เชื่อหรือไม่? โซเซียลมีเดียทำให้ผู้คนเข้าถึงธรรมะได้มากขึ้น เพราะในโปรแกรมใช้ง่ายนิยมไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, ไลน์ หรือ แอปสโตร์ ก็ต่างมีเรื่องราวของธรรมสอดแทรกอยู่ หลากหลายรูปแบบ อาทิ ภาพและวลีสอนใจจากพระอาจารย์ดัง, แอปฯ หนังสือสวดมนต์, สติ๊กเกอร์ไลน์ธรรมะแสดงอารมณ์ ฯลฯ เปิดรับด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงแค่เข้าสู่โลกออนไลน์แล้วจรดปลายนิ้วสัมผัส
ส่องธรรมบนโลกออนไลน์
บางส่วนของธรรมะที่เข้าไปอยู่บนโซเซียลมีเดีย ราวกับกำลังส่งเสียงบอกพุทธศาสนิกชนว่า ธรรมะนั้นไซร้..อยู่แค่ปลายนิ้ว โปรดเลือกรับรสธรรมเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ออนไลน์กันดีกว่า อาทิ
App หนังสือสวดมนต์, ฟังธรรมเทศนา, วิธีวิปัสสนา ฯลฯ บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
ภาพคำคมธรรมะ แชร์ผ่านเฟซบุ๊กและอินสตราแกรม
สติ๊กเกอร์ธรรมะแทนอารมณ์ในไลน์
คติธรรมสั้นๆ สอนใจในทวิตเตอร์
หลากหลายเว็บไซต์ธรรมะบนโลกออนไลน์
ร่วมกลุ่มปฏิบัติธรรมง่ายๆ แค่เสิร์ชเอ็นจิ้น
E book ธรรมะดาวว์โหลดฟรี ฯลฯ
แน่นอน ธรรมะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเป็นสิ่งที่ง่ายต่อการเข้าถึง ยิ่งในสื่อออนไลน์เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะถูกปรับให้เข้าใจได้ไม่ยาก แถมยังปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยสอดรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคที่เสพติดชีวิตออนไลน์
“เป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้คนมีจิตสำนึกในเรื่องหลักธรรมคำสอน มันแพร่หลายกว้างขวาง และทั่วถึงอย่างรวดเร็ว” นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงธรรมะบนสื่อออนไลน์ แต่ก็ย้ำเตือนว่าการเผยแพร่นั้นต้องมีการตรวจสอบให้ถูกต้องไม่ใช้เชิงพาณิชย์ และไม่มีการชวนเชื่อให้หลงงมงาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนที่รับสื่อธรรมะในรูปแบบออนไลน์นั้นจะได้รับข้อมูลที่ค่อนข้างฉาบฉวย แต่เชื่อมั่นว่าเมื่อมีการรับสารเหล่านี้ไปแล้วจะส่งผลทั้งในเชิงพฤติกรรมและความคิดของคน
ยกตัวอย่าง การเข้าวัดปฏิบัติธรรมในช่วงนี้เหมือนกับเป็นกระแส ดูจากการสวดมนต์ข้ามปีก็มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าคนในปัจจุบันตระหนักถึงพุทธศาสนามากขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่สื่อโซเซียลมีเดียจะนำเอาเรื่องของศาสนาไปดัดแปลงเผยแพร่ในรูปแบบง่ายๆ
ตลาดออนไลน์พร้อมใจ 'สาธุ'
กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายถึงปรากฏการณ์ธรรมะที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเข้ามาอยู่บนโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง
“ธรรมะบนโลกโซเชียลมีเดีย ที่มาในรูปแบบสื่อออนไลน์และสื่อโมบายนั้น เกิดขึ้นจากความเจริญเติบโตของกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเชื่อมต่อเป็นชุมชนของตนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แบบ เฟซบุ๊ค, ยูทิวบ์บ์, อินสตราแกรม และแอป บนมือถือ ที่ล้วนแล้วแต่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ”
จะว่าไป ปรากฎการณ์เหล่านี้ช่วยให้คนเข้าถึงธรรมะมากขึ้นอย่างแน่นอน อ.กอบกิจ ยกตัวอย่าวพร้อมอธิบาย
“จากเดิมที่เป็นแค่ความชอบเฉพาะกลุ่ม แต่พอมีสื่อในการช่วยเชื่อมโยงถึงกลุ่มคนที่ชอบแบบเดียวกัน อำนวยให้เกิดความสะดวกสบายในการเข้าถึงสื่อ และเอื้อให้เกิดกิจกรรมเชื่อมโยงเป็นชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น เช่น สามารถดูคลิปวีดีโอการบรรยายธรรมย้อนหลังได้ผ่านยูทิวบ์บ์ พร้อมทั้งหากใครไปแล้วถ่ายคลิปไว้ก็เอามาเผยแพร่ต่อๆ กัน หรือ สามารถแจ้งกำหนดการมาร่วมงานบุญกันได้ผ่านสื่อเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะในรูปแบบตั้งเป็นแฟนเพจ และเป็นกลุ่มย่อยเฉพาะสายสำนัก หรือสายหลวงพ่อที่ตนเลื่อมใส”
ในส่วนของแอปพลิเคชั่นพื้นฐานที่ใช้กันบนสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็น แอปหนังสือสวดมนต์ แอปฟังธรรม ฯลฯ ในส่วนนี้ถือเป็นให้การให้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่อการใช้สื่อธรรมะบนโลกโซเชียลมีเดีย คนส่วนมากทั้งผู้ผลิตเนื้อหา ผู้เผยแพร่ และผู้รับชมก็ล้วนแล้วแต่คิดว่าเป็นเรื่องทำบุญ ทำกุศลเป็นเรื่องที่ดี แต่ข้อที่ควรตระหนักก็มีเช่นกัน อ.กอบกิจ กล่าวทิ้งท้าย
“เนื้อหาที่เผยแพร่เป็นธรรมะแท้ที่ถูกต้องและตรงต่อหลักพระพุทธศาสนา ที่มุ่งสู่การพ้นทุกข์ถาวรหรือไม่ หรือ เป็นแค่ข้อความทางการตลาดที่มีวัตถุประสงค์อื่นเจือปน”
อย่าฟังธรรมเหมือนการฟังเพลงแจ๊ส?
“ศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องข้อมูลนะ ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ” คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าว
ในทัศนะของ อ.คมกฤช มองว่าธรรมมะที่ถูกหยิบยกเข้ามาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์นั้นมีทั้งแง่ดีและแง่ลบ ง่ายต่อการเข้าถึงก็จริง และพฤติกรรมการเสพสื่อของในยุคใหม่ก็อาจเป็นเครื่องบั่นทอนคุณค่าของพุทธศาสนาลงได้
“ กรณีแรกการมีสื่อออนไลน์เป็นแง่ดี เรื่องของธรรมะ หรือเรื่องที่คนอยากรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่มันมีแง่ลบด้วย เช่น โพสแชร์ธรรมะมันกลายเป็นการก่อสร้างตัวตนแบบใหม่เข้ามาแบบหนึ่งที่จะบอกว่าฉันสัมพันธ์กับธรรมะนะ ฉันเป็นคนดีนะ ผมมองว่าเมื่อธรรมะกลายเป็นของอะไรง่ายๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเรา ซึ่งสุดท้ายจะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ธรรมะกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่เหมือนวัฒนธรรมป็อบอาร์ต ในที่สุดถูกลดค่าเหลือเพียงแง่มุมความหวือหวา”
ตลาดสมาร์ทโฟนแอปพลิเคชั่นนื้อหาเกี่ยวข้องกับธรรมะ ก็ถูกป้อนเข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น มีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปจามบริบท อ.คมกฤช อธิบายว่า แม้ธรรมะจะเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากขึ้น แต่อย่าหลงลืมเนื้อแท้
“การมีแอปฯ อย่างนี้มันก็ช่วยให้การเข้าถึงธรรมะเป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ธรรมะมันไม่ได้มีมิติแค่การรู้แค่เรื่องของการอ่านข้อความที่ถูกโค้ดกันมา ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรมะ ธรรมะเราต้องเอาวิถีชีวิตไปใช้กับมัน มันเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเท ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ผ่านในมีเดียได้แค่นั้น สุดท้ายธรรมะจะถูกลดทอนลง เป็นสินค้าอะไรบางอย่างสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้นเอง”
อ.คมกฤช อธิบายเพิ่มเติมว่า “ธรรมชาติของมีเดีย อินเตอร์เน็ต โซเซียลมีเดีย มันมีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่ง สารที่สื่อออกไปมันมักจะเป็นสารระดับง่ายถึงระดับกลาง ในเรื่องธรรมะก็เช่นกันจะแฝงสารที่มีความหมายลึกๆ ไม่ค่อยได้ เพราะมันไม่เหมือนการติดต่อผ่านบุคคลโดยคน ในกรณีนี้ธรรมะที่ถูกคัดสรรค์มาสำหรับแอป ไม่ทำอะไรให้ยากแน่ เพราะว่ายากคนไม่นิยม มันมีกระบวนการทางการตลาดเข้ามา ต้องทำให้ง่าย เข้าถึง แต่ง่ายปุ๊บตัวคุณค่าในเนื้อหามันก็จะถูกละเลย กลายเป็นแค่ความบันเทิงประเภทนึงเท่านั้นเอง ในแง่นี้การฟังธรรมจึงไม่ต่างกับการฟังเพลงแจ๊ส ถ้าคุณจะนิยามตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องนำไปใช้แต่ไม่ใช่แค่การฟังธรรม หรือการโค้ดข้อความธรรมะที่มันผิวเผินมาก”
…...........................
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live