xs
xsm
sm
md
lg

เราจะเป็น 'ยักษ์' ใน 'แอนิเมชั่นโลก' ได้หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่กี่ปีมานี้มีภาพยนตร์แอนิเมชั่นฝีมือคนไทยออกมาชิมลางให้ได้ชมกัน ถึงไม่มากนักก็พอเข้าใจเพราะเนื้องานต้องอาศัยระยะเวลาและความพิถีพิถันไม่น้อย จากช้าง 'ก้านกล้วย' ที่ดูจะเป็นปฐมบทของแอนิเมชั่นไทย มาจนถึงกระเหรี่ยงสาวตัวน้อย 'เอคโค่ จิ๋วก้องโลก' ล่าสุดก็ถึงคราวก๊วนหุ่นยนต์ 'ยักษ์' ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยฟอร์มใหญ่ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ พร้อมเสียงคุยโว่ว่าเรื่องนี้ไปได้ไกลแน่ๆ

เชื่อว่าหลายท่านถึงกับคาดหวังกับแอนิเมชั่นเรื่องยักษ์กันพอตัว เพราะว่าเป็นผลงานกำกับของ ประภาส ชลศรานนท์ ครีเอทีฟนักคิดนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เวิร์คพอยท์ฯ แน่นอนผลงานของเขาที่ปรากฏให้ได้เห็นอย่างต่อเนื่อง สร้างกลุ่มแฟนตามติดผลงานในแบบประภาสเหนียวแน่น

แต่ต้องยอมรับตลาดแอนิเมชั่นในบ้านเรายังถูกจำกัดว่ากลุ่มผู้ชมจะต้องเป็นเด็ก ทั้งที่จริงแล้วภาพยนตร์ลักษณะนี้บอกได้เลยว่าเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี

สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชั่นสัญชาติไทย หากจะวัดว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร คงต้องกลับมาดูกันที่รายได้รวมในประเทศ เริ่มต้นที่ ก้านกล้วย 1 รายได้ประมาณ 98 ล้านบาท, ก้านกล้วย 2 รายได้ประมาณ 79 ล้านบาท, เอคโค่ จิ๋วก้องโลก รายได้ประมาณ 17 ล้านบาท และแอนิเมชั่นเรื่องล่าสุด ยักษ์ คงต้องติดตามกันต่อไป

วิจารณ์ลบ-ปรับแก้-พัฒนา
หลังแอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดจากฝีมือคนไทยลงจอให้ได้ชมกันไม่นาน ก็มีเสียงติชมแชร์ในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างไม่ขาดสาย ผ่านทางเว็บบอร์ดยอดนิยมหลายๆ เว็บ

“แอนิเมชั่นชุดนี้ ผมดู Trailer แล้ว บอกตรงๆ ว่าไม่ประทับใจ มันเหมือนเอาพล็อตหนังการ์ตูนฝรั่ง ญี่ปุ่น ยำกันเละ วิธีสร้างตัวละครก็ดูเหมือนจะไปซ้ำของฝรั่งเต็มๆ เนื้อเรื่องทั้งหมดผมยังไม่ดู จะยอมเสียเงินเข้าไปดูงานคุณนะครับ” ข้อความจาก มานะ

“หนังอนิเมชั่นไทยยังห่างไกลจากของต่างประเทศอีกเยอะ การสร้างหนังแนวนี้ส่วนสำคัญเรื่องหนึ่งคือรูปร่างหน้าตาของตัวละคร หากเน้นเป็นภาพการ์ตูนก็ควรใส่รายละเอียดที่ดูอ่อนช้อยลงไปด้วย ดูหนังแอนิเมชั่นของไทยกับของฝรั่งแล้วต่างกันมากเหลือเกิน เห็นชอบชมกันนักว่าคนไทยเก่ง ๆ ก็มีเยอะแล้วทำไมไม่รวบรวมเอาคนเก่งพวกนี้มารวมตัวกันทำงานบ้าง ขอบอกว่าหากยังมีฝีมือไม่ถึงก็ต้องพัฒนากันไปก่อน และควรฝึกฝนการทำให้ถูกต้องตามเทคนิคของต้นแบบ” ข้อความจาก คนดูหนัง

“ยักษ์ มีช่องโหว่อยู่เยอะพอสมควรเลยคือ การที่พยายามนำเสนอเรื่องของมิตรภาพมากเกินไปหน่อย และก็เวลาโดยส่วนใหญ่ของเรื่องก็ได้หมดไปกับการขายเรื่องของมิตรภาพ เหมือนกับว่าพยายามยัดเยียดให้คนดูมากกว่า ทำให้ความสนุกของหนังลดลงมาอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น” ข้อความจาก รักหลอกจึงบอกให้

ขณะเดียวกัน แฟนเพจ Prapas Cholsaranon เพจของผู้กำกับแอนิเมชั่นไทยเรื่องล่าสุด ยักษ์ ก็มีการโพสข้อความฝากเป็นข้อคิดว่า

“คนทำงานแอนิเมชั่นมีไม่เยอะเลยในบ้านเรา ทุนสร้างกับรายได้ในประเทศก็ยังไม่น่าสนใจนักในสายตาบริษัทสร้างหนัง แต่ถ้าเราไม่จับไม้จับมือกัน อนาคตข้างหน้าทางก็จะแคบไปเรื่อยๆ

“การสร้างแบรนด์ให้คนต่างชาติรู้สึกว่าแอนิเมชั่นไทยได้มาตรฐาน หนังไทยได้มาตรฐานเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะมากระแนะกระแหนกันเอง เหมือนกับที่คนทั่วไปรู้สึกว่าเออหนังเกาหลีน่าดู การ์ตูนญี่ปุ่นน่ารักดูสนุก หนังยุโรปสวยน่าดู เราก็ไม่ถามหรอกว่าเป็นของค่ายอะไร เพราะมันเป็นแบรนด์ของประเทศ”

ยังต้องวิ่งไล่ความฝันกันอีกไกล
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้คว่ำหวอดในแวดวงหนามเตยมากว่า 20 ปี ประวิทย์ แต่งอักษร ได้แสดงทัศนะต่อสถานการณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่น อย่างแรกคงต้องยอมรับจริงๆ แล้ว แอนิเมชั่นไทยนั้นยังเดินทางไม่พ้นก้าวแรกเลย

“วงการแอนิเมชั่นยังค่อนข้างกะท่อนกะแท่น มันไม่ได้เป็นวิวัฒนาการด้วยซ้ำเพราะว่ามันไม่มีทุกปีหรือถ้ามีมันก็กระปิดกระปอยมากมันไม่มีการสานต่อ มันยังเร็วเกินไปหรือมีหนังน้อยเกินไปที่เห็นว่าแอนิเมชั่นของเราจะมุ่งไปทางไหน มีความรู้สึกว่าแบบฉบับของแอนิเมชั่นไทยมันยังไม่เกิด หรือตัวตนหรืออัตลักษณ์ที่ชัดเจน”

จากแอนิเมชั่นไทยเรื่อง ก้านกล้วย เอคโค่ฯ มาจนถึงเรื่องยักษ์ ในส่วนของเนื้อหามันโอเคในระดับหนึ่ง มันสะท้อนความเป็นไทย ตำนาน ประวัติศาสตร์

อย่างเรื่อง ก้านกล้วย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมาก มีการวางมุมมองการเล่าที่น่าสนใจ หยิบยกเรื่องกึ่งจริงกึ่งตำนานเอามาผูกเรื่อง ถัดมาสำหรับเรื่อง เอคโค่ฯ ดูแล้วยังรู้สึกว่าเป็นการสั่งสอนมากเกินไป ข้อสำคัญวุฒิภาวะของหนังเรื่องนี้ต้องการสื่อสารกับเด็กเป็นหลัก ทำให้คนดูที่เป็นผู้ใหญ่เขาจะรู้สึกว่ามันเด็กเกินไป

ส่วนเรื่อง ยักษ์ ถ้าในเชิงเนื้อเรื่องวางมุมมองการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ การพลิกแพลงวรรณกรรมที่คนไทยคุ้นเคยเอามาเล่าในวิธีการที่คนดูอาจจะนึกไม่ถึง แทนที่จะเอาความขัดแย้งระหว่าง ทศกัณฐ์ กับพระราม ที่เป็นคู่ขัดแย้งตลอดการเสมอมา แต่เอา หนุมาน มาพลิกเป็นเรื่องของมิตรภาพ

ประวิทย์ กล่าวถึงปัญหาของแอนิเมชั่นไทย คือกลวิธีนำเสนอยังไม่รู้ว่ามันจะมุ่งหน้าไปทางไหน อย่างลายเส้นบางเรื่องยังมีความรู้สึกคล้ายของดิสนีย์ เชิงกลวิธีคล้ายคลึงกับต่างชาติไปเสียหมด

“ในเชิงของงานสร้าง โปรดักชั่น น่าจะมีก้านกล้วยเรื่องเดียวที่รู้สึกว่าเนี๊ยบ เรื่องอื่นยังรู้สึกเสมอว่ารายละเอียดภาพมันยังไม่ละเอียดพอ การดูการ์ตูนในทีวีกับการ์ตูนที่เราดูบนจอไม่ให้ความรู้สึกต่าง คือในเรื่องความเนี๊ยบ ความคมชัด เอคโค่ หรือยักษ์ บางฉากบางตอนมันยังไม่ให้รายละเอียดมากพอ บางทีมันคล้ายเราดูที่ทีวี”

แล้วในส่วนของภาพของโปรดักชั่นแอนิเมชั่นไทยไปไกลถึงฮอลลิวูดได้หรือไม่ นักวิจารณ์หนังคนดัง กล่าว

“เรามุ่งไปทางนั้น แต่ว่ามีระยะห่างอยู่พอสมควร จริงๆ ผมว่าต้องเลิกคิดการไปสู่สากลก่อนนะ ก้าวแรกเราก้าวอยู่แล้ว แต่เราทำแอนิเมชั่นโดยที่ไม่ต้องคิดไปแข่งกับคนทั้งโลกก่อนดีกว่า ทำแอนิเมชั่นให้มีกลุ่มคนดูที่จงรักภักดีก่อนดีกว่า แล้วค่อยไปคิดถึงการก้าวไปนอกประเทศ คือทำตัวเองให้ชัดเจนก่อน ค่อยๆ ไป เอาเข้าจริงๆ โลกนี้เป็นโลกโลกาภิวัตน์ ความรู้เทคนิคมันสามารถถ่ายทอดได้ตลอดเวลา ฉะนั้นมันเป็นเรื่องของวิธีการที่เราใช้เอาไปดึงดูดคนดูมากกว่า แอนิเมชั่นที่ดีมันจะดึงคนดูโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่”
 
…......................
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น