xs
xsm
sm
md
lg

หนูเป็นสาวแล้วนะจ๊ะ “โฟกัส จีระกุล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'น้อยหน่า' คือภาพติดตาในความทรงจำของใครหลายๆ คน ภาพของเด็กหญิงผมหน้าม้า ผูกเปียสองข้าง กระโดดหนังยาง เป็นภาพของวันวานวัยเด็กที่ฉายมานานเกือบสิบปีแล้วในภาพยนตร์ที่ชื่อว่า แฟนฉัน

จนมาถึงทุกวันนี้หลายคนยังจำภาพนั้นได้ ชื่อของโฟกัส จีระกุล เหมือนจะมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า 'น้อยหน่า' และมีอีกนามสกุลอย่างไม่เป็นทางการว่า 'แฟนฉัน' จนหลายปีที่ผ่านมา คำว่า 'โตเป็นสาวแล้ว' ยังคงถูกปิดพาดอยู่บนภาพถ่ายของเธอราวกับว่าผู้คนถูกแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาที่เธอยังเป็นเด็ก และทุกครั้งที่เธอโตขึ้น ทุกคนจะรู้สึกตกใจกับความเปลี่ยนแปลงของเธอ

กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีรูปหนึ่งของเธอในอินสตาแกรม หญิงสาวผมยาวสลวย พริ้มตาพราวเสน่ห์ เป็นภาพของหญิงสาวเต็มวัยใสที่ชวนให้ทีม m -lite อยากจะนัดสัมภาษณ์พูดคุยกับเธอ

“จริงๆ เขาก็บอกว่าหนูโตเป็นสาวมาตั้งแต่อายุ 13 แล้วนะ มักจะมีภาพมาลงแล้วพาดหัวแบบนั้น เหมือนคนติดภาพหนูตอนเด็กมาก ทั้งที่จริงๆหนูก็โตมาตั้งนานแล้วแหละ” เธอเอ่ยขึ้นระหว่างบทสนทนาพูดคุย

วันนี้เรานัดพบเธอที่ร้านกาแฟ โฟกัสคอฟฟี่ เป็นร้านของแม่เธอที่เพิ่งเปิดได้ 5 เดือน ราคาไม่แพง บรรยากาศเป็นกันเอง ตกแต่งสบายๆ ในโทนสีเขียวสบายตา ร้านกาแฟวางตัวอย่างคุ้นเคยในซอยจรัญสนิทวงศ์ 28 / 6 แถวแยกไฟฉาย ติดกับโรงพยาบาลศรีวิชัย โรงพยาบาลที่มีวัยเด็กของเธอซ่อนอยู่

วัยเด็ก...แฟนฉัน

หากลองจินตนาการภาพวัยเด็กของโฟกัส จีระกุล หลายคนอาจจะติดกับภาพของน้อยหน่าที่กระโดดหนังยางอยู่ในหมู่บ้าน เล่นพ่อแม่ลูก เล่นทำกับข้าว และติดละครหลังข่าวชนิดเสียน้ำตาให้กับฉากสะเทือนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว...มันก็ไม่ถึงกับตรงข้ามเสียทั้งหมด เธอเติบโตมาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

“ตอนเด็กๆ หนูก็โตมาที่นี่ มานอนที่นี่บ้าง มาช่วยงานคุณแม่ เพราะแม่หนูทำงานที่นี่” เธอชี้ไปที่ฝั่งตรงข้ามร้านกาแฟที่เรานั่งคุยกัน โรงพยาบาลตั้งตัวเงียบขรึมอยู่ใกล้ๆ “เพราะโตมาในโรงพยาบาลหนูเลยไม่กลัวอะไรที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล พวกเลือด เข็มฉีดยาจะไม่กลัวเลย”

เธอใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในโรงพยาบาล ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการช่วยงานง่ายๆ ตักแบ่งวิตามินซีไว้สำหรับแจก อยู่กับพี่ๆ ที่ทำงานที่นั่น อยู่ทั้งในห้องแคชเชียร์ ห้องจ่ายยา แม้แต่ห้องผ่าตัด บางวันก็เล่นกับลูกของคนที่ทำงานที่นั่นบ้าง เธอเป็นลูกคนเดียวที่มักจะใช้ชีวิตตัวคนเดียวอยู่บ่อยๆ

“ที่จำได้ขึ้นใจ มีอยู่ครั้งหนึ่งขึ้นลิฟต์แล้วอยู่ๆ ก็มีคนเข็นศพเข้ามา แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกช็อก ร่างคนที่มีผ้าปิดหน้าบนรถเข็น และลิฟต์ที่โรงพยาบาลนี้มันแคบมาก เราอยู่ใกล้ศพมาก เราก็สงสัยว่าอะไร มาคิดดู เออ... นั่นคงจะเป็นศพนั่นแหละ แต่ตอนนั้นไม่ได้กลัวแค่รู้สึกอยากรู้อยากเห็นมากกว่า”

บรรยากาศของโรงพยาบาล แอร์เย็นชืด กลิ่นยาโชยฉุน คนทั่วไปคงไม่อยากมาที่นี่ เพราะโรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หากมาที่โรงพยาบาลคงเพราะป่วยไข้ ยิ่งกับคนขวัญอ่อน โรงพยาบาลชวนให้นึกฉากหลังของหนังสยองขวัญบางเรื่อง และคนเราจบชีวิตที่โรงพยาบาลกันเป็นเรื่องปกติ

“อาจจะเพราะโตมาที่นี่ก็ได้ พักหลังรู้สึกอยากนอนที่โรงพยาบาลนะ ชอบกลิ่นยา ชอบบรรยากาศ โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่น่ากลัว มันเป็นสถานที่หนึ่งที่เราโตมาเฉยๆ ไม่ได้มีเหตุการณ์น่ากลัวอะไรเกิดขึ้น เราแค่โตมาที่นี่เท่านั้น”

และวัยเด็กที่บ้านซึ่งเธออาศัยกับอยู่พ่อ แม่ และน้า ละครทีวีถูกเปิดและติดตามชมอย่างไม่ขาดตอนโดยน้าของเธอ ทำให้ตอนเด็กๆ เธอฝันอยากเป็นดาราโดยมีติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดีจากละครเรื่องโซดากับชาเย็นเป็นแบบอย่าง

“ตอนเด็กๆ ดูทีวีเยอะ อยากเป็นดาราตั้งแต่เด็กแล้ว ได้ทำงานตั้งแต่ตอน 5 ขวบ เข้ามาถ่ายพวกโบรชัวบ้าง โฆษณาบ้าง ตอนเข้ามาแรกๆ ยังไม่มีคนรู้จักเลยค่ะ จนไปแคสหนังเรื่องแฟนฉัน ตอนประมาณ 9 ขวบได้”

หลังจาก 'แฟนฉัน' นั่นเองที่เธอหายไปจากโรงพยาบาล กระแสของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เธอได้ทำงานหลายอย่าง มากมายชนิดเกินเด็ก งานละคร, โฆษณาและพิธีกรจับจองตารางเวลาวัยเด็กของเธอแทบทั้งหมด แม่ต้องลาออกจากที่ทำงานมาดูแลรับ - ส่ง เป็นช่วงชีวิตที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เธอต้องรับผิดชอบมากขึ้น ต้องโตกว่าวัยที่เป็นอยู่ แม้จะงอแงบ้าง ง่วงนอนบ้างระหว่างทำงาน แต่เธอสนุกกับการทำงานช่วงนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของชีวิต

“มันจะงอแง ง่วงนอน เหมือนอยากเล่นมากกว่า เหมือนเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เรารู้สึกเหมือนว่าต้องโตกว่าคนวัยเดียวกันในตอนนั้น แต่ก็สนุกกับการทำงาน มันเป็นเหมือนประสบการณ์ใหม่ๆมากกว่า”

วัยใส...โลกส่วนตัวสูง

หากยืนยันด้วยตัวเลข ภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันทำรายได้สูงถึง 163 ล้านบาท ความสำเร็จของหนังจุดกระแสหวนรำลึกวันวานของคนรุ่นนั้น หนังยาง ตุ๊กตุ่นของเล่น เพลง แฟนฉัน ของวงชาตรีถูกนำกลับมาเปิดอีกครั้ง ทุกคนรักและเอ็นดูตัวเอกของเรื่องอย่าง น้อยหน่า

สิ่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเป็นคุณลักษณะหนึ่งของคนดังที่ถูกถ่ายทอดความรู้จักผ่านจอทีวีไปยังสังคม คือการที่ความเป็นส่วนตัวของคนดังคนนั้นจะหายไป สังคมจะรู้จักเธอ ทักทายเธออย่างสนิทสนมเหมือนเป็นญาติคนหนึ่ง เธอรู้จักการวางตัวต่อชื่อเสียง และคำทักทายมาตั้งแต่เด็กจนเคยชิน ทว่าท่านกลางช่วงเวลาเหล่านั้น ความล้นเกินที่เข้มข้นของกระแสตอบรับ เมื่อผ่านเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โลกส่วนตัวที่สูงขึ้นก็กระซิบบอกกับเธอให้รู้จักกับคำว่า 'ความเป็นส่วนตัว'

“มีคนทักก็ดีใจแต่พอไปถึงระดับหนึ่งที่พอเราโตขึ้นมาเรื่อยๆ ก็จะรู้สึกว่า มันไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวนะ แต่คือไม่ได้ว่าอะไร มันก็เคยชินแล้ว รู้ว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะปฏิบัติยังไง แต่ตอนนั้นพอยิ่งโตมันก็จะยิ่งมีโลกส่วนตัวสูงขึ้น ลึกๆ แล้วก็เลยกลายเป็นรู้สึกอึดอัดนิดหน่อย”

ด้วยความเป็นลูกคนเดียว เป็นผู้หญิง แถมยังเป็นดารามีชื่อเสียง ไม่แปลกที่พ่อแม่จะเป็นห่วง ไป-กลับโรงเรียนต้องไปรับ-ส่งถึงบ้าน มันเป็นกรอบเกณฑ์ที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี และบางครั้งเธอก็อยากจะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติบ้าง

“ที่จริงขอกลับบ้านเองตั้งแต่ป.3แล้ว แม่บอก ป. 4 จะให้กลับ พอขึ้นป.4แม่ก็บอกป.5แล้วกัน ไม่ยอมจนม.6ก็ยังไม่ค่อยได้กลับบ้านเอง เราอยากใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป รู้สึกว่ามันน่าจะสนุกกว่าการเป็นดาราแล้วต้องเป็นอย่างนี้”

ช่วงชีวิตวัยมัธยมเธอมีเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวเท่านั้น สนิทแบบตัวติดกัน ไปไหนไปกันตลอด ซึ่งตรงกันข้ามกับชีวิตปกติของบุคคลสาธารณะที่ต้องพบปะผู้คนมากมาย เธอชอบที่จะอยู่เงียบๆ และไม่อ้อมค้อมที่จะประกาศกับเพื่อนคนเดียวคนนั้นว่า เราไม่เอาเพื่อนใหม่นะ

“ที่จริงเป็นคนที่ไม่ค่อยเปิดรับเพื่อนใหม่ ไม่ชอบการรู้จักกันใหม่ เพราะเราไม่อยากเรียนรู้ใหม่ ไม่อยากจะอธิบายว่าเราเป็นคนอย่างงี้นะ เข้าใจเรานะ คนที่สนิทกันแล้ว ก็จะเข้าใจว่าเราเป็นคนยังไง ทำไมเราเป็นคนอย่างนี้ บางครั้งเราเป็นคนที่ไม่ค่อยยิ้มแล้วหน้าจะดูเหวี่ยงมาก ซึ่งจริงๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย เพื่อนกันก็จะรู้ หน้ามันดูเป็นแบบนี้ และเราเป็นคนมองหางตาแต่ไม่ได้คิดอะไร เพื่อนจะรู้เป็นคนติสท์ๆ แต่คนอื่นจะคิดว่า หยิ่งเนอะ มีเรื่องหรือเปล่าเนี่ย? จริงๆ เราเป็นคนแบบไม่รู้จะทำหน้าอะไร หน้าแบบนี้มันสบายดี”

แต่แล้วหลังจากอยู่ในความดูแลของพ่อแม่อย่างไม่ห่างตา วันหนึ่งที่เธอได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ชีวิตตัวคนเดียวในต่างแดนจึงเริ่มขึ้น เธอใช้คำว่า เด็ดสุด กับชีวิตที่นั่น ที่ห่างไกลพ่อแม่ ห่างไกลคนรู้จัก ต้องเอาตัวรอดคนเดียว ท่ามกลางผู้คนที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเธอด้วยซ้ำ

“ก็สู้เหมือนกันนะคะ ถึงได้อยู่ครบ 10 เดือน เพราะตอนแรกรู้สึกท้อมาก เกือบจะกลับ ไม่มีคนคุยด้วย เขาคิดว่าเราเป็นคนต่างชาติ แล้วเหมือนเราก็ไม่กล้าคุยกับเขา เขาก็ไม่คุยกับเราเพราะคนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษกัน เขาพูดแต่ภาษาญี่ปุ่น แล้วตอนนั้นภาษาญี่ปุ่นเราก็แย่มาก พูดได้แค่งูๆปลาๆ เขาก็ไม่รู้ว่าเราคุยได้หรือเปล่า ตอนหลังเราก็เข้าไปคุยเองเลย”

ช่วงชีวิตตัวคนเดียวทำให้เธอได้เรียนรู้การดูแลตัวเองทุกอย่าง เรื่องรอบตัวที่มีแม่คอยดูแล ทำความสะอาด ซักผ้า ทำอาหาร แต่เธอก็สารภาพว่าอยู่ที่ญี่ปุ่นประหยัดยาก เพราะอาหารที่นั่นดูน่ากินไปหมด วัฒนธรรมที่ตรงต่อเวลาสะท้อนออกมาทางหน้าปัดนาฬิกาของสถานีรถไฟที่ตรงต่อเวลาอย่างไม่ผลัดผ่อนแม้แต่นาทีเดียว แม้เธอจะไปเรียนอยู่ในโรงเรียนแถบชนบทเล็กๆ ซึ่งเธอถือเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศไทยคนแรกที่ไปอยู่ที่นั่น

“ คนที่นั่นเขาก็คิดว่าคนไทยหน้าตาเป็นอย่างนี้เหรอ เขาคิดว่าคนไทยน่าจะดำๆ ถึกๆ อารมณ์แบบบางระจัน เขายังนึกว่าคนไทยขี่ช้างไปเรียน ยังงงว่ามีบ้านกับตึกด้วยเหรอ?” เธอเล่าถึงความแปลกใจของคนที่นั่น

การปรับเข้าหาสังคมญี่ปุ่นของเธอ เริ่มตั้งแต่เปิดพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์คุยกัน ใช้ภาษามือ ทำทุกวิถีทางเพื่อจะสื่อสารพูดคุย แล้ววันหนึ่งเธอก็ถูกตบหัวจนหน้าคว่ำโดยเพื่อนของเธอเอง

“คนญี่ปุ่นเล่นหัวกันได้ แต่คนไทยเราถือเรื่องหัว ตอนแรกก็มีเคืองๆ แต่พอดูไปเรื่อยๆ เขาก็ตบกันทุกคน แล้วตบกันแรงด้วย ไม่ใช่ตบกันขำๆ ตบจริงจังหน้าทิ่ม เขาเล่นกันแรงแต่ไม่โกรธกัน เราก็งงว่าเขาเล่นกันได้ไง มันเจ็บนะ เราก็มีเอาคืนไปต่อยคืนแล้ววิ่งหนี ต้องนิสัยไม่ดีบ้าง”

วัยสาว...สู่ความฝันใหม่

หลังกลับจากญี่ปุ่น เธอยังคงเว้นว่างตัวเองจากงานในวงการ ช่วงสอบเข้าเป็นช่วงวุ่นวายที่สุดของชีวิตวัยรุ่น การตัดสินใจเลือกคณะเข้าเรียนต่อถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อาจมีการทบทวนหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นหนทางที่ชีวิตจะก้าวเดินต่อไป และแล้ววิทยาลัยนวัตกรรมการสื่อการสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็เป็นคณะที่เธอเลือกใส่ลงไปในอนาคตของเธอ เป็นสาขาวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตวัยเด็กของเธอ

“ตอนเลือกคณะเรียน หนูยังไม่รู้ว่าอยากจะทำงานอะไรนะ แค่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับงานเบื้องหลัง เพราะตั้งแต่เด็กๆ รู้สึกชอบพี่ๆที่กำกับแฟนฉันมาก รู้สึกว่าพี่เขาเก่ง ดูเท่ดี เขาคุมเด็กได้หมดทุกคนเลย เขาถ่ายออกมา ทำออกมาได้ดี ก็เลยอยากเป็นเหมือนพี่เขา พอโตขึ้นมาก็น่าจะลองเรียนดู ไม่ใช่เรียนเบื้องหน้า แต่เป็นเบื้องหลังแทน เพราะเบื้องหน้าเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ แต่ว่าเบื้องหลังเราไม่เคยทำเลย”

แม้จะประกาศกับเพื่อนสนิทที่ตัวติดกันมาจากมัธยมว่า ไม่เอาเพื่อนใหม่ แต่การชีวิตเฟรชชี่ปี 1 บรรยากาศของการรับน้อง ช่วงเปลี่ยนสังคมชีวิต ยิ่งมารวมกับวิถีทางในการทำงานของนักเรียนหนัง ทั้งยังห่างไกลจากบ้านมาใช้ชีวิตเต็มตัวที่วิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อนก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

“พอต้องมาทำงานมหาวิทยาลัย และต้องเปลี่ยนสังคม มันต้องมีการช่วยเหลือกัน เราก็เรียนรู้ว่า ต้องเอาเพื่อนนะ ซึ่งเพื่อนที่นี่ก็ดีมาก ไม่มีปัญหากับเราเลย เข้าใจเราดี สนิทกันเร็วมาก ถึงตอนแรกจะมีเห่อบ้างว่าเราเป็นดารา แต่พอสนิทกัน เฮ่ย ! ดาราอะไร เราดีใจที่เขาปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่งมากกว่า”

แม้จะมีมุมชีวิตที่ชอบอยู่คนเดียว แต่เธอก็คิดว่าตัวเองเป็นคนติดเพื่อน และอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์กับเพื่อน พร้อมกันนั้นก็ยังเป็นคนวางมาดมีฟอร์มประเภทแม้จะรู้ตัวว่าผิดก็จะไม่ขอโทษ เมื่อทะเลาะกับเพื่อนวิธีคืนดีของเธอคือเข้าไปพูดคุยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“มัน(หมายถึงตัวเอง)เป็นคนฟอร์มเยอะพอสมควร วิธีง้อคือจะเดินไปคุยปกติเลย แต่ส่วนใหญ่ถ้าทะเลาะรู้ว่าตัวเองโมโหจะเดินออกมา ไม่ต่อล้อต่อเถียง มันน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับคนที่เป็นเพื่อนกัน”

สำหรับช่วงเวลาที่หายไปหนึ่งปีเต็มกับชีวิตนักศึกษาที่วิทยาเขตองครักษ์ หลายคนอาจจะเป็นห่วงเธอที่ห่างหายหน้ากันไปจากผลงานบนจอทีวี เธอเผยว่า การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเพื่อน ทำอะไรร่วมกันถือเป็นเรื่องสนุก ข้อเสียมีเพียงแค่อากาศร้อน และยุงตัวยักษ์ที่กัดอย่างไม่กลัวคน

“ยุงที่นั่นเป็นอะไรที่ขนลุกมาก โดนกัดทุกคนไม่มีใครไม่โดน ขาแดงหมด แต่อยู่ที่นั่นสนุกดี การที่เราได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน เราสนิทกับเพื่อนจากที่อยู่องครักษ์ กินข้าวกันทุกมื้อ เจอหน้ากันทุกวัน มันทำให้คนสนิทกันมาก”

แม้จะเพิ่งเข้าเรียน แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของนักเรียนหนังคือการทำหนัง โจทย์ของช่วงปีแรกเฟรชชี่คือหนังรุ่น และเธอได้รับทำงานเขียนบท พ่วงด้วยตำแหน่งผู้กำกับ...ตำแหน่งในฝันของนักทำหนังทุกคน ทว่าภาพของผู้กำกับหนังใหญ่ที่นั่งเพ่งจอมอนิเตอร์นั้น เป็นภาพจริงที่ต่างจากภาพของผู้กำกับหนังนักศึกษาที่ต้องจัดการหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่าสั่งเพียง แอ็กชั่น กับ คัต

“สนุกดี ลำบากดี คนมันเยอะมากเลยค่ะ คนทั้งรุ่น แต่ทุกคนได้ทำงานหมด ตอนนั้นเราจะดูโหดๆ หน่อย จะตะโกน เฮ่ๆ เฮ่ยๆ เป็นผู้กำกับไงค่ะ มันก็ต้องคุมคนหมดเลย มาดจะฮ้าวๆ หน่อย เพื่อนอาจจะเกลียดก็ได้ช่วงนั้น ตะโกนเสียงดังโวยวายมาก ซึ่งพี่ๆ ผู้กำกับตอนที่เราทำงานด้วยเขาก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เขามีความเป็นผู้ใหญ่สูง ส่วนเราต้องคุมเพื่อนด้วยกัน ก็เลยยากที่จะคุม แล้วเหมือนต้องใช้วิธีที่ต่างกัน ทำหนังรุ่นก็ได้รู้อะไรเยอะเลย”

ตอนนี้เธอมีเพื่อนกลุ่มใหญ่มาก นับดูเกือบ 20 คน ใหญ่จนไปเที่ยวกันลำบาก มีเพื่อนสนิท 4 คนที่มักจะชวนไปหาของกินกันหลายๆที่ นี่เป็นช่วงเวลาของการทำความรู้จักกับสังคมใหม่ ภาควิชาใหม่ที่เรียนยังคงอยู่ในภาคทฤษฎีที่ยังคงต้องใช้เวลาในการสั่งสมเรียนรู้ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวไกลขนาดวัยรุ่นแทบทุกคนมีกล้องติดตัวอยู่ในรูปแบบของโทรศัพท์มือถือความคิดในการทำหนังสั้นมีอยู่ในหัวของเธอกับกลุ่มเพื่อนอยู่ตลอดเวลา

“แต่ละวันเพื่อนๆ ก็มีพล็อตคิดกันออกมานะ ผุดขึ้นมาเยอะแยะไปหมด เราก็จดไว้ คุยกัน อันไหนเอามาทำหนังได้”

แม้จะแบบอย่างเป็นเหล่าผู้กำกับจีทีเอชที่สร้างหนังแต่ละเรื่อง ต้องถือเป็นกระแสหลัก เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนต่างจับจองตีตั๋วเข้าไปชม แต่เธอก็คิดว่าอยากจะทำหนังที่แปลกแตกต่างจากหนังกระแส เป็นหนังที่ไม่ตามใจคนดูมากนัก

“กับพี่ๆ ผู้กำกับที่จีทีเอช เราเคารพพวกเขานะ เขาเอาเราเข้ามาในวงการด้วย แล้วพี่ๆ เขาก็เก่งจริง เขาทำหนังกระแสก็ทำออกมาอย่างมีคุณภาพและเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญคือเขาทำหนังด้วยใจจริงๆ

“ที่จริงทำได้ทุกแนว อยากลองทำทุกแนวเลย เราก็พยายามดูหาว่าแนวไหนที่เราทำออกมาแล้วมันจะดีมากกว่า ไม่ได้ทำตามใจคนดู หรือที่คนดูชอบ เราอยากทำหนังที่เราชอบออกมา อยากทำหนังที่เรารักและทุ่มเทกับมัน”

ขณะที่ใช้เวลาวันว่างจากการทำงาน จากการเรียนไปกับการนอนพักผ่อน สิ่งหนึ่งที่เป็นงานอดิเรกมาตลอดตั้งแต่เด็กคือการไปดูหนังที่โรงหนังใกล้บ้าน การดูหนังให้ได้ทุกแนวถือเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของคนทำหนัง ซึ่งเธอไม่ขาดตกบกพร่อง หางตั๋วเข้าโรงหนังวางเรียงเป็นของสะสมอย่างหนึ่งของเธอ มาถึงตอนนี้ที่เส้นทางชีวิตทอดไปสู่งานด้านภาพยนตร์ การดูหนังของเธอยิ่งจะจริงจังมากขึ้น

“เมื่อก่อนไม่ซีเรียสเรื่องแผ่นแท้แผ่นปลอมนะ ซื้อหมดดูหมด แต่ตอนนี้มารู้ว่าเบื้องหลังเขาลำบากกันขนาดไหนกว่าจะได้หนังแต่ละเรื่อง เราก็ไม่ดูแผ่นปลอมเลยนะ เพื่อนเอามาให้แผ่นปลอม บอกว่าสนุก เราก็ไม่ดูนะ ไปหาซื้อแผ่นแท้มาดู”

รูปจากอินสแกรมบ่งบอกว่า การถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งของเธอ แต่ส่วนมากรูปถ่ายก็ถูกเก็บไว้ดูเอง ไม่บ่อยนักที่จะเธออัพลงอินเตอร์เน็ต แม้ว่านี่จะเป็นยุคสมัยของโซเชียลมีเดียที่คนยุคใหม่แทบจะไม่ละสายตาไปจากหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ แต่สำหรับเธอแล้ว โซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่หากไม่ว่างจริงๆ เธอจะไม่ได้เข้ามาใช้งานเลย

“ไม่ค่อยติดเท่าไหร่ค่ะ เป็นคนแบบถ้ามันไม่มีอะไรทำจริงๆ ก็จะเข้าดูบ้าง แต่ถ้ามีอะไรทำอย่างเช่นไปดูหนังเดินเล่นก็แทบจะไม่แตะมือถือเลย ถ่ายเก็บไว้ดูเองด้วยนะ ไม่ค่อยอัพ นานๆจะอัพทีหนึ่ง ซึ่งอัพก็อัพแต่รูปตัวเอง บางทีก็น่าเบื่อ”

มาถึงตอนนี้กับการขึ้นปี 2 พร้อมยืนอยู่ในวงการแบบห่างๆ รับเชิญแสดงในซีรีส์บ้าง ซิตคอมบ้าง หนังสั้นบ้าง ช่วงไม่นานมานี้เธอก็แสดงซิตคอมตลกแฝงข้อคิดทางช่องไทยพีบีเอสที่ชื่อ ยมบาลเรียกพี่ ฉายทุกวันจันทร์ เวลาห้าทุ่ม ให้แฟนคลับที่ติดตามได้หายคิดถึง

“พักหลังๆ ไม่ค่อยชอบทำงานเท่าไหร่ เป็นคนโลกส่วนตัวสูง บางครั้งก็ไม่อยากทำงาน อยากทำงานน้อยๆ เลยไม่ค่อยได้รับงาน แต่ซิตคอมเรื่องนี้ถ่ายแค่เดือนละ 2 วันเอง ก็เลยรับ แล้วสนุกมาก พี่ๆ ทีมงาน นักแสดง ทุกคนโอเคเลย”

ทว่าตัวซิตคอมก็ไม่ได้ออกอากาศในช่องหรือช่วงเวลาที่คนดูมากนัก กระแสก็เหมือนเงียบๆ หากเอ่ยชื่อซิตคอมเรื่องนี้ หลายคนยังไม่รู้จักทั้งที่ออกอากาศอยู่

“ถ้าไม่ดังก็ไม่เป็นไร เวลาเราทำอะไรที่เรารักมันดีกว่าที่เราทำแล้วหวังกับผลที่ตามมา เออ มันดีกว่านะ เรารู้สึกว่าเราทุ่มเทกับตรงนั้น ดีกว่าทำๆไปอย่างงั้นแล้วมันดัง เราต้องทุ่มเทตั้งใจกับมัน แล้วก็รักมันจริงๆ แล้วทำมันออกมาให้ดี ถึงแม้ว่ามันจะไม่ดังแต่เรารู้ว่าเราทำดี ทำสิ่งที่ชอบ”

การเว้นระยะห่างของตัวเองไปจากวงการ ทำให้หลายคนอดที่จะคิดถึงเธอไม่ได้ ทั้งแฟนคลับที่ติดตามผลงาน หรือแม้แต่คนรอบข้างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้เธอกลับมารับงานอีก แต่เธอรู้สึกว่ายังมีกรอบของตัวเองอยู่ แม้ปัจจุบันจำนวนงานจะไม่ถือว่ามากมาย การเรียน และความรู้สึกหลายอย่าง ทำให้เธอออกปากว่ายังไม่พร้อมจะรับงานเยอะๆ แต่ช่วงปีนี้ก็มีผลงานภาพยนตร์ THE WAY โดยเธอกลับมารับบทดราม่าของวัยรุ่นในครอบครัวที่มีปัญหารุมเร้า หลังพูดคุยกับเราวันนี้ เธอก็มีคิวถ่ายรายการที่รีบเร่งในวันที่ควรจะเป็นวันหยุด

อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ก้าวเดินมาถึงช่วงวัยหนึ่ง วัยเด็กที่อยากเป็นดารา ก็ก้าวมามีชื่อเสียงได้แทบจะในทันที มาถึงวันนี้ที่ลองเดินตามทางที่เลือกเอง วิชาเขียนบทภาพยนตร์เป็นวิชาที่เธอชอบที่สุด

“เราอยากเรียนรู้เบื้องหลัง เราชอบดูหนังก็อยากจะรู้อะไรเกี่ยวกับมันมากขึ้น ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเราอยากเป็นอะไร ไม่รู้จริงๆ จนได้เรียนเขียนบท ก็รู้ว่า เฮ่ย! ที่จริงเราก็ชอบแนวนี้นะ แต่ว่าติดอย่างเดียวคือเป็นคนที่เขียนตามอารมณ์จริงๆ ถ้าไม่มีอารมณ์ จะไม่มีทางแตะคอมพ์หรือเขียนเด็ดขาด แล้วช่วงที่มีอยากเขียน จะต้องหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป มันจะเงียบๆ ทุกคนจะนอนกันหมดแล้ว ทุกอย่างจะเงียบแล้วเราจะมีสมาธิ

“อยากลองเขียนดู มันยังไม่มีหลักการอะไร เราพยายามเอาความชอบ ความสงสัยเข้ามารวมๆ กัน เป็นแนวทางในการเขียน แล้วเดี๋ยวนี้เวลาเจออะไรจะจดหมดเลย เฮย! คำนี้มันใช่ ก็จะจด จดๆ ทุกอย่างเลย จดเยอะมาก มันถือว่าเป็นพล็อตเรื่อง มันทำเป็นพล็อตเรื่องได้ แค่ความคิดอะไรเล็กๆ แค่นี้”

แต่ความคิดและความฝันหลายอย่างยังคงรอเวลา เธอไม่ได้รีบร้อนจะกระโดดไปพูดคุยพี่ผู้กำกับแฟนฉัน ไม่ได้เร่งร้อนหาโอกาสทำหนังใหญ่ ทักษะการเรียนรู้ยังคงต้องใช้เวลาบ่มเพาะความชำนาญ และภาพฝันยังคงซ่อนตัวอยู่ในเวลาที่ยังคงเดินต่อไป

ภาพอดีตยาวนาน...ความฝันยาวไกล

“ภาพในอดีตนั้น จริงๆ แล้วไม่เคยจากเราไปไหน มันอาจจะซุกอยู่ในซอกใดซอกหนึ่ง ในลิ้นชักของความทรงจำ ถ้าเราไปคุ้ยก็จะได้รู้ว่ามันยังอยู่ในนั้นมาโดยตลอด ไม่ถึงกับต้องใช้มือคุ้ยหรอกครับ แค่เสียงเพลงของช่วงเวลานั้นแว่วมา ความทรงจำในครั้งนั้นมันก็ฟุ้งและกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งแล้ว”

นี่คือห่วงคำนึงของเจี๊ยบระหว่างขับรถเปิดเพลง และเขาขับรถกลับเข้าไปในความทรงจำวัยเด็ก ไม่ต่างจากที่โฟกัสได้มาเปิดร้านกาแฟอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาล สถานที่ในความทรงจำของเธอ

ทว่าความทรงจำของทุกคนที่มีต่อเธอ คือภาพของน้อยหน่า และเป็นภาพอดีตที่ดูเหมือนผู้คนจะจำจดได้มากกว่าภาพปัจจุบันของเธอ จนหลายครั้งที่คนมักจะติดที่บอกกันว่า โฟกัส...โตแล้วนะ

“มันเหมือนตอนนี้ น้อยหน่าเป็นชื่อเล่นของเราด้วย เพราะว่าไปที่ไหนคนก็จะจำภาพตอนนั้นได้ ดีใจที่คนยังจำภาพนั้นได้อยู่ ก็ถือว่าก็ดีแล้ว ไม่ต้องลืมตอนนั้นแต่ว่าก็อยากให้เห็นว่าปัจจุบัน โตแล้วนะ ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะมีอัพเดตเรื่องโฟกัสโตแล้วละอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่อายุ 13 แล้ว จนตอนนี้ 19 แล้วเขาติดภาพกัน บางคนบอกว่า แต่งตัวเกินวัย มันไม่ได้เกินวัยหรอกคะ จะ 19แล้วคะ หนูต้องมีการเดินไปข้างหน้าบ้าง”

ภาพอดีตการทำงานในภาพยนตร์ แฟนฉัน ยังอยู่ในความทรงจำของเธออย่างไม่มีวันลบเลือน มันเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต การทำงานหนักหน่วงขนาดที่ว่า ฉากหนึ่งเธอเหยียบตะปูเข้าโรงพยาบาล วันเดียวกันต้องกลับมาเข้าฉากต่อ และวันต่อมาที่แผลยังไม่หายก็ยังต้องเข้าฉากกระโดดหนังยาง เด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบในวันนั้นได้รับการฝึกให้เก่งพอที่จะรับบทเด่นโอบรับหนังทั้งเรื่องไว้

“ทั้ง 6 ผู้กำกับแฟนฉัน พี่เก้ง(จิระ มะลิกุล) ผู้กำกับที่นั่นจะนับถือมาก เพราะเขาเก่งจริงๆ เขาเป็นเหมือนครูด้วย เป็นพี่ เป็นเหมือนครอบครัว”

ความฝันที่ไขว่คว้ามาได้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงความฝันไปตามช่วงวัยที่เปลี่ยนผ่าน เราถามแบบสบายๆ ว่าช่วงชีวิตต้องติดกับกรอบหลายกรอบของความเป็นดารา รู้สึกไม่ชอบชีวิตดาราหรือเปล่า?

“ไม่ใช่ไม่ชอบ รู้สึกว่าเราเต็มที่กับมันมาเยอะมากตอนเด็กๆ ก็เลยรู้สึกว่าเราอยากหาอะไรที่มันใหม่ๆ บ้าง มันก็เบื่อแหละค่ะ อยากเหมือนคนธรรมดา” เธอนึกถึงช่วงที่ชีวิตถูกห้ามในหลายเรื่อง

ภาพฝันที่แปรเปลี่ยนไปของเธอ มีตั้งแต่ภาพของนักอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ต้องเดินทางไปตามป่าเขา ต่อมาก็อยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ อยากขึ้นไปเป็นครูบนดอย เธอเป็นชอบช่วยเหลือคนมาตั้งแต่เด็ก มีเสียงเรื่องเล่าจากเว็บบอร์ดชื่อดังว่า ในวันฉายรอบปฐมทัศน์ของหนังเรื่อง รัก 7 ปีดี 7 หน ในบรรยากาศงานที่ค่อนข้างวุ่นวาย เธอช่วยวิ่งหาตั๋วหนังให้กับเพื่อนของแฟนคลับที่มาถ่ายรูปกับเธอ

“ความฝันเปลี่ยนไปเยอะมาก เคยอยากเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รู้สึกรักสัตว์ เขาไม่ใช่มนุษย์ แต่เขาเป็นเพื่อนร่วมโลก เรารู้สึกว่าอยากดูแลเขา ไม่อยากให้เขาถูกจับไปถลกหนัง จับไปขาย มันดูโหดร้ายเกินไป อยากทำแต่เรากลัวพวกสัตว์บางอย่าง รู้สึกว่าคงอยู่ไม่ได้แล้วแหละ อาจจะชอบแต่คงไม่เหมาะกับเรา

“โตขึ้นมาอีกหน่อยก็อยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ดูเป็นนางสาวไทยเนอะ ชอบช่วยเหลือคน ก็อยากขึ้นไปเป็นครูบนดอย อยากช่วยสอนเขา ถึงเราจะไม่เก่ง แต่เราก็จะไปช่วยสอนเขา ถ้ามีโอกาสก็จะขึ้นไป”

ช่วงอายุ 19 ปี บอกได้ว่าเป็นสาวเต็มตัว เธอไม่ได้วางแผนชีวิตอย่างเป็นตารางไว้ให้ดูเคร่งครัดจนอึดอัด แต่ชอบที่จะใช้ชีวิตให้เต็มที่ คุ้มค่ากับแต่ละช่วงปีชีวิตที่ผ่านพ้นไป

“ตอนนี้อยากใช้ชีวิตให้มันคุ้มค่า เพราะอายุเรามันเดินหน้าไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้อายุ 19 เราก็อายุ 19 ได้แค่ครั้งเดียว เราจะใช้อายุ 19 ยังไงให้คุ้มค่าที่สุด พอโตไปแล้วเรากลับมามอง ตอนอายุ 19 ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันอาจจะกลายเป็นอายุ 19 ที่ว่างเปล่า”

เธอมีความคิดอยู่ในหัวว่าจะเปิดแฟนเพจ เชิญชวนให้คนมาเก็บสะสมเงินออมเพื่อเอามาทำบุญ ไม่ใช่แบบที่โอนเข้าบัญชีธนาคาร แต่เป็นแบบหยอดกระปุก แล้วให้ไปทำบุญด้วยกัน เธอคิดไว้ว่าอาจจะเป็นบ้านเด็กอ่อนสักแห่ง

“รู้สึกว่าเราไม่ได้รวยแต่เราถือว่าเราสบายแล้ว ณ ตอนนี้ เหมือนเราสบายกว่าคนอื่นเยอะ รู้สึกว่าคนที่ยังลำบากกว่าเรามีอยู่เยอะ แล้วถ้าเราสามารถช่วยเขาได้จะมากหรือจะน้อย มันก็น่าจะช่วยเขาค่ะ”

ร้านโฟกัสคอฟฟี่วันนี้เป็นกิจการเล็กๆ ที่เธอเปิดให้แม่ ขายไม่แพงแก้วละ 20 - 35 บาทเท่านั้น มีเด็กๆแวะเข้ามากินไอศกรีม พวกเขาเถียงกันเรื่องไอศกรีม ดูไปแล้วเหมือนแก็งแฟนฉัน ภาพอดีตยาวนานเกือบ 10 ปี หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง ผลตอบรับจากแฟนฉันทำให้เกิดจีทีเอชซึ่งเติบโตขึ้นและกำลังเป่าเทียนฉลองครบรอบ 7 ปี เธอกับเพื่อนๆก็เติบโตขึ้น และต่างเดินไปบนเส้นทางชีวิตของตนเอง อย่างไรก็ตามบางสิ่งก็ยังไม่เปลี่ยน เธอยังมีนามสกุลต่อท้ายน่ารักๆ ว่า แฟนฉัน และเวลาก็ยังคงเดินหมุนไป หมุนไปสู่ภาพฝันอันยาวไกลของชีวิต
 
ชื่อ โฟกัส จีระกุล (กัส)
วันเกิด 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536
กรุ๊ปเลือด บี
ส่วนสูง 162 ซ.ม.
น้ำหนัก 48 กก.
การศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมการสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 2
ผลงานที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน , เก๋า...เก๋า ,ผีเลี้ยงลูกคน ,ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น ละครเรื่อง หนึ่งตะวันพันดาว ,ครูไหวใจร้าย ,แก็งสืบ 007 ,วัยซนคนมหัศจรรย์ ,UFO ครอบครัวอลเวง ,พระอาทิตย์คืนแรม ซิตคอม ยมบาลเรียกพี่

ภาพโดย พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Focusjeerakul















กำลังโหลดความคิดเห็น