อาณาจักรอุตสาหกรรมไหมไทยที่ยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อว่า “จิม ทอมป์สัน” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับผู้บุกเบิกที่หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย...เหลือไว้เพียงความสำเร็จที่กลายเป็นตำนานเล่าขานกันมากที่สุดของประเทศไทย ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
จิม ทอมป์สัน หายไปไหน? หลายคนคงนึกสงสัย จากเบื้องหลังการพยายามค้นหาตัวเขาแทบพลิกแผ่นดิน เพราะการหายไปนั้นมีเงื่อนงำที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ และไม่มีเหตุปัจจัยใดชี้นำ จึงยังติดค้างคาใจทุกคนจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็ไม่มีใครสืบค้นหาตัวเขาพบเลย แม้แต่คนใกล้ชิดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จิม ทอมป์สัน ถือเป็นชาวอเมริกันที่กลายเป็นตำนานในประเทศไทย เพราะเขาได้ทิ้งมรดกไหมไทย และศิลปะท้องถิ่นที่มีคุณค่ามหาศาล มากกว่าจะประเมินได้ ซึ่งเขาเองอาจจะนึกไม่ถึงว่าวันหนึ่งบริษัทจิม ทอมป์สันจะประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดนี้
ย้อนรอยการหายตัวไปของ “จิม ทอมป์สัน”
เขาเดินออกจากกระท่อมที่พักตามปกติ แล้วไม่กลับมาอีกเลย นับเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานเรื่องจิม ทอมป์สัน
ยาวนานถึง 45 ปีแล้ว ที่จิม ทอมป์สันหายตัวไปอย่างลึกลับ ในช่วงสุดสัปดาห์ของเทศกาลอีสเตอร์ใน ค.ศ.1967 (พ.ศ. 2510) จิม ทอมป์สันหายสาบสูญไประหว่างที่ไปพักผ่อนกับมิตรสหายอยู่ที่แคเมรอนไฮแลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งตากอากาศในประเทศมาเลเซียทางภาคเหนือ มีการจัดทีมค้นหาร่องรอยการหายตัวไปครั้งนี้อย่างจริงจังและยาวนาน แต่ก็ไม่ปรากฏเงื่อนงำที่นำไปสู่การที่เขาหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยเลย
จนกระทั่ง 10 ปี ผ่านไป จึงถูกศาลตัดสินให้เป็นบุคคลสาบสูญ แต่ธุรกิจผ้าไหมยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางการบริหารงานของผู้ถือหุ้นทั้งนักธุรกิจชาวอเมริกัน และคนมีฐานะกลุ่มหนึ่งในเมืองไทย
ปัจจุบันมีผู้รับช่วงต่อกิจการของจิม ทอมป์สันจำนวนมาก และมีพนักงานมากมาย ทุกคนยังคงรำลึกถึงการจากไปของเขาอยู่เสมอ ซึ่งบริษัทฯ เคยจัดทริปย้อนรอย จิม ทอมป์สัน ที่แคเมรอนไฮแลนด์มาเลเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาหายตัวไปนั่นเอง เพื่อให้จิม ทอมป์สันได้รับรู้ว่าสิ่งมีค่าที่ทิ้งไว้ให้นั้น ทุกคนได้สานงานต่อจนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ จนบางครั้งจิม ทอมป์สันอาจจะคิดไม่ถึงด้วยซ้ำไป
จุดเริ่มต้นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
หากย้อนไปครั้งที่จิม ทอมป์สันเริ่มเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยภารกิจรับราชการทหารในกองทัพสหรัฐฯ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับมอบหมายให้ประจำการที่สำนักงานงานด้านยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Services หรือ OSS) ทำงานร่วมกับกองกำลังของฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือ นอกจากนั้นยังได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานในอิตาลี ฝรั่งเศส และเอเชีย
ต่อมาสงครามยุติลง ขณะนั้นจิม ทอมป์สันยังอยู่กรุงเทพฯ เขาใช้ความรู้ทางด้านสถาปนิกที่เรียนมา มีส่วนร่วมในการปรับปรุงโรงแรมโอเรียนเต็ลเดิมอย่างเต็มตัว จึงมีความผูกพันกับประเทศไทยและคนไทยมาก กระทั่งมีความคิดจะลงหลักปักฐานที่นี่เป็นการถาวร
จนวันหนึ่งจิม ทอมป์สันได้รู้จักไหมไทย ด้วยความชื่นชอบการออกแบบและสีสันของผ้าไหม จึงมีความคิดที่จะฟื้นฟูศิลปะด้านนี้ ด้วยความพยายามวิริยะอุตสาหะที่จะให้ผ้าไหมเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ภายในเวลาไม่นานจิม ทอมป์สันก็ได้รับการยอมรับ ด้วยความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมไหมให้กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง และสร้างตลาดไหมไทยให้เป็นที่ต้องการไปทั่วโลก
จิม ทอมป์สันและบริษัทอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยที่เขาก่อตั้งขึ้น ได้ฟื้นศิลปะการทอผ้าไหมที่ซบเซาจนใกล้จะสาบสูญอยู่แล้วให้กลับขึ้นมาเป็นสินค้าระดับดีไซเนอร์ชั้นนำของโลก
ก่อนที่จะหายตัวไป นับถึงเวลานั้นจิม ทอมป์สันอาศัยอยู่เมืองไทยได้นานถึง25 ปีแล้ว ตอนที่จิม ทอมป์สันยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย มีความสุขอยู่กับงานศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องผ้าไหมไทย
กล่าวกันว่าพัฒนาการของอุตสาหกรรมไหมไทยที่จิม ทอมป์สันสร้างให้เกิดขึ้น นับเป็นเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในเอเชียสมัยหลังสงครามโลก ช่วงเวลานั้นเขาเป็นชาวต่างชาติที่ทุกคนรู้จักกันดีที่สุดในกรุงเทพฯ และบางทีอาจจะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
เคยมีบุคคลท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จิม ทอมป์สันประสบผลสำเร็จมากกว่าที่คนโดยมากจะทำได้ตลอดชั่วชีวิต เขาสร้างอุตสาหกรรมหลักขึ้นในประเทศที่ห่างไกลและแทบไม่มีใครรู้จัก ซึ่งใช้ภาษาที่เขาพูดไม่ได้ เขากลายเป็นบุคคลสำคัญในวงการศิลปะที่ก่อนหน้านั้นเขาแทบไม่รู้ว่ามีอยู่ในโลกนี้ และรวบรวมงานฝีมือที่ดึงดูดผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วทุกมุมโลก เขาได้สร้างบ้านที่เป็นผลงานทางศิลปกรรมชิ้นเยี่ยมในตัวเองและเป็นสถานที่ที่ทุกคนรู้จักดีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
จากการที่เขาทำ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดนี้ตัวเขาได้กลายเป็นที่รู้จักดีด้วยเหมือนกัน ในฐานะบุคคลที่เป็นที่มีชื่อเสียงในประเทศที่เขาเลือกพำนักอาศัยเสมือนเป็นบ้านเกิดเมืองนอนจนกระทั่งว่าจดหมายที่จ่าหน้าแต่ เพียง “จิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ” นั้นยังส่งถึงตัวเขาได้ในเมืองใหญ่ที่มีประชากรถึง 3 ล้านครึ่ง”
สำหรับจิม ทอมป์สันแล้ว สิ่งที่บ่งบอกความสำเร็จของอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยนั้น ไม่ได้วัดจากผลกำไรของบริษัทของเขาเองมากไปกว่าการที่มีบริษัทคู่แข่งผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดมากมายทั่วกรุงเทพฯ
ความสวยงามที่วิจิตรตระการตาของผ้าไหมไทย ด้วยฝีมือของคนไทยเอง ขณะที่ไหมไทยซบเซาและเกือบสูญหายไป แต่จิม ทอมป์สันเห็นคุณค่า จึงฟื้นคืนมาได้อีกครั้ง และทิ้งไว้เป็นมรดกที่มีค่ามหาศาลที่เขาอาจจะไม่รู้ตัว ตั้งแต่ที่เขาหายตัวไป มีบริษัทกว่าร้อยแห่งที่แข่งขันกันแย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจไหมไทย ปัจจุบันนี้ ธุรกิจผ้าไหมไทยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ครอบครัวของช่างทอผ้า ประมาณ 20,000 ครอบครัว
การเติบโตของอาณาจักร “จิม ทอมป์สัน”
ปัจจุบันจิม ทอมป์สัน ผลิตผ้าพิมพ์ส่งออกจำหน่ายทั่วโลก ขณะที่ผ้าไหมบุกตลาดในไทยและต่างประเทศจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ไหมไทยก็ขึ้นสู่ความนิยมในวงการแฟชั่น สิ่งที่ตามมาคือจำนวนลูกค้าที่มากขึ้นทุกๆ ปี
จิม ทอมป์สัน ไม่ใช่มีแค่อุตสาหกรรมที่ผลิตผ้าไหมและผ้าพิมพ์เท่านั้น ด้วยความที่เขามีความผูกพันกับคนไทย และศิลปวัฒนธรรมไทยมาก่อน ฉะนั้นคนรุ่นต่อมาจึงพยายามสานงานต่อเพื่อที่จะอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของไทยไว้เป็นมรดกสืบไปเช่นกัน ตามเจตนารมณ์ของเขาที่ตั้งใจจะเก็บรักษาสมบัติล้ำค่าของชาติที่เหลืออยู่ไม่มากนักไว้ไม่ให้สูญหายทำลายไปจนหมดสิ้น
หลังจากการหายสาบสูญไป เขาได้ทิ้งมรดกตกทอดเป็นบ้านเรือนไทย ศิลปกรรม และของสะสมโบราณ ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยจิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นบ้านที่ใครๆ พากัน กล่าวขวัญถึง และเป็นศูนย์กลางวงสังคมคนเด่นคนดังในเมือง
ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเรือนใหญ่เป็นเรือนสมัยต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ราวปี ค.ศ.1800 (พ.ศ.2343) ซึ่งได้มาจากหมู่บ้านช่างทอผ้าไหมบ้านครัว ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองฟากตรงข้าม ส่วนนี้นำมาใช้ทำเป็นห้องนั่งเล่น จนถึงทุกวันนี้แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย สถาปัตยกรรมบ้านทรงไทยก็ยังคงมีลักษณะค่อนข้างเรียบง่าย แฝงเสน่ห์ที่งดงาม และเป็นสถานที่หลักแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมากรุงเทพฯ ชอบแวะมาเยี่ยมชม ซึ่งตั้งอยู่ซอยเกษมสันต์ 2 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน
นอกจากนี้ “จิม ทอมป์สัน” ยังเปิดแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบฟาร์มเชิงเกษตร และส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบ “ถิ่นอีสาน” แท้ๆ เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ปัจจุบันมีคนแวะเวียนเข้ามาปีละ 1.3-1.5 แสนคน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แหล่งเรียนรู้” ที่ให้มากกว่าความเพลิดเพลิน
บรรยากาศภายใน “จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม” เมืองโคราช ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นช่วงปลายปี เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่คนเมืองอยากเข้าไปสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง ไฮไลต์มีหลายจุดสำคัญด้วยกัน ที่โดดเด่นคือ ฟักทองยักษ์ลูกโต ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ตื่นเต้นกับทุ่งทานตะวันที่บานสะพรั่งนับพันดอก ทุ่งดอกคอสมอลหลากสีสวยงาม นาข้าวอินทรีย์เขียวขจี ทั้งยังได้สัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี การแสดงและการละเล่นต่างๆ มากมายของชาวอีสาน รวมถึงได้เรียนรู้วงจรชีวิตหนอนไหมที่ถักทอเส้นใยธรรมชาติ เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผ้าไหมจิม ทอมป์สัน
“ตลาดจิม ทอมป์สัน” มีผัก ผลไม้ และดอกไม้ นานาชนิดให้เลือกซื้อ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของกิน ของใช้ของจิม ทอมป์สัน แต่ดูเหมือนผ้าพันคอจะขายออกยากสักหน่อย เพราะอากาศปีนี้ ถ้าไม่ร้อนมาก ก็คงหนาวช้า เจ้าหน้าที่ของจิม ทอมป์สัน ฟาร์มคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สภาพอากาศเปลี่ยนทำให้ไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการเหมือนเคย ฟักทองลูกยักษ์ก็มีน้อยบางตา ผิดจากปีก่อนไปมาก จึงเหลือเพียงลูกเล็กให้เลือกซื้อกันพอกรุ้มกริ่ม แต่ก็มีรูปลักษณะสวยแปลกตาแตกต่างกันไป
ถึงอย่างไรการขยายตัวของจิม ทอมป์สันฟาร์มก็ดำเนินไปพร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ยอดคนเข้าชมเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน และปีนี้ก็คงไม่ต่างกันมากนัก
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ มักมาจากจุดเริ่มต้นที่เล็กๆ เสมอ เหมือนกับความสำเร็จที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของจิม ทอมป์สัน หากผู้บุกเบิกมองข้ามไป ไหมไทย หรือศิลปะใดก็ตามคงลบเลือนตามกาลเวลา และคงไม่มีใครรู้จัก “จิม ทอมป์สัน” ฝรั่งหัวใจไทยที่ทุกคนขนานนามให้จนถึงทุกวันนี้
แม้ตัวเขาจะหายไป แต่มรดกที่เหลือไว้ยังทรงคุณค่าที่จะคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน...
โดย ASTV ผู้จัดการ Live