xs
xsm
sm
md
lg

25 ปี ในร่างผู้หญิง..เรื่องเล่าของผู้ชายข้ามเพศ 'จิมมี่ - กฤตธีพัฒน์'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มองผ่านตา ใครบ้างจะรู้ถึงเบื้องลึกอันซ่อนอยู่ของชายหนุ่มผู้นี้ 'จิมมี่ - กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล' ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! จากเด็กสาวร่างบางได้เปลี่ยนเพศสภาพให้เป็นไปตามเพศวิถี เขาคือ 'Transmen' หรือ 'ผู้ชายข้ามเพศ' คนแรกๆ ของประเทศไทยที่ออกมาแสดงตัวต่อสาธารณะ

สปอรตไลต์แสงจ้าสาดส่องไปยัง จิมมี่ ทันทีที่มีการส่งต่อเรื่องราวของเขาผ่านโลกออนไลน์ เช่นเดียวกัน คลื่นคำถามเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย

ทีมงาน M-lite ได้ทำการติดต่อเจ้าตัวอย่างเร่งด่วน ขณะที่หนุ่มมาดเซอร์ก็ตอบรับพร้อมเปิดอกคุยในทุกเรื่องราว

ผมรู้ตัวว่าเป็น 'ผู้ชาย'
“ตั้งแต่จำความได้ คือเราเป็นผู้ชายครับ” จิมมี่ อธิบายตัวตนของตัวเองสั้นๆ

ย้อนกลับเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก จิมมี่ เล่าให้ฟังว่าลูกสาวคนเดียวของครอบครัวโชติฐานิตสกุล เขาถูกส่งให้เรียนโรงเรียนหญิงล้วนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งมัธยมปลาย

หากจะบอกว่าถูกเลี้ยงดูมาอย่างคุณณหนูก็ไม่ผิดไม่จากความเป็นจริงเสียเท่าใดนัก แน่นอนว่าทางครอบครัวเองก็ตั้งความหวังว่าลูกสาวคนนี้จะเติบโตแล้วมีครอบครัวตามครรลองของสังคม

“ทางบ้านเลี้ยงมาค่อนข้างจะอยู่ในกรอบนิดนึง คือด้วยความที่เราเกิดมาเค้าก็หวังให้เราเป็นลูกสาว ผมจะถูกเลี้ยงดูมาเป็นแบบผู้หญิง แต่ว่าช่วงแรกๆ เค้าจะบอกว่าผมเป็นเด็กที่กระด้าง ผมจะไม่พูดคำว่า ค่ะ หรือ คะขา ผมก็เลยไม่พูด ไม่มีหางเสียงเลย แล้วที่บ้านจะบอกว่าผมเป็นคนกระด้าง”

ในเรื่องของการคำพูดเขาก็จะปฏิเสธการพูดจาในแบบเด็กหญิงทั่วไป แต่ในเรื่องการแสดงทางกายภาพ ไม่ว่าจะการแต่งตัว หรือทรงผม เขาก็ไม่ได้ขัดขืนธรรมชาติที่ควรจะเป็นในช่วงวัยมัธยมฯ

จิมมี่ เปิดใจว่าเกิดคำถามกับตัวเองตั้งแต่เด็กว่าทำไมครอบครัวต้องเลี้ยงดูตนอย่างเด็กผู้หญิง เพียงเพราะเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงอย่างนั้นหรือ

“จริงๆ แล้วตั้งแต่ผมจำความได้เลย ผมก็ถามตัวเองว่าทำไมผมต้องโดนเลี้ยงเป็นเด็กผู้หญิง ทำไมต้องทำทุกอย่างเหมือนเด็กผู้หญิง คือตอนนั้นเราอาจจะไม่รู้ว่าเพศหญิงเพศชายต่างกันมากน้อยแค่ไหน ตัดเรื่องเพศออกไปก่อน ผมแค่รู้สึกไม่พอใจในการเลี้ยงแบบเด็กผู้หญิง รู้สึกว่าทำไมจะต้องให้เราทำอะไรหวานๆ เราไม่ชอบ คือเราอยากจะออกไปปั่นจักรยาน เล่นอะไรหัวร้างข้างแตก ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะถูกเลี้ยงเป็นผู้หญิงแต่ผมก็เล่นแบบผู้ชาย”

ไม่ลังเลที่จะได้ชีวิตในแบบที่ควรจะเป็น
ความชัดเจนเรื่องเพศของเขานั้นก่อตัวขึ้นตั้งแต่ครั้งจำความได้ เมื่อเติบโตขึ้นมีความรู้สึกนึกคิด สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ เขาจึงไม่มีความลังเลกับทางที่ตัวเองได้เลือก

“ตั้งแต่จำความได้ ตั้งแต่เกิดมาพอรู้ตัวว่าเป็นผู้ชายตั้งแต่มาอยู่ในร่างนี้แล้ว ผมไม่ชอบให้ใครเรียกว่าทอมด้วยนะ มีเพื่อนมาถามว่าตกลงเป็นทอมหรือเปล่า ก็ตอบเพื่อนแค่ว่า ไม่ได้เป็นทอม แล้วไม่ใช่ผู้หญิง แล้วเพื่อนก็ถามว่าเป็นอะไร ผมก็ตอบไม่ได้เป็นทอม ไม่ได้เป็นผู้ญิง ไม่ชอบผู้ชายด้วย ชอบผู้หญิง”

จิมมี่ บอกว่ามีความคิดในเรื่องเปลี่ยนสภาพร่างกายเป็นผู้ชายมาตั้งแต่เด็กแล้ว “คิดครับ คือตอนนั้นผมยังไม่มีข้อมูลอะไรเลย ไม่รู้ด้วยว่ามันเปลี่ยนเพศได้มั้ย ผมไม่รู้เลยเพราะว่าเราอาจจะเด็กเกินไป ไม่รู้จัต้องเริ่มค้นหาอย่างไร”

ยุคสมัยที่ผลัดเปลี่ยน วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวไกลทำให้การแปลงเพศในปัจจุบันนั้นสามารถเข้าถึงความต้องการของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้ จิมมี่ ค่อยๆ ศึกษาเรื่องราวการแปลงเพศจากผู้หญิงเป็นผู้ชาย เลือกที่จะสละความสุขสบายภายใต้การเลี้ยงดูของครอบครัว และออกมาเริ่มต้นชีวิตด้วยตัวเอง

หลังเรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จิมมี่ ได้เข้าศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แต่สุดท้ายเขากลับตัดสินใจมาศึกษาในสาขาจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จิมมี่ เริ่มต้นด้วยตัวเองทำงานเก็บเงินส่งเสียตัวเองเรียน แน่นอนว่าในสิ่งที่เขาเป็นทางครอบครัวนั้นยากที่จะยอมรับและเข้าใจ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจออกมาเริ่มใช้ชีวิตในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม

“ด้วยความที่ที่บ้านเลี้ยงมาแบบลูกคุณหนู ผมคิดว่าผมไม่ชอบชีวิตในกรอบครับ ผมเป็นคนที่ชอบความตื่นเต้น ท้าทาย ชอบความรู้สึกตื่นเต้น ตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่าวันนี้จะเจออะไร เพราะฉะนั้นผมก็เลยรู้สึกว่าชีวิตในกรอบมันไม่ใช่อย่างที่ผมต้องการ เพื่อนบอกว่าออกมาอย่างนี้ทิ้งชีวิตสุขสบายเลยนะ พูดยังไงดีละครับ..เกิดเป็นลูกผู้ชายนี่ครับ ถ้าคุณจะกลัว จะกลัวความลำบากก็อย่างดีกว่า

พิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ครอบครัวยอมรับ
“เค้าบอกว่าเค้าอายที่จะต้องบอกคนอื่นว่ามีลูกเป็นแบบนี้ สำหรับเด็กคนนึงมันก็เจ็บเป็นรอยแผลที่ฝังเลยนะ ผมยังรู้สึกว่าเค้าเพิ่งพูดใสผมเมื่อวาน แต่ผมก็เปลี่ยนมันผมไม่มานั่งท้อกับมัน โอเค..งั้นผมจะทำให้แม่ภูมิใจในวิธีอื่นแล้วกัน จิมมี่ เผยความนัยด้วยแววตามุ่งมั่น

เขา เล่าอย่างหมดเปลือกว่าในสิ่งที่เขาเป็นนั้นทำให้ทางครอบครัวโดยเฉพาะคุณแม่รู้สึกลำบากใจ “ที่บ้านไม่สามารถยอมรับในความเป็นตัวตนเราได้ ด้วยความคาดหวังความที่เราเป็นลูกคนเดียว เค้าคาดหวังว่าผมจะต้องเป็นลูกสาว ตามครรลองของสังคมคือแต่งงานมีลูกมีครอบครัว ผมรู้อยู่แล้วว่าผมไม่ใช่ เรื่องนี้ก็เป็นที่ถกเถียงอยู่ในครอบครัวพอสมควร”

หลังออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง จิมมี่ เริ่มต้นทำงานพิเศษด้วยการแจงใบปลิว หลังเรียนจบก็เริ่มทำงานหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะงานนักเขียนในสำนักพิมพ์ งานโปรดิวเซอร์ ซึ่งตอนนี้เขาก็ทำงานเป็นในแวดวงการบันเทิงอยู่ด้วย หลักๆ นั้นเป็นงานพิธีกรเคเบิลทีวี

เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการแปลงเป็นเพศชายว่า เริ่มขึ้นเมื่อครั้งเรียนจบมหาลัยฯ “เริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 21-22ครับ คือต้องขอบคุณที่มีอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มันทำให้แหล่งข้อมูลทุกอย่างมันอยู่ในกูเกิ้ล ผมค่อยๆ ค้นหาข้อมูลทุกอย่าง แล้วก็จะมาเรื่อยๆ พอข้อมูลมาก็เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้น มันเหมือนนี้แหละที่เราตามหามันมาตลอดชีวิต”

นอกจากความกดดันจากทางครอบครัว สภาพสังคมไทยก็ยังไม่เปิดรับในเรื่องเพศเช่นกัน จิมมี่ เปิดใจ

ผมไม่เคยรู้สึกแย่กับคนรอบข้างที่มองผมเข้ามา ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาตั้งแต่เล็กจนโต ผมก็เจอกระแสลบๆ ในเรื่องเพศ คนไทยยังมีอคิติเรื่องเพศเยอะ เราอยู่ในสังคมไทยที่ยังมีบริบทแค่เพศชายหรือเพศหญิง ใช้แค่อวัยวะเพศมากำหนดเพศ ในเมื่อสังคมทำร้ายเราขนาดนี้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำร้ายตัวเองแล้ว บางอย่างไม่ต้องใส่ใจ เราเป็นอย่างไรแต่เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน”

สิ่งที่เปลี่ยนไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ทางเพศ
ด้านค่าใช้จ่ายทั้งหมด จิมมี่ เปิดเผยว่าไม่ได้เบียดเบียนการเงินทางครอบครัวเลย เขาหาทุกบาททุกสตางค์มาด้วยน้ำพักน้ำแรง

“ในช่วงนั้นจะมีปัญหาด้านการเงินมากกว่าครับ แล้วอีกอย่างที่บ้านก็ไม่ได้ซัพพอร์ตด้วย ฉะนั้นทุกอย่างมันต้องดิ้นร้นด้วยตัวเอง”

ถามว่าสับสนตัวเองบ้างหรือเปล่า เขาตอบขึ้นอย่างหนักแน่น “ถ้าในตัวตนของผมไม่สับสนเลย ณ ตอนนั้นผมพูดกับเพื่อนคนรอบข้างว่าผมเป็นผู้ชาย ทุกคนก็จะตลก บ้าหรือเปล่าประสาทเสียหรือเปล่า”

แต่ในวันนี้เขาเปลี่ยนร่างกายเป็นผู้ชายได้อย่างสมบูรณ์แบบ จิมมี่ ได้พิสูจน์แล้วว่าแม้ไม่ได้เลือกเดินตามครรลองของสังคม แต่ก็เป็นเส้นทางในแบบของเขาก็พิสูจน์อะไรหลายๆอย่าง

ทีมงานฯ ถามขึ้นว่า การที่ออกมาทำงานหาเงินด้วยตัวเองวัตถุประสงค์หลักนั้นเพื่อนแปลงเพศหรือเปล่า หนุ่มร่างบาง คลี่ยิ้มมุมปาก ตอบขึ้นทันที
ไม่เกี่ยวกันครับ ตอนนั้นผมจะโฟกัสเกี่ยวกับการใช้ชีวิตผมมากกว่าครับ ว่าผมจะใช้ชีวิตอย่างไรให้มันคุ้มกับการเกิดมาครั้งนึง คือการแปงงเพศมันค่อนข้างเป็นเรื่องที่ใหญ่อยู่แล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่ว่าเป็นผลพลอยได้”

สิ่งที่คุณแม่รู้สึกเมื่อครั้งนั้น ความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านของจิมมี่ ทั้งเรื่องวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบ ฯลฯ ก็ทำให้ครอบครัวเปิดใจยอมรับขึ้นมาบ้าง จิมมี่ บอกว่า อย่างน้อยๆ ก็ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเวลาไปไหนคุณพ่อคุณแม่ก็จะแนะนำนี่ลูกชาย

“คือหลังจากทำมาแล้วฟีดแบกก็ไม่ได้มีลบ จะมีแค่ตอนก่อนเท่านั้นเอง คือทุกคนบอกตรงกันว่าอย่าไปทำ ..อย่างนี้ดีแล้ว สุดท้ายแล้วผมกลับมาคิดทำไมทุกคนบอกว่าอย่าทำๆ ทำไมไม่มีใครเข้าใจ ไปๆมาๆ ผมพยายามเข้าใจคนรอบข้างมากกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงนะเดี๋ยวจะดูแลตัวเองดีๆ คือเค้าแค่เป็นห่วงเราเท่านั้นเองครับ”

แม้วิวัฒนาการทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้า แต่เขาก็ย้ำเตือนฝากข้อคิดในเรื่องการแปลงเพศไว้ว่าการแปลงเพศโดยเฉพาะแปลงจากเพศหญิงเป็นชายนั้นมีความเสี่ยงอยู่มาก คุณต้องคิดอย่างรอบแล้วว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดเป็นสิ่งที่ต้องการเพราะคุณจะต้องอยู่กับมันทั้งชีวิต

“มันเป็นความเสี่ยงนะ ถ้าเส้นประสาทคุณต่อกันได้ดีคุณก็โชคดีไป ถ้ามันต่อไม่ได้มันก็เป็นภาวะจำยอม ซึ่งบางคนอาจจะซีเรียสตรงนี้ก็พักไว้ก่อนอาจจะไม่ทำ”

นั่นหมายความว่าคุณต้องทำใจและยอมรับกับผลหลังการผ่าตัดที่จะเกิดขึ้น หน้าอกที่หายไป อวัยวะเพศที่เพิ่มเติมเข้ามา บริบททางกายภาพแม้จะเป็นเพศชายแต่ในเรื่องอื่นใช่ว่าทุกคนจะสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด

จิมมี่ เล่าว่า ในขั้นตอนการแปลงเพศนั้นใช้เวลาทั้งหมดอยู่ ราว 2 ปี แน่นอนว่าความเจ็บปวดทางกายในครั้งนี้คือสิ่งที่เขายินดียอมรับ

“ผมรู้สึกว่าผมกำลังจะมีชีวิตของผมในแบบที่มันควรจะเป็นตั้งแต่ต้น เหมือนผมกำลังจะได้ชีวิตของผมคืนมา” จิมมี่ พูดถึงความรู้สึกระหว่างผ่าตัดแปลงเพศ

ในส่วนการใช้ชีวิตเขาก็ดำเนินไปอย่างชายหนุ่มปกติทั่วไป “ผมก็ยังใช้ชีวิตปกตินะครับ ถ้าปรับตัวเรียกว่าปรับกับคนรอบข้างงมากกว่า คืออย่างเพื่อนผู้หญิงการวางตัว เมื่อทุกอย่างร่างกายเราเป็นแบบนี้แล้วก็ต้องเปลี่ยนไป ผมจะเดินเข้าไปกอดเพื่อนๆ อย่างเมื่อก่อนนี้ไมได้ เพราะสิ่งที่คนอื่นมองเข้ามาคือผู้ชายกับผู้หญิงอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่อย่างที่เคยเป็นมาสมัยก่อน เพราะนั้นคือสิ่งที่สังคมมมองเข้ามาเห็นมันสะท้อนไปหมดเลย”

ทำงานเรียกร้องสิทธิ LGBT
LGBT ย่อมาจาก Lesbian Gay Bisexual and Transgender (หญิงรักหญิง ชายรักชาย ผู้ที่รักสองเพศ และผู้ที่ข้ามเพศ) หรือความหมายโดยรวมก็คือ กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม สังคมไทยอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ผู้หญิงข้ามเพศ กันมาบ้างแล้ว แต่คำว่า ผู้ชายข้ามเพศ คงยังเป็นคำที่ใหม่

จิมมี่ ในฐานะผู้ชายข้ามเพศ (Transmen) ถือเป็นคนแรกๆ ในกลุ่มนี้ที่ออกมาแสดงตัวในที่สาธารณะ สังคมไทยยังให้ความสำคัญในเรื่องเพศที่จำกัดสิทธิในเพศหญิงและเพศชาย แต่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศสิทธิความเป็นพลเมืองนั้นกลับไม่เท่าเทียม

ครั้งแรกที่ผมออกมาตรงนี้ ผมไปที่กรรมการสิทธิมนุษยชน เสวนาเรื่องความหลากหลายทางเพศกับคำนำหน้านาม เป็นครั้งแรกที่ผมไปปรากฏตัวเพราะว่าจริงๆ แล้วผมก็ทราบเรื่องจากสตรีข้ามเพศเพราะว่าเราเห็นมาตลอด ประมาณปีที่แล้ว ฟีดแบกของสตรีข้ามเพศก็จะมีทั้งบวกแล้วก็ลบ บ้างอย่างที่ทางสังคมสะท้อนกลับไปว่า คนกลุ่มนี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ดีนะ แบบเป็นพวกวิปริตบ้าง แต่สิ่งที่คนเหล่านี้เป็นผมเข้าใจอย่างดีเลย ผมได้มีโอกาสขึ้นไปพูด ทำให้ทุกคนได้เห็นว่ามันมีผู้ชายข้ามเพศด้วยนะ ไม่ได้มีแต่ผู้ญข้ามเพศ ภาพมันก็เลยชัดขึ้น ไม่ได้มีเฉพาผู้หญิงข้ามเพศ”

ถามว่าเรียกร้องอะไร จิมมี่ เป็นตัวแทนของกลุ่มฯ ตอบขึ้น “สิทธิที่เราพึ่งได้รับ การเป็นพลเมืองคนนึงของประเทศไทย บางคนอาจจะบอกว่านี่ไงผมให้ที่คุณยืนแล้วคุณจะมาเรียกร้องอะไรอีก แต่มันมีปัญหาอีกหลายๆ อย่างที่คุณต้องโฟกัสลงไป อย่างเช่นการทำประกันชีวิต ทำไม่ได้นะครับ หรือว่าทำได้แล้วไม่สามารถที่จะยกผลประโยชน์ให้แฟนผมได้ ในขณะที่ชายหญิงทั่วไปเค้าทำกันได้แม้จะไม่จดทะเบียนสมรสกันเค้ามีสิทธิ แต่พวกผมทำไม่ได้ แม้กระทั่งเรื่องการเบิกรักษาพยาบาลให้คู่ชีวิตก็ไม่ได้ การแต่งงานแน่นอนว่าตอนนี้เป็นเรื่องโฟกัสอยู่ซึ่งผมก็สนับสนุนกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรืออย่างเรื่องคำนำหน้านาม ผมไปต่างประเทศก็มีปัญหา

แน่นอนว่าการออกมายืนในที่สาธารณะของชายหนุ่มผู้นี้ คงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่มีที่จบสิ้น เรื่องของการยอมรับเรื่องเพศในสังคมไทยนั้นเปิดกว้างก็จริงแต่ก็เป็นทัศนคติส่วนบุคคลที่ต่างกันออกไป แล้วกระแสสังคมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลหรือเปล่า

“ไม่ได้ประหม่า ไม่ได้กลัว ผมแค่ถามตัวเองแค่ว่าพร้อมแล้วหรือยัง คือถ้าผมออกไปตรงนั้นชีวิตผมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผมแค่ถามตัวเองว่ากล้าพอหรือยังที่จะออกมายืนตรงนี้”

จิมมี่ เปิดใจถึงการออกมาเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBT ถึงแม้ตอนนี้การเรียกร้องจะยังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ แต่หวังว่าในวันข้างหน้าจะเป็นความเท่าเทียมในทางสังคมเกิดขึ้น

“ที่ออกมาตรงนี้เราไม่ได้คิดแค่ตัวเรา เราต้องมองให้มันกว้างไปอีก เราไม่รู้หรอกสิ่งที่เราเรียกร้องไป การทำงานเป็นนักกิจกรรมไป มันจะได้อย่างที่เราต้องการหรือเปล่า บางทีผมตายอาจจะไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยผมรู้ว่าเด็กรุ่นหลังผมเค้าจะใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เนี่ยครับคือเหตุผลที่ออกมา”

ไม่ว่าจะเป็นเพศใด คงไม่สำคัญเท่าการที่คุณเป็นคนดีและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม
….....................

ขอบคุณภาพประกอบ Instagram @jim_kritipat และอื่นๆ
ภาพโดย พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE


ประวัติส่วนตัว
ชื่อ-สกุล : กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล ชื่อเล่น : จิมมี่
วันเดือนปีเกิด : 29 กรกฎาคม 2526 อายุ : 30 ปี
น้ำหนัก-ส่วนสูง : 45 กก. / 164 ซม.
การศึกษา : มัธยมต้น-ปลาย โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
ปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ความสามารถพิเศษ : เล่นเปียโน, กีฬาเทควันโด ฯลฯ
ผลงาน : พิธีกร ช่องปิ๊งแชนแนล รายการแซ่บ แซ่บ และรายการท่องเที่ยว 30minutes


















กำลังโหลดความคิดเห็น