองว่าความรวดเร็วเหล่านี้มาพร้อมกับความฉาบฉวย แต่เขากลับมองว่ามันคือสิ่งดีงามของยุคที่ทำให้เราสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว
“เราเชื่อว่ายุคนี้มันดีมากเลยที่มีอะไรปุบโพสต์เฟซบุ๊กรู้เลยเดี๋ยวตอบคุยกัน มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่อาจจะต้องเขียนจดหมาย ถ้ามองในมุมสว่างๆ เราว่าดีออก มันแทบจะเหมือนการนั่งคุยกันอยู่แล้ว”
ความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนไม่ใช่ความเปลี่ยวเหงาของยุคสมัย สำหรับเขามันคือความใกล้ชิดแท้จริง ความใกล้ชิดที่ไม่ต่างจากตอนเล่นคอนเสิร์ตในแต่ละครั้งซึ่งเขามักจะวางตัวเองให้อยู่ใกล้กับคนดูให้มากที่สุด
“ถ้าสังเกตเวลาเราไปเล่นเราจะชอบอยู่ใกล้ๆ คนดู เพราะเราว่ามันเป็นเรื่องปกติมากที่เวลาใครคิดถึงใครก็ต้องรู้สึกอยากอยู่ใกล้ๆกัน เพราะฉะนั้นเราเล่นเฟซบุ๊กด้วยรู้สึกเหมือนเวลาไปเล่นคอนเสิร์ต คืออยากอยู่ใกล้ๆคนที่คิดถึงกัน”
ปกติเขาจะใช้เวลาเล่นเฟซบุ๊กเฉพาะช่วงเช้าและกลับจากทำงานอีกนิดหน่อย ทำให้บางครั้งบางข้อความอาจไม่ได้รับการตอบ แต่แทบทั้งหมดก็โพสต์ด้วยตัวเขาเองทั้งสิ้น
“มีแค่แฟนเรามาช่วยบางอย่างที่เราทำไม่เป็น เรื่องเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เราจะไม่ค่อยรู้ก็จะปรึกษากันว่าจะอะไรยังไงดี”
อย่างไรก็ตาม ช่องทางเฟซบุ๊กเขาไม่ได้มองว่าเป็นการตลาด เพราะที่ผ่านมามีเพียงสิ่งที่เขาเลือกทำในชีวิตก็เป็นสิ่งทำไปตามความรู้สึกของตัวเขาเองเท่านั้น
“เรามองว่ามันคือการสื่อสารมากกว่า บางทีเราเจอเรื่องอะไรบางเรื่องเรารู้สึกอยากจะเขียนเพื่อแชร์ความรู้สึกกัน มีหลายคนที่แชร์เรื่องของเขากลับมาแล้วบางทีมันก็สะเทือนใจมาก บางเรื่องเป็นเรื่องร้ายแรงแต่เขาก็มาแชร์ให้เรา เรารู้สึกเป็นเกียรติมากที่เขาไว้ใจแล้วมาเล่าให้เราฟัง ซึ่งถามว่ามันเป็นการตลาดหรือเปล่า? ไม่น่าใช่ มันเหมือนเราจะบอกว่า เราคิดถึงคนๆหนึ่ง มันก็เพราะว่าเราคิดถึงเขา เราไม่ได้พูดเพื่ออะไรอีกอย่าง”
ปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับวงอินดี้หลายวงบนโลกนี้คือ วันหนึ่งเมื่อวงอินดี้วงหนึ่งได้รับความนิยม วงนั้นจะกลายเป็นกระแสและกลุ่มแฟนเพลงที่ชอบในความอินดี้ก็จะถอยตัวเองออกห่าง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบนหน้าเฟซบุ๊กของเขาเอง
“มีคนๆ เดียวมาโพสเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเราเคยรู้สึกแย่มาก” เล็กเอ่ยด้วยน้ำเสียงฉายชัดถึงความเจ็บปวด “เขาโพสต์ประมาณว่า คนรู้จักเยอะขึ้น...ผมไม่ฟังแล้ว ซึ่งเราสะเทือนใจมากเลยในตอนแรกก็ถามตัวเอง เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้นวะ เรางงมาก ตอนหลังเราก็มาพูดในเฟซบุ๊กว่า เราไม่สบายใจเลยเรื่องนี้ แต่ในที่สุดเราก็ไปบังคับใครทุกคนไม่ได้”
ท้ายที่สุดของวิถีทางหลังความเจ็บปวดที่เพื่อนร่วมทางบางคนเลือกที่จะแยกจากกัน เขามองว่า มันเป็นเพียงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่ใครชอบอะไร เพียงเท่านั้น
“แล้วทุกอย่างมันมีช่วงเวลาของมัน บางคนอาจจะไปเจออีกสิ่งที่ชอบมากกว่า เขาก็จะถอยห่างจากอีกสิ่งหนึ่ง มันทำให้เราเข้าใจและเรียนรู้ว่า เรื่องบางเรื่องเราก็บังคับเขาไม่ได้ เราแค่พยายามเข้าใจให้มากที่สุดแค่นั้นเอง”
ยุคของเล็ก...และภาษาของความรู้สึก
ในวงเสวนาหนึ่งระหว่างข้อถกเถียงของรสนิยมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ยุทธนา บุญอ้อม หรือที่รู้จักกันในวงการเพลง “ป๋าเต็ด” ได้เอ่ยขึ้นว่า ในยุคของเขาการฟังอัสนี - วสันต์ถือเป็นความเท่อย่างหนึ่ง แต่สำหรับยุคนี้เขามองว่า กรีซซี่ถือเป็นความเท่สำหรับวัยรุ่นหลายๆ คน
“ไม่รู้นะ” คือคำแรกเมื่อเราถามถึงความเท่ซึ่งเกิดขึ้นจากบางสิ่ง “ถ้ามันเป็นแบบนี้มันคงอันตราย เพราะมันคงจะมาแป๊บเดียวแล้วก็ไป เวลาเปลี่ยนคนที่ไม่ได้ชอบจริงๆ แวบเดียวมันจะเลิกชอบ ซึ่งถ้าชอบด้วยความชอบจริงๆ มันจะดีนะ จะได้ติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ มากกว่าฟังเพราะฟังแล้วตัวเองจะดูเท่”
กับกระแสที่เกิดขึ้นทั้งจากอัลบั้มล่าสุด ในช่วงปีที่ผ่านมาเขามีผลงานทั้งการแสดงและทำเพลงประกอบภาพยนตร์ 3 เรื่อง ทั้งยังมีซิงเกิลพิเศษ “เสมอ” ก่อนคอนเสิร์ตใหญ่ ชวนให้สงสัยว่ามีความรีบเร่งเพื่อกระแสหรือเปล่า? เขายิ้มพร้อมบอกว่า ทุกอย่างมาตามเวลาที่เหมาะสม
“จังหวะมันประจวบเหมาะแล้วเราก็มีเวลาพอดี ก็เลยไม่ได้เร่งรีบทำอะไรแต่ตอนปล่อยมันอาจจะดูใกล้กันมากเลย จริงๆไม่ครับ ก็ทำงานเหมือนกัน”
กับการแต่งเพลงเลือกคำมาใช้ เขาแอบสงสัยถ้อยคำมากมายที่ตัวเองเลือกเรียงร้อยอยู่ในท่วงทำนอง หากครูภาษาไทยมาเห็นอาจโกรธเขาได้ เพราะแท้จริงแล้วเขาไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่คำที่เขียนอยู่ในบทเพลงเหล่านั้นมาจากสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ
“เราคิดว่ามันเป็นคำคำนี้โดยที่เราไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด เคยเกิดขึ้นหรือไม่เคยเกิดขึ้น คนเคยใช้หรือไม่เคยใช้ เราก็ไม่แน่ใจ เราไม่รู้แค่รู้สึกว่าคำนี้มันอธิบายสิ่งที่เราอยากจะเล่าได้”
และเมื่อในหนึ่งเพลงมีเวลาเล่าเรื่องสร้างอารมณ์เพียงแค่ 3-5 นาที ยิ่งมีทำนองจังหวะในการเรียบเรียง คำก็ยิ่งจะถูกตัดถูกลดลง เพื่อให้คำที่น้อยสามารถจับใจความและอธิบายสิ่งที่เขาอยากจะพูดให้ได้มากที่สุด
“และเราว่าถูก - ผิดในเรื่องนี้มันไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บ มันถูก - ผิดด้วยความอาจจะโง่เขลาเท่านั้นเอง และถูก - ผิดของแต่ละคนมันก็ต่างกัน เพียงแต่เราคิดว่าคำนี้มันน่าจะได้จากที่เราฟังแล้วฟังอีกหลังจากที่เราเขียน ฟังซ้ำอยู่เป็น 10 รอบ เราก็เชื่อแล้วแหละว่า สิ่งที่เราอยากจะบอกมันคือคำนั้น”
ลิขสิทธิ์เพลงและหางมด
หลังจากเขาเดินทางมาบนเส้นทางสายดนตรี ถึงช่วงหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จัก การเล่นดนตรีกลางคืนคือสิ่งหนึ่งที่เข้ามาในชีวิต และเขาก็ได้รับรู้ถึงเงื่อนไขที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด เขาใช้คำว่า “ไม่อยากจะเข้าใจ” กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งจวบจนปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่
“มันเป็นช่วงกลางๆ ของชีวิตทางด้านดนตรี เราต้องเจอกับเงื่อนไขจากบางที่บางร้านที่บอกว่า ถ้าไปเล่นดนตรีที่นี่ต้องเล่นเพลงคัฟเวอร์ ต้องเล่นเพลงของคนอื่นมากกว่าเพลงของตัวเองซึ่งเราไม่อยากเข้าใจเรื่องนี้”
ค่านิยมนี้เกิดขึ้นในร้านอาหารกับวงดนตรีอินดี้ที่เจ้าของร้านอาจมองว่าไม่เป็นที่รู้จัก เขาพยายามทำความเข้าใจว่าเจ้าของสถานที่คงต้องการให้ลูกค้ามีความสุข เพียงแต่ความเชื่อที่ว่า หากให้วงดนตรีเล่นเพลงของคนอื่นแล้วลูกค้าจะมีความสุขนั้น เขากลับมองว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง
“สมมติว่าเราจะดูวงๆหนึ่ง เราคงไม่อยากให้เขาเล่นเพลงของคนอื่นหรอก ไม่เข้าใจว่าทำไมมันกลายเป็นค่านิยมปกติที่มันเกลื่อนมาก เราเจอบางวงของน้องๆ ที่ค่าย เล่น 20 เพลงแต่เล่นเพลงของตัวเองได้ไม่ถึงครึ่ง เราสะเทือนใจ เสียใจ และตกใจมากว่ามันเกิดอะไรขึ้นเหรอ? ทำไมถึงมีความเชื่อว่าจะต้องให้เล่นเพลงคนอื่นแล้วทุกคนถึงจะมีความสุข?”
เขาคิดไล่เรียงกลับไปถึงคนดูที่มาที่ร้านเพื่อดูวงต่างๆ หากย้อนกลับไปแล้วพบว่า ทุกคนไม่ได้มาเพื่อดูวงนี้เล่นดนตรีจริงๆ แต่อยากมาเพื่อฟังเพลงของคนอื่น เขาเห็นว่า ก็ควรจะเปิดเพลงฟังอยู่บ้าน!
“มันเนี้ยบกว่าด้วยนะ ฟังจากซีดีหรืออะไรก็ได้ ทำไมมาดูวงนี้แล้วคาดหวังว่าจะให้วงนี้เล่นเพลงของคนอื่นละ? เราไม่อยากเข้าใจเรื่องนี้ เรารู้สึกว่ามันไม่ให้เกียรติกันเลย แต่จะว่าไปตอนนี้มันก็เริ่มเล่นไม่ค่อยได้ด้วยนะ เรื่องลิขสิทธิ์โดนจับด้วยซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีหรือเปล่า(หัวเราะแบบเศร้าๆ)”
ทั้งนี้ สำหรับตัวเขาเองแล้วก็ไม่ได้ต่อต้านการเล่นเพลงของคนอื่น บางครั้งในบางอารมณ์เขาก็อยากหยิบเอาเพลงของคนอื่นมาร้อง แต่ในยุคที่ลิขสิทธิ์เริ่มทำงานในทุกพื้นที่ของเสียงเพลง เขามองว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายอย่างกลับตาลปัตร
“สมมติถ้ามีคนเล่นเพลงเรา เราแทบจะยกมือไหว้ขอบคุณเลยนะ เราว่าการที่มันมีเรื่องเม็ดเงินเข้ามามันทำลายอะไรหลายๆ อย่าง และเราไม่แน่ใจว่าพอโดนค่าลิขสิทธิ์แล้วเงินจากตรงนี้มันไปถึงตัวศิลปินหรือเปล่า เราอยากรู้จริงๆ นะ คือถ้ามันไปถึงเราโอเคเลย รื้อระบบมาคุยทำความเข้าใจกันใหม่เลยดีกว่า”
เขาบอกเลยว่า การนำเพลงมาเล่นของนักร้องกลางคืนมีส่วนทำให้เพลงเป็นที่รู้จัก อาจบอกได้ว่ามีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี ทว่านอกจากนี้อีกเรื่องที่เขาเพิ่งได้รับรู้มาไม่นาน เป็นสิ่งที่พลิกกลับมากที่สุดก็คือการที่คลื่นวิทยุบางคลื่นต้องจ่ายเงินให้กับค่ายเพลงเพื่อเปิดเพลงนั้นๆ
“โอ้โห! นี่มันเศร้าสุดๆ เลยนะ” เขาว่าพร้อมส่ายหน้า “แทนที่ค่ายต้องจ่ายเงินเพื่อให้คลื่นเปิดเพลงเขา นี่มันเกิดอะไรกันขึ้นเหรอ? ไม่เข้าใจ (ถอนหายใจยาว) ไม่เข้าใจจริงๆ”
เมื่อพูดถึงเรื่องเงินจากลิขสิทธิ์ที่ไม่แน่ชัดว่าได้ส่งตรงไปถึงมือเจ้าของเพลง เขาก็อดที่เอ่ยถึงอีกประเด็นขึ้นเทียบเคียงกันเสียมิได้ ประเด็นเรื่องของภาษี!
“ทุกคนเสียภาษีแล้วเงินมันไปไหน? เงินมันมาทำให้ถนนดีขึ้นจริงหรือเปล่า? หรือไปอยู่ที่นาฬิกาเรือนละ 75,000 คือเรื่องนี้ทำให้เราไม่อยากจ่ายเงินค่าภาษีจริงๆ” ความ “จริง” ในน้ำเสียงของเขาสะท้อนความปวดร้าว “คือจ่ายทำไมแล้วเอาไปทำอะไรกัน? คือภาษีเราคิดมาเต็มๆเลยก็ได้แล้วเอาไปช่วยคน ช่วยเด็ก ช่วยโรงเรียน ช่วยอะไรก็ได้ เรายอมจ่ายให้หมดเลย”
ทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นไปและเปลี่ยนแปลงไม่ได้คือทุกคนต้องจ่ายภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่กับสิ่งที่ได้รับรู้อันเป็นดอกผลมาจากเงินภาษี ต่อให้การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเขา มันก็ส่งผลกระทบทางความรู้สึก
“เงินพวกเราทั้งนั้นเลยนะ” เขาเอ่ยพร้อมย้ำอีกครั้ง “มันเงิน‘พวกเรา’ทั้งนั้นเลย เราทำงานกันหนักมาก เอาไปทำอะไรกันน่ะ? คืออยากจะบอกเลยว่าไม่อยากจ่ายแต่มันก็ไม่ได้หรอก ทุกวันนี้เราก็เสียภาษีตามปกติแหละ เพียงแต่ในใจลึกๆ เราแค่รู้สึกว่าทุกวันนี้เราทำงานเหนื่อยแล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งมากำเงินจากกระเป๋าเราแล้วก็เอาไปใช้อะไรไม่รู้”
แม้เรื่องนี้จะสะเทือนและกระทบต่อชีวิตหลายคน เขายิ้มเหนื่อยๆ พร้อมยอมรับว่า ยังรู้เรื่องการเมืองน้อยมาก และคงไม่คิดเขียนเพลงเกี่ยวกับการเมือง
“เรารู้เรื่องการเมืองน้อยจริงๆ หางอึ่งมากๆ อาจจะเล็กกว่าหางอึ่ง หางมดด้วยซ้ำ ไม่รู้มดมีหางหรือเปล่า อาจจะมีปลายๆ แต่เรามีความรู้ไม่พอที่จะพูดเรื่องนี้ เราพูดในสิ่งที่เจอและประสบจริงๆมากกว่า”
จุดพักแรมกับการมีอยู่จริง
เหมือนกับหลายๆสิ่งในชีวิตของมนุษย์คำว่า “มาก” หรือ “น้อย” ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มองจากใจของตนเองเท่านั้น คอนเสิร์ตที่คนดู 2,500 - 3,000 คนสำหรับวงดนตรีจากค่ายยักษ์ใหญ่คงมองว่าน้อยนิดหรือแค่กลางๆ แต่กับชายที่ชื่อเล็กกลับรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ และมันเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของเขา
“จริงๆ มีคนชวนมานานแล้วแหละ สักพักหนึ่งแล้วแต่เรายังไม่ตัดสินใจเพราะถ้าเราจะจัดคอนเสิร์ต เราอยากจะจัดด้วยมือของเราเอง อยากให้ภาพที่เราคิดไว้ในหัวมันออกมาเป็นจริงให้ใกล้เคียงที่สุด คือเราแค่อยากทำจริงๆ เหนื่อยก็ยอม มีหลายครั้งที่เหนื่อยมาก แต่มันก็ต้องสู้ มีเอียงๆ จะล้มเหมือนกัน ทำไมปัญหามันเยอะมาก แต่เราว่ามันเป็นเรื่องปกติของคนที่ไม่เคยทำมันคงมีเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว”
กับคอนเสิร์ต Until tomorrow เขามองว่าสิ่งนี้เป็นเหมือนจุดหยุดพัก หลังจากสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดคือการเดินทางของกองคาราวานที่มีผู้คนมากมายร่วมเดินทางไปกับดนตรีของเขา แม้มีบางคนที่จากไปก็มีหลายคนที่เข้ามาร่วมเดินทาง
“มันก็เลยเหมือนเป็นกองคาราวานยาวๆ เรารู้สึกว่าคอนเสิร์ตนี้คือการที่เรามาหยุดพักกัน ก่อกองไฟร้องเพลง เล่าอะไรกันก็ได้ คุยกันก่อนที่วันพรุ่งนี้จะมาถึง(until tomorrow) แล้วต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปมีชีวิตของตนเองต่อ”
เราลองยิงคำถามใหญ่ - ตั้งแต่คอนเสิร์ตแรกของตัวเองที่คนยังแทบไม่รู้จักมาจนถึงปัจจุบันที่กำลังจะขึ้นเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ เขามองเห็นอะไรในช่วงเวลาเหล่านี้บ้าง? และหลังจากคำถามถูกถามออกไป เขานิ่งคิดอยู่นาน เราแอบเห็นดวงตาที่สั่นไหวใต้เปลือกตาของเขา มันสั่นไหวราวกับมองเห็นภาพบางภาพที่ผุดขึ้นมาในหัว ก่อนเขาจะเรียบเรียงคำตอบออกมาในท้ายที่สุด
“อืม...ไม่รู้นะครับ” เขาเปรยด้วยคำพูดติดปาก “มันทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงมั้ง...ว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรรอบๆ ตัวอย่างเช่น แฟนเพลงเรารู้สึกว่าเขาใกล้ชิดเรามากขึ้นๆ แล้วก็ขยายวงมากขึ้นๆ แล้วมันก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก เราเป็นใคร? เป็นแค่คนแต่งเพลงคนเดียวเอง ก็คนธรรมดาแค่ทำอาชีพต่างกันเท่านั้น แต่อยู่ดีๆก็มีคนตามมาดูกัน เยอะแยะ พอเล่นเสร็จก็มีคนมาคุยด้วย ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องน่าดีใจมั้ง...อืม เราว่ามันทำให้รู้ว่าเรามีกันอยู่จริงๆ ในทุกๆที่ที่ไป ไม่ว่าเขาจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม”
สิ้นเสียงคำตอบของคำถาม เรามองเห็นยิ้มเล็กๆที่เหมือนจมอยู่ในความสุขกับห้วงความคิดนั้น
เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี