xs
xsm
sm
md
lg

'วิกฤติโรฮิงญา' ทะลักเข้าไทยนับแสน สิทธิมนุษยชนเกินพอดีหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับทศวรรษที่เป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย กรณีชาวโรฮิงญาอพยพลักลอบเข้าเมือง ด้วยเหตุลี้ภัยสงครามจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า รวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่ทำให้คนไร้สัญชาติ ฯลฯ ที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไหลทะลักเข้ามา ลุกลามเป็นปัญหาระดับชาติที่ยังไม่มีแนวทางจัดการที่ชัดเจน แม้จะมีการหารือร่วมถึงทางออกกันเรื่อยมา

ลมหายใจแผ่วของชาวโรฮิงญาลอยล่องมากลางทะเลอันดามัน เกินคาดเดาว่าเกลียวคลื่นที่โถมกระหน่ำจะโจมตีชีวิตนับร้อยบนเรือขนาดย่อมอัปปางค์ลงเมื่อไหร่ รอนแรมแรมเดือนหนีความโหดร้ายของแผ่นดินผืนเก่าด้วยความหวังจะมีชีวิตใหม่ในชายฝั่งไกลโพ้น แม้ต้องมาตายกลางทะเล หรือมาติดคุกในแผ่นดินใหม่ก็ยินยอม ดีกว่าต้องทนทุกข์ลำเข็ญในประเทศพม่า

ล่าสุด การช่วยเหลือชาวโรฮิงญามุสลิมไร้สัญชาติที่ล่องเรือหนีตาย จากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เข้ามาเทียบท่าตอนใต้ของประเทศไทยกว่า 800 คน กำลังถูกจับตามมองอย่างหนัก ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนในเรื่องที่พัก บริจาคทรัพย์ ลงพื้นที่ให้กำลังใจ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับเริ่มต่อต้านและขับไล่

เป็นวิกฤตการที่รัฐบาลไทยต้องเร่งหาทางออกก่อนที่ประเทศไทยจะตกเป็นถิ่นฐานใหม่ของกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นาม 'โรฮิงญา' ที่ขณะนี้ยังตกค้างอยู่ในประเทศไทยกว่า 1.3 แสนคน

พวกเขาเข้ามาทำอะไรในไทย?
โรฮิงญา พลเมืองที่ไม่มีชาติใดยอมรับ กลุ่มคนไร้สัญชาติที่กำลังเพิ่มปริมาณขึ้น และกระจายลักลอบเข้าพำนักในอีกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ร่ำลือว่าเป็นทางผ่านของกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อเดินทางสู่ประเทศมาเลเซีย

ตามข้อมูลรายงานว่า นโยบายของรัฐบาลไทยแต่ก่อนกำหนดไว้ว่าหากเจอชาวโรฮิงญาในน่านน้ำไทย ต้องผลักดันให้ออกไปทะเลมีข้อแม้ว่าต้องให้เสื้อผ้าและน้ำดื่มแก่พวกเขาเพราะทั้งหมดถือเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย ตรงนี้เองหลายองค์กรมองว่าเป็นเรื่องไร้มนุษย์ธรรมเพราะเท่ากับว่าผลักไสโรฮิงญาออกไปตาย

ทว่า จะส่งกลับพม่าก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมอันโหดร้ายของสงคราม ตกในสภาพเหยื่อถูกทำร้ายทั้งร่างกาย จิตใจ เพราะรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮิงญา เช่นเดียวกับ บังกลาเทศ ที่ปฎิเสธชาติพันธ์นี้

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น เล่าถึงปัญหาชาวโรฮิงญาอพยพลักลอบเข้าเมืองมีมาหลายสิบปีแล้ว แต่การเริ่มต้นปีนี้ถือว่าปัญหาอยู่ในขั้นวิกฤติ ด้วยปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทั้งยังมีผู้หญิงและเด็กอพยพหนีตายกันเป็นจำนวนมาก คือแต่เดิมที่ตรวจพบจับกุมจะมักมีแต่ชาวโรฮิงยาเพศชายที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย

“โรฮิงญาเข้ามาเรื่อยๆ สมัยก่อนเพศชายเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ หนีความยากลำบากในประเทศเข้ามาหางานทำ เป็นทางผ่านจะไปมาเลเซีย ในช่วงปีที่ผ่านมารุงนแรงมาขึ้นในรัฐยะไข่ ทำให้ในช่วงปลายปีมีผู้หญิงญ และเด็ก มากับเรือ ทั้งที่ไม่เคยปรากฎเลย และจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องน่าห่วง และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้”

ข้อเท็จจริงกรณีการทะลักเข้าเมืองของชาวโรฮิงยา สุรพงษ์ อธิบายว่านอกจากปัญหาเรื่องการอพยพลี้ภัยสงครามในพม่าเพื่อมาแสวงหาชีวิตใหม่ ยังคาบเกี่ยวไปในเรื่องการค้ามนุษย์ที่มีเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปเอี่ยวด้วย

“ปัจจัยนึงขบวนการค้ามนุษย์ อาศัยจังหวะที่คนอยู่ยากลำบาก ชักชวนในหมู่บ้านไม่ว่าบังคลาเทศ พม่า ถ้าเกิดมาที่นี่จะมีงานทำที่อยู่ที่กิน จ่ายเงินเท่านี้นะมาถึงไทยจะมีคนมารับต่อ คนเหล่านี้ก็มาขายบ้านขายวัวเลย พอมาแล้วพบว่าถูกจับ ถูกขายต่อโดยเจ้าหน้าที่ไทยขายต่อให้ขบวนการค้ามนุษย์ ซื้อมาแล้วเอาไปขายต่อจากญาติ คือเรียกค่าไถ่จากญาติ”

เขาเปิดเผยว่านายหน้ารายใหญ่นั้นเป็นชาวโรฮิงญาด้วยกัน มีหนังสือเดินทางเข้าออกประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีเจ้าหน้าที่ของไทยอำนวยความสะดวกอยู่

สุรพงษ์ เสนอแนะว่าเบื้องต้นรัฐบาลไทยต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานลี้ภัย ให้เข้ามาจัดการตรวจสอบ และในประเด็นการค้ามนุษย์ต้องมีการสืบสวนจัดการที่ต้นตอ

โรฮิงญา เริ่มเรียกร้องสิทธิ
ต้นปี 2556 สถานการณ์ลักลอบเข้าประเทศของชาวโรฮิงญาดูจะร้อนระอุมากขึ้น ทั้งจำนวนคนและความหลากหลายทางเพศที่เดิมมีแต่เพศชาย แต่ขณะนี้มีทั้งเด็กและผู้หญิงทะลักเข้ามา ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ช่วยเหลือกันตามอัตภาพตามหลักมนุษยธรรม

ด้านชาวโรฮิงญาในประเทศไทยก็การเคลื่อนไหวเรียกร้องความช่วยเหลือต่อทางรัฐบาลไทยเช่นกัน นำโดย หม่อง จอ นู ประธานสมาคมโรฮิงยาแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบจุฬาราชมนตรี เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือ ระบุข้อเรียกร้อง 5 ข้อ

1. อย่าส่งชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกลับประเทศพม่า
2. ให้จัดสถานที่สำหรับดูแลชาวโรฮิงยารวมไว้ในที่เดียวกันเพื่อความเป็นอิสระ และสะดวกต่อการประกอบศาสนกิจ อย่าควบคุมไว้ในห้องขัง
3. ให้รัฐบาลไทยประสานองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้รับรองชาวโรฮิงญาให้อยู่ในข่ายของผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้อยู่ในประเทศไทยได้ ก่อนที่จะถูกผลักดันไปยังประเทศที่สาม
4. ให้อาเซียนและนานาประเทศกดดันพม่าให้ปฏิรูปการเมือง และปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาด้วยมนุษยธรรม
5.หากพม่าไม่ยอมรับข้อเสนอ ให้จัดกองกำลังนานาชาติเข้าไปคุ้มครองดูแลชาวพม่าในพม่าเพื่อความปลอดภัย

ช่วงเวลาไล่เลี่ยก็มีชาวโรฮิงญา 4 คน ไปรวมตัวกันบริเวณด้านหน้ากระทรวงการต่างประเทศ บริเวณ ถ.พระราม 6ชูป้ายข้อความ.. 'หยุดฆ่าชาวโรฮิงญา', 'หยุดผลักไสชาวโรฮิงญา' พร้อมประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับชาวโรฮิงญาผู้ไร้สัญชาติ ขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการส่งตัวชาวโรฮิงญาไปยังประเทศพม่า

ปฏิบัติต่อเขาด้วยหลักมนุษยธรรม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีการลักลอบเข้าประเทศไทยของชาวโรฮิงญา ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้วโรฮิงญาจะลักลอบเข้าเมืองทุกเมืองทุกปี ตรวจพบในช่วงลมมรสุมสงบมักเดินทางเข้ามาบริเวณชายฝั่งเพื่อลัดเลาะไปยังประเทศอื่น แต่ถ้ามีเข้ามายังอาณาเขตประเทศไทยก็จะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม คือต้องดูแลทุกอย่างตามความสมควร เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวได้รับผลกระทบจากความรุนแรงความยากจน

ประเด็นสำคัญประเทศไทยต้องดูแลด้านความมั่นคง หากรับคนไว้มากในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีนโยบายที่จะนำคนที่อยู่ในศูนย์พักพิง9 แห่ง ไปยังประเทศที่ 2 ในเรื่องนี้มีความพยายามผลักดันเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว จากเดิมมีจำนวน 1.9 แสนคน แต่ขณะนี้เหลือ 1.3 แสนคน โดยที่เหลือยังไม่มีประเทศใดแสดงความจำนงในการรับไปดูแลต่อ

หากมีการจัดตั้งศูนย์ดูแลเพิ่มขึ้นมาอีก 1 แห่ง จะเป็นภาระหรือไม่? ทั้งนี้ต้องมองประเทศชาติของเราเป็นหลักแต่จะต้องไม่ทอดทิ้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการหารือร่วมกัน

“สิ่งที่เรากังวลและได้นำเรียนรัฐบาลแล้ว ถ้าให้เขาอยู่นานเกินไปก็จะมีการลักลอบเข้ามาเพิ่มเติม เพราะปัญหาเกิดจากต้นทาง ไทยอยู่กลางทางไม่ใช่ประเทศปลายทาง หากมีการรับไว้มากๆ ชาวโรฮิงญาจากต้นทางก็จะมาที่ไทยมาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราต้องดูว่าเราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ต้องหาคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน

“และถ้าชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศไทยนานเหมือนกับที่ศูนย์พักพิงอื่นๆ โดยมีการลักลอบออกมาทำงานข้างนอกและเกิดความสัมพันธ์กับคนไทยจนมีลูกหลานหรือเผ่าพันธุ์ที่ไม่เหมือนคนไทย ดังนั้นก็จะมีความแปลกผสมกันดังนั้นเราจะต้องดูแลคนไทย เนื่องจากมีความยากจนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะดูแลชาวโรฮิงญาก็ตามแต่ก็ไม่รู้จะนำบุคคลเหล่านี้ไปไว้ไหนต่อไป ดังนั้นต้องหาทางให้เขากลับไปประเทศต้นให้ได้ ส่วนใครจะรับหรือไม่นั้นผมไม่รู้และไม่อยากพูดว่าต้นทางมาจากไหน เพียงแต่ต้องผลักดันกลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่สาม แต่ไม่ใช่ประเทศไทย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในเรื่องการตั้งศูนย์พังพิงเพื่อรองรับชาวโรฮิงญาเพิ่มเติมนั้น ก็มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเกิดขึ้นแล้ว สุชีพ พัฒน์ทอง แกนนำคัดค้านการจัดตั้งศูนย์อพยพชาวโรฮิงญา ในจังหวัดระนอง เปิดใจรู้สึกเห็นใจ แต่ไม่เห็นด้วยที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ผู้อพยพชาวโรฮิงญาขึ้นในประเทศไทย

เขากล่าวว่า ขณะนี้มีแนวร่วมต่อต้านชาวโรฮิงญาในเขตพื้นที่จังหวัดระนองเพิ่มมากขึ้น และพร้อมที่จะเคลื่อนไหวหากปรากฎว่าจังหวัดระนองต้องรับผิดชอบคนกลุ่มนี้ หากองค์กรต่างๆ ยังคงเคลื่อนไหวในเรื่องนี้คนระนองก็พร้อมที่จะเคลื่อนไหวต่อต้าน

อีกอย่าง ประเทศไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับคน กลุ่มนี้ ประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งพม่า บังกลาเทศ อังกฤษ น่าจะเข้ามาดูแล มากกว่า

"แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเห็นใจชาวโรฮิงญา แต่เมื่อคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากให้คนกลุ่มนี้เข้ามาในพื้นที่จังหวัดระนอง ไม่ว่าจะเป็นการให้เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งให้มีการจัดตั้งศูนย์อพยพขึ้น คงจะเกิดผลกระทบและมีปัญหาต่างๆตามมาอีกมากมาย ทั้งที่ในปัจจุบันจังหวัดระนองมีปัญหาจากแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่นับแสนคน ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านสังคม ความมั่นคง สาธารณสุข"

มากไปหรือไม่..ที่เราปฏิบัติต่อโรฮิงญา
ทบทวนในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยไม่มีการปฏิบัติต่อโรฮิงญาดังที่เป็นข่าวในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะกระจายชาวโรฮิงญาไปยังสถานสงเคราะห์ฟื้นฟูสภาพจิตใจดูแลด้านสุขภาพกาย จัดข้าวปลาอาหาร หรือแม้กระทั่งกองทุนรับบริจาคเงินที่ยอดทะลุกว่า 2 ล้าน ถามว่าเหล่านี้มันมากไปหรือไม่สำหรับกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย?

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ทรงคุณวุฒิของไทยประจำอาเซียน กล่าวว่าต้องมีการทบทวนต่อแนวทางปฎิบัติอต่อชาวโรฮิงญาเพื่อไม่ก่อเป็นผลกระทบที่ไม่อาจควบคุมได้ในอนาคต

“ต้องมีการทบทวบให้ดีและก็รอบคอบว่าการที่การที่เราจะให้ที่พักพิงเขาโดยไม่ผลักดัน หรือส่งกลับภายในเวลาอันควรนั้นเกิดภาระขึ้นมามาก และใช้หลักสากล หลักมนุษยธรรมในลักษณะที่จำกัดหรือว่ามีขอบเขตชัดเจน”

รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์ต่อกรณีแบบนี้มาแล้ว ท้ายที่สุดภาระจะตกอยู่ที่เราเป็นหลัก ต้องทบทวนนโยบายในประเด็นนี้ให้รอบคอบ โดยเฉพาะการรับมือโรฮิงญาในปีนี้และปีนี้ปีหน้า

กลุ่มที่เข้ามากับกระบวนการค้ามนุษยต้องปราบปรามและส่งกลับ อย่าให้อยู่นานและกลายเป็นภาระประเทศไทย รวมทั้งปราบปรามเจ้าหน้ารัฐที่เกี่ยวข้อง

รศ.ดร.ปณิธาน ย้ำถึงนโยบายผลักดันกลับก่อนที่ชาวโรฮิงญาจะเข้าเมือง เพราะเมื่อเข้ามาแล้วจะส่งตัวกลับยากมาก ประเทศออสเตรเลีย สิงค์โป มาเลเซีย ก็ทำเช่นนี้พอให้อาหารให้น้ำแล้วผลักดันกลับ ไม่ให้เข้าเมือง

การออกมาเรียกร้องของชาวโรฮิงญาบางส่วนผ่านทางจุฬาราชมนตรี และชูป้ายหน้าสถานฑูตฯ ดูจะเป็นสถานการณ์ที่สร้างความกังขาต่อชาวไทยอยู่ไม่น้อย หลายคนอาจตั้งคำถามว่าพวกเขาเป็นคนไร้สัญชาติมาขออาศัยแผ่นดินเราอยู่ แล้วยังจะกล้าลุกฮือมาเรียกร้องอะไรอีกหรือ รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว่า ตรงนี้เป็นเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษยธรรมที่สามารถกระทำได้

รศ.ดร.ปณิธาน เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องโรฮิงญาลักลอบเข้าเมือง ในแง่การแบกรับภาระตามหลักมนุษยชนนั้นหนักสำหรับประเทศไทยไม่น้อย เป็นต้นว่าแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล

“อาเซียนต้องเข้ามารับภาระมากขึ้นด้วย ถ้าพวกเขาเข้ามาเพราะถูกคุกคามจริงมันไม่มีปัญหา แต่มีเงื่อนไขนิดเดียวกลุ่มที่เรียกร้องต้องมาช่วยรับภาระรัฐบาลไทยมากขึ้น หลายองค์กรต้องเร่งระดมเข้ามาช่วย ระหว่างนั้นต้องหาเงินบริจาคนานาชาติเข้ามาช่วยเพราะเราไม่ได้มีเงินจำนวนมาก”

แน่นอน การวางตัวของไทยต่อโรฮิงญานั้นจะสะท้อนกลับไปยังมุสลิมไร้สัญชาติที่กำลังเผชิญความยากลำบาก

“เป็นปัจจัยสะท้อนกลับ ปัจจัยดึงดูด หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะทำให้เขาเห็นว่าไทยเป็นอีกที่นึงที่เขาพยายามเข้ามา เรื่องเงินบริจาคเองต้องมีเงื่อนไข นโยบายที่จะประกาศไปก็ต้องระวัง เพราะว่าเขามีเครือข่ายติดต่ออยู่ตลอดเวลา โดยจิตวิทยาเขาเห็นว่าประเทศไทยอลุ้มอล่วยเขาก็จะมา”

อย่างไรก็ต้องไปจากประเทศไทย
การทะลักเข้ามาของโรฮิงญาเป็นประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายยังคงหาทางออกให้ประเทศไทย รศ.ดร.ปณิธาน แนะถึงการแก้ปัญหาโรฮิงญา ว่าต้องร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย บังกลาเทศ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

อีกอย่าง มีการพิสูจน์แน่ชัดแล้วว่าชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย มีการเชื่อมโยงกับขบวนการค้าแรงงาน และการค้ามนุษย์ ตามหลักการทางกฎหมายต้องจับกุมดำเนินคดี

ส่วนของแนวทางการแก้ปัญหาจะต้องมีการเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ สกัดกั้นไม่ให้ชาวโรฮิงญาลักลอบเข้ามาได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง และเด็กจากปัญหาการสู้รบในรัฐยะไข่ ที่เป็นแนวโน้มให้ชาวโรฮิงญาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แม้จุดหมายของโรงฮิงญาคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ก็ต้องผ่านไทย ซึ่งเราไม่ไม่มีสถานภาพที่จะรับชาวโรฮิงญาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะไม่ได้เป็นภาคีของสหประชาชาติในเรื่องผู้ลี้ภัย เพียงแต่ยึดหลักมนุษยธรรมช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น

ที่สำคัญรัฐบาลไทยต้องยืนยันให้ชัดเจนว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และอยู่ในสถานภาพใด

รศ.ดร.ปณิธาน อธิบายถึงปัญหาในขณะนี้ คือเรื่องการส่งกลับเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา หากส่งกลับไปแล้วชาวโรฮิงญาได้รับอันตรายก็จะถูกมองในแง่ลบ

และถูกต่อต้านจากองค์กรต่างๆ ในทางตรงกันข้าม หากไทยไม่สามารถผลักดันไปอยู่ในประเทศที่สามได้ และไม่สามารถสกัดกั้นกลุ่มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้เพราะทราบว่าได้รับการดูแลจากไทยเป็นอย่างดี ชาวโรฮิงญาก็จะยิ่งลักลอบเข้ามามากขึ้น

ทางออก คือรัฐบาลไทยต้องประสานงานผ่านอาเซียน หาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นตอของปัญหา โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่า รวมทั้งหารือกับอินเดีย และบังกลาเทศ เพื่อเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา

…...............................
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


เส้นทางเดินเรือของโรฮิงญา
กำลังโหลดความคิดเห็น