xs
xsm
sm
md
lg

“หงส์ขาวคอดำ” สัตว์แปลกของไฮโซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
หงส์ขาว หรือหงส์ดำ หลายคนอาจเคยรู้จักและเห็นหน้าค่าตากันมาบ้างแล้ว แต่เมื่อพูดถึงหงส์ขาวคอดำ คงต้องใช้จินตนาการสร้างภาพในวิมานสักหน่อย เพราะในเมืองไทยยังมีคนรู้จักไม่มากนัก แต่วันนี้ M-Pet จะพาไปดูเจ้า “หงส์ขาวคอดำ” สัตว์เลี้ยงแสนแปลกซึ่งถือว่าหาชมหายากสายพันธุ์หนึ่งในโลก จะได้รู้กันเลยว่ามันสวย..แปลก..และแพงมากขนาดไหนกัน

จากประสบการณ์การเลี้ยงมากว่า 20 ปี ในเนื้อที่ 10 ไร่ บนพื้นน้ำและดินที่ใช้เลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด ถาวร สมานตระกูล เจ้าของลำไทรฟาร์ม คนต้นเรื่องที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาครึ่งค่อนชีวิต เพื่อให้คุณได้สัมผัสชีวิตอันน่าทึ่งของมัน “หงส์ขาวคอดำ”

สัตว์หายากของโลก
ช่วง 10 ปีหลังมานี้มักจะเห็นคนเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ต่างประเทศกันมากขึ้น “หงส์ขาวคอดำ” ก็จัดว่าเป็นสายพันธุ์หนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมชมชอบในกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์แปลก หายาก และราคาแพง

“หงส์ขาวคอดำเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศและเป็นหงส์ที่หาค่อนข้างยากในโลก เพราะเป็นสัตว์ที่มีน้อย และการที่นำเข้ามาในเมืองไทยนั้นก็มีไม่มากและทำค่อนข้างยาก กว่าจะมาถึงเราได้นี่...ดีใจมาก มาได้ทั้งหมด 7 ตัว”

หงส์ขาวคอดำ ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าถิ่นกำเนิดแท้จริงนั้นอยู่ที่ใด แต่มีมากอยู่ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งนักขยายพันธุ์สัตว์ได้เล่าให้ฟังว่า “ประเทศฮอลแลนด์มีนักวิชาการจำนวนมาก เพราะนำสัตว์ในโลกนี้ไปเพาะขยายพันธุ์ที่นั่น แม้แต่ของเมืองไทยสัตว์บางชนิดก็ยังนำไปขยายพันธุ์ แล้วส่งกลับมาขาย” เพราะฉะนั้นเวลาไปสั่งซื้อที่ฮอลแลนด์จึงมีครบหมดแทบทุกสายพันธุ์ ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศเมืองหนาว แต่ยังมีความพยายามในการเพาะพันธุ์และส่งออกสัตว์ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ลักษณะของหงส์ขาวคอดำ ถือว่าเป็นสัตว์แปลก เพราะโดยทั่วไป หลายคนจะรู้จักเฉพาะหงส์ขาว และหงส์ดำที่มีสีเฉพาะนั้นทั้งตัว แต่หงส์ขาวคอดำจะมีลำตัวเป็นสีขาว และส่วนลำคอเป็นสีดำสนิท บางคนเข้าใจผิดว่าเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างหงส์ขาวและหงส์ดำ แต่แท้ที่จริงแล้วหงส์ขาวคอดำเป็นสายพันธุ์เฉพาะที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

“หงส์ขาวคอดำ จึงเป็นตระกูลหงส์สายพันธุ์หนึ่งในหลายสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ตอนแรกที่เลี้ยงลองผิดลองถูกมานาน เพราะไม่ใช่สัตว์บ้านเรา ตำราไม่มีดู แต่มีใจรักอยากเลี้ยงเท่านั้น จนตอนนี้ก็มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงมากขึ้น”

โดยธรรมชาติแล้วพฤติกรรมและลักษณะนิสัยของหงส์นั้นจะเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่เป็นคู่ รักเดียวใจเดียว เมื่อถึงเวลาฟักไข่ก็จะช่วยกันฟัก ช่วยกันสร้างรัง มีความเป็นระเบียบ และละเอียดอ่อนในการสร้างที่อยู่อาศัย ถือเป็นนิสัยเด่นที่แตกต่างกับห่านโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้เป็นสัตว์ที่หวงไข่มาก จะช่วยกันปกป้องคุ้มภัยเมื่อมีสัตว์อื่นๆ หรือคนเข้าไปใกล้รังหรือถิ่นของมัน

การผสมพันธุ์และเทคนิคฟาร์มเลี้ยง
โดยธรรมชาติแล้วหงส์จะไข่ประมาณปีละครั้งเท่านั้น แต่เมื่อคนนำมาเพาะเลี้ยงและต้องการให้ได้ลูกจำนวนมากขึ้น จึงมีวิธีการเลี้ยงเพื่อให้หงส์ได้ออกไข่ประมาณ 2-4 ครั้งต่อปี

เมื่อพ่อแม่พันธุ์อายุได้ประมาณ 1.5-2 ปี ก็จะถึงวัยผสมพันธุ์ซึ่งจะเป็นฤดูกาลที่อากาศค่อนข้างเย็น เช่นหน้าฝน หรือหน้าหนาว ประมาณช่วงเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ บางครั้งออกไข่หลงฤดูก็มีอยู่ให้เห็นบ้างเหมือนกัน ส่วนหน้าร้อนจะไม่ค่อยผสมพันธุ์ ซึ่งในตอนนั้นจะเป็นช่วงผลัดขนใหม่ของหงส์

“บางทีไข่ออกมา 5 ฟอง ได้ 2 ตัวก็มี ได้ 5 ตัวก็มี ไม่มีเหลือเลยก็เคยมีมาแล้ว แต่โดยเกณฑ์จะออกไข่ประมาณ 6 ฟองต่อครั้ง เวลาไข่เราต้องตรวจเชื้อดูก่อนว่ามีเชื้อไหม ถ้ามีเชื้อก็ให้แม่เขาฟักต่อ ถ้าไม่มีเชื้อก็เอาไข่นั้นมาต้มปรุงเป็นอาหารกินได้ แต่ที่สำคัญหงส์จะตรวจเชื้อยาก เพราะเปลือกไข่มีความหนา จึงดูยากไม่เหมือนไข่ไก่ แต่จากประสบการณ์จึงดูรู้ว่าฟักมาแล้วกี่วัน และอีกกี่วันจึงจะเกิด”

“ปกติหงส์จะไม่ทำอันตรายใดๆ กับคน นอกจากคนเข้าไปเอาไข่ออกมาจากรัง ในช่วงเวลาที่ลูกหงส์ใกล้จะเกิด เขาจะหวงมาก พอคนเข้าไปใกล้อาจใช้ปีกตีเราได้ เจ็บนะ...บวมเลยแหละ จึงต้องใช้คนช่วยกันกันไว้ เพื่อเอาไข่มาฟักในตู้ฟักอีกทีหนึ่ง เพราะจะได้เกิดในตู้ฟักไข่ ทำให้ดูแลง่าย และมีโอกาสตายต่ำกว่า”

หงส์จะฟักเมื่อประมาณ 30-33 วัน ในช่วงก่อนจะเกิดผู้เลี้ยงต้องไปนำไข่ออกมา ตอนประมาณสัก 25 วัน แล้วนำไข่มาไว้ในตู้ฟัก หลังจากนั้นประมาณ 1 อาทิตย์เจ้าตัวเล็กก็จะเกิด นี่แหละถือเป็นเทคนิคของลำไทรฟาร์ม

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วทำไมไม่เก็บไข่มาตั้งแต่แรกๆ ที่เกิดเลย แม่จะได้ไม่ต้องฟักและไม่ต้องเสียเวลา “แต่การทำอย่างนั้นจะมีเปอร์เซนต์การเกิดต่ำ เพราะอุณหภูมิในตู้อบฟักไข่กับแม่เขาฟักนั้นไม่เหมือนกัน ธรรมชาติมันดีกว่า และถ้าถามว่าทำไมไม่ให้แม่ฟักจนเกิดเลย จริงๆ แล้วมันก็ทำได้เหมือนกัน แต่โอกาสการสูญเสียมีสูง แม่เหยียบตายบ้าง หรือไม่ก็มีมดเข้าไปกัดตายบ้าง เราเลยต้องหยิบไข่ก่อนเกิดให้มาเกิดในตู้ฟักแทน ผสมผสานระหว่างธรรมชาติและการใช้เทคโนโลยีช่วยในการฟักไข่”

“ส่วนเรื่องอายุขัยเอาแน่เป็นเกณฑ์ไม่ได้ บางตัวมีอายุเป็น 10 ปีก็เคยมีมาแล้วหลายตัว แต่การสืบพันธุ์จะช้า การให้ลูกจึงช้า เพราะมันเริ่มแก่แล้ว ไม่ใช่วัยเจริญพันธุ์ตอนอายุ 2 ปี ช่วงนี้จะเป็นวัยหนุ่มสาว จึงให้ผลผลิตค่อนข้างดี”

เลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติ
ลำไทรฟาร์มมีพ่อแม่พันธุ์อยู่ทั้งหมด 3 คู่ หรือ 6 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงเดิมที่มีอยู่แล้วในฟาร์ม และมีนำเข้าจากประเทศฮอลแลนด์มาใหม่อีก 7 ตัว ซึ่งยังอยู่ในช่วงปรับสภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับอากาศเมืองไทย และอาหารไทยในท้องถิ่น

“เวลาเลี้ยงต้องมีพื้นที่น้ำและดินคาบเกี่ยวกัน ชีวิตแต่ละวันของหงส์มักจะอาศัยอยู่ในน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่เวลาฟักไข่จะอาศัยอยู่บนบกมากขึ้น ซึ่งที่อยู่บนบกอาจทำเป็นคอกเลี้ยงติดริมน้ำ โดยมีขนาดพอเหมาะแล้วแต่ความกว้างของพื้นที่”

หงส์เป็นสัตว์ที่ชอบลอยน้ำกินอาหาร ฉะนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องแขวนอาหารให้ลอยอยู่เหนือน้ำ อาจใช้กะละมังใบใหญ่ก็ได้ หงส์จะลอยตัวว่ายไปกินอาหารที่จัดให้ไว้ ส่วนผักหญ้าก็จะหากินอยู่ในน้ำเช่นเดียวกัน จึงมีพฤติกรรมการกินไม่เหมือนห่านที่มักหาอาหารอยู่บนบกมากกว่าในน้ำ ผู้เลี้ยงจึงต้องศึกษาลักษณะนิสัยและความเป็นอยู่ของสัตว์แต่ละชนิดด้วย

อาหารหลักๆ ของหงส์ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารไก่ ในแต่ละวันตัวหนึ่งๆ กินเกือบ 1 กิโลกรัม โดยให้ไว้ในตอนเช้าและเย็น ส่วนอาหารเสริมจะเป็นผัก จำพวกผักตบชวา ถือเป็นของโปรดเลยทีเดียว และเป็นการกำจัดผักตบชวาในธรรมชาติไม่ให้มีมากจนเกินไปอีกด้วย นอกจากนี้จะเป็นผักจำพวกแหน เป็นต้น

ด้วยราคาของหงส์ที่แพงลิบ คนเลี้ยงจึงต้องป้องกันการหนีด้วยการตัดเนื้อปีกข้างใดข้างหนึ่งออกเสียก่อนในขณะที่ยังเด็กอยู่ ซึ่งการตัดปีกนั้นถือว่าเป็นที่ต้องการของลูกค้า จึงสามารถกระตุ้นยอดขายได้อีกทางหนึ่งเลยทีเดียว

“หงส์บินได้นะลูกค้าเขาก็กลัวถ้าบินหนีไป เขาก็เสียดายตังค์ ฉะนั้นเวลาเลี้ยงหงส์ ลูกที่เกิดมาใหม่จะต้องตัดปีกออก 1 ข้าง ภายใน 2 วัน เวลาบินจึงบินไม่ค่อยได้ เพราะปีกเสียสมดุล ถ้าหงส์ตัวไหนที่ไม่ได้ตัดปีกมาก่อน เราสามารถเอามาตัดขนข้างหนึ่งสัก 6-7 เส้นได้ ก็จะบินไม่ค่อยได้เหมือนกัน แต่ว่าเมื่อครบหนึ่งปี ผลัดขนขึ้นมาใหม่ ก็ต้องถูกตัดใหม่ และต้องตัดไปเรื่อยๆ ทุกปี แต่ถ้าตัดเนื้อปีกตั้งแต่เด็กๆ นี่จะตลอดชีพ”

สิ่งที่คนเลี้ยงต้องระวัง คือ โรคภัยที่เกิดจากฝีมือของตัวเราเอง 1.น้ำในบึงไม่สะอาดพอ อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอมตกลงไป 2.อาหารชื้นจึงเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อรา เพราะในอาหารไก่เป็นจำพวกรำ ปลาบ่น เมื่อเติมอาหารลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ดูอาหารเก่าที่ค้างอยู่ ก็จะเป็นที่สะสมเชื้อรา เมื่อหงส์กินจึงไปสะสมอยู่ในร่างกาย โดยบางครั้งอาจไม่แสดงอาการอะไรเลยในขณะป่วย จนกระทั่งตายไป จึงทำให้รักษาไม่ทัน ฉะนั้นถ้าผู้เลี้ยงมีความใส่ใจดูแลเป็นอย่างดี สัตว์ก็จะมีภูมิคุ้มกัน และห่างไกลโรคภัยได้

ลูกค้าเศรษฐี
ลูกค้าส่วนใหญ่จัดว่าเป็นคนมีฐานะระดับหนึ่ง เพราะว่าหงส์แต่ละตัวมีราคาค่อนข้างแพง ถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงไว้โชว์ จึงเป็นของฟุ่มเฟือย เพราะฉะนั้นคนซื้อจึงเป็นกลุ่มคนรวย ฐานะดี ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ นักการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เทียวมาซื้ออยู่ประจำ

“ลูกค้ากลุ่มนี้ เขาซื้อไปประดับบ้าน อาจไปไว้ที่สนามกอล์ฟบ้าง หมู่บ้านบ้าง หรือร้านค้าที่ไว้ดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน และบางแห่งอาจมีอาหารสัตว์ขาย เพื่อให้ลูกค้าหรือคนที่ผ่านไปผ่านมาซื้อแล้วเอาไปให้หงส์ ถือเป็นการตลาด ทำให้มีรายได้เข้ามาอีกทางหนึ่ง”

ราคาขายมีทั้งเป็นตัวและคู่ แต่ส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะขายเป็นคู่ ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับไซส์ ถ้าเป็นหงส์ขาวคอดำไซส์โต มีอายุราว 7-8 เดือน ขายคู่ละ 100,000 บาทขึ้นไป ราคาที่ขายปัจจุบันอยู่ระหว่าง 120,000-150,000 บาท นอกจากนี้ ถ้าเป็นหงส์ดำ คู่ละ 40,000 บาท หงส์ขาว ประมาณ คู่ละ 45,000-50,000 บาท ถ้าซื้อเพียงตัวเดียวก็จะขายครึ่งหนึ่งของราคาคู่

“ตอนนี้เหลือลูกหงส์อยู่ไม่กี่ตัว เพราะลูกค้าเขามาวางมัดจำไว้หมดแล้ว บางทีเราจะคอยให้โตก่อน แต่ลูกค้าก็เกรงว่าเขาจะไม่ได้ เขาก็จะเอาไซส์เด็กแรกเกิดไปเลย อย่างหงส์ขาวคอดำ อายุ 7 วัน ขายราคาตัวละ 20,000 บาท ส่วนหงส์ดำ ตัวละ 6,000 บาท”

ทุกวันนี้มีลูกค้าทั่วประเทศติดต่อมาซื้อหงส์ของลำไทรฟาร์ม แต่ในบางช่วงก็หมด จึงต้องมีการสั่งจองไว้ก่อน ไม่ว่าจะสั่งจองแบบปากเปล่า หรือวางเงินมัดจำ เจ้าของฟาร์มบอกว่า “วัดใจกันไป” แต่พอไปส่งครั้งใดก็ไม่เคยฟาวล์เลยสักที เพราะลูกค้ามีแต่ระดับชั้นเลิศทั้งนั้น

“ลูกค้าส่วนใหญ่จะมารับเองที่ฟาร์ม แต่บางรายก็จัดส่งให้ ส่วนใหญ่จะไปรถส่งตามต่างจังหวัด ถ้าไม่ไกลมากนัก แต่ถ้าไปไกล ก็จะส่งขึ้นเครื่องบินภายในประเทศ โดยทำเรื่องเคลื่อนย้าย ขั้นตอนเริ่มแรกเลยต้องให้สัตวแพทย์กรมปศุสัตว์เอาอุจจาระไปตรวจก่อน เมื่อตรวจแล้วไม่พบเชื้ออะไร เขาก็จะออกใบรับรองว่าสัตว์สมบูรณ์ จากนั้นนำไปให้หมอสำนักงานเขตเพื่อออกใบเคลื่อนย้ายให้เรา เมื่อสัตว์ถึงปลายทางก็ไปรับเอา ราคาค่าส่งประมาณกิโลกรัมละ 50 บาท ล่าสุดส่งไป 2 คู่ หมดไป 3,000 กว่าบาท”

สุดท้าย คุณถาวรขอทิ้งข้อคิดสำหรับคนที่กำลังจะคิดเลี้ยงสัตว์สักหน่อยว่า “ไม่ว่าจะเลี้ยงสัตว์อะไรก็ตามต้องมีใจรักเป็นอย่างแรก และต้องใช้ความอดทนที่จะรักสัตว์เลี้ยงของเรานั้นต่อไปนานๆ อย่าคิดถอดใจระหว่างทาง ทั้งที่ยังไม่ถึงฝั่ง...”

ตอนนี้ถ้าใครเกิดหลงรักและอยากเลี้ยงหงส์ขาวคอดำไว้ที่บ้านสักตัวหนึ่ง เจ้าของลำไทรฟาร์ม ถาวร สมานตระกูล ยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยง ติดต่อลำไทรไทรฟาร์ม เขตหนองจอก กรุงเทพฯ โทร. 08-1268-0825, 08-6991-1181 www.lamsaifarm.ob.tc หรือ E-mail : lamsaifarm@hotmail.com



เกร็ดความรู้ "หงส์ขาวคอดำ"
วัยเจริญพันธุ์ 2 ปีขึ้นไป
จำนวนไข่ 6 ฟอง/ครั้ง
มีระยะในการฟักไข่ 30-33 วัน
น้ำหนักโตเต็มวัย ตัวผู้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม, ตัวเมีย 4-5 กิโลกรัม
อายุขัย 10 ปี
 
 
 
ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
ภาพโดย อุบลวรรณา โพธิ์รัง





ลูกเพิ่งเกิดได้ไม่กี่วัน
ถาวร เจ้าของลำไทรฟาร์ม
กำลังโหลดความคิดเห็น