xs
xsm
sm
md
lg

วิธีดื่มน้ำผลไม้-สมุนไพรตามทฤษฏีแพทย์แผนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตามหลักการการแพทย์แผนไทย ร่างกายคนเราจะแข็งแรงได้ต้องมีภาวะที่สมดุลของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำลม และไฟ แต่ด้วยเหตุที่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน มีการแปรเปลี่ยนของสภาวะอากาศหลายรูปแบบ ทำให้มีผลกระทบต่อความสมดุลของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย และบางครั้งส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย

การดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย สามารถกระทำได้โดยการดื่มตามเวลาใน 1 วันที่ธาตุในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการแบ่งเวลาดังต่อไปนี้

06.00-10.00 น. และ 18.00-22.00 น.

ร่างกายมักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ น้ำสมุนไพรที่บำรุงร่างกายและปรับสมดุลของธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำฝรั่ง รสเปรี้ยวของน้ำส้มทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ ขับเสมหะรสฝาด อมเปรี้ยวของน้ำฝรั่ง มีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยแก้อาการท้องเดิน

10.00-14.00 น. และ 22.00-02.00 น.

ร่างกายมักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ น้ำสมุนไพรที่ช่วยบำรุงร่างกายและปรับสมดุลของธาตุไฟ ได้แก่ น้ำสมุนไพรที่มีรสขม เช่น น้ำบัวบก น้ำลูกเดือย น้ำบัวบกแก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้สดชื่น แก้อักเสบหรือช้ำใน แก้ปวดศีรษะข้างเดียว น้ำลูกเดือยชงเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน บำรุงไต กระเพาะอาหาร ม้าม รวมทั้งบำรุงเลือดลมในสตรีหลังคลอด รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง

14.00-18.00 น. และ 02.00-06.00 น.

ร่างกายมักจะเจ็บป่วยด้วยธาตุลม น้ำสมุนไพรที่ช่วยบำรุงร่างกายและปรับสมดุลของธาตุลม ได้แก่ น้ำสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำขิงรสเผ็ดร้อน บำรุงธาตุ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยเจริญอาหาร น้ำตะไคร้ รสเผ็ดร้อน บำรุงธาตุ ช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อได้ดี ช่วยลดพิษของสารแปลกปลอมในร่างกาย

ส่วนกรณีการเจ็บป่วยด้วยธาตุดินนั้นไม่ได้ขึ้นกับกาลเวลา แต่จะเกิดผลของการผิดปกติของธาตุอื่นๆ ดังนั้นการดื่มน้ำสมุนไพรหรือน้ำผลไม้เพื่อบำรุงธาตุดินนั้นจึงสามารถกระทำในเวลาใดก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันการแพทย์แผนไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น