เข้าใกล้วันเด็กทีไร ประเด็นข่าวที่สื่อหลายสำนักต่างหยิบยกขึ้นมานำเสนอ หรือบางทีไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็มีข่าว คงหนีไม่พ้น "ปัญหาเด็กและเยาวชนไทย" ที่ช่วงหลัง ๆ มานี้ มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในยุคแห่งความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบทั้งด้านพฤติกรรม อารมณ์ และสุขภาพของเด็กไม่ใช่น้อย
แต่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน คือ "คำขวัญวันเด็ก" ที่มีหลาย ๆ ฝ่ายตั้งคำถามกันว่า หรือเป็นเพียงแค่วาทกรรมประจำปีที่ผู้ใหญ่มอบให้แก่เด็กเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา การจัดการให้ฝันที่ผู้ใหญ่คาดหวังจากเด็ก ดูเหมือนจะขาดความต่อเนื่องทั้งเชิงระบบและกระบวนการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย โดยขณะนี้ เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงมากมาย ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น
นานาทัศนะ "คำขวัญวันเด็ก"
ประเด็นเรื่อง "คำขวัญวันเด็ก" มีคนให้ความสนใจกันมาตลอด เห็นได้ชัดในปีนี้ที่โลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการพูดถึงกันมาก เพราะเป็นคำขวัญที่หลายคนท้วงติง และเกิดคำถามถึงตัวบุคคลในรัฐบาลชุดนี้ไม่น้อย ยกตัวอย่างข้อเสนอของ บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ซึ่งนักวิชาการอาวุโสด้านสื่อสารมวลชนท่านนี้ ได้โพสต์ "เฟซบุ๊ก" เกี่ยวกับคำขวัญวันเด็กประจำปี 2556 ในเชิงตั้งคำถามว่า
-------------------------------------------------------------------
"รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"
เป็นคำขวัญวันเด็กที่มีข้อสงสัย 2 ประการ
1. 'รักษาวินัย' ตัวอย่างดีที่สุดก็คือผู้บริหารประเทศและนักการเมืองลงมือปฏิบัติให้เด็กเห็น ถ้าเป็นเช่นนั้น คำขวัญวลีนี้จะเกิดผลสัมฤทธิ์
2. 'นำพาไทยสู่อาเซียน' เด็กจะนำพาได้อย่างไร ยังนึกไม่ออก ผู้ใหญ่อีกไม่ใช่หรือที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำพาไทยสู่อาเซียน
ท่านใดร่างคำขวัญให้นายกรัฐมนตรี กรุณาอธิบาย จักขอบคุณ
-------------------------------------------------------------------
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลาย ๆ กระแสใน "เฟซบุ๊ก" ที่มีการพูดถึง และคิดคำขวัญวันเด็กในเชิงล้อเลียน เหน็บแนมขึ้นมาด้วย หนึ่งในคำขวัญยอดฮิตที่คนจำนวนมากเข้ามากดไลค์ และแลกคอมเมนต์กันอย่างพรั่งพรูก็คือคำขวัญที่ตัดทอนมาจากคำพูดของพี่ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ที่ว่า "ประเทศเราบอบช้ำมามากแล้ว ผู้ใหญ่ก็โง่ เป็นเด็กอย่าเสือกโง่ตาม" ซึ่งหลายคนเห็นด้วยว่า เป็นคำขวัญวันเด็กปีนี้ที่เหมาะสมที่สุด
ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น ทางฝากเด็กเองก็ได้ออกเสียงเล็ก ๆ ถึงคำขวัญวันเด็กไว้อย่างน่าสนใจ เห็นได้จาก ทัศนะใสๆ จากต้นหลิว-ด.ญ.ธรพชรพรรณ พูลศรี ที่เขียนเรียงความบอกเล่า "เรื่องดี ๆ ที่หนูอยากเล่า" ในหัวข้อเรื่อง "เด็กไทยใฝ่เรียนรู้" ผ่านบล็อกผู้จัดการออนไลน์ (http://mblog.manager.co.th/tuezaaa/th-124342/) โดยวิเคราะห์คำขวัญวันเด็กปี 2556 ไว้อย่างมีหลักการว่า
"การเป็นคนดีมีวินัย ต้นหลิวคิดว่า การที่เราจะใฝ่เรียนรู้อะไรก็ตามแต่ เราจำเป็นต้องมีสังคมที่ดีเป็นตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ตัวอย่างเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองที่คนทำผิดกลับไม่ถูกลงโทษ แถมยังได้อยู่สุขสบาย ร่ำรวย ได้เป็นรัฐมนตรี หรือตำรวจ ที่ไม่ยอมไปจับผู้ร้าย ไม่ยอมมาทำหน้าที่ มัวแต่มาออกทีวี"
"ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่เด็ก ๆ ได้เห็น และได้เรียนรู้ และอีกไม่นาน เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นก็ไม่ต่างอะไรไปกับคนพวกนี้เลย ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรจะสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่า วินัยที่ดีเป็นอย่างไร อย่างไหนถูกต้อง หรือแบบไหนผิด คนที่ทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ เพื่อที่จะให้เด็ก ๆ ได้เปลี่ยนความคิด เพื่อที่เด็ก ๆ โตไป จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดี โตไปไม่โกง และเป็นตัวอย่างให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไป"
ทั้งนี้ ต้นหลิวได้ทิ้งท้ายความเรียง โดยสะกิดใจไปถึงผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า "ถ้าแค่นี้ยังทำไม่ได้ เราก็คงอายไม่กล้าสู้หน้าใคร ๆ แม้แต่ในอาเซียน หรือโลกใบนี้อีกเลย"
โพลชี้ คำขวัญวันเด็กยุคจอมพลถนอม เด็กชอบมากสุด
ล่าสุด ได้มีผลวิจัยเชิงสำรวจที่น่าสนใจจาก ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง เด็กๆ ชื่นชอบคำขวัญวันเด็กของนายกรัฐมนตรีคนใดมากที่สุด กรณีศึกษาตัวอย่างเด็กและเยาวชนอายุ 10-15 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,368 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 - 9 มกราคม พ.ศ. 2556 จากผลการสำรวจ พบว่า
คำขวัญวันเด็กในปี 2516 ของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ระบุว่า "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ" ได้รับความชื่นชอบมากที่สุดคือ ร้อยละ 89.6 รองลงมาคือคำขวัญวันเด็กของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2556 ที่ระบุว่า รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน ได้ร้อยละ 88.9 และคำขวัญวันเด็กของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2555 ที่ระบุว่า สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 56.0 ระบุว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ได้แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง และไม่ต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือ เด็กๆ ยังได้ระบุสิ่งที่อยากขอจากผู้ใหญ่ในประเทศในโอกาสวันเด็กที่จะมาถึงนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ได้แก่ ร้อยละ 60.0 ระบุ ทำดีให้เด็กดูก่อน อย่าโทษแต่เด็ก รองลงมาคือ ร้อยละ 57.9 ระบุ ขอให้ผู้ใหญ่มีความซื่อสัตย์ เลิกคดโกง ร้อยละ 56.2 ระบุ ช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่แบ่งฝ่าย ไม่แตกแยก ร้อยละ 56.0 ระบุช่วยกันทำให้สังคมไทยสงบสุข ร้อยละ 55.2 ขอให้รับฟังและเข้าใจเด็กมากขึ้น และร้อยละ 54.4 อยากให้ผู้ใหญ่เลิกทะเลาะกัน เลิกใช้ความรุนแรง ตามลำดับ
คำขวัญสวยหรู แต่เด็กไทยกำลังแย่!
อาจกล่าวได้ว่า การจัดการให้ฝันที่ผู้ใหญ่คาดหวังจากเด็กผ่านคำขวัญวันเด็กในแต่ละปีนั้น ดูเหมือนจะขาดความต่อเนื่อง โดยขณะนี้ เด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงมากมาย ทั้งด้านความรุนแรง เพศสัมพันธ์ ยาเสพติด รวมไปถึงสุขภาพทางด้านต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับคำขวัญวันเด็กที่กำหนดขึ้นอย่างสวยหรู แต่ไม่ได้มีการทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังเสียที
สะท้อนได้จาก นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้วิเคราะห์คำขวัญเด็กตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 จนถึงปี พ.ศ.2556 พบว่า มีทั้งสิ้น 51 คำขวัญ โดยยุคอำนาจนิยมจนถึงยุคกึ่งประชาธิปไตย คำขวัญเน้นไปที่หน้าที่ของเด็กและความรักชาติ ขณะที่ยุคปฏิรูปการเมืองเน้นคุณธรรม จริยธรรม และยุคปัจจุบันเน้นใฝ่รู้ คิดสร้างสรรค์และก้าวทันเทคโนโลยี เมื่อวิเคราะห์คำขวัญทั้งหมดพบว่า 3 คำแรกที่ใช้บ่อยสุด คือ ขยันและเรียน 33 ครั้ง วินัย 16 ครั้ง คุณธรรมจริยธรรม 14 ครั้ง ขณะที่ 3 คำที่มีการใช้น้อยสุด คือ ความสุข 1 ครั้ง พอเพียง 1 ครั้ง และจิตสาธารณะ 2 ครั้ง
แต่ในความจริงของเด็กไทย กลับพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย ทั้งด้านความรุนแรง เพศสัมพันธ์ ยาเสพติด โดยพบเด็กติดเกม ดูทีวี ใช้โทรศัพท์มือถือ มีสื่อลามกกว่า 200 ล้านรายการผ่านเว็บไซต์ เด็กไทยไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 91 ออกนอกระบบจากการศึกษามากขึ้น เครียดจากการเรียนถึง 66.99% มีภาวะซึมเศร้า 29.10% หนีเรียน 22.85% นั่นสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า คำขวัญวันเด็กเป็นเพียงวาทกรรมประจำปีที่ผู้ใหญ่มอบให้แก่เด็กเท่านั้น
ทั้งนี้ กับ "ปัญหาเด็กและเยาวชนไทย" ASTVผู้จัดการ ก็เคยนำเสนอให้สาธารณชนคนไทยได้ตระหนักกัน และในส่วนของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามกับการแก้ปัญหาในเชิงรุกจริง ๆ ดูเหมือนจะยังไม่มีอะไรชัดเจนนัก ขณะที่นักวิชาการที่ให้ความสนใจกับปัญหาเด็กและเยาวชนไทย อย่าง ครูหยุย-วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก อดีตสมาชิกวุฒิสภา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งมีอยู่ 3 ปัญหาใหญ่ ๆ คือ ปัญหาเซ็กซ์วัยใส ยาเสพติด และเด็กตีกัน
"ตอนนี้เชื่อว่าทุกคนรู้ปัญหาหมดแล้ว เมื่อรู้แล้วการศึกษาวิจัยก็ไม่จำเป็น นำเงินไปแก้ปัญหาให้ตรงจุดดีกว่า ซึ่งรัฐต้องลงทุนเรื่องนี้อย่างหนัก อย่างสภาเด็กและเยาวชนมีบางกลไกที่ไปได้ กลับมีเงินสนับสนุนน้อยมาก แต่เมื่อมองไปยังกองทุนสตรี รัฐจัดสรรเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท ส่วนตัวมองว่า รัฐควรลงทุนด้านเด็กให้มากด้วย อย่างน้อย ๆ ปีละ 1 ล้านบาทไว้สำหรับให้สภาเด็กฯ ได้ใช้ดำเนินกิจกรรมระดับจังหวัด และชุมชน ในการจัดเวทีระดมสมอง และทำกิจกรรมแก้ไขปัญหาเยาวชนดังกล่าว ไม่ได้เชียวหรือ" ครูหยุยฝากให้คิด
มาประกาศ "เจตนารมณ์เพื่อเด็ก" กันเถอะ
"ครูหยุย" ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำขวัญวันเด็กด้วยว่า วันเด็กเป็นวันที่ผู้ใหญ่ต้องกลับมาคิดใหม่ เริ่มจากการคิด และประกาศเจตนารมณ์เพื่อเด็กในวันเด็ก เพราะเท่าที่ผ่านมา คำขวัญวันเด็กไม่ได้ช่วยอะไรเลย ในเมื่อผู้ใหญ่คิดคำขวัญขึ้นมา แต่หลาย ๆ เรื่องกลับยังทำกันไม่ได้ และไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็ก เห็นได้ชัดจากวินัย และคุณธรรมที่มีเหลือน้อยลงแทบทุกที
"บอกให้เด็กซื่อสัตย์ รัฐบาลซื่อสัตย์หรือยัง บอกให้เด็กมีวินัย รัฐบาลมีหรือยัง บางคนมาประชุมครม.สาย หรือบางคนก็โดดประชุม พอถึงวันเด็กก็มาสอนกันอีก ส่วนตัวมองว่า เลิกสอนกันสักวันไม่ได้หรือ แล้วหันมาทำอะไรจริง ๆ จัง ๆ เป็นของขวัญให้เด็กกันได้แล้ว พูดง่าย ๆ คือ วันเด็ก เรามาประกาศเจตนารมณ์เพื่อเด็กกันเถอะ เช่น วันเด็กปีนี้จะสร้างสนามกีฬาเป็นของขวัญให้เด็กทุกตำบลทั่วประเทศ หรือให้ทุนทำกิจกรรมสำหรับเด็กจังหวัดละ 1 ล้านบาททั่วประเทศ" ครูหยุยเสนอ
"เล่นอย่างอิสระ" คำสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ และแทบจะไม่มีระบุไว้ในคำขวัญวันเด็กเลย ก็คือ การเล่นอย่างอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเรียน และเทคโนโลยีเสียมากกว่า ยกตัวอย่างคำขวัญวันเด็กประจำปี 2555 ของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" แต่หารู้ไม่ว่า หากเด็กขาดการเล่นอย่างอิสระมากขึ้น อาจมีผลร้ายมากกว่าผลดี
นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาสมองของเด็ก เคยแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ไว้ว่า เด็กยุคใหม่ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เล่นอย่างอิสระ พ่อแม่หลายคนมองว่าการเล่นไม่ค่อยจะมีสาระ หรือประโยชน์กับเด็กเท่าไร เอาเวลาให้ลูกไปเรียนพิเศษดีกว่า ทำให้เด็กขาดชีวิตชีวาไปพร้อม ๆ กับทักษะแก้ปัญหาที่เกิดจากการเล่น เพราะการเล่นเป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างลักษณะนิสัยในเรื่องของความอดทน พยายาม ความกระตือรือร้นใฝ่รู้ และความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นการพัฒนาทั้งสติปัญญา และอารมณ์
ทั้งนี้ หากมองภาพในต่างประเทศ ประเด็นเรื่อง "การเล่นอย่างอิสระ" ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติในสหรัฐฯ ไปแล้ว เมื่อพบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนร้ายก่อเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 1966 และเหตุการณ์ในลักษณะคล้าย ๆ กันในปี 2007 ที่มีการใช้อาวุธปืนยิงตามห้องเรียนและหอพักนักศึกษาของสถาบันโพลีเทคนิคเวอร์จิเนีย เมืองแบล็คเบิร์ก รัฐเวอร์จิเนีย ส่วนหนึ่งนอกจากจะมีปัญหาครอบครัวแตกแยกแล้ว แทบทุกรายไม่เคยผ่านการเล่นอย่างอิสระมาก่อน
ทำให้ ศ.ดร.สจ๊วต บราวน์ จิตแพทย์ที่ถูกส่งให้เข้าไปสอบสวนคดีในตอนนั้น เริ่มเห็นความสำคัญของการเล่นอย่างอิสระมากขึ้น และได้ก่อตั้งสถาบันการเล่นแห่งชาติ (National Institute for Play) ขึ้น อย่างไรก็ดี การเล่นอย่างอิสระ ใช่ว่าจะปล่อยให้ลูกเล่นอะไรตามอำเภอใจก็ได้ แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย โดยเฉพาะความปลอดภัยในการเล่น และที่สำคัญ การเล่นต้องมีความพอดี ไม่น้อย หรือมากจนเกินไป
สอดรับกับ เว็บไซต์เดลิเมล์ของอังกฤษ ที่มีรายงานพบว่า เด็กสมัยนี้ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์มากกว่าโลกของความจริง ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ ขาดทักษะทางร่างกาย การใช้ชีวิตประจำวัน และมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่หลาย ๆ ฝ่ายแสดงความเป็นห่วงมากขึ้น เพราะเด็กอาจจะเติบโตขึ้นมาและขาดทักษะในการดำรงชีวิต อีกทั้งยังทำให้เด็กมีสุขภาพอ่อนแอ เพราะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากพอ และนั่นอาจส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในระยะยาวได้
ดังนั้น พ่อแม่ และผู้ใหญ่ควรตระหนักถึงเรื่องนี้กันให้มาก เริ่มง่าย ๆ จากการแบ่งเวลา และพาเด็ก ๆ ออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย และมีเวลาวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ภายนอกบ้านบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้พวกเขาได้มีทักษะการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
แม้ว่า "วันเด็กแห่งชาติ" จะเป็นวันสำคัญของคนตัวเล็ก แต่คำขวัญก็ยังสะท้อนให้เห็นอะไรในภาพใหญ่ได้ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือความจริงใจของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายกำหนดคำขวัญขึ้นมา แต่กลับไม่ให้ความสำคัญ หรือทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งบางทีการทดลองมอบอำนาจให้กับเด็ก ๆ ในการกำหนดคำขวัญของตัวเองในปีหน้า และกำหนดคำขวัญให้ผู้ใหญ่ด้วย หรือในทัศนะของครูหยุยเรื่องการประกาศเจตนารมณ์เพื่อเด็กในวันเด็ก ก็เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลน่าจะนำไปพิจารณากันดู
*** ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง ย้อนรอย "คำขวัญวันเด็ก" นายกฯคนไหนใส่ใจคุณธรรม
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live