20 ชุมชนในเขตพระนครร่วมประกาศกร้าว “ไม่เอา F1” การแข่งขันรถถลุงงบฯ เสี่ยงอันตราย ทำลายมรดกสำคัญของชาติ เสียงดังหนวกหู ทำการจราจรเดือดร้อน วอนรัฐอย่าหน้าด้าน แถว่าโปรโมตประเทศ ที่แท้เบื้องหลังพัวพันธุรกิจ ด้านนักวิชาการชี้การนำพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน มาทำสนามแข่งรถผิดกฎหมายแน่นอน คนพื้นที่ยันขอต่อสู้ต่อไปเพื่อรักษาสิทธิ หากรัฐบาลยังดื้อดึงเรื่องนี้ถึงศาลปกครอง!!
“ปลอดภัยแค่ไหน” คำถามที่ใครๆ ก็ไม่กล้าตอบ
หลังจากข่าวเรื่องประเทศไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 เจ้าภาพ การแข่งขันฟอร์มูลาวัน ได้ถูกประกาศออกไปในสื่อทุกแขนง จนเกิดกระแสคัดค้านต่อต้านจากหลายฝ่ายออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการเปิดเวทีสัมมนา “การปกป้องพื้นที่ประวัติศาสตร์ต่อต้านการแข่งขันขับรถฟอร์มูลา วัน บนถนนโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์” โดยมีนักวิชาการและคนในชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบกว่า 20 ชุมชน เช่น ชุมชนบางลำพู, แพร่งภูธร, ป้อมมหากาฬ ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ชี้แจงถึงเหตุผลในการคัดค้าน พร้อมหารือแนวทางการต่อต้านไม่ให้เกิดการแข่งขันฟอร์มูลา วัน บริเวณถนนราชดำเนินขึ้นในปี 2558
“การแข่งขันมีความเหมาะสมหรือไม่ ปลอดภัยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนรวมแค่ไหน หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องจัดแข่งขันในบริเวณหัวใจของเมืองอย่าง เกาะรัตนโกสินทร์” คำถามแรกของ สุดารา สุจฉายา จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ยังไม่มีใครหน้าไหนกล้าออกมารับหน้าคำตอบ ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเปิดคลิปวิดีโอ และภาพบางส่วนจากการแข่งขันฟอร์มูลา วันทั่วโลก ให้ได้รับชมเพื่อยืนยันว่า ไม่ว่าจะแข่งที่ประเทศไหน มีการป้องกัน 100% แค่ไหน ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่เว้น…
คุณลองนึกภาพ รถฟอร์มูลา วัน คันเล็กสีขาวกำลังเข้าโค้งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ค่อยๆ แฉลบออกไปปะทะกับขอบสนาม ชิ้นส่วนกระทั่งยางรถเอง กระเด็นลอยว่อนออกมาเหมือนรถนั้นสร้างจากเศษกระดาษบางๆ แล้วโครงรถที่ยังพอเหลือให้เห็นก็ปัดไปอีกทาง ก่อนที่ไฟจะลุกท่วมเป็นแสงโชติช่วง หรืออีกเหตุการณ์หนึ่ง รถฟอร์มูลา วัน กว่า 20 คันกำลังเร่งความเร็วเข้าโค้งเพื่อดึงจังหวะแซงขึ้น แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มีรถคันหนึ่งเกิดเสียการควบคุม ปัดเข้าขวางรถแข่งคันอื่น กระแทกกันระเนระนาด สิ่งที่ป้องกันกีดขวางไม่ให้เหตุการณ์แย่ไปกว่าเดิมคือกำแพงด้านข้าง ที่ต้องรองรับรถแรงแซงทางโค้งที่เหยียบมาแบบมิดไมล์
และถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก สามารถพบหาเหตุการณ์นาทีฉุกเฉินนี้ได้ในยูทิวบ์ และลองนึกดูว่า คุณอยากได้การแข่งขันแบบนี้หรือ อยากให้มีอุบัติเหตุไฟลุกท่วมรถอย่างนั้นหรือ “โค้งอันตรายที่ต้องใช้การดริฟท์จะมีอยู่ 3 จุดด้วยกันนะครับ ดริฟท์แรก ดริฟท์วัดโพธิ์ ดริฟท์ที่สอง ดริฟท์ป้อมพระสุเมรุ ดริฟท์ที่สาม ดริฟท์ป้อมพระกาฬ แล้วอุบัติเหตุที่มันคว่ำๆ กันเนี่ยมันเกิดขึ้นตรงช่วงไหน ตรงช่วงดริฟท์เนี่ยละครับ ถ้าแหกโค้งก็ซัดเข้ากำแพงไปเลย สองป้อมกับอีกหนึ่งวัดนะครับ” กษิดิศ ครุฑางคะ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนของคนรุ่นใหม่กล่าวไม่เห็นด้วยต่อการแข่งรถบนถนนแห่งประวัติศาสตร์ตั้งคำถามชวนคิดภาพตาม
มั่นใจ มีเอี่ยวผลประโยชน์ธุรกิจ
หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2010 ที่เคยมีวิ่งรถฟอร์มูลา วัน โชว์มาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นมีคนไทยเข้าไปชมกันอย่างล้นหลาม ตลอดเส้นทางราชดำเนิน ซึ่งอ.ปฐมฤกษ์ ก็ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนไทยกำลังโดนต้ม!! เพราะการแข่งขัน F1 2014 ณ ถนนราชดำเนินที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันนั้น เป็นแค่โชว์เรียกแขกเท่านั้น ไม่ใช่การแข่งขันเต็มรูปแบบอย่างที่การกีฬาแห่งประเทศไทยโอ้อวดแต่อย่างใด
“ปี 2010 เป็น Exhibition Race เป็นการโชว์รถ ครั้งต่อไป 2014 ก็ไม่ใช่การแข่งขัน อย่ามาแหกตาผม ผมติดตามการแข่งรถ F1 มาตลอด โปรแกรมการแข่งนี้เค้าต้องวางล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3 ปี ต้องหาเงินต่อรถ หาคนแข่ง หาเงินค่าตัว ซึ่งจากนี้เป็นต้นไปอีก 3 ปี มันเต็มหมดแล้ว เข้าไปดูในเว็บได้เลย การแข่งครั้งต่อไปที่ใกล้บ้านเราที่สุดคือ เซปัง มาเลเซีย
การแข่งขันต้องแข่งทั้งหมด 20 สนาม แล้วก็เก็บคะแนนทั้งปี รูปแบบการแข่งก็มีทั้งกลางวัน-กลางคืน แล้วสนามทั่วโลกมันก็ไม่ได้มีแค่ 20 สนาม เหมือนกับการแข่งบอล ทาง FIA ต้องเข้ามาตรวจสนาม ตรวจอุปกรณ์ทุกอย่างว่าพร้อมรึยัง แล้วถึงมาบรรจุเป็นหนึ่งในสนามแข่ง มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแข่งขัน
แล้วบางคนที่อ้างว่า ทำไมจะแข่งไม่ได้ องค์พี (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช) ยังเคยอยากทำมาแล้ว ก็ตอนนั้นท่านทำเพื่อหาเงิน เพื่อป้องกันประเทศ เพื่อบำรุงการทหาร เป็นช่วงใกล้สงคราม มันไม่ใช่วัตุประสงค์อย่างในปัจจุบัน ตอนนี้แข่งเพื่ออะไรครับ ธุรกิจอย่างเดียว จำคดีรถเฟอร์รารี่สีดำได้มั้ยครับ คดีไปถึงไหนแล้วครับ พอเห็นรึยังว่าใครได้ประโยชน์”
ทั้งนี้ ในประเทศไทยเอง ก็มีสนามแข่งสำหรับฟอร์มูลา วัน อยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ 1 สนาม และอีกแห่งเป็นสนาม F3 ซึ่งสามารถปรับเป็นสนาม F1 ได้ แต่กกท.กลับไม่ได้นำเสนอทั้งสองสนามนี้ไป ตามที่เคยระบุไว้ว่า การเสนอเส้นทางแข่งขันไว้มีทั้งสิ้น 3 เส้นทาง ได้แก่ ถนนราชดำเนิน, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และเมืองทองธานี
แข่ง F1 เท่ากับเหยียบย่ำห้องพระของชาติ
“นี่มันเอาพื้นที่กรุงเทพฯ มาเสี่ยงอันตราย ถ้าไอ้รถซังกะบ๊วยแหกโค้งไป มันจะเกิดอะไรขึ้น ที่วิ่งๆ อยู่เนี่ยมันก็กระเทือนอยู่แล้ว ถ้าแหกโค้งไปชนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พวกเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็เดือดร้อนกันหมดสิ”
คำพูดฟังแล้วตลก แต่แฝงด้วยนัยจาก ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโสด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่กล่าวออกมาด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว ต่อการกระทำสิ้นคิดของรัฐบาลในการแข่งรถซิ่งฟอร์มูลา วัน เนื่องด้วยการแข่งขันครั้งนี้สุดพิลึกล้ำโลก แข่งขันในย่านชุมชนของคนเก่าแก่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ต่อให้อ้างว่าเมืองนอกก็มี แต่เมื่อสืบค้นข้อมูลดีๆ จะพบว่า ทุกสนามบนโลกนั้น ไม่เคยผ่านพื้นที่เมืองเก่า
“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดมา 75 ปีแล้ว ยังไม่เคยเห็นมนุษย์ที่ไหนไปแข่งรถในเมือง เมืองที่เค้าแข่งมันเป็นบ้านจัดสรร คอนโด แต่ไม่ใช่ชุมชน ไม่ได้เป็นย่าน ความคิดนี้เป็นความคิดที่อัปมงคล คิดได้ยังไง โชว์รถครั้งที่แล้วก็ความคิดแย่ๆ คนที่แห่ไปดูก็คือคนรุ่นใหม่ เห่อตามตะวันตก แล้วบริเวณนี้มันเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว แค่ปู้ยี่ปู้ยำด้วยการนำรถทัวร์ไปจอด ยังถูกทำร้ายไม่พออีกหรอ
มันสะเทือนใจ เราที่เป็นคนกรุงเทพฯ วัดอรุณฯ ที่เคยสูงสง่า เจอคอนโดศิวลึงก์สองอันมาบดบังทัศนียภาพ คุณต้องกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์สิ เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรม เราต้องฟื้นฟูก่อนโดนลบไป ขณะนี้ก็กำลังถูกคุกคามทุกขณะ คุณต้องทำให้ย่านชุมชนเก่าแก่เหล่านี้เป็นมรดก แล้วนี่ไม่ใช่แค่ทำประชาพิจารณ์อย่างเดียว มันต้องประจานด้วย”
ด้านนักวิชาการและชาวบ้านในชุมชนเขตพระนครกว่า 20 ชุมชน ที่มาเข้าร่วมงานในวันนี้ต่างก็มีความคิดเห็นคล้อยตามกัน ทั้งยังแสดงความเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากการนำรถเข้าไปแข่งในใจกลางเมืองแล้ว ปัญหาการจราจร งบประมาณ และผลประโยชน์ก้อนโต จึงทำให้พวกเขาเหล่านี้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง
“พื้นที่ตรงนี้เหมือนห้องพระ เดินผ่านเราก็เคารพ วันนี้คุณเอารถมาวิ่งในห้องพระได้อย่างไร ใจกลางเมืองอย่าง พระธาตุพนม พระธาตุดอยสุเทพ ถ้าคุณเอารถแข่งไปวิ่ง ก็เท่ากับคุณทำลายจิตวิญญาณของคนที่เค้าเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์” สุดารา สุจฉายา จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าว
“ผังเมือง กทม. ที่คุณชายสุชุมพันธุ์เพิ่งประกาศ เขียนชัดเจนว่า ห้ามเป็นสนามแข่งรถ แล้วรัฐบาลบอกว่าจะทำประชาพิจารณ์ นี่คือการนำสิ่งที่ผิดกฎหมายมาทำให้ถูก” ภารณี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ ระบุ
“ถนนราชดำเนินถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ เต็มไปด้วยวัดและวัง สิ่งเหล่านี้บอกถึงอัตลักษณ์ รากเหง้า และประวัติศาสตร์ของทุคนในประเทศ หากคุณไปจัดแข่งขันที่บุรีรัมย์ หรือที่อื่นๆ เราคงไม่ต้องสละเวลาอันมีค่า ในการแสดงสิทธิของประชาชนครั้งนี้ ซึ่งเราจะแสดงให้เค้าเห็นได้อย่างไรว่า เค้าไม่ได้ผิด แต่เค้าพลาด แล้วเราไม่เห็นด้วยกับการแข่ง F1 ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ อันนี้อย่าหลงประเด็น” ธีรพล คชาชีวะ ชุมชนแพร่งภูธรให้ความเห็น
“เกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ มากมาย จะบอกว่าการแข่งฟอร์มูลา วัน เป็นการโปรโมตประเทศ อันนี้คงไม่ใช่ เพราะผลการจัดอันดับเมืองน่าเที่ยวเมื่อไม่นานมานี้เราก็ได้อันดับหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องโปรโมตแล้ว แต่ต้องรักษาแบรนดิ้งของเรา ซึ่งเราไม่ควรมองแค่ประเด็นทางด้านวัตถุอย่างเดียว” รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ที่ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดการแข่งขันดังกล่าว และยินดีที่จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป
และในขณะนี้ แต่ละชุมชนก็เตรียมรวบรวมรายชื่อชาวชุมชน เพื่อคัดค้านการใช้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์จัดการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน และยื่นต่อนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในสัปดาห์หน้า
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live