คงจะไม่ผิดนักหากจะบอกว่า นี่คือช่วงเวลาที่ร่วงโรยที่สุดของ “เพลงลูกกรุง”
ท่ามกลางกระแสเพลงรุ่นใหม่ที่ในปัจจุบัน เปลี่ยนผันตามยุคสมัย จากจุดเริ่มต้นของเพลงไทยเดิมผ่านบทบรรเลงที่เรียบเรียงด้วยเครื่องดนตรีฝรั่ง สู่เนื้อร้องไทยครั้งแรกจนเกิดเป็นเพลงลูกกรุง แยกสาขาสู่เพลงลูกทุ่งจนการเข้ามาของเพลงสตริงหรือเพลงสากลในแบบปัจจุบัน
นำมาซึ่งรอยต่อของยุคสมัยทางดนตรีที่ชีวิตในท้วงทำนองของเพลงลูกกรุงกำลังตายไปจากวงการเพลง หากแต่กับ เขมราษฎร์ เอี่ยมมีศรี ประธานชมรมเพลงแห่งสยาม ยังคงมองเห็นคุณค่าในตัวเพลงบทที่ก้าวข้ามผ่านยุคสมัย เป็นความงามในท่วงทำนองไพเราะ ละเอียดอ่อน อิ่มด้วยอารมณ์และความหมาย อีกทั้งยังมีความหลากหลายในเนื้อหาและจังหวะเพลง
“จริงแล้วเพลงลูกกรุงที่ได้ยินกันส่วนใหญ่จะเป็นเพลงช้า วัยรุ่นสมัยนี้ฟังเลยไม่ชอบ ทว่าเพลงลูกกรุงนั้นมีความหลากหลายมาก แอบรัก บอกรักนี่ปกติเลย มีชมความงามของหญิงสาว ชนดอกไม้ ไปเจอผีก็ยังมี” ประธานชมรมเพลงแห่งสยามเล่าถึงเสน่ห์ของเพลงลูกกรุงอย่างออกรส
ทว่ามาถึงปีนี้ เมื่อกลุ่มของเขาขับเคลื่อนเพื่อการปลูกชีวิตให้กับบทเพลงเหล่านี้มาถึงปีที่ 5 การยืนระยะจากความรักในบทเพลงท่ามกระแสยุคสมัยทางดนตรีที่สวนทาง
“มาถึงปีนี้มันก็ท้อเหมือนกัน ด้วยเงื่อนไขหลายๆอย่าง เรารู้เลยนะว่าเพลงลูกกรุงมันต้องตายแน่ๆ แต่เราอยากจะให้มันยังมีชีวิตอยู่บ้าง”
เสน่ห์เพลงลูกกรุง
แม้ตัวเขมราษฎร์เองจะเกิดและฟังเพลงในยุคที่เพลงสตริงเฟื่องฟูถึงขีดสุด ดิ อิมพอสซิเบิ้ล, เป็นชื่อของยุคสมัยทางดนตรี ทว่าเมื่อเขาได้ย้อนกลับมาฟังเพลงลูกกรุงชื่อของธานินทร์ อินทรเทพ, สุนทราภรณ์, ชรินทร์ นันทนาครก็กลายชื่อแห่งยุคสมัยในการฟังเพลงของชีวิตของเขา
“ผมก็ฟังเพลงเหมือนคนทั่วไปในยุคผม ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เพลงลูกกรุงเริ่มโรยราหายไปจากตลาด มันเป็นยุคที่เพลงสตริงขึ้นมามีอิทธิพลต่อคนในยุคนั้น ยุคของฮิปปี้ แต่พอผมกลับมาฟังเพลงลูกกรุง ผมก็ตกหลุมรัก ผมชอบและรู้สึกว่าไม่อยากให้มันหายไป อยากให้คนยุคใหม่ลองได้ฟังด้วย”
เนื้อที่หลากหลายทั้งยังงดงาม เปรียบความรักกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในบทเพลง รักมหัศจรรย์ (รักคู่ฟ้า) ของ ครูพยงค์ มุกดา ร้อยชื่อดอกไม้กลายเป็นบทเพลงใน อุทยานดอกไม้ ของวงจันทร์ ไพโรจน์ ยังมีลูกล้อเลียนในชั้นเชิงร้อยชื่อผีกลายเป็นบทเพลงตลกใน อุทยานผี ที่ขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์
เขมราษฎร์ลักษณะการร้อง เอกลักษณ์ในถ้อยภาษาเป็นแบบฉบับที่สะท้องธรรมชาติของคนยุคนั้นอย่างชัดเจน
“เราจะสังเกตว่าภาษาที่ใช้นั้นมีความสละสลวย นั่นเพราะยุคนั้นใช้ภาษาแบบนั้นกัน รวมไปถึงการร้องเพลง เสียงที่สูง และการพูดที่ช้าสักหน่อยหากแต่ชัดคำก็เป็นธรรมชาติของคนยุคนั้น”
ดังนั้นพอมาถึงยุคปัจจุบันเมื่อคนยุคใหม่กลับไปฟังเพลงยุคเก่า อาจมีความคิดว่าทำไมต้องร้องเพงดังและสูงขนาดนั้น หรือเนื้อเสียงลึกราวกับนักพากษ์ เขมราษฎร์เผยว่าคนยุคเก่าออกเสียงแบบนั้นเป็นเรื่องปกติ หรือการร้องเพลงที่ดังก็มาจากการเข้าห้องอัดที่สมัยก่อนจะอัดด้วยดนตรีสดทั้งวง
“มันเป็นเสน่ห์แบบเก่าที่หาไม่ได้จริงๆในยุคปัจจุบันซึ่งมีเงื่อนไขหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป”
คืนชีพให้บทเพลง
ความพยายามในการคืนชีพให้แก่บทเพลงมากมายของกลุ่มชมรมเพลงแห่งสยามคือการจัดคอนเสิร์ตโดยเชิญนักร้องรุ่นใหญ่มาร้อง พร้อมกับนักร้องรุ่นใหม่ที่ปั้นขึ้นมาโดยเน้นที่คุณภาพของเนื้องานทางด้านดนตรี มากกว่าการร้องเพื่ออนุรักษ์เพียงรูปแบบภายนอก
“การฝึกเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาให้ร้องเพลงลูกกรุงได้ยากมาก บางคนมาจากลูกทุ่งจะติดลูกเอื้อนของลูกทุ่งมาก็มาปรับแก้ แต่ที่ยากกว่าคือการให้คนฟังยอมรับซึ่งผู้ฟังส่วนมากก็เป็นผู้ใหญ่ที่เขาฟังของต้นฉบับที่มีคุณภาพมาตลอด แต่เราสามารถฝึกให้เด็กเก่งพอที่จะให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นยอมรับได้”
นอกจากในด้านของดนตรีที่เพลงลูกกรุงมีเอกลักษณ์ที่เครื่องดนตรีวงใหญ่ การเก็บเพลงจากต้นฉบับเขารับรองว่าชมรมเพลงแห่งสยามทำด้วยความใส่ใจชนิดที่ว่าโน้ตดนตรีที่เล่นนั้นไม่ต่างในเทปต้นฉบับ
“หลายคอนเสิร์ตจะมีการนำมาทำใหม่ ซึ่งต้นฉบับจริงๆก็หายากด้วย บิดโน้ตผิดไปมา บางทีนักร้องร้องเสียงไม่ถึงเพราะนักร้องยุคเก่าเรตเสียงจะกว้างกว่า ก็มีการลดเสียงแต่เราพยายามที่จะชุบชีวิตให้กับเพลงต้นฉบับ ด้วยวิธีการร้องในแบบต้นฉบับรวมไปถึงดนตรีด้วย”
ด้วยเงื่อนไขของรายละเอียดการทำงานที่ประณีตจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงขึ้น ทว่ากลับไม่ได้การสนับสนุนจากหน่วยงานอย่างกระทรวงวัฒนธรรม
“ตรงๆเลยคือเราได้งบส่วนหนึ่งจากผู้ใหญ่ที่รู้จักกัน และเขาก็เห็นถึงความสำคัญของเพลงพวกนี้ แต่มันก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ปีหน้าก็ไม่รู้ว่าจะยังทำไหวมั้ย”
หลังจากจัดคอนเสิร์ตมาทั้งหมด 21 ครั้ง เป็นมินิคอนเสิร์ต 17 ครั้ง คอนเสิร์ตใหญ่อีก 4 ครั้ง
ล่าสุดกลุ่มชมรมเพลงแห่งสยามยังคงเดินหน้าชุบชีวิตให้บทเพลงผ่านคอนเสิร์ตเพลงแห่งสยามครั้งที่18 ในตอนที่ชื่อว่า สายน้ำสายใจ เป็นการนำเสนอบทเพลงที่เกี่ยวกับสายน้ำในแง่มุมต่างๆ เช่น การชมความงามของแม่น้ำลำคลอง วิถีชีวิตประเพณีเกี่ยวกับสายน้ำ โดยจะมีขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2556 เวลา 13.00 น. ณ หอประชุมชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการใช้ภาษาที่สะท้อนออกมาผ่านบทเพลง ซึ่งเขมราษฎร์วิเคราะห์ ที่เพลงใหม่มีการออกเสียงไม่ชัดนั้นอาจส่งผลให้คนยุคใหม่มีปัญหาในการออกเสียงภาษาไทยที่ไม่ชัดด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการประกวดร้องเพลง กฟผ. รักภาษาไทยด้วยบทเพลง “ร่วมกันสืบสานภาษาไทย เอกลักษณ์ของชาติ ผ่านบทเพลงลูกกรุง”
“เป็นการประกวดขับร้องเพลงลูกกรุงสำหรับเยาวชน โดยให้บันทึกเป็นคลิปวิดีโอส่งเข้ามาคัดเลือก คือถ้าประกวดครั้งนี้มันเป็นไปได้ด้วยดี มันก็จะมีแรงส่งต่อ ถึงจะเห็นอนาคตว่าการจะรักษาเพลงลูกกรุงเอาไว้มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง เด็กรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาแทนผมก็มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้เขาทำแบบนั้นไม่ได้ ผมก็ยังอยากจะมีพื้นที่ที่จะรักษาเพลงเหล่านี้ไว้ให้ได้ยาวนานที่สุด”
ติดตามชมรมเพลงแห่งสยามได้ที่ facebook.com/สถานีเพลงแห่งสยาม
ชมคอนเสิร์ตครั้งที่ผ่านๆมาได้ที่https://www.youtube.com/user/Siamsongsclub
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับคอนเสิร์ตเพลงแห่งสยามครั้งที่ 18 ได้ที่ 081 686 9455 คุณยวดี
สอบถามรายละเอียดการประกวดเพิ่มเติมได้ที่ สวิตตา สมจิตรชอบ 0815539429 และเขมราษฎร์ เอี่ยมศรี 0854559624 หรือทางเว็บไซน์ http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=category&id=208&layout=blog
ข่าวโดย ASTV ผ้จัดการ LIVE