หลายคนคงเคยผ่านตากับโฆษณาฮาร์ดเซลส์ประเภทลงท้ายด้วย
“8,000 เราไม่ขาย! 7,000 ไม่หรอก! เราเสนอให้คุณเพียง 4,990 บาทเท่านั้น! แต่ช้าก่อน! หากคุณโทร.เข้ามาใน 10 นาทีนี้ รับทันที! มูลค่า 2000 บาท ขอย้ำ!”
ยิ่งทุกวันนี้ทีวีดาวเทียมเข้าถึงแทบจะทุกหลังคาเรือน ทำให้การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทนี้ดูจะฮาร์ดเซลส์มากขึ้น และต่างก็แข่งขันกันเพิ่มความน่าเชื่อถือ พร้อมทั้งสรรพคุณราวกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์
แม้จะมีการร้องเรียน มีความไม่ชอบมาพากลอยู่มากมาย สินค้าเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ มันเป็นข้อบ่งชี้ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือที่เรียกกันว่า อาหารเสริมพวกนี้ขายได้ และการโฆษณาแบบฮาร์ดเซลส์พวกนี้ยังมีคนหลงเชื่อ หลงทดลองเพื่อค้นหาสิ่งที่จะมาช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นออกจากปัญหาที่ตัวเองเจออยู่
เท่านั้นยังไม่พอ การโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์มหัศจรรย์พวกนี้ ยังลุกลามไปถึงวิทยุ หรือแม้ฟรีทีวีโดยที่กลไกการจัดการปัญหาไม่สามารถทำอะไรการโฆษณาที่รู้ๆ กันว่าหลอกลวง เกินจริง และทำให้ผู้บริโภคที่หลงเป็นเหยื่อเสียหายได้เลย
หลากผลิตภัณฑ์อวดอ้างเกินจริง
ในท้องตลาดตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอยู่มากมาย และต่างก็มีกลเม็ดโฆษณาทำการตลาดแตกต่างกันไป สิ่งที่เป็นจุดเดียวกันคือการมีสรรพคุณที่ดูดีเกินจริง โดยมักจะมีคำอธิบายในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและเรื่องเพศ กับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านความงาม และเรื่องเพศ มีตั้งแต่สรรพคุณประเภททำให้ผิวขาวได้ในสิบสี่วัน รูปร่างกระชับ ผิวพันธ์มีน้ำมีนวลมากขึ้น มีอาหารเสริมเรียกเป็นโปรแกรมโดยมีสรรพคุณในการลดความอ้วนซึ่งมักจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่ยาลดความอ้วน แต่เป็นอาหารเสริมซึ่งอ้างว่า ไม่ต้องออกกำลังกาย แค่กินผลิตภัณฑ์ตัวนี้แล้วจะสามารถลดความอ้วนได้ บางตัวก็อ้างว่า ช่วยกระชับช่องคลอด โดยมีสโลแกนที่สองแง่สามง่ามว่า สวยใสภายในกระชับ
อีกผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างคือผลิตภัณฑ์เสริมความงามอย่างครีมบำรุงผิวทรวงอก โดยมักจะอ้างสรรพคุณว่าสามารถทำให้หน้าอกใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งส่วนมากมีส่วนผสมของกวาวเครือ ขณะที่สำหรับหนุ่มๆ ก็สเปรย์ฉีดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศที่มีสรรพคุณในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้แข็งขันอดทน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณด้านสุขภาพหรือรักษาโรคเรื้อรัง มีสรรพคุณในการรักษาโรคที่หลากหลาย บำรุงอวัยวะภายใน ลำไส้ ต่อมต่างๆ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายชนิดอ้างว่า รักษาโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดัน หรือแม้แต่มะเร็งได้ และบ้างก็สามารถแก้ไขอาการทางสุขภาพเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาการปวดหลัง ปัสสาวะขัด
โดยในส่วนของการโฆษณาจะมีการใช้ดาราที่มีชื่อเสียงไม่มาก แต่พอให้มีความน่าเชื่อถือออกมาการันตีถึงตัวผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนั้นก็จะมีตัวอย่างผู้ใช้ที่ออกมาพูดขอบคุณผลิตภัณฑ์นั้น พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อตัวสินค้า และแสดงให้เห็นว่าผลของการใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนั้นเป็นอย่างไรผ่านทางรูปร่างที่ดูดี
จากนั้นอาจมีการอ้างอิงผลสำรวจ หรือการวิจัยบางอย่างที่ดูน่าเชื่อถือถึงประสิทธิภาพของอาหารเสริมนั้นๆ ต่อด้วยคำโฆษณาเพื่อกระตุ้นให้สั่งซื้อ แล้วท้ายสุดก็ปิดฉากโฆษณาด้วยโปรโมชั่นอย่างโทร.มาในสิบนาทีนี้จะลดพิเศษ พร้อมของแถมจูงใจการซื้อ
ซึ่งผลของการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น อาจจะเป็นไปได้ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งอาจได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แต่ก็พบกรณีร้องเรียนมากมายถึงการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไม่สามารถกระทำอวดอ้างได้ ทว่าปัญหาก็คือตอนนี้ยังไม่มีกลไกการลงโทษที่ทำให้โฆษณาเหล่านั้นหายไปเสียที
อันตรายที่ต้องรู้เท่าทัน
คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้รับการร้องเรียนมากกว่า 100 กรณีต่อ 1เดือนซึ่งภญ. ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยาเผยว่า จากข้อมูลที่แยกเป็นประเภทของลักษณะการทำผิดกฎของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพบว่า การโฆษณาอวดอ้างถือเป็นกรณีที่มีการร้องเรียนมากที่สุด
“ประเด็นเรื่องโฆษณานี่เยอะที่สุด สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะอาหารไม่ใช่ยา เราไม่ให้โฆษณาสรรพคุณทางยา แต่ส่วนใหญ่แล้วทำขึ้นมาจะต้องโฆษณาสรรพคุณใช้ป้องกันรักษาได้ ซึ่งก็จะโอ้อวดเกินจริงทั้งสิ้น”
นอกจากนี้ก็มีการร้องเรียนเรื่องแหล่งผลิตยาปลอม เลขใบอนุญาตปลอม ซึ่งหลายครั้งก็ขยายผลไปสู่การดำเนินคดีและจับกุมปราบปราม โดยผลิตภัณฑ์อาหารอ้างสรรพคุณประเภทยา อย่างเช่น กาแฟลดความอ้วนหรือเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เธอเผยว่า หากใช้ได้ผล เป็นไปได้ที่จะมีการลักลอบใส่ยาเข้าไปซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้
ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ระงับโฆษณา และดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ ซึ่งหากไม่หยุดโฆษณาก็จะมีโทษที่หนักขึ้น โดยโฆษณาเหล่านี้จะพบเห็นบ่อยตามช่องทีวีเคเบิ้ลดาวเทียม ในทางปฏิบัติก็มีการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) ในการควบคุม ทว่ากลับไม่มีอำนาจมากนัก เพราะยังคงพบการฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง
ในประเด็นการควบคุมลงโทษนั้น สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยว่า แม้ อย. ร่วมกับ กสทช. สั่งห้ามโฆษณาเหล่านี้ในสื่อทุกประเภท ทว่าในทางปฏิบัติอย่างการเผยแพร่สัญญาณนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัท ไทยคม จำกัดในการตัดสัญญาณเพื่อปิดสถานีที่ฝ่าฝืนกฎ
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยร่วมกับเครือข่ายที่ทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 16 จังหวัด สำรวจการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมอาหารทั้งหลายที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาตโฆษณา ซึ่งพบว่า มันมีปัญหาเยอะ แล้วเราก็เร่งผลักดันให้คณะกรรมการอาหารและยาอย่างที่ทำแล้วสำเร็จ(กับกรณีรังนกร้อยเปอร์เซ็นต์) และทางกสทช.ได้เสนอให้ห้ามโฆษณาแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามันก็ยังมีการโฆษณากันอยู่ เขาได้ขอความร่วมมือไปที่ไทยคม”
ต่อประเด็นนี้เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่า ไทยคมมีความรับผิดชอบต่อกรณีนี้น้อยเกินไป โดยอ้างว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ แต่ความจริงแล้วหากไทยคมพบว่า สถานีต่างๆ ยังมีการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต หรือโฆษณาที่ไม่เป็นจริง ก็สามารถให้ปิดรายการหรือปิดสถานีได้เลย
“ไทยคมต้องดำเนินการตามนั้น หากไทยคมจะอ้างว่าตัวเองได้สัมปทานจากไอซีที ไม่ต้องทำตามกฎหมาย มันไม่ได้ เพราะว่าไทยคมเป็นคนดูแลหรือควบคุมโฆษณาของพวกนี้ผ่านพวกช่องดาวเทียมโดยตรง ขณะเดียวกันกสทช. ก็จะบอกว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีกติกาที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จริงๆ เขาได้มีความร่วมมือกับอย. ดังนั้น เคเบิ้ลทีวีที่เป็นเท็จหลอกลวง มันทำไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็อยากให้ไทยคมร่วมมือ รวมถึงรายการที่เป็นโฆษณาที่ทางเคเบิ้ลทีวีทั้งหลายด้วย”
สิ่งที่สำคัญคืออย.กับกสทช.ต้องมีเครื่องมือในการบังคับลงโทษ หากมีเพียงคำสั่งห้ามแต่ไม่มีกลไกที่ในการติดตาม การดำเนินการก็ไร้ผล และโฆษณาที่ชวนเชื่อเกินจริงก็ยังคงอยู่ ในส่วนของทางออกต่อเรื่องนี้เธอเห็นว่าผู้บริโภคเองต้องมีสติและรู้เท่าทันต่อการโฆษณาชวนเชื่อที่เกิดขึ้น
“ถ้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารแต่โฆษณาเป็นยา อันนี้หลอกลวงแน่นอน เพราะถ้าได้ผลต้องขึ้นเป็นยา ผู้บริโภคต้องคิดว่า เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องของเรา ถ้าสมมติ คนส่วนหนึ่งเขาอยากรู้ว่าจริงไม่จริง ถ้าจริงก็อยากใช้ ไม่จริงก็ไม่ใช้ คนพวกนี้ก็อยากมีข้อมูล แต่พี่คิดว่า มันพิสูจน์มาเยอะ มันเริ่มตั้งแต่ น้ำลูกยอ คอลลาเจน มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เยอะแยะไปหมด เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ พอถูกจับอันนี้ก็เปลี่ยนเป็นอันโน้น พวกนี้ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ได้มันก็ไปเชื่อมโยงกับความโลภของคนที่ใช้กลไกส่งเสริมการขายที่ให้ค่าตอบแทนที่สูง มันอาจจะทำให้ตัวผลิตภัณฑ์หมดไปยาก เราจะทำให้คนตื่นตัวเท่าทันเรื่องนี้ยังไง”
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับความเห็นของดร. เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่เผยว่ามูลค่าทางการตลาดของธุรกิจผลิตเสริมอาหารสูงถึงปีละหนึ่งหมื่นล้านบาท โดยสามารถแบ่งได้ตามรายได้ของกลุ่มลูกค้าซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พบปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มของผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งมักจะมีการทำการตลาดของผลิตภัณฑ์เป็นประเภทตีหัวเข้าบ้าน ทำกำไรระยะสั้นแล้วเลิกกิจการหรือเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนแบรนด์มาลงตลาดใหม่
“กลุ่มที่มีรายได้สูงเขาก็มีเงินซื้อผลิตภัณฑ์ดีๆใช้ แต่กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยเขาก็อยากจะมีสุขภาพดี อยากดูแลตัวเองเหมือนกัน แต่เขามีรายได้น้อยดังนั้นเขาจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ราคาไม่สูงนัก และสามารถตอบโจทย์เขาได้”
ทั้งนี้หากมองในด้านกำไร ถ้าทำให้ผลิตภัณฑ์ออกมาดี ตอบโจทย์ได้ก็คงต้องใช้ต้นทุนที่สูง เขาจึงประเมินว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักใช้กลยุทธ์ตีหัวเข้าบ้าน โดยผลิตสินค้าในจำนวนมากแต่ต้นทุนต่ำแล้วขายเพื่อให้ได้กำไรต่อหน่วยสูงๆ ทำกำไรในระยะสั้น ผลิตมา 100 กล่อง ขายได้ 5 -10 กล่องก็ไม่ขาดทุนแล้ว โดยกลยุทธ์นี้จะควบคู่ไปกับกลยุทธ์ด้านราคา การจูงใจแบบฮาร์ดเซลส์ทั่วไปที่ใช้ได้กับกลุ่มคนที่ไม่ค่อยระมัดระวังในการซื้อสินค้านัก
ในการเป็นผู้บริโภคนั้น เขาทิ้งท้ายถึงข้อแนะนำว่า น่าจะเริ่มจากร้านที่น่าเชื่อถือได้ก่อน โดยถ้าจะให้ดีที่สุดอาจคุยกับแพทย์ก่อน หรือซื้อจากร้านยาที่ขายอาหารเสริมด้วย
“ถ้าปรึกษาหมอก่อนได้ก็ดี เพราะอาหารเสริมพวกนี้ถ้ากระบวนการผลิตไม่ดีนิดนึง มีสารตะกั่วอยู่ข้างใน แทนที่เราจะสุขภาพดีก็กลายเป็นมะเร็งได้ กลายเป็นโทษมากกว่า”
.....
จากการที่กลไกการควบคุมโฆษณานั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ที่จ้องฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจ ทำมาหากินบนการหลอกลวงหนทางที่เปิดกว้างให้เห็นกำไร และความสำเร็จชนิดตีหัวเข้าบ้าน ทำให้โศกนาฏกรรมอย่างการกินอาหารเสริมที่เชื่อว่าจะรักษาโรค แต่กลับยิ่งทำให้โรครุมเร้าหนักขึ้นอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ท้ายที่สุดแล้วเรื่องของสุขภาพ และการเลือกบริโภคก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้บริโภคเองที่จำเป็นจะต้องรู้เท่าทันต่อตัวสินค้า และต่อคำหลอกลวงโฆษณาเกินจริง
…...