xs
xsm
sm
md
lg

รฟม. จ๋า.. น้ำตาป้าไหลพราก ณ บางขุนพรหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นคุณจะรู้สึกอย่างไร.. หากบ้านที่พักอาศัยตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษกลับต้องมาถูกเวนคืนเพื่อประโยชน์สาธารณะ?

ขณะที่เส้นทางรถไฟฟ้าหลายสายกำลังก่อร่างระบบขนส่งรางสาธารณะ หวังยกระดับการคมนาคมในเมืองหลวง ชาวบ้านหลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนก็ต้องก้มหน้าย้ายออกจากถิ่นฐานที่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคน ไม่เว้นแม้กระทั่ง ย่านเมืองเก่าใจกลางกรุง 'ชุมชนบางขุนพรหม' แหล่งประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนอยู่อาศัยทำกินกันมานับสิบๆ ปี ก็ถูกการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปักหมุด เร่งเครื่องสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

ทีมข่าวASTV ผู้จัดการ LIVE ลงพื้นที่สำรวจ ย่านชุมชนบางขุนพรหม แผ่นไวนิลพื้นสีขาวขนาดใหญ่สกรีนข้อความอัดอั้นตันใจของชาวบ้านตลอดแนว ตั้งแต่บริเวณ ซ.สามเสน 3 ถ.สามเสน จรดแยกบางขุนพรหม

'พวกเราไม่ยอมย้ายเด็ดขาด เราเกิดที่นี่ จะขอตายที่นี่' ข้อความสั้นๆ แต่ถ่ายทอดความรู้สึกจากก้นบึ้งของชาวชุมชน หลายหลังคาเรือนอยู่กันมารุ่นสืบรุ่นนับ 100 ปี บางหลังคาเรือนเป็นทั้งบ้านและร้านค้ามากกว่า 60 ปี

ว่าดี อย่างไรก็ตาม เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ บริเวณสถานนีบางขุนพรหม ยังไม่มีความชัดเจนจาก รฟม. ยังคงปล่อยให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างหวาดระแวงไม่รู้ว่าวันดีคืนดีที่ดินในกรรมสิทธิ์ของตนจะโดนเวนคืนหรือเปล่า

รฟม. ยังคงทิ้งไว้เพียงคำถามกับคำตอบที่ไม่มีชัดเจน เป็นโจทย์ให้ชาวบ้านคิดไม่ตก ไม่ว่าจะเรื่องสถานีที่สร้างติดๆ กัน เว้นระยะห่างเพียง1-2 กม., การเวนคืนที่ดินจำนวนหลายร้อยเมตรเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทับซ้อน, ความคุ้มทุนความคุ้มค่าในการใช้งาน, เป็นบริเวณที่น้ำท่วมขัง ฯลฯ

ทวงถามความชัดเจน รฟม.
ตัวแทนชาวบางขุนพรหมท่านหนึ่ง เล่าให้ทีมงานฯ ฟังว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รฟม. แถลงข่าวครึกโครมว่าจะเร่งเวนคืนที่ดินเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2556 ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ พร้อมๆ ชาวบางขุนพรหมในเวลาไล่เลี่ยกัน

ไม่รู้เหมือนกันว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รฟม. ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า เพราะชาวบ้านร้องทุกข์ระงมทวงถามถึงความชัดเจนในเรื่องที่ตั้งสถานีบางขุนพรหม บ้างก็รือว่าจะไล่ที่เวนคืนบ้านเรือนในชุมชนบางขุนพรหม นับจากแยกบางขุนพรหม เป็นระยะ 300 เมตร บ้างก็ว่า รฟม. จะใช้พื้นที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งถ้าเป็นตัวเลือกนี้ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบน้อยลง

นิรุทธ สิทธิสรเดช ตัวแทนชุมชนบางขุนพรหม กล่าวแสดงความรู้สึกพร้อมเปิดเผยว่า ชาวบ้านส่วนมากทราบเรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ช่วงเดือนเมษาฯ 56 ที่ผ่านมา เพราะมีการเรียกชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ราวๆ 5 หลังคาเรือนเข้าร่วมประชุมประชาสัมพันธ์ว่าจะมีโครงการนี้ ต่อมาก็มีการส่งจดหมายแต่แจกไม่กี่บ้าน เพื่อเรียกเข้าประชุมในเรื่องเดิมอีกครั้ง

“รฟม. ก็มีการเสนอโครงการคร่าวๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลอะไรมาก บอกแค่ว่าตัวรถไฟฟ้าทำแถวนี้ ในย่านบางขุนพรหม ตั้งแต่ 4 แยกบางขุนพรหม มีโครงการดำเนินการ 300 เมตร”

ความไม่ชัดเจนของ รฟม. ส่งผลให้ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่รวมตัวถกกันถึงประเด็นปัญหา ถึงขั้นที่ว่ารวมตัวเตรียมการประท้วง ขณะที่ รฟม. ชี้แจงทันทีว่าตัวสถานีบางขุนพรหมจะตั้งบริเวณลานจอดรถธนาคารแห่งประเทศไทย แน่นอนการเตรียมการของชาวบ้านต้องชะงักลงเพราะพื้นที่ที่ รฟม. จะใช้นั้นไม่ใช่ฝั่งชุมชนของตน

ท้ายที่สุดท้าย รฟม. ก็สร้างความคลุมเครือกับชาวบ้าน เพราะตัวแทนชาวบ้านมีการพูดคุยกับท่านผู้ว่าฯ ของแบงก์ชาติ เรื่องการใช้พื้นที่แบงก์ชาติ สร้างสถานีบางขุนพรหมทาง รฟม. มีการเสนอเข้ามาแต่ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องแปลนหรือจะใช้พื้นที่เท่าไหร่ มีเพียงข้อมูลในเรื่องรูปแบบโบกีรถไฟและทางออก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 24 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งคาดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าร่วมพิจารณา ด้าน ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ตนไม่สามารถตัดสินใจได้คนเดียว ต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าไปหารือกับ บอร์ดแบงก์ชาติ อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงเรื่องความความมั่นคงและปลอดภัยภายใน ธปท.ด้วย

เสียงเพรียกจากบางขุนพรหม
ชุมชนแถบนี้ผู้อยู่อาศัยก็มักจะเป็นผู้สูงอายุ วิถีชีวิตเดิมๆ ร่องรอยของชุมชนเดิมที่ค้าขายเสื้อผ้าค้าขายเครื่องหนังก็ยังคงอยู่

เหม่งต๊ะ แซ่ตั้ง เจ้าของร้านซ่อมเบาะรถยนต์ วัย 86 ปี บอกว่า ปัจจุบันอยู่กับภรรยา และลูกสาววัย 7 ขวบ พอได้ยินข่าวว่ามีโครงการฯ ส่วนตัวคิดมากจนเกิดความเครียดสารพัด เพราะผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้มาก และหากต้องย้ายไปจริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน อีกอย่างลูกสาวก็ยังเล็กด้วย

"อยู่ที่นี่มาประมาณ 50 ปีแล้ว บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยมาก ถ้ามาเอาบ้านเราไป แล้วให้ค่าเวนคืน บอกได้เลยว่า ไม่พอหรอกที่จะไปซื้อบ้านใหม่ ผมไม่มีเงินขนาดนั้น แล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไร แบบนี้เราตายกันแน่นอน มันลำบากมากจริง ๆ อย่างเวลานี้มีลูกเล็กด้วย ถ้าไม่อยู่ที่นี่ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน เครียดนะ เครียดมาก บางคนเครียดจนผมจะร่วงหมดหัวอยู่แล้ว เพราะใครไม่เจอแบบเรา ไม่มีทางรู้ ผมก็ได้แต่บอกใครหลาย ๆ คนว่า เครียดมากเดี๋ยวตายเร็วนะ ส่วนตัวไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพ แต่พอมาเจอเรื่องนี้ มันเครียดจริงๆ"

เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านบางขุนพรม สัมฤทธิ์ งามวงจา วัย 63 ปี เขาแต่ญาติๆ ที่ทำร้านอาหารเล็กๆ มาด้วยกัน เลี้ยงปากท้องอย่างพอมีพอกินชนิดที่ว่า แม้เข้าช่วงเที่ยงวันแล้ว ร้านอาหารก็มีลูกค้าเข้ามาเพียงเบาบางเท่านั้น

“ที่ทำงานอยู่ที่นี่ก็เป็นพี่น้องกันทั้งนั้น เราย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ 20 ปีแล้ว เราคิดว่าได้ย้ายมาอยู่แถวนี้ก็น่าจะมีความมั่นคงในชีวิตที่จะทำมาหากินไปได้เรื่อยๆ” เขาเอ่ยถึงวิถีชีวิตร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ ร้านหนึ่งที่ไม่มีชื่อร้าน ไม่มีแบรนด์โก้หรูอย่างในห้างดัง หากแต่มีวิถีชีวิตกับผู้คนในชุมชนเป็นรายได้เลี้ยงปากท้อง

ด้านฝั่งตรงข้ามถนน ร้านรองเท้าของ รวีพร กอเสรีกุล อายุ 67 ปี ซึ่งยึดอาชีพขายรองเท้ามานานหลายปี เพราะย่านบางขุนพรมนั้นได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมเครื่องหนังและเสื้อผ้ากับวิถีชีวิตที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2509

สิ่งแรกที่เข้ามาจู่โจมหญิงสูงวัยเจ้าของร้านรองเท้าหลังจากที่รับรู้ถึงโครงการสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็คือความกังวลขั้นรุนแรงที่สั่งสมเป็นความเครียด จากความกลัวในวิถีชีวิตที่ต้องแปรผัน กระทั่งความระแวงในข่าวสารที่ไม่แน่นอนจากทางภาครัฐก็ทำให้เธอถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ

“เรานอนไม่ได้มาหลายเดือน พอได้ยินข่าวเราก็ไม่สบายใจ คือข่าวครั้งแรกเขาก็บอกจะมาตรงนี้เลย เราก็ใจเสีย ไม่สบายไปหาหมอ หมอบอกเป็นความดัน แล้วก็ว่าให้ระวังหน่อย ตอนนี้หัวใจผิดปกติ”

อยู่ๆ เธอก็โพล่งถามทีมงานออกมาด้วยความระแวงพร้อมน้ำตาที่เริ่มคลออยู่ในดวงตาทั้ง 2 ข้าง “ตกลงเขาให้มาสัมภาษณ์เพราะเขาจะมาเอาคืนหรือยังไง” เมื่อให้เห็นบัตรนักข่าว เธอจึงหัวเราะออกมา เป็นเสียงหัวเราะที่แฝงเร้นไปด้วยความเศร้า

“ที่นี่ส่วนใหญ่ก็คนแก่ๆ ทั้งนั้นเลย ลูกเต้าก็ออกไปทำมาหากินข้างนอก คนดวงดีหน่อยมีเงินก็ส่งเสียลูกเรียนสูงๆ ได้เงินเยอะๆ เราดวงไม่ดี ส่งเสียลูกไม่ได้ก็กินน้อยๆ เลี้ยงตัวกันได้เท่านั้นเองแหละ ไม่มีเหลือหรอก ป้าอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเมตตา ตั้งใจว่าอยู่อีกไม่กี่ปีก็คงจะไปกันแล้ว เพราะอายุก็มากๆ กันทั้งนั้น”

วิถีบางขุนพรหม..จากรุ่นสืบรุ่น
บ้านเรือนชุมชนบางขุนพรหม ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นตึกแถว 3-5 ชั้น เปิดเป็นร้านค้าเสียเป็นส่วนใหญ่ จากการสำรวจพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากเป็นกลุ่มคนเก่าคนแก่ที่ตั้งหลักปักฐานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ได้เป็นแหล่งธุรกิจที่เหมาะแก่การลงทุน

นุชนารถ สิทธิสรเดช คุณแม่ของตัวแทนชุมชน เจ้าของธุรกิจห้องเสื้อที่ดำเนินกิจการในย่านบางขุนพรหมมากว่า 46 ปี เล่าว่าหลังเรียนจบจากต่างประเทศก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเปิดร้านเสริมสวยตัดเสื้อ

นอกจากนี้ชาวบ้านชาวบางขุนพรหมยังมีการประชุมหารือต่อเรื่องการสร้างสถานีรถไฟฯ ทุกอาทิตย์ เพื่อหารือถึงร่วมกัน เบื้องต้นชาวชุมชนเรียกร้องสิทธิด้วยการขึ้นป้ายไวนิลและข้อความอธิบายถึงความเดือดเนื้อร้อนใจที่เกิดขึ้นต่อชุมชนเก่าแก่ของตน

“ในเวลาเดียวกันก็เริ่มท้อกัน เราจะสู้เค้าได้มั้ยเนี้ย? บอกสู้ไม่ได้ก็ต้องสู้กัน จะติดป้ายไปเรื่อยๆ แต่เราบอกไว้เลยว่าอย่าไปเขียนด่าใคร เราเขียนว่าเราเดือดร้อนให้ใครเขาเห็นว่าเราเดือดร้อน ถูกรังแก เราอยู่ของเราดีๆ อย่ามารังแก มีแค่สถานีที่หอสมุดแห่งชาติก็พอ ความจำเป็นแถวนี้ก็ไม่มี”

“เขามีกฏหมายอยู่ในมือเราสู้เขาไม่ได้ เราก็ต้องสู้ อยู่ๆ จะให้เขามาเอาไปง่ายๆ” น้ำเสียงหนักแน่นของเธอ ยืนกร้านที่จะปกป้องชุมชนบางขุนพรหมจนถึงที่สุด

ด้าน กษิภัท อนันต์วานิชย์พร เจ้าของร้านถ่ายเอกสารเล็กๆ ในย่านบางขุนพรหม วัย 35 ปี ซึ่งตั้งอยู่มานานกว่า 40 ปี จากรุ่นสืบรุ่น เผยความรู้สึกเช่นกัน

"เราอยู่ที่นี่กันมานาน อาม่าพี่ตายที่นี่ แม่ก็ตายที่นี่ ทวดก็ตายที่นี่ แล้วข้างบนบ้านนี่เป็นไม้สักนะ สภาพบ้านก็ยังมีกรงเหล็กแบบบาง ๆ ที่เขาเอาไว้ดูโจรอ่ะ ถ้าสมมติว่าเวนคืนขึ้นมาจริงๆ ก็คงต้องเรียกร้อง เป็นไปได้ ไม่อยากให้มีเลยนะสถานีรถไฟ บอกตรงๆ นะว่า ตอนรู้ข่าว เวียนหัวนะ นอนไม่หลับ เพราะเครียดกันมาก"

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ขณะที่ด้านของ พิชญ ส่งศักดิ์สกุล เภสัชกรเจ้าของร้านขายยา อายุ 54 ปี เปิดเผยว่า ตลอดชีวิตในย่านชุมชนแห่งนี้ เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ยุครุ่งเรืองที่บางขุมพรหม สู่ยุคแห่งความสงบตามวิถีทางของความร่วงโรย

“ผมขายยามาก็ตั้งแต่ 2528 แต่รุ่นแม่ผมก็ทำมาค้าขายอย่างอื่นมานาน ผมก็โตมากับย่านนี้ เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง”

กับกรณีเวนคืนที่ดินสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น เขาเห็นว่า เป็นความอยุติธรรมที่ภาครัฐให้อำนาจในการขับไล่ที่ของชุมชน เพราะมูลค่าที่ดินแถบนี้นั้นมีมากกว่าเพียงเม็ดเงินที่รัฐจะขายให้ นายทุนที่อยากจะกว้านซื้อที่ดินเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้ามีมากมาย หากแต่จะกว้างซื้อที่ในเชิงธุรกิจนั้น ก็คงจะทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านในที่ทางแถวนี้ก็คงจะไม่ยอมขาย

“ที่ชาวบ้านไม่ได้ขาย ไม่ได้เกี่ยวกับเงิน แต่มันเกี่ยวกับวิถีชีวิตเขา เขาจะไปมีชีวิตที่ไหนยังไงละ?” เขาเอ่ย พร้อมย้ำถึงสิ่งที่เห็นชัดเจนในความไม่ชอบมาพากลของการเวนคืนครั้งนี้ “การสร้างรถไฟฟ้าฟ้าใต้ดิน ประเทศอื่นสถานีเขาเล็กกว่านี้ได้ ทำไมไม่ไปสร้างโดยใช้พื้นที่ลานจอดรถแบงก์ชาติ พอสร้างเสร็จแบงก์ชาติก็เอามาทำที่จอดรถต่อได้ แต่มาเวนคืนที่ชุมชน ก็เพราะเขามีอำนาจทำได้ไง เวนคืนที่ชุมชนออกไป รฟม.ก็เป็นเจ้าของที่

“รฟม.จะดำเนินการพัฒนา มันจะเรียกให้หรูหราสวยงามยังไงก็เถอะ แต่การพัฒนานั้นสุดท้ายมันก็คื บงการเอาเปรียบชุมชน บังคับเขาย้ายออกไปในราคาที่ดินซึ่งมีการประเมิน แล้วราคามันไม่ใช่ราคาจริง มันน้อยเสียจนชาวบ้านจะไปหาซื้อที่ดินใหม่คงจะไม่ได้”

ด้าน สุทธาทิพย์ ตั้งสัมฤทธิ์กุล เจ้าของธุรกิจเกสท์เฮาท์ วัย 53 ปี บอกเล่าความรู้สึกว่ามีแต่ความความเครียด หากมีความชัดเจนว่าจะถูกเวนคืนพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เชื่อว่าหลายครัวเรือนคงต้องเกิดความเครียดกันมากขึ้น

"ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็แทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่แล้ว วันๆ นั่งคิดกันแต่เรื่องนี้ ฉันจะโดนไหม โดนแล้วจะไปอยูไหน แต่ละบ้านต้องบอกว่า เขาอยู่กันมานานมาก บางบ้าน เป็นบ้านเก่า มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะอย่างไร ส่วนมากจะเป็นคนเก่าคนแก่ที่อยู่กันมานานหลายสิบปี ลำพังตัวเองก็เครียดนะ สภาพจิตใจแย่กันไปหมด เพราะรับไม่ได้กัน ทำไมต้องมารังแกประชาชนด้วย"

นอกจากนั้น เธอยังเผยต่อไปว่า ถ้าสิ่งที่กำลังกลัวอยู่ตอนนี้ มันเกิดขึ้นมาจริงๆ ไหวไม่ไหวก็ต้องสู้

"เราไม่ได้ไปขัดขวางเรื่องการสร้างรถไฟฟ้านะ แต่ที่บอกว่า จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และมีการเวนคืนอย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านๆ มามันไม่ใช่ ถ้าสิ่งที่ทำแล้วมันถูกต้อง เป็นธรรมมันจะเกิดการต่อต้านแรงขนาดนี้ไหม และการจะทำอะไรแบบฉุกละหุก มันไม่เป็นผลดีหรอกค่ะ"

…........................
การคัดค้านของชาวชุมชนบางขุนพรหม เป็นไปอย่างสงบและสุภาพ พวกเขาเพียงวอนขอความเป็นธรรมในฐานะพลเมืองกลุ่มเล็กๆ ที่กำลังได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจจากการสร้างระบบรางขนส่งสาธารณะ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน

การเวนคืนพื้นที่ชุมชนอย่าสักแต่ใช้อำนาจกฎหมายเข้าคุกคามประชาชน เป็นโจทย์ที่ฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและใช้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นธรรม

…..............
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการ LIVE
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ชาวบางขุนพรหมลั่นขอตายที่บรรพบุรุษ ค้าน รฟม.เวนคืนที่สร้างสายสีม่วง






คุณนิรุทธ  ตัวแทนชุมชนบางขุนพรหม
บรรดาชาวบางขุนพรหม

กำลังโหลดความคิดเห็น