xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทย ฝัน-คลั่ง-ดัง อยากเป็น ซุป'ตาร์ ออร่าจัด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ๊อร่า...อ๊อร่า...คุณมีออร่ามั้ย? ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่เสียงที่ถ่ายทอดผ่านรายการโทรทัศน์จากช่องน้อยสีในช่วงเย็นวันเสาร์อีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายเป็นเสียงสะท้อนของสังคมในวันนี้... วันที่วัยรุ่นไทยเต็มไปด้วย “นักล่าฝัน” ฝันอยากเป็นดารา-นักร้อง-คนหน้ากล้อง อัดแน่นอยู่เต็มประเทศ
เฝ้าแต่ส่องกระจกค้นหาออร่าในตัวเอง พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถหยัดยืนในฐานะ “คนดัง” กระทั่งกลายเป็นค่านิยมการปั้น “ซูเปอร์สตาร์” สนองความต้องการตลาด ผุดเวทีประกวด-สถาบันปั้นดาวออกมาให้เห็นดาษดื่น จนต้องตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย? เยาวชนของชาติไม่คิดไม่ฝันอยากทำอาชีพอื่นกันแล้วหรือ?



มหา'ลัยซุป'ตาร์!?!
ไม่ได้คิดและตีความไปเองฝ่ายเดียวแน่นอน เพราะมีหลักฐานยืนยันให้เห็นกันชัดๆ อยู่ว่า วัยรุ่นไทยทุกวันนี้หลงค่านิยมการเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” กันจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้นแล้ว ลองขับรถผ่านสถาบันสอนร้อง-เรียนเต้น-เค้นความสามารถด้านการแสดงตามแหล่งต่างๆ ทีไร มองผ่านกระจกใสๆ เข้าไปก็จะเห็นเยาวชนทั้งชายและหญิง ฝึกซ้อมร้อง-เต้น-เล่นละคร กันอยู่ภายในจำนวนมาก
 แถมยังมีแนวโน้มว่าสถาบันปั้นดาวเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง โตจนถึงขนาดว่าสามารถเปิด “มหาวิทยาลัยสำหรับซูเปอร์สตาร์” สอนวิธีปั้นฝันให้คนทั่วไปที่อยากเป็นดาราอย่างเป็นทางการได้แล้ว!!
 

แพม-ลลิตา ตะเวทีกุล หนึ่งในคณะกรรมการผู้คัดเลือกผู้ประกวดในรายการ “Thailand's Most Famous” และเจ้าของรายการเดียวกัน ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อเฟ้นหาคนมี “ออร่า” คนดังในตัวป้อนให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เผยโปรเจ็กต์ใหญ่ยักษ์ของเธอว่ากำลังจะเปิด “วิทยาลัยซูเปอร์สตาร์คอลเลจออฟเอเชีย” ขึ้นมาใหม่ภายในปีหน้า เพื่อรองรับนักศึกษาที่ต้องการจบออกไปประกอบอาชีพคนเบื้องหน้าโดยเฉพาะ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เราอยากผลิตศิลปินและนักแสดงให้กับวงการบันเทิง ด้วยหลักสูตรที่ตรงต่อความต้องการของวงการบันเทิงจริงๆ”
  

“หลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 3 สาขาด้วยกัน คือสาขาดนตรี, การแสดงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ และสาขาธุรกิจบันเทิง อาจารย์ที่มาสอนจะเน้นคนในวงการตัวจริง อย่างพี่ก้อง-ปิยะ, พี่ป๊อด-โมเดิร์นด็อก, อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม มาสอนเทคนิคการแสดง, การร้องเพลง และเทคนิคการเล่นคอนเสิร์ต แบบที่เป็นภาคปฏิบัติจริงๆ มาวางแผนเพลงว่าจะโปรโมตยังไง มีผู้กำกับชื่อดัง ผู้บริหารจากช่อง 3 ช่อง 9 และค่ายเพลงต่างๆ ทำให้เด็กๆ มีคอนเน็กชั่น เวลาไปแคสต์งานแล้วได้ส่วนหนึ่งก็เพราะเรารู้จักเขานี่แหละค่ะ
  
สมัยก่อน ถ้าอยากเป็นศิลปินอาจจะต้องไปประกวดหรือไปเดินตามสยามแล้วมีคนเอาไปปั้น แต่สมัยนี้ไม่ได้แล้ว มันต้องเก่งกว่านั้น ต้องทำเพลงเป็น ต้องมียูทูปแชนแนลเป็นของตัวเอง มีเฟซบุ๊ก มีแฟนคลับ หางานอีเวนต์เองได้ สิ่งเหล่านี้เราจะสอนอยู่ในหลักสูตรของดนตรี จบออกมาทุกคนจะมีผลงานพร้อมออกสู่สาธารณะได้เลย มีพอร์ตงานทุกอย่างครบ เรียกว่ามี “อาร์ติสต์โปรเจ็กต์” เป็นของตัวเอง แค่ปล่อยลงยูทูปก็เป็นศิลปินได้ทันที” เจ้าของสถาบันซูเปอร์สตาร์อะคาเดมี่ ทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงมั่นใจ



“เหยื่อ” ของความดัง
หากโปรเจ็กต์ในฝันที่ แพม-ลลิตา นักธุรกิจบันเทิงนำเสนอเอาไว้ ทำหน้าที่ผลิต “ศิลปินคุณภาพ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องน่ายินดีในสังคมไทย ถือเป็นก้าวใหม่ๆ ที่น่าสนใจสำหรับวงการบันเทิงบ้านเรา
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าถึงแม้จะมีพื้นที่ผลิตเพียบ-ศิลปินพร้อมขนาดไหน แต่หากขาด “พื้นที่รองรับ” ให้พวกเขาได้ปล่อยของดีออกสู่สาธารณชน ต่อให้ขยันปั้นดาวดวงแล้วดวงเล่าออกมาจากเวทีประกวดหรือสถาบันที่ดีเลิศแค่ไหน สุดท้าย ดวงดาวเหล่านั้นก็ต้องร่วงหล่นจากฟ้าอยู่ดี เป็นเพราะมี “ดาวล้นฟ้า” อยู่มากเกินไป อย่างที่ “ปาล์ม-ธีวรา ภาวะพรหม” 1 ใน 8 คนสุดท้ายจากเวทีเดอะสตาร์ซีซั่น 2 เคยตกเป็นเหยื่อความฝันลมๆ แล้งๆ แบบนี้มาแล้ว
 

“ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นนักร้องแล้วค่ะ เปลี่ยนมาทำเบื้องหลัง เป็นครีเอทีฟรายการทีวีแทน พอมานั่งมองดูตอนนี้ก็คิดว่า การประกวดต่างๆ ที่มีอยู่บางทีก็เหมือนมองเรื่องกำไรและเม็ดเงินกันมากกว่าเรื่องความรับผิดชอบต่อศิลปินด้วยซ้ำ ถามว่าคุณปั้นเขามาแล้ว คุณได้มองอนาคตไว้แค่ไหนว่าจะเอาเขาไปอยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะรายการเล็กหรือใหญ่ แต่ในเมื่อประกาศรับสมัครไปแล้ว นั่นหมายความว่าคุณควรจะรับผิดชอบให้ถึงที่สุด
ก็อยากจะฝากไปถึงผู้ผลิตและผู้จัดค่ะว่า ไม่อยากให้คิดแค่ว่าจบซีซั่นนี้ คุณได้กำไรจากการทำรายการแล้วก็พอ เสร็จก็ปล่อยเด็กทิ้งขว้างไป มันไม่ใช่ ไม่อย่างนั้นจะทำรายการแบบนี้ขึ้นมาทำไม ในเมื่อตอนที่จะรับสมัครก็ประกาศปาวๆ ว่าต้องการเฟ้นหาคนที่มีความสามารถอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอได้แล้วก็ทิ้งเขาอยู่ดี
  

แต่อย่างปาล์ม เทียบกับคนอื่นๆ และรายการอื่นๆ ยังถือว่าเราโชคดีมากนะคะในตอนนั้น ผู้ใหญ่ค่อนข้างให้โอกาสเยอะค่ะ ให้แสดงละครด้วยตั้ง 2 เรื่อง ก็พอใจแล้วค่ะสำหรับเด็กที่ไม่ได้สวย ไม่น่าจะเป็นคนหน้ากล้องได้ ที่สำคัญ ประสบการณ์ครั้งนั้นก็นำทางให้เราได้ค้นพบตัวเอง ได้มาทำเบื้องหลังทีวีอยู่ตอนนี้ แต่ให้นึกย้อนกลับไปก็ยังแอบน้อยใจอยู่นิดหนึ่งที่เขาไม่ได้จัดที่ทางให้เราไปร้องเพลงอย่างที่เราอยากทำจริงๆ
  

อย่างไรก็ตาม คนที่โชคเข้าข้าง โด่งดังจากโครงการล่าฝันเข้าวงการก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างเหมือนกัน ยกตัวอย่าง “อ๊อฟ-ศุภณัฐ เฉลิมชัยเจริญกิจ” หรือ “อ๊อฟ AF2” ขวัญใจชาวลูกทุ่ง ที่ยังคงเชื่อมั่นในค่านิยมการปั้นดาวว่าเป็นโอกาสดีๆ สำหรับเขาและคนมีฝันอีกหลายๆ คนเลยทีเดียว
 

“การมีพื้นที่เปิดโอกาสให้เป็นสิ่งที่ดีนะครับ มันทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน ถ้าเราขยันประกวด ขยันฝึกซ้อม พอได้ขึ้นมา มันก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แต่ก็จะมีหลายคนที่อยากเข้ามาเพราะอยากยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น เป็นดาราแล้วเท่ด้วย ซึ่งเราก็เห็นด้วยนะ คิดว่าถ้าใครอยากเข้ามาก็เข้ามาสิ ถ้าคุณทำได้
อย่างชีวิตผมเองก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันครับ ถ้าไม่ได้มาอยู่ตรงนี้ เราคงคิดแค่ว่าเรียนให้จบ ออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่พอทำตรงนี้ปุ๊บ อย่างน้อยเราก็แบ่งเบาพ่อแม่ ได้บ้าน ได้รถจริงๆ แต่ผมไม่ใช่ปุบปับได้เลยนะ ค่อยๆ เก็บเงินไปเรื่อย บ้านนี่ 7 ปีกว่าจะได้ อย่างช่วงน้ำท่วมที่บ้านก็เจอหนักมากจนแทบจะปิดกิจการกันไป โชคดีที่เราได้ทำตรงนี้ พอจะปั๊มเงินมาช่วยพ่อได้บ้าง ก็ต้องยอมรับครับว่าวงการบันเทิงหาเงินได้ง่าย ช่วยให้สามารถเอาเงินไปช่วยครอบครัวได้จริงๆ”
 

ด้วยกรอบความคิดที่ว่า “เป็นศิลปิน-ดาราแล้วรวย โก้ เท่” แบบนี้นี่เอง จึงผลักให้วัยรุ่นไทยจำนวนไม่น้อยก้าวเข้าสู่วงการกันมากขึ้นจนเห็นได้ชัด แต่สำหรับอ๊อฟแล้ว “ความฝันของคุณแม่” คืออีกหนึ่งเหตุผลข้อสำคัญที่บันดาลใจให้เขาเริ่มตัดสินใจล่าฝันเวทีแล้วเวทีเล่า “คุณแม่เขาจะพูดใหัฟังบ่อยๆ ว่าเป็นความฝันของเขาครับ
อย่างตอนผมใกล้จะจบ ม.6 มีครั้งหนึ่งเอาอัลบั้มรูปเก่าๆ มาเปิดให้ดูแล้วก็เล่าว่าแม่เคยอยากเป็นดารานะ แต่มันเลยวัยมาแล้ว มันพลาดรถไฟขบวนนั้นมาแล้ว (หัวเราะ) เขาเลยจับเราเรียนอิเล็กโทรนมาตั้งแต่ตอน ป.4 ให้นิ้วไป สมองไป ให้ใจมา พอโตขึ้น ทำกิจกรรมมากขึ้นก็เลยอยากสานฝันของคุณแม่ ลองประกวดมาเรื่อยๆ จนมาได้ AF นี่แหละครับ ทุกวันนี้ผมก็พยายามทำให้ดีที่สุด ไม่เคยใช้ชีวิตหวือหวา ไม่เคยอยากให้ใครมาเรียกว่าซูเปอร์สตาร์เลย แค่มองเราว่าเป็น “ศิลปินลูกทุ่ง” จริงๆ แค่นี้ก็พอใจแล้วครับ



ทางรอดจากวงการอันเน่าเฟะ
หากรู้จักมอง “ความดัง” อย่างเข้าใจและไม่หลงไปกับแสงสีอย่าง อ๊อฟ-ศุภณัฐ ได้ก็ดีไป แต่ดูเหมือนว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น จากคำบอกเล่าของ “ป๊อก-ทวิษย์ชญะ ตั้งสหะรังษี” เจ้าของค่ายเพลง Classy Records ซึ่งพบเจอ “คนอยากดัง” มานับครั้งไม่ถ้วน ถึงกับออกปากเลยว่า ทุกวันนี้สังคมเรา “บิดเบี้ยว” และ “ฟอนเฟะ” จนน่าถนาถ นอกจากตัวเด็กเองจะยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เป็นซูเปอร์สตาร์แล้ว ผู้ปกครองของพวกเขายังพร้อมสนับสนุนอย่างไร้สติเสียด้วย
 

“ตั้งแต่ทำค่ายเพลงมา ผมเจอตลอดเลยพ่อแม่ที่ยอมยัดเงินให้เราเพราะอยากให้ลูกได้ทำอัลบั้ม มีเยอะมากจริงๆ บอกผมว่าจะเอาเงินเท่าไหร่ เดี๋ยวช่วยๆ ผมบอก เฮ้ย! ไม่ใช่นะ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เงินเราก็อยากได้นะ แต่วิธีการแบบนี้เราปฏิเสธ มันไม่อยู่ในรูปในรอย
ทุกวันนี้พ่อแม่ที่อยากให้ลูกเข้าวงการต่างจากเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนลูกของตาสีตาสาหลงเข้ามา มีแมวมองมาเห็นแวว กลายเป็นยุคคุณสรพงษ์ แต่ทุกวันนี้พ่อแม่ขับเบ๊นซ์ซีรีส์ 5 มารอรับลูก ดูลูกประกวด พ่อแม่กดโหวตเอง หมดเงินเป็นล้านๆ เพื่อให้ลูกดัง พาลูกมาฝากค่ายบอกมีเงินขนาดนี้ เอาไหม? โลกมันเปลี่ยนไปหมด คิดดูสิว่าขนาดคนที่รวยอยู่แล้วยังอยากให้ลูกดังเลย
 

หลายคนคิดในเชิงตรรกะว่า ลงทุนไป 20 ล้าน ทำศัลยกรรม เสียเงินฝากลูกกับผู้จัดฯ ฝีมือดีๆ ส่งเข้าประกวด โหวตให้ลูกได้ดัง พอดังเดี๋ยวแป๊บเดียวก็คืนทุน ถ้ามารู้เบื้องหลังทุกวันนี้จะเห็นเลยว่ามันมีคนคิดแบบนี้อยู่จริงๆ ทุกอย่างเป็นวงจรการค้าไปหมด มีตั้งหลายคนในวงการที่เติบโตมาจากวงจรนี้ มีบางคนอยากดังจนถึงขนาดคิดว่า ฉันจะไม่ทำอะไรแล้ว ขอแค่ได้เข้าไปในยืนอยู่ในเวที The Star, AF, The Voice ก็พอ ไม่ต้องได้ที่หนึ่ง ไม่ต้องเข้ารอบลึกๆ ก็ได้ แค่ได้ออกทีวี ให้คนจำได้ว่าเป็น “นายเอ The Voice” “นายเอ The Star” ให้ชื่อเวทีกลายเป็นแบรนด์พ่วงท้ายชื่อตัวเองไป แค่นี้ก็ขายได้ หากินกับความดังไปได้อีกนาน
 

บางคนหนักกว่านั้น อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พอได้โอกาสเข้าวงการยอมดร็อปเรียน แถมพ่อแม่ก็ยอมให้ดร็อปด้วย พอผู้จัดฯ แนะให้ไปทำศัลยกรรมก็ไป ดร็อปเรียนและไปทำศัลยกรรมทั้งที่ยังเรียนไม่จบ คุณคิดดูว่าแรงจูงใจของวงการบันเทิงมันมีมากขนาดไหน ถึงขนาดที่ไม่มีใครห้ามปรามกันแล้ว ทุกอย่างคือธุรกิจอันฉาบฉวยที่ได้เงินมากมายมหาศาล ผู้จัดฯ บางคนส่งเด็กไปทำศัลยกรรมที่เกาหลีเป็นแพคเกจ แถมได้เงินส่วนแบ่งจากคลินิกเหล่านั้นอีก แล้วคนที่หลงเข้ามาจะทานไหวไหมแบบนี้ ใครจะเข้ามาต้องใจแข็งมากๆ ต้องคอยบอกคอยสอนลูกหลานของตัวเองให้ดี เพราะคงไม่มีใครมาช่วยคุณได้แล้วล่ะ”
 

ในฐานะเจ้าของค่ายเพลงผู้คัดเลือกศิลปินเอง เท่าที่ผ่านมา ป๊อก-ทวิษย์ชญะ ก็พยายามชี้ทางให้คนมีฝันที่กำลังหลงทางได้ตาสว่างให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะคิดเสมอว่า “ผู้ใหญ่ในสังคมต้องคอยชี้แนะครับ เรามีหน้าที่เป็นกระจกให้เขา ไม่ใช่มองแค่ว่าคนนี้สวย ไอ้นี่บ้านรวยมีกำลังสนับสนุนผลงานแน่นอน ขายได้-ไม่ได้ พ่อแม่มันคงไม่ว่า เอาวะ จับมาเซ็นสัญญาไว้ก่อน แล้วถ้าเกิดพ่อแม่เด็กคนนั้นงงๆ คิดแต่อยากให้ลูกดังอย่างเดียวก็เข้าทาง
เพราะงั้น จะตัดสินใจอะไรก็ต้องค่อยๆ คิด ชั่งน้ำหนักดูให้ดีก่อน บางคนยอมทิ้งเงินเดือน 5-6 หมื่นเพราะมีคนมาชวนทำอัลบั้ม นั่งรออยู่เป็นปี 2 ปี สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ ผมเห็นมาเยอะแล้วก็เสียดายครับ ตอนตัดสินใจทุกคนบอกว่าจะไม่เสียใจหมด แต่พอเดินพลาด ก็เห็นมานั่งร้องไห้กันทุกคน
 

โดยเฉพาะรายที่มีความสามารถเฉพาะทางอยู่แล้ว ยิ่งไม่คุ้มที่จะเสี่ยงให้ต้องชอกช้ำไปกับวงการนี้ “มีน้องคนหนึ่งเป็นกราฟิกดีไซน์ที่โคตรเก่งเลย ร้องเพลงก็ธรรมดาๆ แต่หน้าตาขายได้ ผมก็บอกให้เขาร้องเพลงเป็นงานอดิเรกดีกว่า เขาก็ขอบคุณเรานะที่แนะให้เขารู้ตัว บางคนเรียนจบหมอมา มีความมุ่งมั่นอยากจะเป็นสัตวแพทย์ตั้งแต่ตอนเด็กๆ แต่สุดท้าย พอจบปุ๊บก็ไปเป็นนักร้อง ไปเป็นดารา ถ่ายแบบ 2-3 เล่ม ติดลมบน เลิกเป็นหมอดีกว่า ถามหน่อยว่าแล้วมันเรียนมาทำไมวะ
คือผมไม่เคยดูถูกความฝันใครนะ แต่ถ้ามันคือความฝันของเขาจริงๆ เขาจะรู้ว่าความฝันของเขามันไม่ได้หายไปไหนหรอก ยังเลือกทำเป็นงานอดิเรกได้ แต่ถ้าบอกว่าเบื่องานที่ทำอยู่จริงๆ อยากเสี่ยง อยากเปลี่ยน นั่นก็อีกเรื่องนึง แต่ก็ต้องค่อยๆ คิด ไม่ใช่ตะบี้ตะบันลุยดะแล้วมาเสียใจทีหลัง ต้องมีสติ ค้นหาตัวเองให้เจอ มองคนอื่นให้เคลียร์ แล้วเราก็จะรอด ไม่ตกเป็นเหยื่อของวงการนี้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




เวทีค้นออร่า สานฝันการเป็นดาราป้อนช่อง 3

คว้าฝันกันเต็มกำลัง
มากมายผู้มีความสามารถ




แพม-ลลิตา หนึ่งในผู้ตัดสินว่าจะ รุ่งหรือร่วง
วัยรุ่นมากมายอยากเข้าวงการ

ผุดเวทีประกวดนับไม่ถ้วน

ล่อใจให้เข้าวงการ ด้วยตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ

ปาล์ม The Star2 ผิดหวังจากเบื้องหน้า แล้วมีความสุขกับเบื้องหลังแทน
อ๊อฟ AF2 หนึ่งในไม่กี่คนที่ล่าฝันได้สำเร็จ
กระเทาะเปลือกวงการไปกับเจ้าของค่าย Classy Records
กำลังโหลดความคิดเห็น