พูดถึงอเมริกันพิทบูล เทอร์เรีย (American Pit Bull Terrier) หลายคนรู้จักกันดีในชื่อสั้น ๆ ว่า "พิทบูล" เพราะขึ้นชื่อในเรื่องความดุและโหดเป็นที่สุด ซึ่งหากลองค้นดูจากกูเกิลแล้ว จะพบว่ามีข่าวความดุร้ายให้เห็นกันอยู่มากมาย ไม่ว่าจะกัดเด็ก ฟัดคนชรา หรือแม้แต่เจ้าของเองก็มีข่าวถูกกัดมาแล้ว
ไม่แปลกที่เจ้าสัตว์สี่ขาสไตล์ดุดัน หนาล่ำ อกกว้าง กระดูกใหญ่สายพันธุ์นี้จะถูกควบคุมเป็นพิเศษในหลายประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด และปัจจุบันก็มีการควบคุมการเลี้ยงที่มีอยู่เดิมอย่างเข้มงวด
ทว่า วันนี้ หลายคนอาจไม่ทราบถึงการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น จาก "อเมริกันพิทบูล" สู่ "อเมริกากันบูลลี่" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ดุและโหดร้ายเหมือนอเมริกันพิทบูล นับเป็นสายพันธุ์ที่กำลังได้รับความนิมอย่างสูงในหมู่คนเลี้ยงสุนัขในขณะนี้
"อเมริกันพิทบูล" สุนัขสายพันธุ์นักสู้
เมื่อพูดถึงอเมริกันพิทบูล บิ๊กบัง-ธิคำพร อยู่เป็นสุข นักผสมพันธุ์สุนัข หรือบรีดเดอร์แถวหน้า ๆ ของเมืองไทย เล่าให้ฟังว่า สุนัขสายพันธุ์อเมริกันพิทบูล เป็นสายพันธุ์ที่ใครหลายคนรู้จักกันดี เพราะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของอเมริกา อย่างประเทศไทยมีพันธุ์หลังอาน บางแก้ว อเมริกาเขาก็มีอเมริกันพิทบูล
แต่ในช่วงหลายสิบที่ผ่านมา อเมริกาบางรัฐไม่เอาสายพันธุ์นี้เลย เพราะดุ และโหดเกินไป บางที่ถึงกับจับเอามาแล้วทำให้หลับไปเลย เพราะจริง ๆ แล้ว การสร้างพิทบูลขึ้นมา มีเพื่อไว้ต่อสู้ในเกมกีฬา เช่นเดียวกันกับในประเทศเยอรมนีที่สร้างร็อตไวเลอร์ขึ้นมาเพื่อใช้ในสงคราม หรือไว้กัดขาม้าของคู่ต่อสู้
แม้จะเป็นสุนัขที่ภาพลักษณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่ก็ยังมีการจำหน่าย และเลี้ยงกันอยู่ในกลุ่มผู้นิยมสุนัขสายพันธุ์นี้ นี่คือสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
"ทุกคนรู้จักพิทบลู เพราะมันดุ และกัดคน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป เขาสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสุนัขล่า ผมเชื่อว่า พิทบูล 500 ตัว มีประมาณ 3-5 ตัวที่ทำร้าย และกัดเจ้าของ แต่เชื่อไหมครับว่ามันไม่ได้ตั้งใจหรอก อย่างร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมนก็กัดเจ้าของเหมือนกัน แต่ไม่เห็นเป็นข่าวเท่านั้นเอง"
"หากต้องการจะเลี้ยง หรือข้างบ้านใครเลี้ยง สิ่งที่ต้องระวังที่สุดก็คือ คนชรา เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกรณีที่สุนัขเกือบทุกสายพันธุ์มักจะเห่า และกระโจนเข้าใส่ เพราะลักษณะการเดินไม่เหมือนบุคคลทั่วไป หรือบางคนที่แต่งตัวรุ่มร่ามก็สุ่มเสี่ยงเหมือนกัน สังเกตได้จากคนบ้าที่สุนัขมักจะเห่า และวิ่งเข้าไปกัด ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับสุนัขตระกูลเทอร์เรียสายพันธุ์นักล่า เสียงหวีดร้องของเด็กๆ จะเปลี่ยนจากความน่ารักของมันให้กลายเป็นความดุร้ายขึ้นมา เพราะไปกระตุ้นนิสัยการล่าของมันนั่นเอง ทางที่ดี บ้านที่มีเด็ก และคนชราควรต้องระวังเป็นพิเศษ" บิ๊กบังเตือน
ส่วนอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน คือ สุนัขเกือบทุกตัว ต้องการจะวิ่ง และออกกำลังกาย หากขังไว้นาน ๆ อาจทำให้สุนัขเครียดได้
"สังเกตดูว่า เวลาขังไว้ในกรง เวลาเปิดให้ออกมา มันจะวิ่งออกมาอย่างรวดเร็ว ยิ่งถ้าเป็นสายพันธุ์เทอร์เรีย สายพันธุ์นักล่า อย่างพิทบูล ร็อตไวเลอร์ โดเบอร์แมน เมื่อถูกขังไว้นาน ๆ มันจะเกิดแรงขับมาก นี่เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงหลาย ๆ คน เลี้ยงผิดวิธี ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดตามมาอย่างที่เป็นข่าว"
"พิทบูล" สู่ "บูลลี่" ที่แสนใจดี
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ความดุดันของสุนัขสายพันธุ์อเมริกันพิทบูล เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เห็นได้จากบางรัฐในอเมริกาไม่เอาสายพันธุ์นี้เลย แต่ด้วยผู้ที่รักสายพันธุ์นี้ และอยากให้มีอยู่ต่อไป จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นจนกลายเป็นสายพันธุ์ที่เปลี่ยนจากความโหดร้าย ดุดันให้เป็นมิตรกับคนขึ้นมาแทน
"หลายสิบปีที่ผ่านมา มีกลุ่มคนที่รักสายพันธุ์นี้กลับมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้สายพันธุ์นี้อยู่ต่อไป ก็เลยเกิดการพัฒนาไม่เอากัดละ เปลี่ยนความดุร้ายให้เป็นมิตร อ่อนโอน โดยมีลักษณะเตี้ย ล่ำ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนเลี้ยงสุนัขในขณะนี้ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ อเมริกัน พิทบูลในวันนี้ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้กลายเป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตร โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า อเมริกันบูลลี่ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บลูลี่ ซึ่งพัฒนาจากอเมริกันพิทบูลถึง 20 ปีเลยทีเดียว"
ส่วนความแตกต่างระหว่างอเมริกันพิทบูลกับอเมริกันบูลลี่ สังเกตุง่าย ๆ จากความเตี้ยล่ำ บึกบึนดูน่าเกรงขาม ซึ่งบูลลี่จะมีลักษณะเด่นดังกล่าวนี้
"อเมริกันพิทบูลกับอเมริกันบูลลี่ ส่วนมากเขาจะตัดหู มีบางตัวที่ไม่ตัดหู แต่หน้าตาก็ยังคล้ายๆ กันอยู่ดี สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ พิทบูลจะตัวใหญ่ อกกว้าง กระดูกใหญ่กว่า ส่วนบูลลี่จะเตี้ย ๆ ตัน ๆ หัวโต ๆ หน่อย แต่ยิ่งเตี้ยค่าตัวก็ยิ่งแพงนะครับ สูงสุดนี่ราคา 7 หลัก (หลักล้าน) กันเลยทีเดียว ซึ่งหลายคนมักจะบอกว่า เป็นสุนัขคู่บารมี" บิ๊กบังแจงให้เห็นความแตกต่าง
ลึกลงไปกว่านั้น ความมันของการเลี้ยงอเมริกันบูลลี่ บิ๊กบังบอกว่า อยู่ที่ความหลากหลายของสไตล์ บูลลี่แต่ละตัวๆ ล้วนมีเอกลักษณ์ รวมไปถึงเจ้าของก็มีหลายแบบด้วยทั้งแนวเสี่ย แนวฮิปฮอป แนวเกาหลี แนวเซเลบฯ แนวไหนๆ ต่างก็ให้ความสนใจต่อสุนัขพันธุ์นี้ในแบบไลฟ์สไตล์มากกว่าจะเป็นแค่สัตว์เลี้ยงประจำบ้าน
บูลลี่สามารถแบ่งออกได้ตามสายเลือดที่พัฒนากันมา เช่น ก็อตติไลน์ เรเซอร์เอจ เกรย์ไลน์ หรือไมค์แลนด์ ตามที่เรานิยมเล่นกันอยู่ นอกจากนี้ บูลลี่อาจแบ่งกลุ่มตามขนาดและลักษณะเพื่อจำแนกเป็นมาตรฐานในการประกวด โดยปกติแล้ว บูลลี่จะหนักประมาณ 34 กิโลกรัม ส่วนสูงราวๆ 18 นิ้ว จัดเป็นบูลลี่มาตรฐานที่นิยมแพร่หลายในเวทีประกวดทั่วโลกโดยเฉพาะในอเมริกา
ส่วนน้ำหนักน้อยลงมาคือ 28-29 กิโลกรัม ส่วนสูงสัก 16 นิ้ว ดูขนาดกระชับๆ สั้นๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในปัจจุบัน แบบนั้นจัดเป็นพ็อกเก็ต บูลลี่ แต่ถ้ามาแบบสุดติ่งอาจจะหนักสัก 38-40 กิโลกรัม สูง 16-18 นิ้ว เนื้อตัวตันแน่น อกฉีกกว้าง ไหล่หนา หัวเบ้อเริ่มเทิ่ม แบบนี้เห็นจะเป็น เอ็กซ์ตรีม ที่ตลาดเมืองไทยกรี๊ดกร๊าดกันมาก
นี่คือ อเมริกันบูลลี่ที่ได้รับความนิยมขึ้นมาในรอบ 10 กว่าปีมานี้เอง จากความต้องการที่จะพัฒนาพิทบูล เทอเรียให้มีโครงสร้างหนา กระดูกโต ตัวเตี้ยสั้น หัวเป็นบล็อก กล้ามเป็นมัดๆ คอนเซ็ปต์นี้ถูกสานต่อด้วยการจับคู่อเมริกัน สแตฟฟอร์ดเชียร์ เทอเรียร์ รูปทรงหนา เตี้ย กับพิทบลูเทอร์เรียที่ล่ำสันกำยำเข้าด้วยกัน จนเกิดลุคใหม่ สำหรับสายเลือดที่โดดเด่นก็คือเรเซอร์ เอจ ซึ่งได้รับการยอมรับกันในวงกว้างจนเกิดเป็นศัพท์ใหม่ "บูลลี่" ขึ้นมา เพื่อใช้ทำการตลาดให้กับสุนัขสไตล์ใหม่นี้
กระแสความสนใจอเมริกันบูลลี่ นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ และเป็นพลังผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อย่างแท้จริง อย่างในปี ค.ศ. 2004 มีการก่อตั้ง American Bully Kennel Club หรือ ABKC ขึ้นมา เพื่อรองรับสุนัขสายอเมริกันบูลลี่โดยเฉพาะ องค์กรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบูลลี่ให้เป็นมิตรต่อมนุษย์ และสื่อสารต่อสังคมเกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์นี้ให้แพร่หลายออกไปในวงกว้าง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.theabkcdogs.org)
"บูลลี่" สู่ "เอ็กโซติก" สุนัขสไตล์ใหม่
ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ "บูลลี่" ให้มีความหลากหลายตอบสนองกับความต้องการของผู้เลี้ยงที่ชอบหลายสไตล์
ล่าสุดได้มีการพัฒนาเป็นรุ่นเอ็กโซติก ซึ่งเป็นสุนัขสไตล์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการบรรจุเข้าระบบในการประกวดของ ABKC (funshow) สุนัขสไตล์นี้ ไม่ยึดติดกับสายเลือด เพียงแค่คุณมีลักษณะ เตี้ย สั้น กระชับ และหน้าตาที่มันสะใจ ความสูงโดยเฉลี่ย ประมาณ 12 นิ้ว ขึ้นลงได้นิดหน่อย ช่วงตัวสั้นกระชับ หน้าตาบ่งบอกถึงความไม่เหมือนใคร
"อเมริกันบูลลี่ ยังตัวใหญ่อยู่ บางคนอยากเลี้ยงในที่แคบ ๆ หรือในคอนโดฯ อเมริกาก็พัฒนาขึ้นมาใหม่อีก เป็นสายพันธุ์ล่าสุดคือ เอ็กโซติก เป็นรุ่นน่ารัก นิสัยดี เป็นมิตรกับคน ส่วนไทยเองก็พัฒนาใกล้เคียงกับอเมริกามาก ณ ตอนนี้ พูดได้เลยว่า เราพัฒนาแบบหายใจรดต้นคอเขาเลยครับ สิ่งที่เราพัฒนาคือ สามารถเลี้ยงในบ้าน ในคอนโดฯ ได้ สามารถอยู่นิ่ง ๆ เหมือนตุ๊กตาผูกโบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่กำลังได้รับความสนใจมาก"
สำหรับสายพันธุ์นี้ สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้เลี้ยงควรเลี้ยงในสถานที่ที่ไม่ร้อนเกินไป เพราะเป็นสุนัขหน้าสั้นหัก ส่วนเรื่องอื่น ๆ เลี้ยงเหมือนสุนัขทั่ว ๆ ไป แต่สำคัญสุดคือ ต้องมีใจรัก
"ต้องมีใจที่จะรักเขาก่อนครับ เพราะถ้ามีใจทุกอย่างมันก็ตามมาหมด ไม่ว่าจะบูลลี่ หรือเอ็กโซติก อย่างเอ็กโซติกที่เราพัฒนาขึ้นมา พื้นที่เล็ก ๆ ไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าทิ้งไว้ในกรงตลอดเวลา ขอให้มีใจครับ กลับมาบ้านเล่นกับเขา เรียกเขาหน่อย พาเขามานั่งดูทีวีด้วย ซึ่งไม่ใช่เอ็กโซติกอย่างเดียว อเมริกันบูลลี่ พิทบูล ตลอดจนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ด้วย ถ้าไม่มีใจก็อย่าเอาเขามาเลี้ยงเลยดีกว่าครับ" บิ๊กบังทิ้งท้าย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Lite
ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊กของ "บิ๊กบัง" ---> buffaloblue.kennel