หลายๆ คน อาจเป็นกังวล หลังจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงนี้มีจำนวนสูงขึ้นและคาดว่าน่าจะยาวไปถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งปัญหายุงกัดนั้น ไม่ได้เกิดแค่เพียงในประเทศไทย แต่ถือเป็นปัญหาระดับโลกก็ว่าได้ จนถูกผลักดันเป็นนวัตกรรมใหม่ในการป้องกันยุงด้วยสติ๊กเกอร์ขึ้นมา
การที่ยุงรู้ว่าเราอยู่ที่ไหนก็เพราะมันสามารถจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ห่างออกไปไกลหลายร้อยฟุตได้สบายๆ ถ้าหากเราทำให้มันจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้ เราก็ไม่ถูกกัด ด้วยเหตุนี้จึงมีการผลิตสติ๊กเกอร์ที่ทำให้ยุงไม่เห็นเราขึ้นมา โดยเจ้าสติ๊กเกอร์นี้มีชื่อว่า Kite Patch มันมีขนาดกะทัดรัด ไม่มีสารพิษในการผลิต สามารถใช้ติดกับร่างกายหรือเสื้อผ้า หลักการทำงานก็คือจะไปรบกวนเรดาร์สำหรับตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยุงทำให้มันหาเราไม่เจอ ก็เลยไม่ถูกกัด โดยสติ๊กเกอร์หนึ่งแผ่นสามารถใช้งานได้ 48 ชั่วโมง
Kite Patch เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นโดย Grey Frandsen, Michelle Brown และ Torrey Tayanaka จาก Olfactor Laboratories พวกเค้าได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยของ Anandasankar Ray จาก University of California Riverside เมื่อปี 2011 ที่ค้นพบกลุ่มสารเคมี 3 ชนิดที่ไปรบกวนระบบตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์ของยุง
ตอนนี้ทางผู้พัฒนา Kite Patch กำลังหาเงินระดมทุนเพื่อไปทดสอบภาคสนามในสเกลที่ใหญ่ขึ้นที่ประเทศอูกันดา ใช้เวลาทดสอบ 1 ล้านชั่วโมงกับครอบครัวที่มีปัญหาติดเชื้อมาลาเรียมากกว่า 60% ผลการทดสอบจะนำมาสรุปเป็นสูตรส่วนผสมที่ให้ผลที่มีประสิทธิภาพกันยุงได้มากที่สุด รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย จากนั้นก็จะไปทำการจดทะเบียนขออนุญาตกับสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ที่อเมริกา ขั้นตอนสุดท้ายก็คือผลิตออกมาในจำนวนมากๆ เพื่อส่งไปยังตลาดที่มีปัญหาเรื่องของยุงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต