xs
xsm
sm
md
lg

“มักกะสันคอมเพล็กซ์” ก้อนเนื้อร้าย ทะลวงปอดชาวกรุง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หายใจติดขัด ปอดของคนกรุงกำลังจะหายไป!! พื้นที่สีเขียวขนาด 700 ไร่ กำลังจะถูกบดขยี้ให้มลายหายไปด้วยเมกะโปรเจกต์อลังการมูลค่า 2 แสนล้านของ รฟท. ที่ใช้ชื่อว่า “มักกะสันคอมเพล็กซ์” ผุดห้างทรงสูง โรงแรมหรู และพื้นที่เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ขึ้นเสียบแทนร่มไม้ที่เคยทำหน้าที่ฟอกมลพิษให้หายใจกันได้อย่างเต็มปอด
ชาวกรุงทนไม่ไหว ใช้โซเชียลมีเดียออกโรงรณรงค์เต็มสตรีม เปิดลงชื่อคัดค้านแค่ 3 วัน ยอดคนสนับสนุนทะลุ 5 พันเสียงแล้ว!! การต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับพลังประชาชน ใครเป็นผู้ตัดสิน?


ก้อนเนื้อร้าย บุกทลายเมือง!!
แค่นี้คนเมืองก็รู้สึกป่วยจะแย่อยู่แล้ว ไหนจะต้องคอยข่มใจให้สงบจากปัญหารถติด ไหนยังต้องฝ่ามลพิษออกไปทำงานกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หลายคนจึงใช้เวลาที่เหลือเพียงน้อยนิดในวันหยุดสุดสัปดาห์ พาตัวเองไปหาพื้นที่สีเขียว สูดดมอากาศบริสุทธิ์ ให้ได้รู้สึกถึงธรรมชาติอันรื่นรมย์ ให้รู้สึกว่ายังมี “คุณภาพชีวิตดีๆ” หลงเหลืออยู่ในเมืองหลวงอันแสนจะวุ่นวายแห่งนี้อยู่บ้าง
เมื่อได้ยินข่าวว่าพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมืองย่านมักกะสัน กำลังจะถูก “เนื้อร้ายทรงคอนกรีต” เข้ามาทำลาย “ปอดคนกรุงเทพฯ” จึงบอกได้คำเดียวว่า “เซ็ง!!”
 

“เราเหลือพื้นที่สีเขียวกลางกรุง นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากในหลายด้าน สมควรแล้วหรือที่ใครอยากทำลายคุณค่าเหล่านี้ เพื่อแลกกับศูนย์การค้า ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงหยิบมือฤทัยรัตน์ อิ่มศิลป์
  

“ผมเกิดและอยู่ที่มักกะสัน มา 40 ปีแล้วครับ รักมักกะสันมาก แต่บ้านเพิ่งถูกซื้อไปโดยนายทุน เพื่อสร้างตึกใหญ่ ผมว่ามักกะสันจะสวยมาก และทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองสวยและน่าอยู่มากๆ ถ้ามักกะสันกลายเป็นสวนสาธารณะ ชาวต่างชาติจะได้ชื่นชมและเล่าต่อไปทั่วโลกแน่ เพราะตรงนั้นชาวต่างชาติเยอะมากและเป็นแอร์พอร์ตลิงก์” ภีญทรรศน์ ทับมณี
  

“กรุงเทพควรมีสวนสาธารณะที่ปลอดภัยมากกว่านี้ เรามีห้างสรรพสินค้ามากเกินไปแล้ว สังเกตได้ว่าช่วงปิดเทอมเด็กๆทำความผิดเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะเขาไม่มีที่ไป ไม่มีกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ถ้ารักและห่วงใยประเทศชาติจริงต้องนึกถึงคุณภาพของเด็กให้มาก สวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่คนทุกวัย สามารถมีกิจกรรมร่วมกันได้ ในประเทศที่เจริญอย่างนิวซีแลนด์ วันเสาร์ อาทิตย์ ผู้คนไปเล่นกีฬาที่สวนสาธารณะ ไม่บ้าเดินห้างเหมือนคนไทยม.ล.อาภาวดี กัญญาพันธุ์
  

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่จะเอาหรือไม่เอาสวนสาธารณะ แต่เป็นเรื่องของสิทธิในฐานะพลเมืองของกรุงเทพฯ ว่าเราควรจะมีส่วนร่วมตัดสินใจในการจัดสรรพื้นที่และภูมิศาสตร์ของเมืองที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเราว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร” เกียรติชัย เกียรติศิริขจร
  
นี่เป็นเพียงตัวอย่างอาการเซ็งเพียงบางส่วน ของผู้ที่ลงชื่อคัดค้านโปรเจกต์หวังกำไรครั้งใหญ่ครั้งนี้ของทาง รฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ซึ่งร่วมกันลงนามเอาไว้ ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org ภายใต้ชื่อโครงการ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” (คลิกเพื่อไปยังหน้าลิงก์) พร้อมกับแชร์โพสต์เด็ดๆ ปลุกระดมความรู้สึกชาวกรุงผ่านทางเพจ MakkasanHope บนเฟซบุ๊ก (คลิกเพื่อไปยังหน้าลิงก์) ซึ่งดูเหมือนว่ากระแสจะเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ บนโลกออนไลน์ในขณะนี้ คิดดูว่าเพิ่งเปิดลงชื่อคัดค้านได้แค่ 3 วัน แต่ยอดคนสนับสนุนปาเข้าไป 5 พันกว่าเสียงแล้ว!!




รฟท. = ผู้ดีเก่า ขายสมบัติกิน?
“หนี้” คือตัวแปรสำคัญที่บีบบังคับให้เจ้าของพื้นที่อย่าง รฟท. ผุดโปรเจกต์ป่าคอนกรีตครั้งนี้ขึ้นมาอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน แม้รู้ดีว่าพื้นที่สีเขียวในมหานครของไทยอยู่ในภาวะอัตคัดขาดแคลน จากที่ควรจะมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อ จำนวนประชากร ไม่ต่ำกว่า 9 ตารางเมตร/คน อย่างที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเอาไว้ แต่กลับต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเกณฑ์เสียอีก คือมีพื้นที่สีเขียวเพียง 4.09 ตารางเมตร/คน เท่านั้น สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตอันตกต่ำของคนไทยเป็นอย่างมาก
แต่ดูเหมือนว่า รฟท. จะมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไร เพราะปัญหาใหญ่สำหรับบอร์ดในตอนนี้คือ พวกเขามีหนี้สินท่วมหัว เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนติดท็อปไฟว์มานานแสนนาน ไหนจะโครงการรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลวาดฝัน-กดดันเอาไว้ให้รับผิดชอบอีก ที่ดินมักกะสันจึงกลายเป็นสมบัติล้ำค่าชิ้นสุดท้ายที่สามารถหยิบออกมาประมูลได้อย่างง่ายๆ และน่าจะได้ราคางามที่สุดแล้ว
 

หากจะบอกว่า รฟท. เป็นหนี้ ต้องปรับปรุงระบบของเขาเพื่อทำรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง แต่ไม่รู้จะเอาเงินมาจากที่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่มีคำถามว่าในเมื่อเป็นถึงหน่วยงาน 3 อันดับต้นๆ ของประเทศที่มีที่ดินอยู่ในมือเยอะที่สุด ไม่ว่าจะเป็นที่ดินตรงพื้นที่มักกะสันแปลงหนึ่ง แปลงที่สองคือตรงจตุจักร-บางซื่อ จำนวนเป็นร้อยๆ ไร่ ไหนจะตรงรัชดาฯ อีก ซึ่งเต็มไปด้วยโรงอาบอบนวดยี่ห้อต่างๆ
แต่ที่ผ่านมา คนทั่วไปไม่เคยเห็นการบริหารจัดการให้ดีขึ้นเลย แต่วันนี้กลับกำลังทำตัวเหมือน “ผู้ดีเก่า” ที่ทำงานไม่ค่อยเป็นก็เลยต้องเอาสมบัติเก่าของตัวเองมาขายกิน เอาที่ดินตรงมักกะสันมาประมูลสร้างห้าง ทำลายพื้นที่สีเขียว บอกได้คำเดียวว่าไม่เห็นด้วย
  

ต้องถามว่า ทำไม รฟท. ถึงไม่ขึ้นค่าโดยสารมาตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ทำไมไม่ปรับปรุงการเดินรถ ทำไมมาบริหารพื้นที่ตรงจตุจักรแล้วทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำไมทำอะไรดูมีนอกมีใน และมันก็ยังมีพื้นที่อื่นอีกเยอะแยะที่เอื้อให้ รฟท. เข้าไปพัฒนาและสามารถสร้างกำไรให้ รฟท. ยืนขึ้นมาได้ใหม่ แต่ทำไมถึงไม่ทำ ถึงเวลาก็เอาที่มาขายกิน

"ในฐานะประชาชนคนหนึ่งผมก็ไม่ได้อยากจะตำหนิอะไรเขานะครับ แต่เพียงแค่ท่านเปลี่ยนมุมมองในการบริหารนิดหนึ่ง ประชาชนจะรักท่านแน่นอนครับและจะรักแบบไม่เสื่อมคลายด้วย” แกนนำการรณรงค์ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” หรือเรียกสั้นๆ ในนาม “กลุ่มสวนมักกะสัน” ฝากไว้ให้คิด
 

ถึงตอนนี้ ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เพิ่งออกมาแถลงการณ์ว่าใกล้ได้ฤกษ์การประกาศเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) แล้ว โดยคิดเอาไว้ว่าพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ หักส่วนที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ออกไป เหลือ 497.11 ไร่ จะลงทุนทำคอมเพล็กซ์แบบครบวงจร ส่วนเรื่องที่จะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะไหม ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะมีการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวตามกฎหมาย เพราะฐานะการเงินของ รฟท. ยังขาดทุน การนำที่ดินที่มีศักยภาพมาสร้างรายได้ถือว่าจำเป็น
 

“หากคำนวณคร่าว ๆ ที่ดินจำนวนเกือบ 500 ไร่นั้น แบ่งส่วนหนึ่งเป็นถนนประมาณ 30% ก็จะเหลือที่ดิน 350 ไร่ ในจำนวนนี้สามารถก่อสร้างเป็นหอประชุม-นิทรรศการ ขนาดประมาณ 60 ไร่ 1 แห่ง, ศูนย์การค้าขนาด 30 ไร่ จำนวน 2 แห่ง รวม 60 ไร่, โรงแรมขนาด 15 ไร่ 4 แห่ง รวม 60 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลืออีก 170 ไร่นั้น สามารถแบ่งเป็นแปลงสร้างอาคารสำนักงาน ห้องชุดพักอาศัย เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์แปลงละ 8 ไร่ ขนาดเท่าที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม จำนวน 21 แปลง” ปัทมา จันทรานุกูล กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ชี้แจงรายละเอียดเอาไว้
 

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดจึงมีชาวกรุงรู้สึกเดือดปุดๆ จนต้องลุกขึ้นมาค้าน เห็นกันจะจะอยู่ว่าในแบบแปลนที่วางเอาไว้ ไม่มีคำว่า “พื้นที่สีเขียว” หรือ “สวน” หลงเหลืออยู่เลย ทั้งที่คณะรณรงค์ยืนยันว่าคนที่เข้ามากดไลค์เพจในเฟซบุ๊กนับหมื่นเห็นตรงกันว่า ไม่ต้องการอาคารเชิงพาณิชย์ตามรูปแบบที่ รฟท. เสนอมาแม้แต่นิดเดียว
แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้พื้นที่ส่วนแรกเป็นพื้นที่ห้างฯ และอาคารพาณิชย์แค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่อยากได้อาคารแนวดิ่ง 50-60 ชั้น อย่างมากสุดแค่ 20 ชั้นก็พอ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ อยากให้ทำเป็นอุทยานการเรียนรู้อย่าง OKMD, TK Park, Museum Siam เป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม และส่วนสุดท้ายเป็นพื้นที่สีเขียว จัดให้มีพื้นที่ของลู่วิ่ง ลู่จักรยาน ลานสเก็ตบอร์ด หรือลานเอ็กซ์สตรีมสปอร์ต ว่ากันไปตามการออกแบบ




พัฒนา หรือ ทำลาย
แค่ลองจินตนาการว่า ปอดขนาดใหญ่ ขนาด 700 ไร่ของคนกรุงเทพฯ หายไป ก็ทำให้เริ่มหายใจติดๆ ขัดๆ แล้ว ยิ่งนึกเสียดายขึ้นไปอีกเมื่อมองเห็นว่า “บึงมักกะสัน” ซึ่งเป็นแก้มลิงกลางเมืองหลวง ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า อาจถูกถมทับจนหมดสิ้น ไหนจะสถานที่แห่งประวัติศาสตร์อย่าง “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ซึ่งตั้งอยู่ตรงนั้นด้วย แกนนำกลุ่มสวนมักกะสันจึงอยากให้เจ้าของที่อย่าง รฟท. คิดให้ดี คิดให้หนัก หรือถ้าคิดไม่ออก อย่างน้อยให้เริ่มต้นความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด?
 

“สัญญาสัมปทาน 30 กว่าปี ลองคิดคร่าวๆ เอา 30 ปีไปหาร 200,000 ล้าน แสดงว่าปีหนึ่งต้องได้กำไรอย่างน้อย 7,000 ล้าน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธุรกิจที่จะลงทุนเยอะขนาดนี้แล้วได้รับกลับมาในอัตราเท่านี้ได้ คือถ้าจะสร้างห้างฯ คุณต้องทำใหญ่กว่าพารากอนประมาณ 30 เท่าถึงจะได้กำไร แค่เวลาก่อสร้างก็ยากแล้ว คงต้องมีคนไปเดินสัก 50,000 คนทุกวัน พื้นที่ตรงนั้นถึงจะอยู่ได้ครับ
แล้วห้างฯ ทุกวันนี้ก็มีเยอะแยะและคนก็เดินน้อยลงมาก พวกเราไม่ได้บอกว่าห้ามผุดห้างฯ ขึ้นมาตรงนั้นนะครับ มีไปเลยครับ แต่ขอให้แตกต่างและสร้างกำไรได้ เพราะลำพังจำนวนห้างฯ เท่าที่มีอยู่ตรงแถวสยาม-ราชประสงค์-ประตูน้ำ 4-5 แสนตารางเมตรก็เยอะแล้ว จะผุดห้างฯ ขึ้นมาตรงนี้อีก คุณจะเอาอะไรไปแข่งกับเขาครับ จะสร้างมาเหมือนๆ เดิมมันก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายก็ต้องเจ๊งกันไป
 

แต่ในทางกลับกัน ถ้าสร้างให้เป็นห้างฯ ที่แวดล้อมด้วยสวน ออกแบบดีๆ แล้วทำให้เป็น “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” แบบที่ประเทศเจริญแล้วเขาทำ ให้มีสวนน้ำ สวนธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้และเก็บค่าบริการได้ เรามีอุทยานการเรียนรู้ มีสวนศิลป์ มีพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ มีออดิทอเรียมทั้งกลางแจ้งและในร่มที่สามารถจัดคอนเสิร์ตได้ ถามว่าตรงนั้นจะเป็นเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มไหม? นักท่องเที่ยวจะไปไหม? ถ้าทำตรงนั้นให้นักท่องเที่ยวบอกต่อว่า “ต้องไป” ให้เป็นสวนมักกะสันที่กรุงเทพฯ ไม่เคยมี แต่มารวมอยู่ที่นี่ มีทั้งสวน มีทั้งศิลป์ ห้างก็มี แต่มีในสัดส่วนที่มันเหมาะสม
 แต่ทุกวันนี้ เห็นผู้ใหญ่มานั่งประชุมกัน คิดอะไรไม่ออก เรียกฝ่ายการเงินมา เรียกคนวิจัยมาหน่อย พูดแค่ตัวเลข 200,000 ล้านบาท แล้วโยนๆ กันไป แล้วคิดว่ามันจะสำเร็จไหมครับ ประชาชนก็จะรู้สึกว่า มาอีกละ! ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม มาทำนโยบายที่ดูไม่ค่อยฉลาดกันทุกทีเลย
ล่าสุด ได้ข่าวว่าทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะรีบประกาศ TOR ออกมาให้ประมูลกันภายในเดือน มี.ค. นี้ เพราะเห็นความเคลื่อนไหวต่อต้านบนโลกออนไลน์เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ มีผู้มาเข้าชื่อร่วมคัดค้านเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ตอนนี้ลงชื่อสนับสนุนกันทะลุ 5,000 แล้ว จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 รายชื่อ และจะประกาศยุติการรณรงค์ปลายเดือน เม.ย. เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง
 

“เราคิดว่าเราเป็นประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ นั่นหมายถึงว่าทรัพย์สินของรัฐหรือการกระทำทั้งหมดของหน่วยงานรัฐ เรามีสิทธิที่จะโต้แย้งแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้ แต่เราไม่สามารถเดินเข้าไปเป็นกลุ่มคนเล็กๆ แล้วบอกว่าเราอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ เราเองก็ไม่ได้อยากเข้าไปประท้วงให้ผู้ใหญ่โกรธและไม่พอใจ แต่แค่อยากแสดงออกด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ทั้งหมดที่ผมพูดมา อาจจะมีดราม่าปนอยู่บ้าง แต่จริงๆ แล้วการรณรงค์โปรเจกต์นี้ เราไม่ได้ทำอยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ เลย แต่เราทำอยู่บนรอยยิ้มและความสุขครับ
 

และถ้าคุณอยากเป็นหนึ่งเสียงที่ยกมือสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็น “ความสุขที่แท้จริง” ของคนเมือง ลองไปลงชื่อใน Change.org (คลิกเพื่อไปยังหน้าลิงก์) หรือถ้าจับต้นชนปลายไม่ถูก เริ่มจากเสิร์ชหน้าเพจ “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์” (คลิกเพื่อไปยังหน้าเพจ) บนเฟซบุ๊กก่อนก็ได้
ยิ่งยอดลงชื่อมากเท่าไหร่ พลังเสียงก็จะยิ่งหนักแน่นมากขึ้นเท่านั้น ตามคอนเซ็ปต์ของพวกเขาที่บอกเอาไว้ว่า “เพราะนี่อาจเป็นโอกาสเดียวที่เราจะได้บอกในสิ่งที่เราต้องการ!!”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




แค่ 2 วัน คงลงชื่อไปแล้ว 3 พัน
หนึ่งเสียงร่วมรณรงค์



กรุงเทพฯ สีเขียว หายไปไหนหมด?


สภาพการใช้งานพื้นที่ในปัจจุบัน
เมกะโปรเจ็กต์ มุ่งหวังกำไร






คนดัง ร่วมรณรงค์
กำลังโหลดความคิดเห็น