อาจไม่ใช่คนเด่นคนดังอะไร แต่เขาคือผู้ชายคนธรรมดาที่มีชื่อไม่เหมือนใครก็เท่านั้น และชื่อที่ว่านี้ก็ไม่ได้ยาว และอ่านยากเหมือนดารา และเด็กวัยรุ่นหลาย ๆ คนด้วย เพราะชื่อของเขามีที่มาจากพ่อผู้เป็นที่รักยิ่ง และผู้ชายที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ "ใหญ่-สอนของพ่อ สถิตในดวงใจ" บุคคลที่จะเราจะพามาทำความรู้จักกันใน M-OPEN สัปดาห์นี้
เมื่อเอ่ยถึงผู้ชายคนนี้ เชื่อว่าหลายคนคงไม่มีใครรู้จักเขา แต่ถ้าคนในแวดวงวิชาชีพข่าว อย่างน้อย ๆ ก็คงต้องรู้จักเขากันบ้าง เพราะเขาเคยเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์มาก่อน ปัจจุบันทำอยู่สายข่าวอาชญากรรมที่หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ชื่อ และนามสกุลที่น้อยคนนักจะใช้ชื่อแบบเขา
กว่าจะมาเป็น "สอนของพ่อ"
"ใหญ่" ในวัย 35 ปี เล่าผ่านทีมข่าว Live ว่า เดิมเขาชื่อ "นิวัฒน์" เกิดในครอบครัวคนจีนแซ่โซว แต่คุณอาแยกออกมาเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "รุจิรเศรษฐกุล" ซึ่งเขาใช้ชื่อ และนามสกุลนี้จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนมาเริ่มรู้สึกว่าชีวิตไม่ดีตอนเริ่มทำงาน บวกกับพี่ชายซึ่งมีความรู้เรื่องชื่อมาทัก เป็นเหตุให้มีความคิดที่จะเปลี่ยนชื่อขึ้นมา
"ชื่อที่พ่อแม่ตั้งมาให้คือ วิวัฒน์ แต่พยาบาลเขียนชื่อผมผิดเป็น นิวัฒน์ ซึ่งเป็นชื่อที่ผมใช้มาตั้งแต่เกิด และใช้จนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี แต่พอเริ่มมาใช้ชีวิตสมัยทำงานเป็นนักข่าวใหม่ ๆ กลับรู้สึกว่า ชีวิตไม่ค่อยมีความสุข มีแต่ปัญหาเข้ามาจนมาถูกทักจากพี่ชายอีกว่า เป็นเพราะชื่อของเรามีตัวอักษรกาลกิณี นั่นก็คือ ฒ เราก็บอกไม่อยากเปลี่ยน แต่เขาก็บอกว่าเปลี่ยนแล้วชีวิตจะดีขึ้น"
หลังจากถูกพี่ชายทัก ประกอบกับชีวิตในตอนนั้นเริ่มแย่มากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจากนิวัฒน์เป็น "ธภัทรสันต์" ตามที่พี่ชายแนะนำ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีความสุข และใช้ชื่อนี้อยู่ได้ประมาณ 1-2 ปีก็รู้สึกว่าชีวิตมีแต่อุปสรรคเพิ่มเข้ามาอีก
"เปลี่ยนมาแรก ๆ ก็ดีอยู่อ่ะนะ แต่พอใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ ปรากฎว่าไม่มีใครจำชื่อเราได้ เพราะมันเรียกยาก แม้แต่หัวหน้าก็ยังเรียกผิด หรือเวลาไปธนาคารก็มักจะเกิดปัญหาตลอดว่า ชื่อเขียนอย่างไร หรือบางหน่วยงานก็เรียกชื่อเราผิด ส่วนตัวมองว่า ชื่อนี้ค่อนข้างทำให้ชีวิตมีแต่อุปสรรค และเกิดการติดขัดไปหมด ใจตอนนั้นก็อยากกลับไปใช้ชื่อเดิม แต่มีความเชื่อว่า ถ้ากลับไปใช้ชื่อเก่า ชีวิตก็จะกลับไปเจอแต่เรื่องเก่า ๆ มันไม่ไปข้างหน้า ก็เลยไม่ใช้ชื่อเดิมดีกว่า"
"สอนของพ่อ" ชื่อนี้มาจาก "พ่อ"
กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนหนึ่งชื่อ กุ้ง-เขมมิกา ณ สงขลา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตั้งชื่อ และเคยตั้งชื่อให้แก่มหาเศรษฐีท่านหนึ่งจนประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยวิธีการตั้งชื่อของเธอคือ ตั้งจากตัวตนผ่านการเขียนหรือวาดรูปใส่กระดาษ ทำให้เขาเริ่มสนใจที่จะลองใช้วิธีตั้งชื่อในแบบของเธอดู
"เธอให้ผมเขียนเรื่องราวในชีวิตใส่แผ่นกระดาษ ให้เขียนเรื่องอะไรก็ได้ เพราะชื่อที่ดี และมีพลังเกื้อหนุนคนคนนั้น ต้องมาจากตัวตน และจิตใต้สำนึกของเรา ผมก็เขียนเรียงความขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของพ่อ เพราะเป็นเรื่องราวที่ผมเขียนแล้วมีความสุข โดยเฉพาะตอนเด็ก ๆ พ่อจะให้ความรัก ความห่วงใยกับผมมาก อย่างช่วง 6 ขวบ ผมประสบอุบัติเหตุค่อนข้างหนักถึง 3 ครั้งในปีเดียวกัน เริ่มจากเกือบจมน้ำตาย ตกตึก 2 ชั้น หัวฟาดพื้น และถูกหม้อก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ ลวกทั้งตัวจนต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ เกือบปี ซึ่งแต่ละเหตุการณ์ก็มีแต่ภาพพ่อปรากฎขึ้นมาทุกครั้ง เป็นภาพที่มีทั้งน้ำตาเพราะเป็นห่วงลูก และภาพการช่วยเหลือดูแลเรา ไม่ว่าจะอุ้ม หรือทำแผลให้"
"นอกจากนั้น พ่อจะสอนอยู่เสมอว่า ให้อดออม ขยัน และช่วยเหลือคนอื่น และที่สำคัญ ให้ทำความดีไว้เยอะ ๆ หลังจากเขียนเสร็จ คุณกุ้งก็เอาไปอ่าน และได้ชื่อออกมาว่า 'สอนของพ่อ' พร้อมกับอธิบายความหมายของชื่อว่า ชื่อนี้จะคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากสิ่งไม่ดี พอเราได้ยินความหมายก็ตอบตกลงว่าจะใช้ชื่อนี้ พร้อมกับได้นามสกุลใหม่ที่ในใจก็อยากเปลี่ยนอยู่แล้วว่า สถิตในดวงใจ ซึ่งเป็นนามสกุลที่เชื่อมโยงกับชื่อพอดิบพอดี" ใหญ่เล่าถึงที่มาของชื่อ และนามสกุลอันมีความหมาย
หลังจากได้ชื่อพร้อมนามสกุลใหม่ว่า "สอนของพ่อ สถิตในดวงใจ" ชีวิตของ "ใหญ่" ก็มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา อาจเป็นเพราะชื่อที่มาจากความรักความผูกพันของพ่อที่มีต่อเขา ทำให้การใช้ชีวิต หรือเวลาจะทำอะไรเขาจะนึกถึงคำพ่อสอนอยู่เสมอ เรียกได้ว่า เป็นชื่อที่จะเตือนสติในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งการทำงาน และการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี
"การกระทำ" สำคัญกว่า "ชื่อ"
ทุกวันนี้ กระแสการเปลี่ยนชื่อ ยังคงเป็นที่นิยมของเด็กยุคใหม่อยู่ไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่บางท่านก็มีการเปลี่ยนชื่อใหม่กันเป็นว่าเล่น ยิ่งเรียกยาก หรือยิ่งยาวยิ่งดี ซึ่งในเรื่องนี้ ใหญ่ มองว่า เรื่องชื่อเป็นแค่เรื่องรอง แต่การกระทำจะเป็นตัวตัดสินว่าชีวิตจะดีเหมือนชื่อหรือไม่
"ผมยังยืนยันครับว่า ชื่อที่พ่อแม่ตั้งมาให้ดีที่สุด เพียงแต่ถ้าถูกทักว่ามีตัวอักษรกาลกิณีก็ค่อยว่ากันอีกที ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่จุดสำคัญมากกว่าไปกว่าชื่อก็คือ การกระทำของตัวเราเองที่จะเป็นเครื่องชี้นำชีวิตมากกว่า เช่น บอกว่า อยากมีชีวิตที่ดี และสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่กลับไม่ขยันทำมาหากิน ถึงจะเปลี่ยนชื่อให้ดีก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีความขยัน มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน แน่นอนว่าสิ่งดี ๆ ก็จะตามมา ส่วนตัวมองว่า เรื่องชื่อเป็นประเด็นรอง แต่สำหรับผมที่เปลี่ยน ผมเปลี่ยนเพราะผมชอบความหมาย ยิ่งเป็นชื่อที่มาจากพ่อด้วยแล้ว ผมยิ่งรู้สึกดีครับ" ใหญ่ให้ทัศนะ
ดูแลบุพการี ความเต็มใจที่ได้ทำ
ทุกวันนี้ นอกจาก "ใหญ่" จะทำงานเป็นนักข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวันแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ในฐานะลูกคือ การได้กลับไปอยู่ และดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าสั่น ถึงแม้จะเหนื่อยจากงาน แต่พ่อแม่คือคนที่สำคัญกว่า
"ผมกับพ่อจะพูดคุยกันตลอด พ่อผมอายุ 77 ปีแล้ว ตอนนี้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งท่านจะมีอาการมือไม้สั่นตลอดเวลา ผมกับพี่ก็ช่วยกันดูแล ตัวผมก็พาท่านไปโรงพยาบาล ส่วนพี่สาวเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชก็ช่วยดูแลท่านอีกแรง ในฐานะลูกคนหนึ่ง ผมอยากเตือนสติถึงลูก ๆ ที่ยังมีพ่อแม่ ขอให้รักพ่อรักแม่กันเยอะ ๆ ตราบใดที่ท่านยังมีลมหายใจ ขอให้ทำไปเถอะครับ พูดคุยกับท่าน ซื้อของให้ท่านกิน ดูแลท่านในทุก ๆ วันก่อนที่ท่านจะไม่อยู่ให้เราได้ตอบแทนพระคุณ" ใหญ่สะกิดใจลูก ๆ ทุกคน
เดินตามรอยพ่อ ความสุขที่ยั่งยืน
เมื่อก่อน การใช้ชีวิตของ "ใหญ่" ก็เหมือนกับฟันเฟืองที่หมุนไปตามวงล้อของระบบทุนนิยม ทำให้ชีวิตมีอยู่แค่ 3 สิ่ง คือ ทำงาน หาเงิน และใช้เงิน แต่พอมาเริ่มศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เริ่มคิดใหม่ มองใหม่ และหันมาให้ชีวิตอย่างพอดี
"อะไรไม่สำคัญเท่ากับการประหยัด อดออม อย่างชีวิตผมช่วงหนึ่งก็เคยมีบัตรเครดิต พอเงินเดือนออกก็ต้องจ่ายไปกับตรงนั้นมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้การละ ถ้ายังอยู่ในวังวนแบบนี้ต่อไป เราจะต้องเป็นหนูถีบจักรในสังคมทุนนิยม ชีวิตก็จะไม่มีความสุขที่ยั่งยืน ผมก็เลยหันมาใช้ชีวิตพอเพียงตามแนวคิดของในหลวง ซึ่งนอกจากพระองค์จะทรงสอนให้พอเพียงแล้ว ยังทรงสอนให้คนเรามีสติ เพราะสติมาปัญญาเกิด เช่น การทำงาน ถ้าเรารู้จักไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ผลของงานก็จะออกมาดี"
ปัจจุบัน "ใหญ่" เริ่มทำการเกษตรเล็ก ๆ ด้วยการปลูกกล้วยแล้วนำมาขายที่บ้านพ่อกับแม่ซึ่งเป็นร้านขาย ก๋วยจั๊บ (ร้านก๋วยจั๊บน้ำข้นแม่มะลิในซ.โชคชัย 4) ส่วนในอนาคตวางแผนไว้ว่าจะทำบ่อเลี้ยงปลา เพราะเริ่มอยากใช้ชีวิตแบบพอเพียงอย่างเต็มรูปแบบ
"ความสุขของผม คือ การขี่จักรยานมาทำงานทุกวัน เราเหนื่อย ลมพัดเรา เราไปด้วยแรงของตัวเราเอง ผิดกับรถยนต์ ซึ่งผมก็มีแต่เริ่มใช้น้อยลง เพราะน้ำมันเราผลิตเองไม่ได้ เราต้องซื้อจากต่างประเทศ ถ้าวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านี้หมดไป เราจะทำอย่างไร ดังนั้นผมมองว่า คนเราต้องฝึกใช้ชีวิตแบบพอเพียง แล้วความสุขจะเกิดตามมาอย่างแน่นอนครับ" ใหญ่ทิ้งท้าย
ข่าวและภาพโดย ทีมข่าว LITE