xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “เพจแอนตี้ดารา” บทเรียนจากความเกลียดชัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


Anti เจมส์ จิรายุ, มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ และ แอนตี้ กระแต กระต่าย อาร์สยาม ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างเพจบนเฟซบุ๊กที่มีคนพูดถึงและมียอดกดไลค์พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เรื่องราวของพวกเขากลายเป็น Talk of the town
มองดูให้ดี ปรากฏการณ์เหล่านี้ ให้บทเรียนแก่ ผู้ตั้งเพจ คนกดไลค์ และดารา มากกว่าคำว่า “แอนตี้” และ “เกลียด” ที่เห็นๆ กันอยู่



ถูกแอนตี้เพราะมีเหตุ
8,000 กว่าไลค์เข้าไปแล้วสำหรับเพจ “Anti เจมส์ จิรายุ” หลังจากมีเรื่องมีราวกับรุ่นพี่ในวงการอย่าง “นุ้ย-สุจิรา อรุณพิพัฒน์” จนเล่นเอาฝ่ายหญิงน้ำตาเช็ดหัวเข่า สืบสาวราวเรื่องไปก็เจอต้นเหตุมาจาก นุ้ยขอถ่ายรูปรุ่นน้อง “เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข” แต่ถูกผู้จัดการของอีกฝ่ายกีดกัน เกิดกลายเป็นประเด็นน้องใหม่หยิ่งตั้งแต่เริ่มดัง หลังจากข่าวเสียหายเริ่มหลุดออกไป ก็มีคนเริ่มออกมาให้รายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ บอกว่าแท้จริงแล้วที่ปฏิเสธการถ่ายรูปไปนั้น เป็นเพราะดาราหนุ่มหน้าใสแต่งตัวไม่เรียบร้อย ท่อนบนใส่เสื้อผูกเนกไท แต่ท่อนล่างนุ่งบ็อกเซอร์เพียงตัวเดียว

กลายเป็นดราม่าแฟนคลับออกมาป้องดาราหนุ่มอย่างออกนอกหน้า ด่าทอฝ่ายหญิงว่าไร้กาลเทศะต่างๆ นานา จนเธอต้องออกมาแก้ต่างทั้งน้ำตา บวกกับคำบอกเล่าจากจอมแฉ “มดดำ-คชาภา ตันเจริญ” ถึงเรื่องความเยอะของผู้จัดการส่วนตัวของเจมส์-จิที่เคยเจอมากับตัว เรียกว่าเข้าถึงตัวยากใช้ได้ ถึงแม้จะมีคนยังแฟนๆ รักและเข้าใจดาราหนุ่มหน้าใสรายนี้อยู่ล้นทะลัก แต่จำนวนคนที่แอนตี้ก็มีให้เห็นชัดถึงขั้นลุกขึ้นมาตั้งเพจและไลค์ตาม ที่น่าสนใจคือตอนนี้มีเพจ “Anti เพจ Anti เจมส์ จิ” ขึ้นมาแก้ทางกันแล้ว

“มั่นใจคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์” ถึงแม้คนตั้งเพจจะสะกดชื่อนางเอกสาวผิดไปหน่อย แต่เจตนารมณ์ในการสร้างเพจขึ้นมาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง คือต้องการหาแนวร่วมเพื่อแสดงอาการต่อต้านปรากฏการณ์การจดทะเบียนสายฟ้าแลบและเปลี่ยนมาใช้สกุล “อัศวเหม” จนหลายคนเกินตั้งตัว วิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วงในประเด็นสั่นสะเทือนสถาบันครอบครัว เปรียบเทียบพฤติกรรมที่เห็นกับละครเรื่อง “แรงเงา” ที่เคยเล่น ถึงแม้เพจนี้คนจะกดไลค์ยังไม่เกินล้านอย่างที่คนตั้งเพจประกาศความมั่นใจเอาไว้ แต่หลังเกิดเหตุการณ์เพียง 5 วัน ได้ 5 พันไลค์ก็ถือว่าบ่งบอกอะไรๆ ได้มากเหมือนกัน

ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังของชาวโซเชียลมีเดียอย่างชัดเจนจริงๆ คงต้องยกให้เพจ “แอนตี้ กระแต กระต่าย อาร์สยาม” เพราะมีคนกดไลค์ไปแล้วทะลุแสน ที่มาที่ไปที่จุดชนวนความเกลียดให้ปะทุขึ้น เริ่มมาจากข่าวว่า กระแต-อาร์สยาม (นิภาพร แปงอ้วน) เป็นมือที่สามระหว่างคู่ “ซี-ศิวัฒน์” และ “เอมี่-กลิ่นประทุม” จึงเกิดมือดีนั่งจับผิด ทำให้พบเจอคำสัมภาษณ์ของเจ้าตัวที่มีแนวโน้มพาดพิงเพื่อนในวงการไปในแง่ลบ บวกกับพฤติกรรมถ่ายรูปอวดฐานะการเงินของตัวเองและน้องสาว (กระต่าย-อาร์สยาม) ผ่านอาหารการกินและรถหรูอยู่บ่อยๆ ซึ่งถูกหลายฝ่ายจับไต๋ได้ภายหลังว่าน่าจะเป็นภาพลวงตา หยิบภาพจากกูเกิลมาโพสต์และตัดต่อเสียมากกว่า ไหนจะภาพลักษณ์เรื่องขายเซ็กซี่มากกว่าเสียง จึงทำให้เพจแอนตี้นี้มียอดไลค์สูงจนน่าตกใจ

ไม่ใช่แค่ 3 รายนี้เท่านั้นที่ถูกคนตั้งเพจแสดงความเกลียดชังอย่างเป็นทางการบนเฟซบุ๊ก แต่ยังมีเพจ “แอนตี้ อีลีน่า จังจรรจา”, “แอนตี้ ใหม่ ดาวิกา”, “แอนตี้ ชมพู่ อารยา” หรือ “ชมรมคนเกลียดณเดชน์” ฯลฯ อยู่เหมือนกัน แต่ไม่เป็นที่พูดถึงเท่าใดนักเพราะมียอดไลค์เพียงหลักสิบ อย่างมากก็ทะลุพันไปนิดๆ เท่านั้นเอง สังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าเพจเหล่านี้มักถูกสร้างขึ้นมาในช่วงที่มีข่าวเสียๆ หายๆ ของเหล่าคนดังเกิดขึ้นทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้เฟซบุ๊กจะไม่มีปุ่ม Dislike ไว้ให้ได้กดแสดงความรู้สึก แต่คนสมัยนี้ก็พร้อมจะแสดงทุกความคิดเห็นของตัวเองเพื่อระบายอารมณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย แม้แต่ความรู้สึกที่ไม่ดีไม่งามอย่างการ “แอนตี้” หรือ “เกลียดชัง”



“เพจแอนตี้” ดีสำหรับดารา
อ่านไม่ผิด การตั้งเพจแอนตี้ดีสำหรับดาราจริงๆ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกเอาไว้ว่าในความเกลียดชังยังแฝงไว้ด้วยข้อดีอยู่ ถ้ามองเห็นและหัดเรียนรู้

“ถึงคนจะกดไลค์เพจจำนวนมากก็อย่าเพิ่งเหมารวมว่าเป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ มันเป็นเพียงภาพสะท้อนของปรากฏการณ์เท่านั้นเอง ถือเป็นภาพสะท้อนที่ดี อาจจะทำให้คนในวงการระมัดระวังเรื่องการวางตัวมากขึ้น คนที่ใกล้ชิดกับตัวดาราคนนั้นก็ต้องคอยเตือน เพราะก่อนที่จะมีคนตั้งเพจแอนตี้ขึ้นมา แสดงว่ามันต้องมีต้นเหตุเกิดขึ้น คนตั้งเพจอาจจะมองเห็นว่าดาราคนนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในบางเรื่องก็เลยอยากแสดงความคิดเห็นและหาแนวร่วม

มองในแง่ดี การที่คนทั่วไปออกมาแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ช่วยตรวจสอบความจริง ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ทำให้เกิดการสื่อสารที่รอบด้านมากขึ้น เพราะบางครั้งดาราคนนั้นอาจจะนำเสนอแค่ด้านบวกของตัวเอง แต่พอมีคนตรวจสอบ เจอด้านลบ ก็เป็นความจริงที่จะต้องยอมรับ ถ้าคนที่ทำผิดออกมายอมรับผิด ก็ไม่ได้เสียหาย คนก็พร้อมจะให้อภัย”

ส่วนเรื่องที่ดาราจะถูกเกลียดจนมีคนตั้งใจตั้งเพจขึ้นมาเพื่อแอนตี้นั้น นายแพทย์มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ ต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบอยู่แล้ว ถ้าให้วิเคราะห์จริงๆ แล้ว การแสดงความคิดเห็นเชิงลบแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้งแต่สมัยคนนิยมเล่นเว็บบอร์ดแล้ว

ปรากฏการณ์การแสดงความคิดเห็นทางโลกออนไลน์ ทำให้ nobody กลายเป็น somebody บอกต่อความคิดของตัวเองออกไป และพยายามหาแนวร่วม มีการตั้งเพจเพื่อให้คนที่เห็นด้วยเข้ามากดไลค์ จากเมื่อก่อนพอไม่ชอบใจอะไร ก็จะมีการตั้งกระทู้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เอาไว้ แล้วคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็จะเข้าไปตอบ
เพียงแต่พอมันมีโซเชียลตัวใหม่ๆ ออกมาอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม มันก็ทำให้การแสดงอาการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยมันง่ายขึ้น แค่กดไลค์เพจ ก็เป็นการแสดงจุดยืนได้แล้ว ไม่ต้องล็อกอินเพื่อเข้าไปพิมพ์ความเห็นในกระทู้ เวลามีประเด็นที่สังคมสนใจเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติของคนอยู่แล้วที่จะสนใจเรื่องที่มีความขัดแย้ง อยากรู้อยากเห็นความจริง ส่วนข้อมูลที่ได้รับมาจะโน้มน้าวให้ผู้รับสารรู้สึกคล้อยตามได้มั้ยก็อีกเรื่องนึง”

แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเพจแสดงความเกลียดชังเหล่านี้จะมีผลต่อคนจำนวนหนึ่งให้รู้สึกชื่นชอบดาราคนนั้นน้อยลง หลังจากเห็นข่าวคราวจากเพจหรือยอดไลค์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแฟนคลับกลุ่มเดิมที่อาจจะตั้งคำถามว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นจริงหรือ? บางคนอาจเลือกที่จะไม่เชื่อ แต่ที่เห็นได้ชัดคือเพจแอนตี้เหล่านี้ส่งผลให้เกิดความรุนแรงด้านอารมณ์ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดจะตั้งเพจขึ้นมาแอนตี้ใคร ขอให้เป็นการติเพื่อก่อจะดีกว่า

“ผมไม่เห็นด้วยถ้าจะใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ด่าทอ ขุดรากถอนโคนกันถึงต้นตระกูล เพราะแบบนั้นมันคือการทำเพื่อระบายอารมณ์ ไม่ใช่การติเพื่อให้อีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าคนตั้งเพจนั้นเอาไปใช้แสดงความคิดเห็นเชิงลบ มันก็ทำให้ไม่ดีต่อจิตใจเขาเองด้วย เขาจะรู้สึกหงุดหงิด เกลียดชังคนคนนั้นอยู่ตลอดเวลา และที่ควรระวังมากๆ คือต้องอย่าไปละเมิดจริยธรรมความเป็นมนุษย์ของคนอื่น และอย่าไปละเมิดกฎหมาย ถึงเราจะสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบ คิดด้วยว่าถ้าเทือกเขาเหล่ากอเราถูกกระทำแบบนี้ ถูกด่าแบบนี้ จะรู้สึกยังไง ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย



นิสัยออนไลน์ บ่มเพาะความเกลียดชัง
“คนยุคนี้เป็นยุค Generation Me คือมองแต่ตัวเองเป็นหลัก เด็กที่เกิดและเติบโตหลังช่วงปี 2000 เป็นต้นมา จะโตมาพร้อมเทคโนโลยี จึงมักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและตัดสินคนอื่น” คำวิเคราะห์ของนายแพทย์ทวีศิลป์ สอดคล้องกับงานวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติประจำสหรัฐอเมริกาที่เปิดเผยข้อมูลเอาไว้ในนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 9 พ.ค.2013 ว่า คนรุ่นใหม่กำลังเป็นโรค “Narcissistic Personality Disorder” หรือบุคคลที่มีอาการหลงใหลในบุคลิกภาพของตนเองและมีความเชื่อว่าโลกโคจรรอบตัวเอง และสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็คือ “อินเทอร์เน็ต” และย่อหน้าต่อจากนี้คืออาการหลงผิดที่น่าเป็นห่วง ซึ่งงานวิจัยอธิบายเอาไว้อย่างชัดเจน

1.เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ จะแสดงออกด้วยอารมณ์โกรธแค้น, 2.เอาเปรียบคนอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการชนะ, 3.มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี, 4.ชอบพูดขยายเกินกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จและความสามารถของตัวเอง, 5.มีใจหมกมุ่นกับจินตนาการความสำเร็จ พลัง อำนาจ ความงาม สติปัญญา หรือรักในอุดมคติ, 6.ใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ หลงใหล และคาดหวัง, 7.ต้องการเป็นที่ชื่นชม ยอมรับ อยู่ตลอดเวลา, 8.ไม่เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของคนอื่น และมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะแสดงความเห็นใจ, 9.คิดหมกมุ่นอยู่แต่กับผลประโยชน์และความต้องการของตัวเอง และ 10.ไล่ตามเป้าหมายที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

นักวิชาการในบ้านเราก็พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้เหมือนกัน การวิจัยจากศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การกำกับดูแลสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” ระบุเอาไว้ว่าโลกออนไลน์มีผลทำให้เกิด Hate Speech หรือการแสดงออกถึงความเกลียดชังมากขึ้น โดยทำอยู่ในรูปแบบการแสดงความคิดเห็นบนเว็บบอร์ด, เฟซบุ๊ก และการแบ่งปันคลิปวิดีโอจากยูทูบ

หากวัดระดับความเกลียดชังที่เห็นกันอยู่ จะแบ่งออกได้ 4 ระดับ เริ่มตั้งแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน, ทำเพื่อสร้างความเข้าใจผิด, ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง หนักไปจนถึงต้องการกำจัดกลุ่มเป้าหมาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังในรูปแบบกล่าวโทษ ประณาม แฉ ว่าร้าย พูดจาดูหมิ่น เหยียดหยาม สบประมาท ทำให้อีกฝ่ายดูขบขัน ลดคุณค่า ทำให้ด้อยค่าในสายตาผู้อื่น เยาะเย้ยอย่างรุนแรง สมน้ำหน้า ทับถม ไปจนถึงเปรียบเทียบในลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นไม่ใช่คน

กิตตินันท์ นาคทอง คอลัมนิสต์ผู้เคยเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ แสดงความคิดเห็นตามตำราวิชาการสื่อสารเพื่อมนุษยสัมพันธ์ บอกไว้อย่างชัดเจนว่าลักษณะทั่วไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่คล้ายคลึงกัน คือนิสัยอิจฉาริษยา, ไม่ชอบเห็นคนอื่นดีกว่าตนเอง, มีสัญชาตญาณแห่งการทำลาย, ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง, มีความต้องการทางเพศ, หวาดกลัวภัยอันตราย, กลัวความเจ็บปวด, โหดร้าย ชอบซ้ำเติม, ชอบความสะดวกสบาย มักง่าย ไม่ชอบระเบียบและการถูกบังคับ และชอบความตื่นเต้น ชอบการผจญภัย

ส่วนความเกลียดชังที่แสดงออกมาจัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms) “หาเหตุผลเข้าข้างตนเองแล้วก็ยังพยายามยืนยันว่าเราดีกว่าคนอื่น ด้วยการโทษผู้อื่น จึงหาทางใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังขึ้นมา เพื่อสร้างปมเด่นใหม่ขึ้นมาและชดเชยข้อบกพร่องของตนเองไปในตัว และยิ่งสังคมออนไลน์เป็นการคุยกันผ่านตัวอักษรแบบไม่เห็นหน้า และมีอีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนในโลกอินเทอร์เน็ต จึงทำให้เกิดความคึกคะนองในการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยความก้าวร้าวมากขึ้นไปอีก

ทางที่ดี ถ้ารักจะใช้โซเชียลมีเดียแล้ว ต้องมองให้ออกว่ามันคือ “หลุมพราง” อย่างหนึ่ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกเอาไว้อย่างนั้น

“เมื่อมีข้อมูลเยอะ ก็ต้องเลือกรับ บางเรื่องก็กระตุ้น-กระตุกให้เกิดอารมณ์ได้ ถ้ารู้จักใช้โซเชียลมีเดียให้ดีก็จะไม่เจ็บตัว ไม่ตกหลุมพราง แค่คำถามในช่องที่เฟซบุ๊กเขียนไว้ว่า “คุณคิดอะไรอยู่?” นั่นก็ถือว่าเป็นหลุมพรางอย่างหนึ่งแล้ว บางคนคิดอะไรอยู่ก็ระบายออกไปทั้งหมด ถ้าคิดดีก็ดีไป คิดวิเคราะห์ตัวเองก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อไหร่ที่คิดแล้วแสดงความเห็นออกมาพาดพิงคนอื่น ผลร้ายมันจะกลายเป็นลูกดอกมาทิ่มแทงเราทีหลัง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้โซเชียลมีเดีย ต้องรู้จักว่ามันคือ “หลุมพราง” ส่วนคนที่จะควบคุมหลุมพรางนั้นได้ ระวังไม่ให้ตัวเองตกลงไปในนั้นก็คือตัวเราเอง ถึงโซเชียลมีเดีย ชื่อของมันพูดถึงคำว่า “โซเชียล” ซึ่งหมายถึงสังคม การสื่อสารกับคนอื่นๆ เป็นเรื่องการมองออกนอกตัว แต่ผมอยากให้เราใช้มันด้วยวิธีที่ตรงข้ามกับชื่อมัน คือให้มองแบบพิจารณาตัวเองให้ดีที่สุดก่อน ต้องรู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเรามากที่สุดครับ”


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
“เจมส์ จิ” สนมั้ย? คนกดไลค์เพจแอนตี้เกือบ 3 พันแล้ว อุทาหรณ์ดารา ถูกรักได้ทำไมจะถูกเกลียดไม่ได้
Hate Speech เกลียดชังวันละนิดจิตแจ่มใส?
นับแสนแอนตี้! "กระแต อาร์สยาม" เฟค? สร้างปรากฏการณ์ "Dislike"
 



 เพจที่แฟนคลับ ตั้งขึันมาต่อต้าน เพจแอนตี้ เพื่อแก้เกม
กำลังโหลดความคิดเห็น