เห็นกระแส “มิเนียนฟีเวอร์” แชร์คลิปเจ้าตัวสีเหลืองตาโตจากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง “Despicable Me2” กันให้ว่อนเน็ต แล้วทำให้อดนึกถึงช้างสีชมพู-สีฟ้า จากเรื่อง “ก้านกล้วย” ในช่วงแอนิเมชันสัญชาติไทยยังเฟื่องฟูอยู่ไม่ได้จริงๆ
ไหนจะเรื่องล่าสุดที่ทุ่มทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาทอย่าง “ยักษ์” ที่มีทีท่าว่าจะไปได้ไกล แต่สุดท้ายก็ขายได้แค่ในประเทศ สั่นสะเทือนบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแอนิเมชันให้ต้องคิดหนัก ถึงกับระงับโปรเจกต์สร้างหนังไปก่อนแบบยังไม่มีกำหนดคืนกลับ
ยังอีกไกลกว่าจะถึงดวงดาว
อะไรทำให้แอนิเมชันไทยไปไม่ถึงดวงดาว ไม่สามารถไปยืนผงาดอยู่ในตลาดโลกได้สักที? เป็นคำถามคาใจที่หลายคนสงสัย เพราะได้แต่เอาใจช่วยทีมผู้ผลิตเรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่สุดท้ายก็แป้ก ผลตอบรับไม่คุ้มทุนตั้งแต่ในประเทศแล้ว จะให้ผลักเป็นสินค้าส่งออกขายภายนอก จึงเป็นเรื่องหนักเอาการ
อย่างที่ ลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธานสมาคมดิจิตอล คอนเทนต์บันเทิงไทย (Thai Digital Entertainment Content Federation: TDEC) และคณะกรรมการสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (Thai Animation and Computer Graphics Association: TACGA) บอกเอาไว้ว่า
ตอนนี้มี 3 สตูดิโอที่เป็นเจ้าใหญ่ของวงการ คือ กันตนา แอนิเมชัน ในเครือกันตนา และบ้านอิทธิฤทธิ์ ในเครือเวิร์คพอยท์ฯ พักโปรเจกต์สร้างภาพยนตร์ไปแล้ว หลังผลการตอบรับจากแอนิเมชัน 3D เรื่องแรกของไทย “เอคโค่ จิ๋วก้องโลก” ทำกันตนาผิดหวัง และ “ยักษ์” คืนกำไรให้เวิร์คพอยท์ฯ ได้ไม่คุ้มทุน ส่วนบริษัท เซอร์เรียล ในเครือสหมงคลฟิล์มฯ ยังทำๆ หยุดๆ อยู่แบบเงียบๆ ตามปกติ แต่ตอนนี้คงพักยาวไว้ก่อนเช่นกัน เพราะอยู่ในช่วงขาลงแอนิเมชันเมืองไทย
“ต้องยอมรับว่าคนไม่ค่อยดูการ์ตูน สมมติว่าให้เลือกดูหนังในโรง คนส่วนใหญ่อาจจะเลือกดูหนังแอ็กชั่นมากกว่า ตลาดแอนิเมชันเราก็เลยแคบ หรือแม้แต่แอนิเมชันต่างชาติเข้ามาก็ไม่ได้โกยรายได้ในบ้านเรามากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่ชอบดูครับ เข้าไปดูมุก นอกจากนั้นก็จะมีแฟนคลับของพิกซาร์ (Pixar Animation Studios) หรือดิสนีย์ (The Walt Disney Company) ที่เป็นคอแอนิเมชันตามดูอยู่แล้ว อีกอย่างเวลาโรงภาพยนตร์ซื้อหนังจากค่ายต่างชาติเนี่ย เขาจะให้พ่วงแอนิเมชันมาด้วยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ที่เห็นมีแอนิเมชันมาฉายในโรง บางส่วนก็ไม่ใช่เพราะเขาอยากซื้อ แต่มันมาเป็นแพ็กเกจครับ”
ลองให้คนวงใน ผู้กำกับแอนิเมชันเรื่องดัง “ก้านกล้วย” และ “เอคโค่ จิ๋วก้องโลก” วิเคราะห์ดูบ้าง ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในทีมผู้สร้างแอนิเมชันสัญชาติตะวันตกอย่าง Tarzan และ Ice Age คำป้อน-คมภิญญ์ เข็มกำเนิด บอกได้เลยว่าตลาดในไทยกับระดับโลก ต่างกันมากจริงๆ
“เห็นได้ชัดเลยว่าต่างกันมากเรื่องการตลาด เวลาทำหนังที่ฮอลลีวูด หนังจะประสบความสำเร็จ ไปได้ไกลทั่วโลก เพราะเขาเป็นมหาอำนาจด้านสื่อบันเทิงจริงๆ ถือว่าทั่วโลกเป็นเมืองใต้อาณานิคมของฮอลลีวูดทั้งหมด ถ้าเขาจะลุกขึ้นมาทำ Tarzan ทำเสร็จวันนี้ ฉายพรุ่งนี้ ทั่วโลกก็ได้ดู
แต่อย่างเรา ทำเรื่องเอคโค่ฯ กว่าจะฉายได้เป็นเดือน และฉายในต่างจังหวัดก็อยู่ในโรงได้ไม่นาน ยังไม่ต้องพูดถึงตลาดโลก เขามีฐานแฟนทั่วโลก สามารถขยายตลาดไปได้แบบสบายๆ หนังเข้าโรงอยู่ไม่กี่วันก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว
ส่วนของเราก็ยังต้องสู้กันอีกเยอะ แต่ถ้ามองในแง่ดีก็ถือว่ากระแสแอนิเมชันบ้านเรายังดีอยู่นะ เพราะเวลามีแอนิเมชันไทยเข้าฉาย มันก็ไม่มีครั้งไหนเลยที่คนจะไม่ให้ความสนใจ ไม่ดู เพียงแต่ผลตอบรับจะอยู่ในระดับไหน แค่นั้นเอง”
“ปมด้อย” แอนิเมชันไทย
บทภาพยนตร์คือสิ่งที่นักวิจารณ์ยังคงตำหนิแอนิเมชันสัญชาติไทย บอกว่า “ปม” ในเรื่องยังอ่อนไป หมายถึงเส้นเรื่องและปมขัดแย้งในการเดินเรื่องมีเพียงเส้นเดียว ทำให้ตัวบทเดาทางถูกได้ง่ายจึงไม่ค่อยถูกอกถูกใจผู้ชมวัยผู้ใหญ่สักเท่าไรนัก จะติดตลาดอยู่แค่เพียงวัยเด็ก ต่างจากแอนิเมชันสัญชาติตะวันตกที่มีเส้นเรื่องแข็งแรง ทำให้คอหนังผู้ใหญ่ดูได้-เด็กดูเพลิน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ปมขัดแย้งที่ผูกไว้ในแอนิเมชันไทย แทนที่จะเป็นปมที่แข็งแรง ช่วยชูให้คนดูได้เพลิดเพลิน กลับกลายเป็น “ปมด้อย” ที่ยังต้องรอคอยการพัฒนาแทน
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในฐานะผู้กำกับแอนิเมชันชื่อดัง คำป้อนขอออกตัวเอาไว้เลยว่า “เรื่องบท เรามองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการทำหนังอยู่แล้วครับ แต่ถ้าจะให้คนทำอย่างเราพูด เราก็ต้องบอกว่าเราพยายามทำให้บทน่าสนใจที่สุดแล้ว แต่ว่าดีของเรากับดีของคนดู มันอาจจะต้องมาดูว่าตรงกันแค่ไหน
ความสำเร็จระหว่าง “ก้านกล้วย” กับ “เอคโค่ฯ” ถามว่าทำไมต่างกันขนาดนั้น อาจจะประกอบด้วยหลายอย่างครับ เรื่องช่วงเวลาการฉายก็อาจจะมีผล เพราะตอนที่ฉายก้านกล้วย มีกระแสหนังสมเด็จพระนเรศวรด้วยพอดี เลยอาจจะช่วยเสริมกัน ส่วนตอนที่เอคโค่ฯ เข้าฉาย เราพูดถึงปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก และตอนนั้นเรื่องนี้อาจจะยังไม่เป็นที่สนใจของคนไทย คาแร็กเตอร์ตัวละครก็ต่างกัน ตัวการ์ตูนที่เป็นช้าง อาจจะเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย คนชอบมากกว่า แต่พอตัวละครมาเป็นคนในเรื่องเอคโค่ มันก็ให้ผลต่างออกไป”
นั่นคือมุมมองของคนอยู่เบื้องหลัง แต่ในฐานะคนดูคนหนึ่งซึ่งควบตำแหน่งคณะกรรมการสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทยเอาไว้ด้วย เขาเห็นด้วยว่าบทภาพยนตร์ในบ้านเรายังอ่อนไปจริงๆ
“แม้แต่ภาพยนตร์ที่ไม่ใช่แอนิเมชัน มันก็ยังมีบางเรื่องหรือหลายๆ เรื่องที่ไม่สนุก ส่วนใหญ่หนังไทยจะเด่นไปในแนวผีกับตลก ส่วนเรื่องตัวบท เราต้องยอมรับว่าคนเขียนบทในเมืองไทย หาคนเก่งๆ ได้น้อยครับ แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้เป็นเฉพาะเมืองไทยนะ ทั่วโลกก็เป็นเหมือนกัน ถ้าบทไม่โดน อาจจะเขียนสนุกแต่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด มันก็เสี่ยงต่อการขาดทุน”
ญี่ปุ่นเห็น “ปมเด่น” ไทยทำเลทอง
ถึงแม้แอนิเมชันไทยจะยังมีปมด้อย แต่โชคยังดีที่ประเทศแห่งมังงะ เจ้าแห่งการ์ตูนอีกแห่งของโลกอย่างญี่ปุ่นมองเห็น “ปมเด่น” ในบ้านเรา ในขณะนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์แอนิเมชันกำลังถดถอยลงทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาตกต่ำ ส่งผลให้ production การผลิตลดลงด้วย แต่ในเมื่อความต้องการของตลาดยังอยากเสพการ์ตูนอยู่ บริษัทผู้ผลิตแอนิเมชันป้อนตลาดโลกหลายแห่งจึงยังคงเดินหน้าต่อไป โดยพยายามหาทางลดต้นทุนด้วยการ outsource (หาแหล่งผลิตจากภายนอก) หาบริษัทหรือคนทำแอนิเมชันในเอเชียแทน
แต่ในสายตาของฝรั่งตาน้ำข้าวฝั่งอเมริกาและยุโรปแล้ว เมื่อกางแผนที่โลกดูตลาดแอนิเมชัน เขายังมองไม่เห็นว่าบ้านเราคือแหล่งที่น่าลงทุน อาจเพราะฝีไม้ลายมือที่ฝากเอาไว้ยังไม่เข้าตา ส่วนใหญ่จึงทยอยกันไปในตลาดเกาหลีและจีนก่อน ต่างจากญี่ปุ่นที่เล็งเห็นว่าไทยคือทำเลทอง น่าจะเป็นแหล่งผลิตแอนิเมชันที่ดีที่สุดสำหรับเขา โดยมีงานวิจัยของ Nomura Research Institute อ้างอิงเอาไว้เป็นอย่างดีว่า ถ้าจะ Co-Production (ร่วมกันผลิต) แอนิเมชันกับประเทศไหนในบรรดา 10 ประเทศในอาเซียน ประเทศที่เหมาะที่สุดคือประเทศไทย
“ตอนนี้ทางญี่ปุ่นเขาเห็นเลยว่า ศักยภาพของคนไทย ความเป็นเลิศทางศิลปะ จะค่อนข้างใกล้เคียงมาตรฐานบ้านเขา ถ้าเขาเข้ามาฝึกเรื่อง software การผลิตแอนิเมชันจากบริษัทในไทย เขาก็มองเห็นโอกาสที่คนไทยจะเป็นแรงงานการสร้างการ์ตูนได้ในราคาที่ถูก เพราะเขารู้ต้นทุนราคาเมืองไทยแล้ว”
ข้อดีของการทำ Co-Production ก็คือเราไม่ได้เป็นแค่ outsource หรือเป็นแรงงานการผลิตให้แก่ทางญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่จะมีการร่วมกันคิด ร่วมกันผลิตเกิดขึ้น ทำให้มีการแชร์ content กัน ส่วนเรื่องส่วนแบ่ง ก็ตามแต่จะตกลงกัน อาจจะ 50/50 หมายความว่าเวลาไปฉายในตลาดโลก ก็จะได้ส่วนแบ่งเท่ากัน แต่ไม่ว่าจะคิดสารัตถะอย่างไร รองประธานสมาคมดิจิตอล คอนเทนต์บันเทิงไทย ก็ยังยืนยันว่าดีต่อการเติบโตของแอนิเมชันไทยอยู่ดี
“เท่าที่ไปดู research จะเห็นเลยว่าไม่มีชาติไหนเลยที่ลุกขึ้นมาทำเองชาติเดียว มีทั้งเยอรมันทำร่วมกับฝรั่งเศส ออสเตรเลียร่วมกับเกาหลี ฯลฯ เพราะเขาถือว่าการ Co-Production เป็นเรื่องปกติ เป็นการขยายตลาดโดยอัตโนมัติ แถมยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต แต่บ้านเรา บริษัทใหญ่ๆ ควักทุนทำกันเอง ลงทุนกันไปตั้งหลายร้อยล้าน แบบนั้นนอกจากจะต้องเสี่ยงในการขายให้ได้ในไทยแล้ว ถ้าอยากจะขายตลาดโลกก็ต้องขยายตลาดเองด้วย”
บทเรียนที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งก็สอนเอาไว้แล้วว่าสตูดิโอแอนิเมชันที่ขาดทุนย่อยยับไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังมองด้านการตลาดไม่ขาด “อย่างมาเลเซีย เขาไม่ใช้วิธีให้เงินแอนิเมชันสตูดิโอในเครือของเขาทั้งหมดนะครับ แต่เขาบอกว่าจะให้เงินทุนก็ต่อเมื่อคุณสามารถหา Co-Production กับต่างประเทศ เป็นการบังคับกลายๆ ว่าต้องหามาให้ได้ ให้ไปดูตลาดให้เรียบร้อยก่อนแล้วเขาถึงจะเริ่มสนับสนุน”
หนังไม่รอด มีทางเลือก
แอนิเมชันที่พอจะอยู่รอดได้ในบ้านเราก็เห็นจะเป็นรูปแบบ “ทีวีซีรีส์” อย่างที่ฉายให้ได้เห็นได้เคยคุ้นกันแบบ “เบิร์ดแลนด์แดนมหัศจรรย์” หรือ “ปังปอนด์จอมป่วน” เพราะถ้าเทียบกับการลงทุนทำหนังแอนิเมชันเรื่องยาวเข้าฉายในโรงแล้ว ถือว่าเสี่ยงน้อยกว่ากันเยอะและอาจคุ้มทุนง่ายกว่าด้วย
ตัวหนังแอนิเมชันเรื่องหนึ่ง ลงทุนไปเป็นร้อยล้าน แต่กลับได้ฉายแค่อาทิตย์ 2 อาทิตย์ แค่นั้นก็ลุ้นฟีดแบ็กกันแทบหืดขึ้นคอแล้ว แต่ก็ไม่กระเตื้อง ซ้ำร้ายถ้ายอดคนดูไม่มากพอ เผลอแป๊บเดียวก็โดนถอดออกจากโรง แต่ทีวีซีรีส์ สมมติว่าเรื่องหนึ่งมีอยู่ 26 ตอน จะสามารถฉายวนเวียนอยู่ในโทรทัศน์ได้นาน 3-6 เดือน ซึ่งในช่วงเวลาที่คนสามารถจดจำตัวการ์ตูนตัวนั้นๆ ได้ ทีมผู้ผลิตก็สามารถขยายตลาดออกไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้แอนิเมชันไทยเติบโตอย่างยั่งยืน อาจจะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน
“ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ที่เห็นเขาเป็นเมืองแห่งการ์ตูน มีแอนิเมชันมากมาย เขาก็เริ่มมาจากหนังสือการ์ตูนก่อน ถ้าประสบความสำเร็จก็จะได้ทำเป็นทีวีซีรีส์ ถ้าได้รับความนิยมก็ค่อยขยายไปเป็นหนังแอนิเมชัน ถ้าการ์ตูนตัวไหนไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเป็นหนังสือการ์ตูน เขาก็เลิกเลย หยุดไป แล้วก็ไปสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ ทางยุโรปเองก็ใช้โมเดลนี้เหมือนกัน
เพียงแต่บ้านเราอาจจะไปยึดกับโมเดลของทางฮอลลีวูดมากไป เขาทุ่มทุนก้อนใหญ่ทำแอนิเมชันเลย แต่จะทำอย่างนั้นได้ เขาต้องมีบริษัทที่แข็งแรงมากๆ อย่าง ดิสนีย์ หรือ พิกซาร์ แล้วบ้านเราก็ไปยึดโมเดลนี้ มาถึงก็ทำหนังใหญ่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชียร์ครับ มันเสี่ยงเกินไป”
ทางเลือกยังมีมากกว่านั้น ทุกวันนี้มีโมเดลแบบใหม่เกิดขึ้น อาจจะเริ่มต้นจะสร้างคาแร็กเตอร์ตัวการ์ตูนสักตัวขึ้นมา แล้วค่อยๆ พัฒนาโดยใช้โซเชียลมีเดีย โปรโมตบนเว็บไซต์ พอคนเริ่มหันมาสนใจ ก็จะมีสตูดิโอซึ่งเป็นมืออาชีพด้านแอนิเมชันมาติดต่อขอซื้อไปทำแอนิเมชันเอง หรืออาจจะใช้วิธีผลิตร่วมกันก็ได้ “ยกตัวอย่าง Hello Kitty พอสร้างเป็นคาแร็กเตอร์ที่คนรู้จักทั่วโลกแล้ว ตอนนี้ก็มี CEO ที่เกาหลี เสนอตัวเข้ามาทำแอนิเมชัน เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้นเล็กๆ จะดีกว่าครับ ดีกว่าทำอะไรใหญ่เกินตัว”
ทางรอดอีกหนึ่งตัวเลือกของวงการแอนิเมชันคือ ตลาดกราฟิกในสื่อต่างๆ หรือที่รู้กันในหมู่นักแอนิเมชันว่าการทำ “service” นั่นเอง ทุกวันนี้สถาบันและมหาวิทยาลัยที่เปิดคอร์สสอนแอนิเมชันส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่เรื่องพวกนี้ คือสอนพื้นฐานการทำกราฟิกป้อนตลาด Broadcast มีทั้ง 2D และ 3D เพราะสิ่งที่ตลาดกำลังต้องการในตอนนี้ ไม่ใช่นักแอนิเมชันเพื่อออกมาสร้างภาพยนตร์ แต่ต้องการมือกราฟิกฝีมือดีหลายอัตรา
“โลกของแอนิเมชันเปลี่ยนไป ตอนนี้มันกระจายไปทุกที่ ไม่ได้มีที่ให้ปลดปล่อยได้แค่รูปแบบหนังแอนิเมชันอีกแล้ว แต่ที่กำลังได้รับความนิยมมากคืออินโฟกราฟิกครับ มันช่วยให้ข้อมูลการสื่อสารเรื่องต่างๆ ออกมาในรูปแบบที่ง่ายขึ้น ในส่วนของหนังสั้นแอนิเมชันก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ และถือว่ามีมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น จากสมัยผม มีเด็กเรียนคลาสหนึ่งแค่ 2-3 คน แต่ตอนนี้ พอเปิดอบรมเรื่องแอนิเมชันทีหนึ่ง มีเด็กเข้ามากัน 200 กว่าคน
แอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็มีแอนิเมชันเข้าไปเกี่ยวข้องเยอะแยะ พฤติกรรมการดูหนังของคนก็เปลี่ยนไป กลายเป็นดูอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ตามมือถือกันมากขึ้น ถ้ามองในภาพรวม แอนิเมชันไทยคงไม่ตาย เพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบหนัง อาจจะเติบโตไปอีกทางหนึ่ง” คำป้อน-คมภิญญ์ เข็มกำเนิด บอกผ่านประสบการณ์ ในฐานะนักแอนิเมชันอิสระ อาจารย์พิเศษสอนตามสถาบัน และมหาวิทยาลัยในด้านนี้
วิธีรับมือ “ขาลง” แอนิเมชัน
“ณ ตอนนี้ ทั้งทีวีและหนังอยู่ในช่วงขาลงหมด เพราะช่องทีวีก็ไม่มีช่องไหนให้พื้นที่ฉายเลยครับ ขนาดตอนที่ช่อง 7 ให้เวลาฉายก็ยังลำบาก เขาให้เวลา 1 นาทีและต้องหาโฆษณามาลงเอง ส่วนช่อง 3 ที่เห็นกันว่าฉายอยู่น่าจะเป็นพาร์ตเนอร์กัน เป็นบริษัทที่ตกลงเรื่องผลประโยชน์กันเอาไว้ ไม่มีอีกแล้วที่เปิดให้เข้าไปเสนอแบบเสรี” รองประธานสมาคมดิจิตอล คอนเทนต์บันเทิงไทย เผยหมดเปลือก
จริงๆ แล้ว หน้าที่ที่ต้องหาช่วงเวลาให้แอนิเมชันไทยได้เติบโตในโทรทัศน์ควรจะเป็นของ “รัฐบาล” เพราะถ้าเป็นประเทศอื่นจะกำหนดเป็นนโยบายเอาไว้เลยว่า 5.00-7.00 น. แต่ละช่องต้องฉายแอนิเมชันในประเทศ จะมีโควต้าในการปกป้องแอนิเมชันในประเทศ อย่างในเกาหลี รัฐบาลจะมีระบบซื้อโควต้า ขอเวลาฉายไว้ให้แอนิเมชันยาว 3 ปี แต่ในประเทศเรา พอไม่มีพื้นที่ปล่อยของ ภาระจึงตกไปอยู่ที่สตูดิโอแอนิเมชันต่างๆ ทำให้ต้องหาเงินลงทุนทำภาพยนตร์แอนิเมชันเอง แล้วก็พบกับความผิดหวังในที่สุด
“Road Map” คือสิ่งที่สตูดิโอแอนิเมชันและทีมผู้ผลิตต้องการจากผู้บริหารประเทศเพื่อแสดงให้เห็นว่าพร้อมสนับสนุน แต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้
“ทุกคนทราบว่าเราต้องหาทางกันเอาเอง หรือรวมตัวกันเป็นสมาคม-สมาพันธ์ แล้วยื่นเรื่องต่อรัฐบาล ไปขอให้รัฐบาลช่วย บางทีเวลาไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มันก็เป็นเรื่องตลกเหมือนกัน เขาจะถามเราว่าช่วยบอกมาได้มั้ยว่า Road Map ของอุตสาหกรรมแอนิเมชันมันเป็นยังไง? พวกเราได้ยินก็หัวเราะในใจ เพราะมันไม่เหมือนรัฐบาลต่างชาติที่เขาจะตั้ง Road Map มาเรียบร้อยเลย วางแผนไว้เลยว่าจะให้อุตสาหกรรมตัวไหนเดินไปยังไง แต่บ้านเรา เราต้องไปนั่งให้ข้อมูลเขา
จริงๆ แล้ว ถ้ารัฐบาลมองโอกาสการเติบโตของ content ในประเทศให้ดีๆ แล้วเอาเป็นตัวชูโรงเศรษฐกิจ ถ้าทำแล้วโดน โอกาสที่จะทำกำไรคืนกลับสู่ประเทศมีมากกว่าสินค้าเกษตรที่เราพยายามอยู่ทุกวันนี้อีกนะ ดูอย่าง “พี่มาก..พระโขนง” สิ ลงทุนไม่เท่าไหร่แต่ได้เป็นพันล้าน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะทำได้ แต่ถ้าทำได้สัก 5 เรื่อง 10 เรื่อง มันจะกลายเป็นหมื่นล้าน จะสร้างรายได้กลับเข้าประเทศมหาศาล ไม่ต้องไปประมูลข้าวขายเลย”
ส่วนประชาชน คอหนังทั่วๆ ไป ก็สามารถช่วยส่งเสริมได้ถ้าอยากเห็นแอนิเมชันเมืองไทยเติบโตได้แบบยั่งยืน “อย่างแอนิเมชันญี่ปุ่นที่เขาโตได้มาก เพราะสองขาเขาแข็งแรง คือทั้งคนทำก็ตั้งใจมาก และคนดูก็ตั้งใจจะสนับสนุนเต็มที่” คำป้อน ผู้กำกับแอนิเมชันไทยขอไว้แค่นี้
“แอนิเมชันเป็นสื่อที่ถือเป็นงานศิลปะและบันเทิง จำเป็นต่อจิตใจของมนุษย์และการเจริญเติบโตนะผมว่า อยากให้ประเทศเราเห็นความสำคัญต่อศิลปะทุกแขนงเลยครับ เพราะมันจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ อย่ามองเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย อย่ามองแค่เรื่องปากท้อง เพราะคนเราจะอยู่ได้ กายและใจต้องเติบโตไปด้วยกัน แอนิเมชันเป็นสื่อที่ง่ายต่อการสื่อสารสิ่งดีๆ ออกไป ถ้ามองเห็นจะรู้ว่ามันวิเศษมากครับ เป็นช่องทางที่จะช่วยปลูกฝังสิ่งดีๆ เข้าไปในใจของเราได้แบบค่อยๆ ซึมซับ อยากให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของมัน”
คลิปแอนิเมชั่นสัญชาติตะวันตกที่คนแชร์มากที่สุดขณะนี้
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
อิสสริยา อาชวานันทกุล