xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยใกล้ตัวจากการใช้ “เมาส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หยุดยาวพักผ่อนกันไปในช่วงเทศกาลสงกรานต์จนเต็มปอดมาแล้ว ก็ถึงเวลากลับเข้ามาในโหมดทำงานกันต่อ และสำหรับใครหลายๆ คนที่ต้องใช้เวลาทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ และขยับคลิกเมาส์อยู่ตลอดเวลา ต้องขอเตือนภัยว่าแค่เรื่องธรรมดาๆ อย่าง “การใช้เมาส์” ก็ทำให้เกิดอันตรายได้เหมือนกัน

สาเหตุที่การใช้เมาส์เป็นอันตรายนั้น ประกอบด้วยเหตุผล 2 ประการ เหตุผลแรก การใช้เมาส์เป็นการเคลื่อนไหวมือ, นิ้ว และนิ้วโป้ง โดยการเลื่อน, หมุน, คลิกเมาส์ เป็นประจำซ้ำๆ กล้ามเนื้อมัดเล็กที่ใช้จึงเกิดอาการล้าจากการทำงานหนักเกินไป จึงเป็นเหตุให้ปวดหลังมือ, ปวดรอบๆข้อมือ และปวดตลอดปลายแขนและข้อศอก ในช่วงแรกผิวหนังจะนูนขึ้นมาเป็นตุ่ม ทำให้เกิดอาการเจ็บ และจะเริ่มเกิดเป็นเนื้อด้านๆ รอบข้อต่อและเอ็น เกิดอาการชาที่นิ้วโป้งและนิ้วชี้ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรค Carpal Tunnel Syndrome (CTS)

เหตุผลที่สองคือการวางเมาส์ในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ลำบากในการใช้ ซึ่งสถานที่ทำงานส่วนมากจะจำกัดพื้นที่วางเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ใช้พื้นที่น้อยที่สุด ซึ่งจะออกมาในรูปแบบเดียวกันแทบทุกที่ คือต้องวางคีย์บอร์ดตรงด้านหน้าผู้ใช้ และเมาส์ก็จะถูกวางไว้ที่มุมด้านขวาของคีย์บอร์ด และไปทางด้านหลังของโต๊ะทำงาน เมื่อเมาส์อยู่ในตำแหน่งนี้ มันจะอยู่นอกระยะมือเอื้อม ซึ่งไกลเกินกว่าระยะที่ปลอดภัย และสะดวกต่อการเคลื่อนไหวของมือ

การเคลื่อนที่แบบนี้และการเอื้อมมือในลักษณะนี้เป็นเวลาทั้งวันตราบที่เรายังทำงาน สามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและอ่อนล้า โดยการที่กล้ามเนื้อหลังตอนบนและไหล่ต้องรับน้ำหนัก การใช้เมาส์ซ้ำๆ จึงทำ ให้เกิดการเจ็บไหล่และคอ มีอาการปวดหลังด้านล่าง ซึ่งไม่ได้เป็นผลจากการใช้เมาส์โดยตรง แต่สามารถเกิดจากท่านั่งที่ผิดแบบและการนั่งเอนไปด้านหน้า

จะลดความเสี่ยงได้อย่างไร?
การออกแบบโต๊ะหรือที่วางคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้ได้ใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ในเวลาเดียวกัน คงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและต้องใช้พื้นที่ ดังนั้นทางเลือกที่ง่ายกว่าคือการเลือกเมาส์ให้เหมาะสม, ถนัดต่อการใช้งาน, จัดท่านั่งอย่างเหมาะสม และระมัดระวังการใช้กล้ามเนื้อและร่างกายในบริเวณเดิม ซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ 

โดยเมาส์ที่เหมาะสมและช่วยลดความเสี่ยงนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีเมาส์รูปแบบไหนที่ป้องกันได้เต็ม 100 % ทางออกที่ดีที่สุดคือการลองใช้เมาส์ในหลายๆ แบบ และเลือกอันที่เหมาะสมและถนัดที่สุด ตัวอย่างเมาส์ที่น่าสนใจ ได้แก่ เมาส์ไร้สาย, เมาส์น้ำหนักเบา, เมาส์ที่มีปุ่มลาก, เมาส์ที่ขนาดพอดีกับมือ เช่น เมาส์รูปทรงหยดน้ำ เพราะหากใช้เมาส์ที่ใหญ่กว่าฝ่ามือ อาจทำให้กล้ามเนื้อข้อมือเกิดอาการอ่อนล้าและมีโอกาสเป็นโรคกระดูกผิดรูป และหลีกเลี่ยงการใช้เมาส์รูปโค้ง

วิธีลดโอกาสในการบาดเจ็บขณะใช้เมาส์
• ไม่บีบเมาส์ จับเมาส์หลวมๆ การจับเมาส์แน่นไม่ช่วยให้ใช้เมาส์ได้ดีขึ้นหรือเร็วขึ้น
• ให้ข้อมืออยู่ในลักษณะตรง ปลายแขน ข้อมือ และนิ้วควรเป็นเส้นตรง
• ป้องกันข้อมือ ไม่ใช้ที่พักข้อมือ การใช้ที่พักข้อมือจะทำให้เกิดการกดที่กระดูกข้อมือ ทำให้เกิดอาการเจ็บ จากโรค Carpal Tunnel Syndrome และเป็นการทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก
• ทำความสะอาดเมาส์ให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าเมาส์กระดกหรือฝืดจะเกิดจากฝุ่นที่เกาะอยู่ที่ลูกกลิ้ง
• ถ้าเป็นไปได้ให้สลับมือที่ใช้เมาส์มาใช้ปุ่มทางลัด และปุ่มฟังค์ชั่นที่คีย์บอร์ดแทนการใช้เมาส์


กำลังโหลดความคิดเห็น