ใครจะรู้บ้างว่าหนึ่งในอาชีพที่ต้องทนทรนามในความร้อนอบอ้าวอย่างยาวนานที่สุดคือ มาสคอต
และคงไม่ได้เรื่องง่ายที่จะแบกรับความหนักหน่วงของการงานแห่งความร้อน พวกเขาต้องเก็บร่างชุ่มโชกเหงื่อของตัวเองไว้ในความอบอับของชุดมาสคอต เม็ดเงินอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ยังคงทำงาน
หากแต่กับประสิทธิ์ วุทธิยา ชายผู้ยึดการใส่ชุดมาสคอตเป็นอาชีพมานานถึง 15 ปี การงานของมาสคอต ภายในชุดน่ารัก กับท่วงท่าสุดทะเล้น เขาพบความสนุกและการพักผ่อนของชีวิต
“ผมรับงานได้ตลอดทั้งปีครับ 365 วันเลย วันไหนมีงานดีๆ ผมก็ลาที่ทำงานประจำไปรับงานนอก แล้วช่วงพักร้อนผมก็ไปทำงาน อย่างสงกรานต์ หรือปีใหม่ งานมาสคอตเป็นงานบริการครับ ยิ่งคนหยุด เรายิ่งทำงานหนัก”
ในสายตาของมาสคอต
“แรกๆ ผมตกเวทีเป็นประจำเลยครับ ปัญหาคือมองไม่เห็น มุมมองของมาสคอตมันต่างจากปกติ” ประสิทธิ์เริ่มเล่าถึงช่วงชีวิตแรกๆของการทำงานมาสคอต
ย้อนกลับไป 15 ปีที่แล้ว ในยุคที่ดอกผลผลิบานของตลาดงานอีเวนท์ในปัจจุบันนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และชายร่างเล็กอย่างเขาตัดใจจากความฝันของการเป็นทหารมาจากต่างจังหวัด เข้ากรุงเทพฯ มาในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพียงเพื่อหาวิชา หางานที่มีรายได้มั่นคง เพียงเท่านั้นไม่ได้มาตามฝัน
ดังนั้นการหารายได้เสริมจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลังจากผ่านงานเด็กเสิร์ฟตามร้านอาหาร และอีกมากมาย วันหนึ่งเมื่อรุ่นพี่ชวนเขาสวมชุดมาสคอต เม็ดเงินในสมัยนั้นที่ 400-500บาทต่อวันถือเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าทุกงานในแบบพาร์ทไทน์ เขาจึงยึดงานนี้เป็นหลัก
“ใช้เวลาปรับนานครับ หลายปีเลยกว่าจะคล่องแคล่ว กว่าจะไม่ล้ม แต่ความยากของมาสคอตจริงๆ คือการแสดงท่าทางครับ เพราะมาสคอตแต่ละตัวจะมีคาแล็กเตอร์ที่แตกต่างกันไป”
เขายกตัวอย่าง 'ว่องไว' มาสคอตของรายการขบวนการฟันน้ำนมที่เขาทำงานอยู่ เป็นตัวกระต่ายน่ารัก คล่องแคล่ว และติดซนนิดๆ ขณะที่ตัวละครอย่าง 'ปังปอนด์' ที่หลายคนรู้จัก ก็เป็นเด็กวัย 6-7 ขวบที่ซุกซนแบบแก่นๆ ขณะที่ลิงน้อยแห่งสวนสนุกโยโย่แลนด์ก็จะมีท่วงท่าและความซุกซนในแบบลิง
และด้วยความสามารถนี้เอง ไม่แปลกที่จะทำให้เขาเป็นที่ต้องการของบริษัทที่จัดงานเกี่ยวกับมาสคอต ในช่วงหนึ่งของชีวิตจึงมีการซื้อตัวระหว่างบริษัทหลายที่ ค่าตัวก็ค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้น จากความสามารถในวันแรกๆ ที่ต้องให้คนช่วยประคองด้วยยังมองไม่ถนัดในสายตาของมาสคอตที่ปิดแคบ และอาจต้องยืนในท่าที่เรียกกันว่า 'ปวดฟัน' โดยเอามือสอดไว้ใต้หัวมาสคอตเพื่อแบกส่วนหัวไว้เพราะความแข็งแรงของร่างกายยังไม่เพียงพอ
มาถึงตอนนี้ เขาสามารถเดินได้อย่างคล่องแคล่ว ขึ้นลงบันไดได้อย่างรวดเร็ว วิ่งได้ ไม่ว่าจะได้รับงานให้ใส่ชุดแบบไหน ขอแค่เขามาถึงก่อนงานเริ่ม 20 นาที ได้ลองสวมใส่ชุด กระโดด ยืดแขนขาเพื่อทดสอบการเคลื่อนไหวที่ชุดสามารถทำได้ เท่านั้น เขาก็พร้อมจะออกโชว์แล้ว!
“มีเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่สนใจงานนี้ เพราะรายได้มันค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับงานพาร์ทไทน์อื่นๆ และด้วยตอนนี้ตลาดมาสคอตก็เริ่มมีมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ผลิตภัณฑ์อะไรก็ต้องมีมาสคอต การ์ตูนก็ต้องตามมาด้วยมาสคอต ทีมฟุตบอลยังมีมาสคอต ไปรษณีย์ก็มี ดังนั้นคนมาทำอาชีพนี้ก็เลยมีมากขึ้น แต่ที่มีจรรยาบรรญ ผมว่ามันน้อย”
จรรยาบรรณ
ทุกอาชีพย่อมต้องมีจรรยาบรรณที่ยึดถือ การเป็นมาสคอตแม้จะดูเป็นอาชีพที่ไม่จริงจัง กระนั้นสำหรับประสิทธิ์แล้ว อาชีพนี้ก็มีสิ่งที่ยึดถืออยู่คือ การไม่ให้คนเห็นหน้าจริง และไม่ให้คนรู้ได้ว่าคนที่อยู่ในมาสคอตเป็นใคร
“ถ้าเขาจะรู้เองก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องไม่บอก และเมื่ออยู่ในชุดมาสคอตถ้าเหนื่อยก็ไปหาที่พัก ไม่ใช่เหนื่อยก็ถอดหัวออกมาเลย นอกจากนี้ก็ห้ามไม่ให้พูด ต้องสื่อสารด้วยท่าทางเท่านั้น ยกเว้นจะคุยกับทีมงานหรือคนดูแล”
โดยแต่ละงานของมาสคอตก็จะแตกต่างกันไป วิธีการทำงานก็จะแตกต่างกันไปด้วย มีตั้งแต่งานเปิดตัวสินค้าที่มาสคอตก็ต้องทำตัวให้เด่นคู่กับสินค้านั้นๆ มาสคอตตัวการ์ตูนในทีวีก็จะต้องแสดงคาร์แล็กเตอร์แบบตัวการ์ตูนนั้น หรืองานแถลงข่าวที่เป็นทางการ มาสคอตก็ต้องยืนอย่างสำรวมที่สุดเพื่อไม่ให้ดึงจุดสนใจของการเถลงค์ข่าว และต้องดำเนินงานตามกำหนดการในการจัดงาน
“สำหรับผมแล้ว ผมไม่ค่อยชอบงานพิธีการเพราะมันไม่สนุก ผมชอบงานที่ต้องโชว์ งานที่มาสคอตไปสร้างความสนุกให้กับผู้คน ให้ไปวิ่งไปแสดงเยอะๆ มีช่วงว่างๆเยอะยิ่งดี มันอิสระที่เราจะเล่นยังไงก็ได้”
จนถึงช่วงเดือนนี้ ช่วงปิดเทอมที่อากาศร้อนคือสิ่งที่หลายคนบ่นถึง กับคนที่ต้องอยู่ในชุดมาสคอตแทบจะตลอดอย่างเขา บอกได้คำเดียวว่า 'ทำใจ' กับความร้อนที่ร้อนขึ้นเป็นพิเศษ
“ต่อให้อยู่ในห้องแอร์ แต่ถ้าแต่งชุดมาสคอตก็ร้อนอยู่ดี คือแต่ละชุดก็ต่างกันไปครับ ถ้าเป็นขนสัตว์ร้อนมาก มีที่ระบายก็ดีหน่อย แต่ยังไงก็ร้อน ร้อนเหมือนไก่อบฟาง”
ยิ่งช่วงหน้าร้อน เขาบอกเลยว่าจะรู้สึกวูบข้างใน แต่ก็ยังไม่เคยถึงขั้นวูบสลบ อาศัยการพักบ่อยๆ จะช่วยได้ ซึ่งในงานที่มีอากาศร้อนเป็นพิเศษจะมีทีมงานคอยดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
ภาพจำของเด็กๆ
ถือเป็นเส้นทางยาวนานในการประกอบอาชีพหนึ่งมาถึง 15 ปี ช่วงชีวิตมาสคอตคนหนึ่งที่ทำงานประจำอยู่ที่สวนสนุกโยโย่แลนด์ เขาได้เห็นเด็กที่มาเล่นด้วยบ่อยๆโตขึ้น และยังจดจำเขาได้ รู้ว่าภายในชุดมอสคอตแต่ละชุดที่เปลี่ยนมาแสดงในแต่ละวันคือตัวเขา
“เด็กเขารู้เอง พอตัวหนึ่งมา อีกตัวหนึ่งหายเขาก็สังเกต และรู้ว่า เออ ผมเป็นคนใส่ มาสคอตสำหรับเด็กๆ มันคือภาพความทรงจำ ในวัยเด็กของผม ผมไม่มีโอกาสได้เจอมาสคอต ความฝันของผมก็อย่างที่บอกคืออยากเป็นทหาร แต่อาชีพที่ทำอยู่ตรงนี้ก็สนุกดี”
เมื่อถามถึงหน้าที่ของมาสคอต หากมองในมุมการตลาดคงจะเป็นการทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ แต่มุมมองของเขาที่อยู่ในชุดมาสคอตคือการทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กยิ้ม
“ถ้าคุณเป็นมาสคอตแล้วเด็กยังกลัว มันก็ไม่เวิร์ค คือแรกๆ เด็กอาจจะกลัว อาจจะตกใจ ตัวอะไรหัวใหญ่ขนาดนี้ สำหรับผมมีเคล็ดลับคืออย่ารีบเข้าไปหาเด็ก ให้ทำท่าตลกๆให้เด็กเขาหัวเราะ แล้วเดี๋ยวเด็กเขาจะเข้ามาหาเราเอง”
และที่โยโย่แลนด์นี้เอง งานประจำของเขาคือการคิดโชว์ ทำอุปกรณ์พิเศษสร้างสีสันให้กับสวนสนุก ทว่าในทุกวันหยุดเขาก็ยังรับงานไม่หยุดหย่อน วันหนึ่งคือรายการขบวนการฟันน้ำนม อีกวันคืองานที่มีเข้ามาเรื่อยๆแตกต่างกันไปตามวาระ
“ผมได้มีโอกาสถ่ายโฆษณาของต่างประเทศตัวหนึ่ง เป็นช็อกโกแลคของอินเดีย แต่มาถ่ายโฆษณาในประเทศไทย มีที่ประทับใจมากก็เป็นงานแทม(ไทยแลนด์ อนิเมชั่น แอนด์ มัลติมีเดีย) ผมได้จับมือกับท่านนายกรัฐมนตรีด้วย คือไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสแบบนี้”
ระหว่างพูดคุย ดูเหมือนเขาจะภูมิใจกับอาชีพมาสคอตไม่น้อย เขาสารภาพอย่างเขินอายนิดๆว่าเรียนไม่จบ แต่ก็มุ่งมั่นเอาดีด้านการทำงาน ด้วยกรำงานหนักมาหลายปี รางวัลหนึ่งในชีวิตคือบ้านที่เขากำลังจะซื้อใกล้กับที่ทำงาน หลังจากเช่าห้องพักย่านรามคำแหงมานานหลายปี และตลอดหลายปีในชุดมาสคอตเขากล้าบอกเลยว่า เป็นงานที่ไม่เคลียดสำหรับเขา
“การทำงานเป็นมาสคอตไม่มีความเครียดเลยครับ มันอาจจะเหนื่อยบ้าง แต่มันสนุก เราทำท่าตลก พอคนยิ้มออกมา เราที่อยู่ในชุดก็ยิ้มตามไปด้วย งานมาสคอตมันเป็นแบบนั้นครับ”