ทำตามที่ได้ลั่นวาจาเอาไว้ นักอนุรักษ์ตบเท้าเข้าคืนรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ให้ผู้จัดการใหญ่ของ ปตท. เองกับมือ เพื่อกระตุ้นให้สำนึกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กรณีท่อรับน้ำมันดิบรั่วจนสร้างความเสียหายอันประเมินค่าไม่ได้ในท้องทะเลระยอง ผู้บริหารองค์กรขนาดยักษ์อาศัยช่วงสื่อมวลชนรุมล้อม ตั้งโต๊ะชี้แจงข้อเท็จจริงแบบเปิดใจ ปิดท้ายด้วยการโต้เถียงทุกข้อสงสัยอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ระหว่าง “กลุ่มคนหัวใจสีเขียว” กับบริษัทที่ถูกเรียกว่า “องค์กรอนุรักษ์จอมปลอม”
คืนรางวัล ณ ลานหญ้า ปะทะคารมณ์แบบเบาๆ
6.30 น. เริ่มต้นวันอันดุเดือดด้วยการอดข้าวอดน้ำของ เข็มทอง โมราษฎร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ปตท.” บนเฟซบุ๊ก หนึ่งในนักอนุรักษ์ที่ได้รางวัลลูกโลกสีเขียว เขายืนอยู่บนลานหญ้าหน้าองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร่วมกับเพื่อนนักอนุรักษ์อีกหนึ่งคน อดข้าวอดน้ำเพื่อรับรู้ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายใต้ผิวน้ำซึ่งถูกน้ำมันขนาด 50,000 ลิตรปกคลุม หวังสะท้อนให้บริษัทแม่อย่าง ปตท. ซึ่งดูแลบริษัทลูกผู้ก่อความเสียหายอย่าง พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) หันมาห่วงใยเรื่องทรัพยากรจากใจบ้าง ไม่ใช่แค่สร้างภาพลักษณ์องค์กรสีเขียวไปวันๆ
14.00 น. เพื่อนพ้องร่วมอุดมการณ์เดียวกันเริ่มตบเท้ากันเข้ามา ถือถ้วยรางวัลมาวางรวมไว้ที่เดียวกัน จากนั้นก็เริ่มล้อมวงคุย ร่างแถลงการณ์คืนรางวัลลูกโลกสีเขียวกันสดๆ ตรงนั้น ผลัดกันออกเสียงแสดงความคิดเห็น จนได้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แล้วตกลงกันในกลุ่ม ณ ที่ตรงนั้นว่า นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี พ.ศ.2550 คือผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวแทนเครือข่ายอ่านแถลงการณ์ต่อ ปตท.
15.00 น. ถึงเวลาประท้วงอย่างสันติ รางวัลลูกโลกสีเขียวทั้งหมด 13 ชิ้น ถูกส่งคืนไปยังเจ้าของเก่า มี ดร.สมเกียรติ ตัวแทนคณะกรรมการผู้แจกรางวัลออกหน้ามารับก่อน เหตุการณ์ยังคงดำเนินไปด้วยดี กระทั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร มาถึงจุดเกิดเหตุและมีท่าทีว่าจะไม่ขอรับ หากกลุ่มนักอนุรักษ์ต้องการคืนรางวัลแก่ ปตท. “คงคืนให้กับทาง ปตท. ไม่ได้ คงต้องคืนให้กับทางสถาบัน” ให้เหตุผลว่าสถาบันผู้แจกรางวัลไม่มีความเกี่ยวข้องกับทาง ปตท.
นพ.รังสฤษฎ์ ทนการปฏิเสธอย่างหน้าตาเฉยต่อไปไม่ไหว จึงเปิดปากให้เหตุผลว่าเคารพในตัวรางวัลและคณะกรรมการทุกท่านที่ให้เกียรติให้รางวัลมา “แต่ในส่วนของการดำเนินงานสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้ไปอยู่ในส่วนหนึ่งของการสร้างภาพสีเขียวของบริษัท ระบุเอาไว้ชัดเจนในเว็บไซต์ อยู่ในรายงานผลการดำเนินงานของบริษัท ปตท.อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จะบอกว่าบริษัทไม่ได้ใช้ภาพลักษณ์ตรงนี้มาพีอาร์บริษัทคงไม่ได้”
นายแพทย์ยืนยันขอคืนรางวัลและอ่านแถลงการณ์ ทางผู้บริหาร ปตท.ขอให้ฟังคำอธิบายจากบริษัทก่อน “ตกลงจะอ่านแถลงการณ์โดยที่ไม่ฟัง ปตท.พูดก่อนใช่มั้ยครับ” อีกฝ่ายตอบ “เราฟังมามากพอแล้วครับ” แล้วขออ่านแถลงการณ์ให้จบ
แถลงการณ์คืนรางวัล (ฉบับย่อ)
เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชาชนในพื้นที่ โดยที่ทางกลุ่ม ปตท.ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างโปร่งใส และยังขาดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน สะท้อนทัศนคติและหลักการบริหารขององค์กรที่ไม่ได้นำหัวใจ CSR เข้ามาอยู่ในการประกอบการทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทมาโดยตลอด
พวกเรา กลุ่มผู้ประสงค์จะคืนรางวัลลูกโลกสีเขียวจึงขอคืนรางวัล เนื่องจากไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างภาพสีเขียวขององค์กร ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังชื่นชมการดำเนินงานของคณะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว... พวกเราอยากให้เจตนารมณ์ของสถาบันได้เข้าไปอยู่ในหัวใจการทำงานของกลุ่ม ปตท.อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลแก่สาธารณะอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและระบบนิเวศโดยรอบ รวมทั้งจัดการแก้ปัญหาอย่างโปร่งใสโดยเร่งด่วนที่สุด
ทั้งนี้ การมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวคืนครั้งนี้เป็นความตั้งใจที่ต้องการให้กลุ่ม ปตท. ได้ปรับปรุงการดำเนินงานอย่างจริงจังและจริงใจ โดยไม่มุ่งเน้นการปกป้องภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างที่เคยเป็นมา
กลุ่มผู้คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว
2 สิงหาคม พ.ศ.2556
ปตท.แย่งซีน แถลงการณ์แก้ตัว ขอน้อมรับผิด
เมื่อสื่อมวลชนหลายสำนักปรากฏตัวขนาดนี้ ทาง ปตท. จึงได้ที ขอเชิญทั้งนักอนุรักษ์และผู้สื่อข่าวทุกสำนักเข้าฟังแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเสียเลย เริ่มร่ายอธิบายมาตั้งแต่ระบบการทำงานของทุ่นและท่อจ่ายน้ำมันดิบ
“เราเคยมีอุบัติเหตุ 1 ครั้งที่จุดรับของเอซโซ่ แหลมฉบัง ครั้งนั้นมีน้ำมันรั่วประมาณ 80 ตัน เทียบกับครั้งนี้ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย” ทั้งยังยกตัวอย่างข้อมูลน้ำมันรั่วในประเทศอื่นๆ ที่มีปริมาณร้ายแรงกว่านี้เยอะ เช่น ท่อส่ง “Lakeview Gusher” สหรัฐอเมริกา รั่วในปี 1910 เป็นจำนวนถึง 1,230,000 ตัน, “Montara oil spill” ออสเตรเลีย ในปี 2009 รั่ว 4,000 ตัน ล่าสุดที่เกิดขึ้น อยู่ที่ 50 ตัน ยังถือว่าอยู่ในระดับไม่ค่อยน่าเป็นห่วง
ส่วนเรื่องปริมาณจำนวนน้ำมันที่รั่วนั้น ปตท.ยืนยันว่าไม่ได้บิดเบือนตัวเลขอย่างที่สังคมสงสัย “ผมยืนยันว่าเวลาเราให้ข้อมูล ผมเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจนะครับ ถ้าผมให้ข้อมูลผิด ผมโดนกฎหมายข้อ 157 นะครับ แต่ในสื่อ ไม่มีใครโดนอะไร” 50 ตัน หรือประมาณ 50,000 ลิตร ที่บอกตัวเลขเอาไว้ วัดขนาดได้เท่ากับเทรลเลอร์รถบรรทุก 1 คัน แต่ที่เห็นว่ามันกระจายวงกว้างบนผิวทะเลจนน่าตกใจแบบนั้น เพราะน้ำมันเป็นของลอยน้ำ โดยธรรมชาติจะแผ่กระจาย ยิ่งวั้นนั้นมรสุมแรง น้ำทะเลขึ้นสูง 1 เมตร จึงส่งผลให้น้ำมันกลายเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ “ยกตัวอย่างง่ายๆ ลองเอาน้ำมันรถหยดลงไปในกะละมังหยดนึง แล้วลองตีน้ำ น้ำมันจะกระจายเต็มกะละมังเลย”
แต่สิ่งที่ ปตท. ทำผิดพลาดคือการประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง ณ วันเกิดเหตุ (27 ก.ค.) รู้ว่าน้ำมันรั่วในช่วงเช้า 6.50 น. โดยประมาณ และวาล์วอัตโนมัติตัดระบบส่งน้ำมันทันที จึงพอจะวัดได้ว่ารั่วออกมาประมาณ 50,000 ลิตร คิดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เองโดยใช้ทุ่นน้ำมันล้อม แต่ลมมรสุมทำให้เหตุการณ์ใหญ่เกินที่คาดไว้ จึงตัดสินใจติดต่อขอเครื่องบินจากสิงคโปร์มาโรย Dispersant หรือสารขจัดคราบน้ำมัน
ส่วนวันถัดมา (29 ก.ค.) ก้อนน้ำมันบางส่วน จู่ๆ ก็ไปโผล่ที่อ่าวพร้าวนั้น ถือเป็นเรื่องไม่คาดคิด ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดน้ำมันจึงไปโผล่ในจุดนั้นได้ ซึ่งทาง ปตท.เองก็เสียใจอย่างมากที่ผลของความผิดพลาดไปทำลายชายหาดที่มีความสวยงามมากๆ แห่งหนึ่ง แต่เมื่อเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ทำได้อย่างดีที่สุดก็คือการเก็บกู้คราบน้ำมันออกจากหาดทรายขาว และใช้น้ำไล่ฉีดโขดหินทุกก้อน พยายามกู้คืนสภาพให้กลับมาดีขึ้นให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งยืนยันว่า
“วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบของปัญหา และคงต้องทำต่อไปอีกหลายๆ เดือน หลายๆ ปี ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดียิ่ง ถึงแม้เราจะแลกมาด้วยความเจ็บปวดของกลุ่ม ปตท.ว่าในอนาคตเราจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ก็แล้วแต่มุมมองครับว่า สิ่งที่เราพูดอาจจะเป็นการแก้ตัว พูดกันว่าเราปัดความรับผิดชอบ อันนี้ผมกำลังอธิบายว่าเรารับผิดชอบยังไงอยู่ครับ อย่างน้อยภายในอาทิตย์นี้ เราจะทำให้สถานการณ์อยู่ในการควบคุมได้ และหลังจากนี้จะเป็นการดูผลที่เกิดขึ้น ซึ่งผมยืนยันว่าเรายอมรับนะครับ ผมที่เกิดขึ้น เรากล้าทำ เรากล้ารับ เราไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ”
นักอนุรักษ์ยิงคำถาม ทุกประเด็นแคลงใจ
ปล่อยให้ ปตท.เปิดพื้นที่แก้ต่างอยู่ร่วมชั่วโมง จึงถึงเวลานักอนุรักษ์ขอโต้ข้อสงสัยกลับไปให้ผู้บริหารได้ตอบให้ตรงกับสิ่งที่สังคมอยากรู้จริงๆ บ้าง
เรื่องที่สงสัยอย่างมากคือสภาพทะเล ณ จุดเกิดเหตุและอ่าวพร้าวในขณะนี้เป็นอย่างไรกันแน่? เดี๋ยวมีภาพทะเลสีดำ หาดดำ เดี๋ยวอีกสักพักก็กลายเป็นภาพทะเลสะอาดแล้ว ทาง ปตท.เองก็เปิดใจว่าปวดหัวกับเรื่องนี้เหมือนกัน จึงตัดสินใจเปิดหน้าเว็บ “ถ่ายทอดสด จากอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด” (คลิก) อย่างเป็นทางการขึ้นมาเมื่อวานนี้ ถ่ายทอดสภาพพื้นที่จริงให้เห็นตลอด 24 ชั่วโมงในหลายมุมกล้อง จะได้เลิกคลางแคลงใจกันเสียทีว่าสภาพหาดแบบไหนคือของจริงในปัจจุบัน
ส่วนเรื่องที่ประชาชนกังวลเกี่ยวกับการเล่นน้ำบริเวณใกล้เคียง สามารถทำได้หรือไม่ และอาหารทะเลแถบนั้น ยังกินได้อยู่หรือเปล่า ทาง ปตท. ยืนยันว่ามีการจับปลามาตรวจสอบทุกวันก็ยังไม่พบอะไร “แต่จะให้ทางผมพูดเอง คนคงไม่เชื่อ หาว่าแก้ตัว คงต้องให้ทางราชการ กรมควบคุมมลพิษออกมาแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการตรวจดีกว่า” ขณะนี้ได้มีองค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบน้ำในเกาะเสม็ดและรอบๆ แล้ว
“วิกฤตประชาชนสิ้นศรัทธา” คือปัญหาที่ ปตท. กำลังเผชิญอยู่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว จึงเชิญชวนให้ผู้บริหารบริษัทลองทบทวนตัวเองว่ามันเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่มานั่งถามสังคมว่า เหตุใดจึงไม่เชื่อเมื่อ ปตท.ออกมาพูดความจริง
“ผู้ว่า ปตท.ทุกท่านที่ผ่านมาก็ได้คุยกันประเด็นนี้ ผมเชื่อว่าตอนที่ผมเด็กๆ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดตอนนั้นไม่ใช่ ปตท. แต่เป็นการบินไทย การไฟฟ้า ผมจำได้ว่าเขาก็จะถูกโจมตีในพื้นที่ข่าวเยอะ เมื่อ ปตท.มากลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็เป็นธรรมชาติว่าก็จะถูกตรวจสอบเยอะ เราอยู่ในธุรกิจน้ำมันและแก๊ส เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรและชุมชนด้วย เราก็ได้เรียนรู้จากหลายๆ ครั้งที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ขุดเจาะน้ำมันโดยไม่ได้บอกชุมชน บริษัทเองก็ต้องศึกษาให้มากขึ้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน” นี่คือคำตอบจาก ผู้บริหาร ปตท.
“วันนี้คือวันที่ 7 หลังจากเกิดเหตุการณ์ ผมยังต้องสืบหาว่าต้นเหตุของเหตุการณ์นี้คืออะไร เมื่อเรารู้แล้ว เราจะมาเรียนให้ทราบครับ เพราะขณะที่เรายังไม่รู้ต้นเหตุ พูดอะไรไปก็เหมือนแก้ตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความเสียหายต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ ยืนยันครับว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงมาก เราจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แต่ถ้าผมบอกว่าจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก ผมพูดไม่ได้ครับ พูดแบบนั้นเท่ากับพูดโกหก มันเหมือนผมเป็นคนบอกทุกคนว่าอย่าขับรถประมาทมันจะเกิดอุบัติเหตุ แต่วันนึงผมดันขับรถชนเสียเอง แต่ผมก็รับปากไม่ได้ครับว่าผมจะไม่มีวันขับรถชน”
ลองถามมุมมองของคนนอกซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะนักอนุรักษ์ผู้มาคืนรางวัล แต่เป็นผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อมดูบ้าง หลังจากการเปิดใจตอบอย่างเป็นทางการของ ปตท. นักวิชาการ-นักเขียนชื่อดังอย่าง สฤณี อาชวานันทกุล รู้สึกอย่างไร “เรื่องที่ทางบริษัทต้องกลับไปทบทวนคือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ยังเป็นการอธิบายในเชิงวิศวกรรมมาก เกิดอะไรขึ้น ใช้สารเคมีอะไร อาจจะยังไม่ได้มองในมุมผลกระทบอย่างที่ควรจะเป็น ก็หวังว่าการแสดงจุดยืนของผู้คืนรางวัลวันนี้จะทำให้บริษัทหันมามองเรื่องผลกระทบมากกว่านี้ แต่ก็เข้าใจว่าบริษัทไม่ได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ตรงไหนที่บริษัทไม่ถนัด ก็ต้องยอมที่จะเปิดรับฟังความเห็นภายนอก หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญอิสระจากภายนอกมาดูแล จะได้ไม่ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินจริงจนเป็นปัญหาแบบนี้
ส่วนเรื่องภาพลักษณ์ความรับผิดชอบของ ปตท. เทียบจาก 5 วันที่แล้วก็ดีกว่าเยอะ เพราะ 2 วันแรก สิ่งที่ผู้บริหาร PTTGC (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล) พูดมันไม่อันตรายเลย ไม่มีอะไรน่าหนักใจ แต่ตอนนี้ก็แสดงความรับผิดชอบ มีติดตั้งกล้องให้ดูผ่านเว็บไซต์ได้ รวบรวมข้อมูล เพียงแต่มันช้าไป 5 วัน แต่ก็ยังไม่เห็นการมองในมิติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเท่าที่ควร เขาให้เหตุผลว่าให้ฟังข้อมูลจากฝั่งราชการแล้วกัน เพราะ ปตท.พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ อันนี้คงไม่เพียงพอค่ะ บริษัทใหญ่ขนาดนี้ ปตท.ต้องพยายามทำให้คนเชื่อให้ได้สิ จะไปบอกว่ารอให้คนอื่นทำก็แล้วกัน มันก็คงไม่ใช่”
หลังจากถามตอบข้อแคลงใจกันอย่างชุลมุนและดูเหมือนเวลาจะมีไม่เพียงพอต่อข้อสงสัยอีกมากมายที่ต้องการคำตอบ ผู้บริหารจึงขอปลีกวิเวกโดยการให้เหตุผลว่า
“ผมขออนุญาตครับ พอดีผมต้องลงไปพบพนักงานอีก 4,000 ชีวิต พนักงานผมกำลังจะถามคำถามเหมือนท่านทั้งหลายนี่แหละครับ ผมต้องเรียนว่าผมยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น”
คงต้องให้ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ซ้อมการอธิบายต่อพนักงานในองค์กร 4,000 คน ก่อนจะต้องตอบคำถามอีก 60-70 ล้านคนในกรณีนี้กันไปอีกนาน
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE